"ประยุทธ์" เปรียบการเลือกตั้งเหมือนเลือก "กล้วย" เปลือกยังเขียวก็ไม่พร้อมกิน หวังให้คนไทยเลือก ส.ส.คุณภาพ เผยหลัง กม.ลูก 2 ฉบับประกาศใช้พร้อมเชิญทุกฝ่ายพูดคุยกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวาระแห่งชาติ "ป้อม" ปัดมีใบสั่ง สนช.คว่ำ 7 ว่าที่ กกต. "วิษณุ" แจงไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้งใหญ่ ไม่ห่วงจัดเลือกตั้งท้องถิ่น "สมชัย" ซัดคนเขียนกติกาหวังได้คนดีเลิศแต่สุดท้ายติดหล่ม ยันไม่กระทบเลือกตั้งทุกประเภท กกต.ชุดปัจจุบันพร้อมทำเต็มที่ สะพัด! สมชัยจ่อไขก๊อก "พท." ผวาเกิดสุญญากาศ "ปชป." หวั่นไม่มีผู้สมัคร กกต.เกิดปัญหางูกินหาง ด้าน "บิ๊กบัง" สะกิดเดินตามโรดแมป เตือน รปห.หมุนวนมาได้ คสช.ต้องฟัง ปชช.
เมื่อวันศุกร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอนหนึ่งว่า เป็นที่น่าตกใจจากผลสำรวจของสำนักวิจัยซูเปอร์โพลเรื่อง ประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องการ จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพราว 1 พันตัวอย่าง สะท้อนว่าประชาชน 36% หรือมากกว่า 1 ใน 3 ที่เป็นส่วนใหญ่ ไม่รู้ไม่ทราบ แล้วก็ไม่ตอบในเรื่องของประชาธิปไตยนี้ ส่วนที่เหลือก็มีคำตอบที่แตกต่างกันตามประสบการณ์ โดยระบุว่าประชาธิปไตยคือความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ อิสระในการคิดการพูด ฟังเสียงคนข้างมาก รักสามัคคีกัน การมีส่วนร่วม บางคนนึกถึงการเลือกตั้ง บางคนบอกว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ เมื่อถามว่าชอบประชาธิปไตยแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ หรือต้องการให้เป็นแบบใด พบว่า 41% ชอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ตอนนี้ ขณะที่ 59% ต้องการประชาธิปไตยแบบสงบสุข แบบพอเพียง ไม่มีคอร์รัปชัน และบางส่วนระบุแบบไหนไม่รู้ แต่ขอให้ดีขึ้นกว่านี้
"ที่จำเป็นต้องยกขึ้นมาพูดนี่เป็นผลโพลจากภายนอก ไม่ใช่ของรัฐบาล ของ คสช. เพราะอยากจะให้ทุกคนลองพิจารณาดูว่าสังคมของเรานั้นได้ให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยกันมากพอหรือยัง ใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่เพียงโรงเรียนหรือรัฐบาล แต่ประชาธิปไตยต้องเริ่มตั้งแต่ที่บ้าน ต้องอยู่ในสายเลือด ในจิตสำนึก ที่ผ่านมาพรรคการเมืองก็ถือว่าเป็นสถาบันหลัก ที่มีหน้าที่ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยด้วย และพรรคการเมืองก็ต้องไม่ถูกแทรกแซง ควบคุม ครอบงำ ชี้นำจากบุคคลอื่นใดที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมจนขาดความอิสระ ซึ่งก็ระบุชัดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ซึ่งไม่ใช่เพียงประชาธิปไตยไทยนิยม แต่เป็นหลักสากลพื้นฐาน" นายกฯ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ตนสนับสนุนให้สอนเยาวชนด้วยหลักวิชาการ ควรจะยกกรณีความสำเร็จ ความล้มเหลวของต่างประเทศมาเปรียบเทียบ แต่ก็ไม่ได้ให้เดินซ้ำรอยความผิดพลาด ให้เด็กได้คิด ให้มีพื้นฐานหลักคิดที่ถูกต้องว่าประเทศชาติจะสงบสันติได้อย่างไร ด้วยวิธีการอย่างไร ไม่ใช่ให้เอาเยี่ยงอย่างการล้มล้างสถาบัน การเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยที่ประชาชนยังไม่พร้อมจนต้องบาดเจ็บ ล้มตาย ตามที่หลายประเทศล้มเหลวมาก่อน เราก็ได้รู้ได้เห็นแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องให้ประวัติศาสตร์เหล่านั้นซ้ำรอยอีก ลองสอนเด็กง่ายๆ แบบไทยๆ แบบนี้ได้หรือไม่ หรือปูพื้นฐานให้เขาก่อน ไม่อย่างนั้นก็ไปสอนให้คิดนอกกรอบกันไปหมด
"กรอบที่ว่าก็คือกรอบคำว่า สงบ สันติ ให้ได้เสียก่อน เช่นการเลือกตั้ง ถ้าเราเปรียบเทียบก็ไม่ต่างอะไรกับการเลือกกล้วย กล้วยที่เปลือกยังเขียวอยู่ก็ยังไม่สุก ไม่พร้อมจะรับประทาน คุณสมบัติก็ไม่ครบ กล้วยเปลือกสีเหลืองคือสุกงอม กินได้เหมาะสม แต่ถ้ากล้วยเปลือกดำแล้วคือไม่ดี ไม่ควรเลือกกิน แต่ถ้าเราไปสอนโดยยกตัวอย่างเป็นผลไม้อื่นนะครับ เช่นแอปเปิล ซึ่งก็ไม่เป็นผลไม้ประจำถิ่นของเรา บางคนเกิดมาก็ยังไม่เคยเห็นต้นแอปเปิลเลย อาจจะเคยทานแต่ไม่เคยเห็นต้น เด็กไทยคงไม่อาจแยกแยะด้วยสีของเปลือกได้ว่าแอปเปิลผลไหนดีสุกกินได้ ไม่ง่ายเหมือนกล้วย แก่นสารของเรื่องนี้คือทำอย่างไร ให้คนไทยสามารถแยกแยะว่า ถ้ามีการเลือกตั้งแล้วควรเลือกใครและเลือกจากอะไร ไม่ใช่ใช้ความรัก ความชอบ ความคุ้นเคย ใช้อารมณ์ แต่ไม่พิจารณาด้วยเหตุด้วยผล เช่นดูที่นโยบายพรรค ดูที่ประวัติการทำงาน คำนึงถึงการเลือกนักการเมืองที่มีคุณภาพ ไม่มีประวัติเสื่อมเสียหรือทุจริตมาก่อน เลือกพรรคการเมืองที่น่าเชื่อถือ ดูจากนโยบาย จากการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่มีวาระซ่อนเร้นแอบแฝงหรือถูกครอบงำ"
กม.ลูกผ่านกำหนดวันเลือกตั้ง
นายกฯ กล่าวต่อว่า อยากให้พี่น้องประชาชนมีความรู้ หลักคิด มีหลักการเลือก ส.ส.ที่มีคุณภาพ หลีกเลี่ยงผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม หรือพรรคที่มีนโยบายในลักษณะสัญญาว่าจะให้ เพื่อดึงดูดใจในสิ่งที่ผิดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นนโยบายที่มีผลต่อการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินที่สิ้นเปลืองมากเกินไป ขาดวินัยการเงินการคลัง หรือขัดแย้งพันธกรณีต่างประเทศ เป็นต้น
"ปัจจุบันเราอยู่ระหว่างการออกกฎหมายลูก 4 ฉบับที่จำเป็นต่อการเลือกตั้ง ได้แก่ 1.กฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 2.กฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง 3.กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ 4.กฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ใน 2 ฉบับท้ายกำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย สนช., กรธ. และ กกต. ส่วนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ภายหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วในอีก 90 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา การเลือกตั้งก็อาจจะเกิดขึ้นในเดือนใดก็ได้ภายใน 150 วันหลังจากนั้น"
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของทุกฝ่ายทั้งพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และ กกต. ในระหว่างนั้น ครม.ก็จะแจ้ง คสช.ให้เชิญ กกต., กรธ. รวมถึงทุกพรรคการเมืองมาพูดคุยหารือว่าการเลือกตั้งนั้นควรจะเกิดขึ้นเมื่อใด วันเวลาที่ทุกฝ่ายพร้อม ทุกฝ่ายเห็นพ้องกัน แล้วก็ถือเป็นวาระสำคัญของชาติ อาจจะต้องเป็นสัญญาร่วมกันว่าทำอย่างไร เราจะเดินหน้าประเทศไปให้เป็นไปตามโรดแมปของประเทศ ให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในอนาคต
"รัฐบาลและ คสช.ไม่เคยมีความคิด แล้วก็ไม่ไปก้าวล่วงอำนาจใดๆ ที่จะทำให้เกิดการคว่ำร่างกฎหมายต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะรัฐบาลไม่อยากให้กำหนดเวลาคลาดเคลื่อนตามที่มีใครหลายคนพยายามบิดเบือนให้ข้อมูลผิดๆ ต่อสังคม เว้นอย่างเดียวก็คือการเกิดความวุ่นวายประชาชนขัดแย้ง ใช้กำลัง ใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรง การหาเสียงมีปัญหา ประชาชนขัดแย้งกันอีกเกิดความไม่สงบ เหมือนช่วงก่อนปี 57 อันนั้นก็เป็นอีกเรื่อง ทุกคนต้องช่วยกันอย่าให้เกิดขึ้น ดังนั้นประชาชน นักการเมือง และทุกๆ ฝ่ายก็ต้องช่วยกันรักษาบรรยากาศ ความมีเสถียรภาพของประเทศ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โหวตคว่ำ 7 ว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าได้รับใบสั่งจาก คสช.ว่า "ไม่มี ไม่มีใบสั่งนะ ไม่มี สนช.เขาดำเนินการของเขาเอง"
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะกระทบการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ก็ยังตอนนี้ ไว้ดูเดือนมิถุนายน แล้วรายละเอียดค่อยมาว่ากัน"
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่กระทบ ไม่เกี่ยวกับโรดแมปการเลือกตั้ง เพราะโรดแมปการเลือกตั้งเป็นโรดแมปที่ยาว ขึงเอาไว้ราวเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งในนั้นจะยังมีโรดแมปเล็กซ้อนอยู่ เช่นการเลือกตั้งท้องถิ่น รวมถึงกระบวนการสรรหา กกต. ซึ่งเป็นโรดแมปที่เล็กลงมาและวันนี้จำเป็นต้องขยาย แต่ถึงอย่างไรก็ไม่กระทบโรดแมปใหญ่อยู่ดี หากมีอะไรเกิดขึ้น กกต.ที่ยังรักษาการในปัจจุบันก็ยังทำหน้าที่ได้ แม้จะไม่สร้างความมั่นใจให้มากเท่าไหร่
รองนายกฯ กล่าวว่า การขยายเวลาในส่วนของการสรรหา กกต.ชุดใหม่มีเวลา 90 วันต้องให้แล้วเสร็จ ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนพฤษภาคมนี้ ยังถือว่าได้ตัว กกต.ก่อนเดือนมิถุนายนที่จะมีการตกลงกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในการกำหนดวันเลือกตั้ง หากถึงเดือนมิถุนายนแล้วรายชื่อ กกต.ชุดใหม่ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร สามารถนำ กกต.ชุดเก่ามาร่วมหารือในการกำหนดวันเลือกตั้งแทนได้ แต่คงต้องมีการหารือกับ กกต.ชุดใหม่ที่ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ก่อนโดยวิธีถ้อยทีถ้อยอาศัย ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อยังไม่ได้ กกต.ชุดใหม่ก็ไม่เป็นไร เพราะ กกต.ชุดเก่าสามารถทำหน้าที่แทนได้ แม้จะมีบางอย่างขลุกขลักบ้าง ยืนยันไม่มีปัญหาในข้อกฎหมาย แต่อาจเป็นปัญหาในเรื่องการปฏิบัติมากกว่า
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากการสรรหา กกต.ครั้งต่อไป สนช.มีการคว่ำเหมือนครั้งนี้อีก นายวิษณุกล่าวว่า ไม่อยากไปสมมุติให้มันตื่นเต้น เมื่อถามว่าสเปกเทพที่กำหนดในกฎหมายลูกจะทำให้การสรรหาครั้งต่อไปยากขึ้นหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อสเปกดังกล่าวกำหนดไว้ในกฎหมาย จะไปลดคุณสมบัติสเปกเทพมันพูดได้ แต่ในกฎหมายจะไปลดได้อย่างไรเมื่อเขียนไว้อย่างนั้นแล้ว
ไม่กระทบโรดแมป
"ต้องตอบว่าผมไม่ทราบ และนึกไม่ออกว่าถ้าจะสั่ง จะสั่งได้อย่างไร แต่สภามีระบบวิปเพื่อคุยกันเองแล้ว พูดกันปากต่อปากแบบนั้นก็เป็นไปได้ แต่เรื่องใบสั่งผมไม่เชื่อว่าสั่งแล้วจะมีใครปฏิบัติได้ ในเมื่อเป็นการลงคะแนนลับ" นายวิษณุกล่าวถึงการวิจารณ์กันหนาหูว่าเหตุที่คว่ำเพราะมีใบสั่ง คสช.
นายวิษณุกล่าวด้วยว่า สำหรับบุคคลทั้ง 7 ที่ถูก สนช.โหวตไม่เห็นชอบคุณสมบัติ ไม่สามารถกลับมาสมัครเข้ารับการสรรหาได้อีก แต่รายชื่อบุคคลที่ไม่ได้รับการเห็นชอบจากกรรมการสรรหาตั้งแต่ต้น ซึ่งมีอยู่ราว 30 คนสามารถกลับมาสมัครเข้ารับการสรรหาได้อีก และอาจจะเป็นวาสนาของคนเหล่านั้นก็ได้
ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ประชุม สนช.ไม่รับรองว่าที่ กกต.ทั้งหมด ว่า 1.เป็นปัญหาในกระบวนการสรรหาตามกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้การลงคะแนนทั้งของคณะกรรมการสรรหา และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต้องทำโดยเปิดเผย ซึ่งต้องใช้บทเรียนนี้ในการพิจารณาทบทวน หากไม่ทบทวนก็จะทำให้การเสนอชื่อครั้งต่อไปถูกคว่ำ ซึ่งก็จะเสียของไปเรื่อยๆ 2.เป็นปัญหาของผู้เขียนกฎกติกาที่มุ่งหมายให้ดีเลิศจนเกินความเป็นจริง ซึ่งถ้าจะโทษต้องโทษผู้เขียนกติกา
"ไปเขียนกติกาว่าต้องลงคะแนนสรรหาโดยเปิดเผย ทำให้เกิดปัญหาว่าเลือกได้ กกต. 2 คน แต่ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่ผู้พิพากษา หรือเขียนว่า กกต.ต้องมีคุณสมบัติขั้นเทพ ต้องเคยดำรงตำแหน่งเทียบเท่ากับหัวหน้าส่วนราชการและเป็นไม่น้อยกว่า 5 ปี ทำให้คนที่ดีคนที่ทำงานได้ถูกกรองออกไป" นายสมชัยกล่าวและว่า ในการสรรหารอบใหม่คณะกรรมการสรรหาก็ควรที่จะยึดมติการตีความหัวหน้าส่วนราชการ ว่าผู้สมัครที่เป็นทหาร ตำรวจจะต้องเป็น ผบ.ทบ., ผบ.ตร. และดำรงตำแหน่งมาไม่น้อยกว่า 5 ปีไว้ ไม่เปลี่ยนบรรทัดฐาน
นายสมชัยกล่าวว่า ณ วันนี้ทำอะไรไม่ได้แล้วเพราะต้องไปแก้ไขกฎหมาย ดังนั้นโจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรจะประดับประคองสถานการณ์ให้การสรรหาได้คนพอใช้ได้หรือดีระดับหนึ่ง ต้องทำให้คนยอมรับได้ ซึ่งเป็นโจทย์ที่กรรมการสรรหาชุดปัจจุบันต้องทำ จึงไม่ควรที่สังคมจะไปโทษคณะกรรมการสวรรหา ในส่วนของ กกต.ก็ยืนยันว่าเราจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ สิ่งที่คิดว่าจะรอชุดใหม่มาดำเนินการก็คงรอไม่ได้ เพราะกระบวนการสรรหาชุดใหม่น่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนเต็ม คาดว่าจะมีชื่อ กกต.ชุดใหม่เดือนสิงหาคม กกต.ชุดปัจจุบันก็จะทำงานต่อไป ไม่มีผลกระทบใดๆ กับการเลือกตั้งทุกประเภท
"สิ่งที่กังวลคือชุดใหม่มาช้าเท่าไหร่ เวลาที่จะเหลือจากการเตรียมการเลือกตั้งก็จะน้อยลง รากเหง้าของปัญหาคือไม่ควรเซตซีโร กกต.ชุดนี้ ถ้าคุณไม่เซตซีโรแต่แรกปัญหาวันนี้ก็คงไม่เกิด จะไม่มีปัญหาเรื่องการเปลี่ยนผ่าน จะด้วยปัญหาไม่อยากได้ปลาสองน้ำ ณ วันนี้ได้ปลาสองน้ำแบบที่ตั้งใจหรือไม่ เมื่อเซตซีโรแล้วก็ต้องรับสภาพกับปัญหาที่เกิด เราก็รับสภาพ" นายสมชัยกล่าว
เมื่อถามว่าเลขาฯ วุฒิระบุว่าการสรรหา กกต.ใหม่ กฎหมายไม่ได้กำหนดเรื่องกรอบเวลาไว้ นายสมชัยกล่าวว่าตามบทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป.กกต.จะเขียนถึงการสรรหาครั้งแรกไว้ว่าให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ซึ่งก็คิดว่าน่าจะเทียบเคียงจากตรงนี้ได้ และขณะนี้มีคณะกรรมการสรรหาอยู่แล้ว จึงน่าจะตัดขั้นตอนของการสรรหาคณะกรรมการสรรหา 20 วันออก กระบวนการ 90 วันน่าจะเริ่มนับเมื่อประธานศาลฎีกาได้รับจดหมายแจ้งจากประธาน สนช.ให้ดำเนินการสรรหา
หึ่ง! สมชัยจ่อไขก๊อก
นายสมชัยยังกล่าวถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า จะเกิดเมื่อใดขึ้นอยู่กับรัฐบาล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ กกต.ชุดปัจจุบันหรือ กกต.ชุดใหม่ แต่มีเงื่อนไขคือกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ ซึ่ง กกต.เตรียมจะส่งร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นให้ ครม.พิจารณาตามกรอบเวลา คาดว่าจะเกิดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ภายในเดือน ส.ค. แต่หากคำนวณตามกรอบเวลาของนายวิษณุการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นในเดือน ต.ค.-พ.ย.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายสมชัยแถลงข่าวได้เกิดกระแสข่าวว่าเจ้าตัวอาจจะยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง เพราะไม่อยากรับภาระดังกล่าว
นายอุดม รัฐอมฤต กรธ.กล่าวว่า เมื่อกระบวนการคัดเลือก กกต.ไม่ผ่านความเห็นชอบ ต้องกลับไปสู่กระบวนการสรรหาตามที่ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. พ.ศ.2560 บัญญัติไว้
ส่วนกรณีที่ กกต.ชุดปัจจุบันจะพ้นวาระเพราะอายุครบ 70 ปีในเร็วๆ นี้ และอาจทำให้ กกต.ที่เหลือปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ตามกฎหมายกำหนดและกระทบต่อการเลือกตั้งนั้น นายอุดมกล่าวว่าตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. กำหนดประเด็นที่เป็นทางออกไว้ในมาตรา 70 วรรคสาม ที่ระบุว่า "เมื่อ กกต.ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใดและมีผู้ปฏิบัติหน้าที่ กกต.เหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้นำความมาตรา 17 วรรคสาม ที่ให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดร่วมกันแต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับ กกต. ทำหน้าที่ กกต.ชั่วคราว มาใช้โดยอนุโลม" แต่กรณีที่อาจเกิดขึ้นอาจไม่ต้องใช้บทบัญญัติดังกล่าว เพราะยังมีอำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 สามารถให้ กกต. ที่พ้นวาระปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับที่หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่พ้นวาระปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่เข้าทำหน้าที่
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.กล่าวถึงกรณี สนช.ไม่ผ่านความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กกต.ซึ่งมีตนอยู่ด้วยว่า เรื่องนี้ไม่ทราบอะไรเลย ตนพร้อมทำหน้าที่เลขาธิการ กสทช.เหมือนเดิม และตั้งแต่ได้รับการสรรหา บอกหลายคนไปแล้วว่ายังไม่คิดไปทำงาน กกต. เพราะกระบวนการยังไม่แล้วเสร็จ ก็ต้องทำหน้าที่เลขาฯ กสทช.ต่อไปจนกว่ากระบวนการจะแล้วเสร็จ
ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน เพราะมติที่ออกมาสวนทางกับคำแถลงของคณะกรรมการสรรหาที่บอกว่าทั้ง 7 คนมีคุณสมบัติถูกต้อง และการลงมติไม่รับทั้งหมดไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นก่อนการลงมติ สนช.ต้องมีการตกลงกันก่อนว่าให้ลงมติไม่รับทั้งหมด เห็นได้จากคะแนนที่ออกมาใกล้เคียงกันมาก เหตุที่เป็นเช่นนี้เป็นไปได้หรือไม่ว่ามติของกรรมการสรรหาไม่เป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ ถ้าจะไม่รับเพียงบางคนก็จะเกิดการลักลั่นเลยไม่รับทั้งหมดไปเลย
"ประธาน สนช.น่าจะออกมาบอกเหตุผลที่ไม่รับเพราะอะไร ไม่ใช่บอกว่าไม่ทราบเหตุผล การไม่บอกเหตุผลเช่นนี้เป็นเพราะบอกไม่ได้มากกว่า หากผมเป็นกรรมการสรรหาจะสอบถามถึงเหตุผลว่าคนที่เลือกไปนั้นคุณสมบัติไม่เป็นที่ต้องการอย่างไร การสรรหาครั้งต่อไปจะได้ทำงานได้อย่างถูกใจ สนช. ไม่เช่นนั้นถ้าเลือกไปแล้ว สนช.ไม่รับอีกจะเกิดความเสียหาย และตอนนี้ก็มีข่าวว่า กกต.ชุดปัจจุบันที่ทำหน้าที่อยู่อาจมีบางคนลาออก เพราะอยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์ บางคนก็จะต้องเกษียณอายุ 70 ปี หากองค์ประชุมไม่ครบการทำงานก็จะเกิดสุญญากาศ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นผู้มีอำนาจอาจต้องใช้อำนาจพิเศษเช่น มาตรา 44 แต่งตั้ง ก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำงาน ส่วนการสรรหา กกต.ชุดใหม่ภายใน 90 วันนั้น ถ้าเร่งดำเนินการก็จะสอดคล้องกับการบังคับใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ถ้าไม่รีบก็จะเกิดผลกระทบ แต่เมื่อมีการลงมติไม่รับเช่นนี้ก็ไม่มั่นใจว่ากรรมการสรรหาจะเต็มใจทำหน้าที่ 100% หรือไม่" นายชูศักดิ์กล่าว
ส่วนนายวิรัช ร่มเย็น อดีต ส.ส.ระนอง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ปฏิเสธถึงการคว่ำว่าที่ กกต. 7 คนของ สนช.ไม่มีใบสั่งว่า สังคมคงไม่เชื่อเพราะทั้งนายพรเพชรและ สนช.ต่างมีตำแหน่งมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. และไม่ใช่การยื้อเวลาจัดการเลือกตั้งครั้งแรก เพราะเคยเกิดขึ้นตอนที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 ฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณเป็นประธาน จนนายบวรศักดิ์เองถึงกับเอ่ยปากยอมรับว่า คสช.ต้องการอยู่ต่อลากยาว เหตุการณ์นี้ก็ทำนองเดียวกัน
หวั่นเกิดสุญญากาศ
"แม้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ จะบอกว่าใช้เวลาแค่ 3 เดือนโดยเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ แต่ในทางปฏิบัติอาจใช้เวลามากกว่านี้ เนื่องจากผู้สมัคร กกต.ต่อหลังจากนี้ แม้จะมีคุณสมบัติขั้นเทพก็อาจไม่กล้าลงสมัคร เพราะเกรงว่า สนช.อาจคว่ำอีกก็ได้ ลงมาก็เปลืองตัวเปล่า หรือหากวิกฤติสุดคือ อาจไม่มีผู้ลงสมัครเป็น กกต.เลย หรือไม่ครบ 7 คนตามกฎหมาย กกต.กำหนด เมื่อจะแข่งขันแต่ไม่มีกรรมการกลางตามกติกา การแข่งขันจะเกิดขึ้นไม่ได้ สนช.ก็เป็นแค่ฝักถั่วแล้วแต่ผู้มีอำนาจจะกดปุ่ม" นายวิรัชกล่าว
ส่วนกรณีที่นายพรเพชรระบุว่าการคว่ำ กกต.ครั้งนี้ไม่กระทบโรดแมปการเลือกตั้งทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาตินั้น นายวิรัชกล่าวว่าเป็นการโกหกประชาชน ชนิดแก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ เพราะข้อเท็จจริง สนช.ชุดนี้โหวตลงมติเซตซีโร กกต.ชุดปัจจุบัน ทำให้มีสถานะเป็นเพียง กกต.รักษาการ ไม่มีอำนาจเต็มในการตัดสินใจเรื่องสำคัญโดยเฉพาะการจัดเลือกตั้ง ที่สุดจะกลายเป็นปัญหางูกินหาง
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริง เพราะคนลงมติต้องเป็นคนตอบว่าทำไมรับและทำไมไม่รับ สังคมก็ต้องการรับรู้ว่าเหตุผลที่แท้จริงคืออะไร เพราะ กกต.ถือเป็นคณะกรรมการขององค์กรอิสระที่มีความสำคัญ ในการจัดการและดูแลการเลือกตั้งให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมอันจะส่งผลต่อการได้รัฐบาลที่ดีหรือไม่ดี ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นได้ว่า สถานการณ์บ้านเมืองของเราในขณะนี้อะไรก็อาจเกิดขึ้นได้ ที่บอกว่าชัดเจนแล้วอาจจะคือความไม่ชัดเจนก็ได้
นายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการจัดการเลือกตั้งที่จะมาถึง เพราะตามกฎหมายที่ให้ กกต.ชุดปัจจุบันยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป ดังนั้นกระบวนการจัดการเลือกตั้งจะไม่มีคำว่าสุญญากาศแน่นอน ส่วนกรณีดังกล่าวจะกระทบต่อโรดแมปเลือกตั้งหรือไม่นั้นไม่สามารถตอบได้ เพราะเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการคาดเดา
ที่หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (นศส.) พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ว่า อยากให้โรดแมปของ คสช.เดินไปข้างหน้าและเป็นจริงตามนั้น ถ้าเดินไปได้ประชาชนก็พอใจ ส่วนกรณี สนช.ไม่เห็นชอบผู้สมัคร กกต. 7 คนนั้น รู้สึกตกใจ ทำให้เห็นแนวโน้มว่ามีโอกาสจะเลื่อนโรดแมปออกไปอีก อย่างไรก็ตามยังเชื่อมั่นว่าจะต้องมีการเลือกตั้ง แต่จะเป็นช่วงเวลาใดนั้นตนยังตอบไม่ได้
เมื่อถามว่าประเมินอย่างไรที่ คสช.จะเลื่อนโรดแมปการเลือกตั้งออกไป พล.อ.สนธิกล่าวว่า คิดว่าเสียงประชาชนจะเป็นตัวบ่งชี้จะเร็วหรือจะช้า ซึ่งคิดว่า คสช.จะรู้ว่าประชาชนต้องการอะไร เมื่อถามว่า ถ้าไม่มีการเลือกตั้งประชาชนจะออกมากดดันหรือไม่ พล.อ.สนธิกล่าวว่าทุกอย่างก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นเช่นนั้น ประวัติศาสตร์สอนให้เราเห็นอะไรหลายหลายอย่าง จึงอยากฝากไปถึงรัฐบาลและ คสช.ขอให้ทำตามโรดแมป
"การรัฐประหารเป็นธรรมชาติของวงจรที่จะเกิดขึ้นได้ของทุกชาติ ซึ่งประเทศเราก็หมุนอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ดังนั้นอยากขอให้ คสช.ฟังประชาชน" อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย.49 กล่าวเมื่อถามว่า ถ้าประชาชนออกมากดดันจะนำไปสู่วงจรการรัฐประหารหรือไม่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |