เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม คุก 2 ปี 'เจ๊สุ' เจ้าแม่เงินกู้ดอกโหด ศาลชี้ซ้ำเติมทุกข์คนจนโดยไร้มนุษยธรรม


เพิ่มเพื่อน    

6 มิ.ย.62 - หลังจากศาลจังหวัดนครพนม อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ชี้ชะตานางสาวสุพิชญ์ฌา อภิชัจฐ์โภคิน หรือมีชื่อนามสกุลเดิมว่า นางสาวสุนภา เรืองสุวรรณ อายุ 58 ปี หรือที่รู้จักกันในนาม ”เจ๊สุ” เจ้าแม่เงินกู้นอกระบบชื่อดัง ในข้อหาเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล โดยมีนางสาริกา คนฉลาด อายุ 71 ปี อดีตลูกหนี้ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง โดยศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ พิพากษาจำคุกเจ๊สุ เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ซึ่งเจ๊สุได้ประกันตัวมาต่อสู้ในชั้นศาลฎีกา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลฎีกา ความอาญา ที่ 692/2562 นางสาลิกา คนฉลาด ฝ่ายโจทก์ น.ส.สุนภา เรืองสุวรรณ จำเลยที่ 1 และ น.ส.พนิตตา พวงผกา จำเลยที่ 2 เรื่อง ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ซึ่งจำเลยทั้งสองฎีกาคัดค้านคำพิพากษา

นางสาลิกา คนฉลาด เป็นโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2554 น.ส.สุนภา จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้น ว่า นางสาลิกากู้เงินจาก ”เจ๊สุ” 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2552 จำนวน 580,000 บาท(ห้าแสนแปดหมื่นบาทถ้วน) ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2552 จำนวน 870,000 บาท (แปดแสนเจ็ดหมื่นบาทถ้วน) นางสาลิกาให้การต่อสู้ว่ากู้เงินจากเจ๊สุเพียงครั้งเดียว

ต่อมาวันที่ 3 ก.ย.2554 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองต่างเบิกความอันเป็นเท็จเป็นข้อสำคัญในการพิจารณาคดีดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นว่า นางสาลิกาครั้งที่สองจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้นับเงินและส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าวแก่นางสาลิกา ซึ่งความจริงแล้วนางสาลิกาไม่เคยได้รับเงินจากเจ๊สุ จำนวน 870,000 บาท ตามสัญญาเงินกู้ครั้งที่สองแต่อย่างใด

โดยหากศาลหลงเชื่อคำเบิกความของจำเลยทั้งสอง ย่อมพิพากษาให้โจทก์แพ้คดี แต่ในคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาให้นางสาลิกาชำระเงิน เพียงการกู้เงินครั้งแรกเท่านั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 และศาลฎีกาพิพากษายืน เหตุเกิดที่ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครพนม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91,177,181 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับรับฟ้อง จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก จำคุกคนละ 2 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาคที่ พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า เดิมจำเลยที่ 1(เจ๊สุ) เป็นโจทก์ฟ้องนางสาลิกาเป็นจำเลยที่ 1 นายขำ คนฉลาด เป็นจำเลยที่ 2 เรียกให้ชำระหนี้ตามสัญญาเงินกู้และสัญญาค้ำประกัน ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1557/2554 ของศาลชั้นต้น คำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2552 นางสาลิกากู้ยืมเงินจากเจ๊สุเป็นเงิน 580,000 บาท โดยนำที่ดินมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกัน นางสาลิกาได้รับเงินครบถ้วนในวันดังกล่าวแล้ว และเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2552 นางสาลิกากู้ยืมเงินจากเจ๊สุเพิ่มอีก 870,000 บาท โดยให้ถือเอาหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนจำนองไว้เดิมเป็นหลักประกัน และนายขำยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกัน ในวันดังกล่าวนางสาลิกาได้รับเงินจากเจ๊สุครบถ้วนแล้ว

นางสาลิกาและนายขำให้การคดีดังกล่าวว่า นางสาลิกากู้ยืมเงินจากเจ๊สุเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2552 โดยได้รับเงินเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2552 ส่วนตามสัญญาเงินกู้ฉบับลงวันที่ 18 ส.ค.2552 นางสาลิกาไม่ได้กู้ยืมเงินจากเจ๊สุ

ต่อมาวันที่ 3 ก.ย.2554 จำเลยที่ 1(เจ๊สุ) และ จำเลยที่ 2 (น.ส.พนิตตา) เบิกความต่อศาลชั้นต้นในฐานะเป็นพยานโจทก์ในคดีดังกล่าว ว่า นางสาลิกากู้ยืมเงินเจ๊สุ ในวันที่ 18 ส.ค.2552 ด้วย ตามสำเนาคำเบิกความเอกสารหมาย จ.8 และ  จ.9 คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาให้นางสาลิกาชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืม ฉบับลงวันที่ 17 ส.ค.2552 เท่านั้น ยกฟ้องนายขำ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้ให้นายขำชำระหนี้แทน ถ้านางสาลิกาไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบถ้วน ศาลฎีกาพิพากษายืน

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1(เจ๊สุ) จำเลยที่ 2(น.ส.พนิตตา) ว่า จำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานเบิกความเท็จตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า นางสาลิกาไม่นำสืบถึงหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใดให้ศาลเห็นว่า เหตุใดจึงไม่มีการกู้ยืมเงินครั้งที่ 2 การนำสืบอ้างถึงคดีส่วนแพ่งว่ารับฟังข้อเท็จจริงยุติแล้วอย่างไร ไม่ใช่การนำสืบข้อเท็จจริงให้เห็นโดยปราศจากข้อสงสัยตามคดีอาญาว่ามีการกู้ยืมเงินกัน ระหว่างนางสาลิกากับเจ๊สุ เพียงครั้งเดียวคือครั้งแรก เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติให้การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา แต่ไม่มีบทบัญญัติใดที่ให้การพิพากษาคดีส่วนอาญาต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งก็ตาม

แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 (เจ๊สุ) เคยต้องฟ้องนางสาลิกา (โจทก์) ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1557/2554 ของศาลชั้นต้น ซึ่งคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาว่า นางสาลิกากู้ยืมเงินจากเจ๊สุ ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 17 ส.ค.2552 ไม่มารส่งมอบเงินให้แก่นางสาลิกา(โจทก์) ศาลอุทธรณ์ภาค 4 และศาลฎีกาพิพากษายืน ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 บัญญัติว่า “...คำพิพากษาหรือคำสั่งใดๆให้ถือว่าผูกพันคู่ความ ในกระบวนการพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง นับแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง จนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสย ถ้าหากมี...”

การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 และศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงมีผลอยู่ตลอดไป เมื่อโจทก์ (นางสาลิกา) และจำเลยที่ 1 (เจ๊สุ) เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว คำพิพากษาในคดีดังกล่าวจึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผลให้รับฟังได้ว่า นางสาลิกาไม่ได้รับเงินจากเจ๊สุ ตามสัญญากู้เงิน ฉบับลงวันที่ 18 ส.ค.2552 ประกอบกับโจทก์(นางสาลิกา) นำสืบว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2554 เวลากลางวัน เจ๊สุเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลชั้นต้นในคดีที่จำเลยที่ 1(เจ๊สุ) ฟ้องโจทก์(นางสาลิกา)เป็นคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ 218/2554  หมายเลขแดงที่ 1557/2554 ของศาลชั้นต้นว่า “ข้าพเจ้าจึงให้กู้อีกเพียง 870,000 บาท ตกลงเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และกำหนดชำระคืนต้นเงิน ในวันที่ 18 พ.ย.2552 จากนั้นนางสาลิกาได้เขียนสัญญากู้ยืมเงินและลงลายมือชื่อในฐานะผู้กู้ และโดยมีจำเลยที่ 2(นายขำ) ทำสัญญาค้ำประกันมอบไว้ให้แก่ข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าได้มอบเงินจำนวน 870,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1(นางสาลิกา) ไป”

และนางสาลิกามีสำเนาคำให้การพยานโจทก์ เอกสารหมายเลข จ.8 มาแสดง ในคดีนี้เจ๊สุยังคงเบิกความยืนยันว่านางสาลิกาทำสัญญากู้ยืมเงิน ฉบับลงวันที่ 18 ส.ค.2552 และรับเงิน 870,000 บาท ไป ในวันดังกล่าว ถึงแม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบในคดีนี้ว่าเพราะเหตุใดจึงไม่มีการกู้ยืมเงินตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ฉบับลงวันที่ 18 ส.ค.2552 ก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นางสาลิกาไม่ได้รับเงินจากเจ๊สุ ตามหนังสือสัญญากู้เงิน ฉบับลงวันที่ 18 ส.ค.2552 ดังวินิจฉัยมาแล้วพยานหลักฐานโจทก์(นางสาลิกา)จึงรับฟังได้ โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1(เจ๊สุ) กระทำความผิดฐานเบิกความเท็จตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนกรณีของจำเลยที่ 2(น.ส.พนิตตา) นั้น โจทก์นำสืบโดยโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 2 เบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลชั้นต้นว่า “ต่อมาในวันที่ 18 ส.ค.2552 โจทกืได้โทรศัพท์มาเรียกข้าพเจ้าเป็นพยานอีก เมื่อไปถึงข้าพเจ้าได้ยินโจทก์บอกว่านางสาลิกามาขอกู้เงินเพิ่มอีกจำนวน 870,000 บาท และเจ๊สุได้ทำสัญญากู้ยืมเงิน โดยมีจำเลยที่ 2(นายขำ) ได้ทำสัญญาค้ำประกันมอบไว้ให้กับเจ๊สุ จากนั้นเจ๊สุได้นำเอาสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.6 ไปอ่านดูปรากฏว่ามีข้อผิดพลาด และมีการแก้ไขให้นางสาลิกาลงลายมือชื่อกำกับไว้ เมื่อเจ๊สุอ่านดูแล้ว ก็นับเงินมอบให้แก่นางสาลิกาไป”

ในคดีนี้ น.ส.พนิตตาเบิกความว่าต่อมาวันที่18 ส.ค.2552 เจ๊สุโทรศัพท์แจ้งว่ามีลูกค้ามาติดต่อขอกู้เงินให้นายขำ และ น.ส.ศิริลักษณ์ โยธาศรี มาเป็นพยาน ส่วนการทำความเข้าใจระหว่างเจ๊สุกับผู้กู้นั้น เจ๊สุจะเป็นคนอธิบายข้อความต่างๆ น.ส.พนิตตาเห็นเจ๊สุส่งมอบเงินให้แก่นางสาลิกาเป็นธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท

ถึงแม้จำเลยที่ 2 (น.ส.พนิตตา) จะเบิกความรับว่าเบิกความตามที่โจทก์นำสืบจริง แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 ในการให้นางสาลิกาและนายขำทำหนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือค้ำประกัน ฉบับลงวันที่ 18 ส.ค.2552 อีกทั้งจำเลยที่ 2 เบิกความในคดีดังกล่าวว่า ในวันที่ 18 ส.ค.2552  เจ๊สุนับเงินส่งมอบให้แก่นางสาลิกาไปนั้น จำเลยที่ 2 ก็มิได้เบิกความยืนยันว่าเจ๊สุส่งมอบให้แก่นางสาลิกาไปนั้นเป็นเงินจำนวน 870,000 บาท ตามที่ระบุในหนังสือสัญญากู้เงิน ฉบับลงวันที่ 18 ส.ค.2552 แต่อย่างใด

ในเรื่องนี้นางสาลิกาก็นำสืบว่าในวันที่ 18 ส.ค.2552 นางสาลิกาได้รับเงินจากเจ๊สุ เป็นจำนวน 520,000 บาท ซึ่งเป็นเงินตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ฉบับลงวันที่ 17 ส.ค.2552 เท่านั้น จำเลยที่ 2 (น.ส.พนิตตา) มิได้เป็นคู่ความในคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่ 1557/2554 ของศาลชั้นต้น จึงไม่อาจนำผลของคำพิพากษาในคดีดังกล่าวที่ว่าไม่มีการส่งมอบเงิน 870,000 บาท ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 18 ส.ค.2552 มารับฟังเพื่อให้มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ได้ จึงไม่อาจรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าเงินที่เจ๊สุส่งมอบให้แก่นางสาลิกาในวันที่ 18 ส.ค.2552 ตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2(น.ส.พนิตตา)  เป็นเงิน 870,000 บาท ตามหนังสือสัญยกู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 18 ส.ค.2552 หรือไม่ อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 2(น.ส.พนิตตา) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามีกาของจำเลยที่ 1(เจ๊สุ) ประการต่อไปมีว่า มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1(เจ๊สุ) เบิกความเท็จดังกล่าวนั้น สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 สร้างหลักฐานขึ้นเพื่อให้โจทก์และนายขำต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงินให้แก่จำเลยที่ 1มากกว่าเงินที่โจทก์ได้รับไปจากจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนมาก เป็นการซ้ำเติมความทุกข์ความลำบากให้แก่ผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน แสดงให้เห็นถึงความไม่มีมนุษยธรรม มุ่งหวังประโยชน์แห่งตนเป้นที่ตั้ง หาได้นึกถึงความลำบากของผู้อื่นแต่ประการใดไม่ แม้จำเลยที่ 1 จะมีคุณงามความดีดังที่กล่าวในฎีกา กรณีก็ไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2(น.ส.พนิตตา)นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

ปฐมบทของคดีเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2552 นางสาลิกานำโฉนดที่ดินจำนวน 3 แปลง เพื่อจำนองเป็นประกัน นำเงินเป็นค่านายหน้าการไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ เจ๊สุตีราคาที่ดินทั้ง 3 แปลง เป็นเงิน 580,000 บาท(ห้าแสนแปดหมื่นบาทถ้วน) แต่หลังจดจำนองเสร็จ นางสาลิกาได้รับเงินเพียง 520,000 บาท(ห้าแสนสองหมื่นบาทถ้วน) ซึ่ง  เจ๊สุอ้างว่าหักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า 3 เดือน ในอัตราร้อยละ 3 บาท ที่เหลือเป็นค่าดำเนินการจดจำนอง และค่านายหน้า รวมเบ็ดเสร็จเป็นเงิน 60,000 บาท(หกหมื่นบาทถ้วน) โดยนัดให้มารับเงินในวันรุ่งขึ้น(18 ส.ค.2552)

เมื่อถึงวันนัดเจ๊สุได้ให้เซ็นสัญญาค้ำประกันเงินกู้ เพิ่มอีกหนึ่งฉบับ เป็นจำนวนเงิน 870,000 บาท (แปดแสนเจ็ดหมื่นบาทถ้วน) โดยอ้างว่าทำกันไว้เฉยๆ ไม่ต้องหวั่นเกรงอะไร หากไม่ยอมเซ็นก็จะไม่ได้เงิน นางสาลิกาเหมือนถูกมัดมือชก จำยอมต้องเซ็นชื่อลงไป

ต่อมานางสาลิกาไปขอกู้เงินจากกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน (อชก.) หลังได้รับการอนุมัติจึงนำเงินไปปลดหนี้กับเจ๊สุ ปรากฏว่าลูกน้องจะอ้างว่าเจ๊สุไม่อยู่ อาทิ ไปต่างประเทศบ้าง หรือกรุงเทพฯเป็นต้น นางสาลิกาเทียวไปหาหลายครั้งจนเจอตัวเจ๊สุ แต่กลับถูกเจ๊สุนำเอายอดเงินจำนวน 870,000 บาท ในสัญญาค้ำประกันที่ทำขึ้นทีหลัง มาบวกเพิ่มกับยอดหนี้เดิม รวมเป็นเงินประมาณทั้งสิ้น 1,400,000 บาท (หนึ่งล้านสี่แสนบาท) ซึ่งนางสาลิกาต่อรองขอชำระหนี้ตามที่ได้กู้มาจริงคือ 580,000 บาท แต่เจ๊สุไม่ยอมพร้อมไล่นางสาลิกาออกจากสำนักงาน

หลังจากนั้นเจ๊สุให้ทนายความยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนครพนม บังคับจำนอง เป็นจำนวนเงิน 1,238,125 บาท(หนึ่งล้านสองแสนสามหมื่นแปดพันหนึ่งร้อยยี่สิบห้าบาทถ้วน) บวกดอกเบี้ยรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,900,000 บาท(หนึ่งล้านเก้าแสนบาทถ้วน) นางสาลิกาลุกขึ้นต่อสู้คดีมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา เหมือนสวรรค์มีตาศาลฎีกาพิพากษาให้ชำระหนี้ตามจำนวนเงินที่กู้ยืมจริง คือ 520,000 บาท(ห้าแสนสองหมื่นบาทถ้วน)

นางสาลิกาจึงให้บทเรียนราคาแพงแก่เจ๊สุ ที่เอารัดเอาเปรียบซ้ำเติมคนจน วันที่ 28 ส.ค.2554 จึงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.เมืองนครพนม ดำเนินคดีกับเจ๊สุ ในข้อหาเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล แต่หลังจากสอบสวนแล้วพนักงานอัยการฯกลับสั่งไม่ฟ้อง

นางสาลิกายังไม่หมดหนทางที่จะเอาคนรวยเข้าคุก ตัดสินใจจ้างทนายความฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลจังหวัดนครพนมด้วยตนเอง เป็นคดีดำเลขที่ 198/2559 และคดีแดงที่ 2776/2559 โดยศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559 ให้ตัวนายทุนคือเจ๊สุ และลูกน้อง น.ส.พนิตตา พวงผกา ที่เป็นพยานเท็จให้ต้องโทษติดคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 โดยเจ๊สุยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวมาสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้นัดอ่านคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ซึ่งเจ๊สุฎีกาคัดค้านคำพิพากษา ขณะคดีอยู่ในชั้นศาลฎีกา เจ๊สุนำหลักฐานด้านสาธารณกุศล ขอความเมตตาจากศาลขอนอการลงโทษ ซึ่งศาลฎีกามีคำพิเคราะห์ในตอนท้ายว่า “..เป็นการซ้ำเติมความทุกข์ความลำบากให้แก่ผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน แสดงให้เห็นถึงความไม่มีมนุษยธรรม มุ่งหวังประโยชน์แห่งตนเป็นที่ตั้ง หาได้นึกถึงความลำบากของผู้อื่นแต่ประการใดไม่” จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และชั้นอุทธรณ์ โดยไม่รอการลงโทษ

นอกจากนี้นางสาลิกาเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ระหว่างคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 เจ๊สุได้ส่งอดีตตำรวจชั้นประทวนนายหนึ่ง ขอเจรจาเพื่อยุติคดี โดยเสนอเงินจำนวน 3,000,000 บาท (สามล้านบาทถ้วน)  แต่นางสาลิกาปฏิเสธเห็นว่าเจ๊สุเอารัดเอาเปรียบคนยากคนจนมานานแล้ว จึงประกาศขอเอาคนรวยเข้าคุกดูสักครั้ง ซึ่งก็เป็นไปตามคาดเจ๊สุถูกศาลยุติธรรมทั้ง 3 แห่ง พิพากษาในทิศทางเดียวกัน ต้องเดินเข้าเรือนจำรับโทษเป็นเวลา 2 ปี ปิดตำนานเจ้าแม่เงินกู้นอกระบบ โมเดลเงินกู้ดอกเบี้ยโหดของประเทศไทย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"