‘บิ๊กตู่’นายกฯสมัย2 ส.ส.-ส.ว.เทคะแนนชนะ‘ธนาธร’/ฝ่ายแค้นลากยาว12ชม.


เพิ่มเพื่อน    

 "ลุงตู่" นอนมา ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติโหวตเลือก "ประยุทธ์" เป็นนายกฯ หลังถกเดือดกว่า 10 ชม. "พท.-อนค." รุมจวก “บิ๊กตู่” เป็นเจ้าหน้าที่รัฐขัด รธน.ล้มล้างการปกครองเหมือนเอาคนเผาวัดมาเป็นเจ้าอาวาส ขู่ ส.ว.โหวตประยุทธ์ถือว่าผิดสมบูรณ์โดนจองกฐินแน่ ส.ส.พปชร.เด็กเก่า พท. เย้ยเพื่อแม้วทำไมไม่ส่ง "หญิงหน่อย" ชิงนายกฯ "ส.ว.วันชัย" เชียร์ลุงตู่มาจาก ปชช.ไม่ได้เอาปืนจี้หัวไม่ซุกหุ้น ด้าน "ธนาธร" แถลงนอกสภาเพ้อเป็นนายกฯ แห่งความจริง ขณะที่โผ ครม.ยังไม่นิ่ง แกนนำ พปชร.เตรียมเกลี่ยกระทรวงใหม่หลังปิดโหวตนายกฯ 

    ที่หอประชุมใหญ่ทีโอที ถ.แจ้งวัฒนะ วันที่ 5 มิถุนายน มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยพรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ เสนอชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  ปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่ลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี 
    ก่อนการประชุม มีความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเมื่อเวลา 10.30 น. ที่ห้องวายุภักษ์แกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ภายหลังเสร็จสิ้นการเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธที่จะตอบคำถามสื่อมวลชนที่ถามว่าวันนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง 
    โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้แต่ยิ้ม พร้อมเอามือทาบที่หัวใจ ก่อนชี้นิ้วไปยังห้องเปิดงาน พร้อมกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า "ค้ามนุษย์ แก้ปัญหาค้ามนุษย์อยู่ที่ใจ" ก่อนจะเดินทางกลับทำเนียบรัฐบาล
    จากนั้นได้เดินทางกลับเข้าทำเนียบรัฐบาลเวลา 11.10 น. โดยได้เก็บตัวเงียบอยู่บนตึกไทยคู่ฟ้าตลอดทั้งวัน ไม่มีภารกิจหรือวาระงานอย่างเป็นทางการ โดยพล.อ.ประยุทธ์ได้ติดตามชมการถ่ายทอดการประชุมรัฐสภา ท่ามกลางสื่อมวลชนปักหลักเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และได้กลับบ้านพักในเวลา 16.40 น. โดย พล.อ.ประยุทธ์มีสีหน้าเรียบเฉย ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ แต่หันมาโบกมือให้กับสื่อมวลชนที่มาเฝ้าติดตามสถานการณ์
    ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาในการโหวตเลือกนายกฯ ว่า เป็นเรื่องของรัฐสภา ตนคงไม่ห่วงอะไร คิดว่าคงไม่มีความวุ่นวาย ส่วนที่มีการเสนอชื่อของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ชิงตำแหน่งนายกฯ กับ พล.อ.ประยุทธ์นั้น เมื่อเสนอมาแล้วก็ว่าไปตามนั้น เป็นเรื่องของสภา ส่วนที่จะอภิปรายถึงคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ และที่มาของ ส.ว.ที่ไม่มีความชอบธรรมในการโหวตนายกฯ ก็เป็นเรื่องของสภา ไม่ต้องห่วง ยืนยันว่าไม่มีม็อบต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ หากได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ อีกสมัย แต่จากการประเมินข่าวมีเพียงบางกลุ่มไม่น่าห่วงอะไร และไม่ใช่คนรุ่นใหม่
    ทั้งนี้ เมื่อเวลา 10.20 น. ที่อาคารตรงข้ามหอประชุมบริษัท ทีโอทีฯ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักกิจกรรมทางการเมือง, นายธนวัฒน์ วงค์ไชย นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ พร้อมกลุ่ม Startup People ยื่นหนังสือเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) งดออกเสียงในการเลือกนายกฯ โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.จังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นผู้รับหนังสือเรียกร้อง โดยนายสิรวิชญ์กล่าวว่า ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของ คสช. แต่กลับมีสิทธิ์เลือกนายกฯ เท่ากับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เราจึงต้องการให้ ส.ว.งดออกเสียงโหวตนายกฯ และเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ทั้งการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย และ ส.ว.ที่แต่งตั้งมานั้น ไม่เป็นกลางทางการเมืองการที่ ส.ว.มีสิทธิ์เลือกนายกฯ ถือว่าขัดกันแห่งผลประโยชน์
     ด้าน นพ.ชลน่านกล่าวว่า จะนำข้อเสนอที่ได้ยื่นมานั้นนำไปประกอบการอธิปรายในสภา ซึ่งทางพรรคได้เตรียมไว้แล้ว และจะหารือกับประธานสภาฯ เพื่อเปิดพื้นที่ในการรับรองเรื่องที่ประชาชนได้ร้องเรียนต่อไป
ทำหน้าที่สุจริตเที่ยงธรรม
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนประชุมรัฐสภา 7 พรรคร่วมฝ่ายประชาธิปไตยได้มีการนัดประชุมคณะกรรมการประสานงานวิป 7 พรรคร่วม เกี่ยวกับการอภิปรายก่อนการโหวตนายกฯ และการเสนอชื่อผู้ที่ 7 พรรคร่วมจะเสนอชิงนายกฯ ระหว่างการประชุมหารือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อนค. ได้เดินเข้าห้องประชุมวิป 7 พรรคร่วมเพื่อขอบคุณทั้ง 7 พรรคที่มีมติส่งชื่อตัวเองชิงตำแหน่งนายกฯ โดยนายธนาธรกล่าวว่า "ผมมาขอบคุณทุกคนที่สนับสนุนผม วันนี้เป็นการต่อสู้กับระบอบ คสช. ผมขอขอบคุณทุกท่านมากๆ"
     ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เปิดเผยว่า พรรคภูมิใจไทยมีมติร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ตามข้อตกลงของทุกพรรคการเมืองที่ลงมติเลือกนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร 
    ต่อเวลา 09.00 น. มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปี โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม พร้อมด้วยนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 และนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 
    เมื่อเริ่มการประชุม นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาฯ ได้อ่านพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้งผู้รักษาการประธานองคมนตรี , พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธาน และรองประธานสภาฯ, พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้งประธานและรองประธานวุฒิสภา จากนั้น ประธานสภาฯ ได้แจ้งเรื่องรับทราบประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 2 เรื่อง คือ ผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และผลการเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ก่อนให้ ส.ส. 3 คนที่ยังไม่ได้ปฏิญาณตนได้ปฏิญาณตนในที่ประชุมก่อนเข้ารับหน้าที่ ประกอบด้วย น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร หรือตั๊น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.), น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ขณะที่นางจุมพิตา จันทรขจร ส.ส.นครปฐม พรรค อนค. ได้ลาการประชุมเนื่องจากป่วย
    จากนั้น ประธานสภาฯ ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อสมาชิกทุกคนที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็นสิ่งที่ควรภาคภูมิใจ จึงอยากให้เพื่อนสมาชิกได้ตระหนักถึงความสำคัญของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร และสามารถใช้เสียงข้างมากในการตั้งฝ่ายบริหารได้ ขอให้เพื่อนสมาชิกมีความมั่นใจ และในฐานะประธานสภาฯ ต้องควบคุมการประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับ ขอร้องให้ทุกคนยึดข้อบังคับในการประชุม สภานี้เป็นสภาสำหรับอภิปราย ก็จะเปิดโอกาสให้ได้พูดเรื่องความทุก์ยากของประชาชน และให้โอกาสอภิปรายเต็มที่ ขอเพียงทุกคนยึดการอภิปรายตามข้อบังคับ อย่าแย่งกันพูด ให้ประธานอนุญาตก่อนค่อยพูด เพื่อที่จะไม่ถูกตำหนิ เพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและราบรื่น เพราะถ้าภาพเป็นลบหนึ่งคน สภาก็จะลบทั้งหมด 
    "ขอให้ทุกคนกลับไปอ่านพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีเปิดประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 พ.ค.62 เรื่องการทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ที่ทุกคนต้องยึดมั่นให้การทำหน้าที่เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม" นายชวน กล่าว 
"ประยุทธ์-ธนาธร"ชิงนายกฯ
          ต่อมานายชวนได้แจ้งต่อที่ประชุมถึงการยื่นญัตติของ ส.ส. เพื่อให้ที่ประชุมสภาตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ว่าญัตติดังกล่าวได้ยื่น และมี ส.ส.ลงลายมือชื่อรับรองอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบอำนาจตามญัตติดังกล่าว เลขาธิการสภาฯ ระบุว่าไม่อยู่ในอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรที่จะดำเนินการได้ ซึ่งตนให้ความเห็นชอบตามที่เลขาธิการสภาฯ เสนอ  
    ทั้งนี้ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค อนค. ในฐานะผู้เสนอญัตติดังกล่าว อภิปรายยืนยันสิทธิของสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องตรวจสอบบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ก่อนจะเสนอให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติ 
         ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. อภิปรายว่า บุคคลที่พรรค พปชร.เสนอให้เป็นนายกฯ นั้น ได้รับการตรวจสอบคุณสมบัติจากกกต. รวมถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ดังนั้นสภาไม่จำเป็นต้องตรวจสอบคุณสมบัติดังกล่าว
        หลังจากให้ ส.ส.อภิปรายตามประเด็นดังกล่าวครบแล้ว นายชวนได้กล่าวปิดประชุมสภาเมื่อเวลา 10.00 น. และจะเริ่มการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกฯ ในเวลา 11.00 น.
    จากนั้น เวลา 11.00 น. เป็นการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ โดยนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานในที่ประชุม พร้อมด้วยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่รองประธานรัฐสภา โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรค อนค. เสนอชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายกรัฐมนตรี 
    ต่อมา นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กทม.อนาคตใหม่ ลุกขึ้นเสนอญัตติให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อสมควรเป็นนายกฯ ทั้ง 2 คนได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยมีผู้รับรองถูกต้อง ทำให้นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พปชร. ลุกขึ้นคัดค้านญัตติดังกล่าวทันที ก่อนที่ น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม.พปชร. ได้ลุกขึ้นเสนอญัตติสวน โดยขอให้ดำเนินการลงมติเลือกนายกฯ ตามระเบียบวาระ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการแสดงวิสัยทัศน์มาก่อน อีกทั้งรัฐธรรมนูญและระเบียบข้อบังคับก็ไม่ได้กำหนดเอาไว้ 
    ทำให้นายชวนต้องขอมติต่อที่ประชุมเพื่อหาทางออก แต่เนื่องจากต้องใช้วิธีการขานชื่อรายคน จึงอาจกระทบเวลาการประชุม เพราะไม่มีเครื่องนับคะแนน ทำให้นายจิรวัฒน์ขอถอนญัตติดังกล่าว 
    จากนั้นประธานในที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายในประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ซึ่งนายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี เพื่อไทย ได้อภิปรายคุณสมบัตินายกฯ ว่าการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่เป็นนายกฯ มาตรา 160 (4) (5) และ (6) ระบุว่าบุคคลที่จะเป็นนายกฯ ต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม และกำหนดว่าผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ ต้องไม่เป็นข้าราชการ พนักงานของรัฐ และต้องไม่เป็นพนักงานของรัฐอื่น ฉะนั้นถ้ามีการรับรองชื่อคนที่ขาดคุณสมบัติจะต้องรับผิดชอบด้วย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ หากดูโดยทั่วไปถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแน่นอน เพราะได้รับเงินเดือนประจำ
เย้ยพท.ไม่ส่ง"หญิงหน่อย"
    ต่อมานายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ อนาคตใหม่ อภิปรายว่า ในปี 35 ตนประทับใจพรรคประชาธิปัตย์ในการต่อต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการ รวมถึงพรรคการเมืองอื่นในขณะนี้ด้วย ดังนั้นในโอกาสนี้จึงขอเรียกร้องให้ท่านหยุดยั้ง ร่วมแรงยุติการสืบทอดอำนาจ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเหตุการณ์พฤกษา 35  ขอให้ทุกท่านหยุดยั้งในการสืบทอดอำนาจในครั้งนี้ โดยการไม่เลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีก ขณะที่ส.ว.ได้รับแต่งตั้งแล้ว ถือว่าเป็นอิสระแล้ว จึงเป็นโอกาสทองที่ไม่โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ได้
    ช่วงบ่ายการประชุมเริ่มดุเดือด เมื่อ พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.กำแพงเพชร พรรค พปชร. และอดีต ส.ส.พรรค พท. อภิปรายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ พร้อมกับหันไปถามพรรค พท.ว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่เคยประกาศว่าจะเป็นนายกฯ หายไปไหน ทำไมพรรคเพื่อไทยไม่ส่งมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่กลับไปส่งนายธนาธร ซึ่งหากรัฐสภาเลือกนายธนาธรเป็นนายกฯ จะมีความวุ่นวาย เนื่องจากมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ หากได้รับเลือกจะไม่สามารถเข้าสภาเพื่อทำหน้าที่ได้ จะกลายเป็นนายกฯ นอกสภาทันที
    จากนั้น นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรค พท. ได้ใช้สิทธิพาดพิงว่า ตนได้เสนอทั้งในที่ประชุมพรรค พท.และทางสื่อมวลชนว่า คุณหญิงสุดารัตน์มีความเหมาะสมที่จะเป็นนายกฯ มีความรู้ความสามารถมากกว่าคนที่พรรค พปชร.เสนอเป็นนายกฯ เสียอีก แต่พรรคไม่ส่ง ตนก็ไม่รู้จะทำอย่างไร
    ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม และนายคารม พลพรกลาง ส.ส.พรรค อนค. ยังได้ประท้วงการอภิปรายของพ.ต.ท.ไวพจน์ ที่พาดพิงนายธนาธร โดยขอให้ พ.ต.ท.ไวพจน์ถอนคำพูดดังกล่าว เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวเท่านั้น ยังไม่มีคำตัดสิน ซึ่ง พ.ต.ท.ไวพจน์ก็ยอมถอนคำพูดทั้งหมด
    นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรค พท. อภิปรายว่า พล.อ.ประยุทธ์มีลักษณะต้องห้ามหลายข้อ โดยเฉพาะมาตรฐานจริยธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้าคณะยึดอำนาจ ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มล้างการปกครอง เป็นกบฏ โทษถึงขั้นประหารชีวิต ถ้ายังเอา พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นนายกฯ อีก จะไม่ต่างอะไรจากเอาคนที่เคยเผาวัดมานั่งเป็นเจ้าอาวาส อีกทั้งยังขาดคุณสมบัติเพราะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐด้วย จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลมีปัญหา รวมถึง ส.ว.ด้วย ที่วันนี้เรายังไม่รู้เลยว่ากรรมการสรรหา ส.ว.เป็นใคร พวกตนจะขอจองกฐินเพื่อยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน
    นายสุทินยังอภิปรายถึงความไม่เหมาะสมของพล.อ.ประยุทธ์ ต่อการดำรงตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากเป็นบุคคลที่ไม่ยึดมั่นในนิติรัฐ กรณีใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปิดการทำเหมืองแร่ทองอัครา บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ จ.พิจิตร ทั้งที่บริษัทต่างชาติเจ้าของสัมปทานเหมืองทองปฏิบัติตามเงื่อนไขและกติกาของสากลบริษัทดังกล่าวยื่นฟ้องต่อศาล เชื่อว่ารัฐบาลไทยจะแพ้คดี และต้องชดใช้ค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่คนไทยต้องร่วมกันชดใช้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ฐานะผู้ใช้มาตรา 44 จะไม่มีส่วนรับผิด 
       ทำให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. อภิปรายกรณีนายสุทินพาดพิง พล.อ.ประยุทธ์ว่า ไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะการให้ข้อมูลว่ารัฐบาลจะต้องจ่ายค่าเสียหายจากการถูกฟ้องร้อง 4 หมื่นล้านบาท แต่ข้อเท็จจริงถูกฟ้องร้องเพียง 3,000 ล้าน สิ่งที่นายสุทินบอกว่ารัฐบาลจะแพ้คดี 100 เปอร์เซ็นต์ ยืนยันว่ารัฐบาลไทยมีโอกาสชนะ เพราะจากการตรวจสอบจากกระทรวงอุตสาหกรรม พบว่าบริษัทดังกล่าวทำผิดเงื่อนไข คือสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทไม่สามารถดูแลความเรียบร้อย และทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ จึงเป็นเหตุให้พล.อ.ประยุทธ์ต้องสั่งปิดเหมืองแร่ดังกล่าวไป
"ปรีชา"ทำหน้าที่แก้ตัวแทนลูก
    ต่อมาช่วงเวลา 16.00 น. นายชวนทำหน้าที่ประธานการประชุม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรค พท. อภิปรายว่า ความสุจริตของรัฐบาลประยุทธ์ตลอด 5 ปี สร้างภาพลวงตาว่าโปร่งใส แต่ปากว่าตาขยิบ ขาดการตรวจสอบหลายประเด็น อาทิ เรื่องนาฬิากาหรู อุทยานราชภักดิ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ยังสนิทสนมกับกลุ่มนายทุนใหญ่ของประเทศบางกลุ่มเป็นพิเศษ 
    นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ลุกขึ้นอภิปรายยกเหตุผลปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ โดยเท้าความถึงสาเหตุที่จำเป็นต้องเข้ามายึดอำนาจ ทำให้นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ อนค. ได้ลุกขึ้นอภิปรายสวนนายคำนูณว่า หากมองว่าถ้าการกระทำการยึดอำนาจ มีคุณูปการต่อประเทศ ตนก็อยากจะถามว่าใครสมคบกับ พล.อ.ประยุทธ์ในการยึดอำนาจ จนกระทั่งนายชวนต้องตัดบทให้จบประเด็นนี้ก่อนที่จะบานปลาย 
    จากนั้น นางปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพปชร. อภิปรายว่า การกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สืบทอดอำนาจนั้น หากเป็นจริงก็คงไม่มีการเลือกตั้ง คงเป็นนายกฯ ต่อไปเลย ส่วนกรณีที่บางพรรคการเมืองตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่ามีการซื้องูเห่าราคา 120 ล้านบาทนั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะวันนี้ไม่มีงูเห่า มีแต่เด็กเลี้ยงแกะ ทำให้นายคารม พลพรกลาง  และนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค อนค. ลุกขึ้นประท้วง และขอให้ถอนคำพูด แต่นางปารีณาไม่ยอมถอน โดยระบุว่าไม่ได้เอ่ยชื่อใคร แต่เห็นมีคนกินปูนร้อนท้อง 
    ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า หากมี ส.ว.คนใดยกมือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์แม้แต่คนเดียว ถือว่าความผิดสมบูรณ์ ซึ่งแม้ว่าเราจะไม่มีอำนาจถอดถอน ส.ว.ได้ แต่สังคมจะจองกฐิน โดยจะรวบรวมรายชื่อเพื่อดำเนินการตามอำนาจที่รัฐธรรมนูญให้ไว้
    ช่วงค่ำ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ได้อภิปรายโจมตีรัฐบาลหลายเรื่อง อาทิ กรณีแหวนแม่นาฬิกาเพื่อน การขุดลอกคูคลองขององค์การทหารผ่านศึก การตั้งบริษัทในค่ายในทหารของลูกชาย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ และยังระบุว่าได้รับการเสนอเงิน 300 ล้านบาท พร้อมตำแหน่งรองนายกฯ กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แลกกับการนำ 10 ส.ส.เสรีรวมไทยไปร่วมรัฐบาล เมื่อปฏิเสธก็ยังตามตื๊อ พยายามเสนอเพิ่มเงินให้เป็นเท่าไรก็ได้ พฤติการณ์เหล่านี้อย่าว่าแต่สนับสนุนให้เป็นนายกฯ แม้แต่เป็นยามที่บ้าน ตนก็ไม่เอา เพราะกลัวคนมาด่าเต็มไปหมด
    ทำให้ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ส.ว. ขอใช้สิทธิถูกพาดพิงว่า สมัยที่เป็นแม่ทัพภาคที่ 3 พักอาศัยอยู่ในค่ายทหาร เพราะไม่มีบ้านพักอยู่ภายนอก เมื่อลูกชายตั้งบริษัทตามกฎหมายที่ระบุว่าต้องมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เมื่อลูกชายอาศัยอยู่กับตน จึงจำเป็นต้องใช้ที่อยู่บ้านพักในค่ายทหาร แต่ไม่ได้มีส่วนสนับสนุนใดๆ
    จากนั้นถึงคิวสมาชิกในส่วน ส.ว.ลุกขึ้นอภิปรายโดยเฉพาะประเด็นที่มา ส.ว. ซึ่งนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ระบุว่า ส.ว.มาตามรัฐธรรมนูญที่ประชาชนส่วนใหญ่ลงคะเเนนผ่านประชามติ เพียงเเต่ต่างกันตรงที่มากับ ส.ส. โดย ส.ว.มาจากการสรรหา 
ส.ว.ลากตั้งปะทะเด็กหิ้วกระเป๋า
    ด้านนายคารม พลพรกลาง อภิปรายตอบโต้ว่า คณะกรรมการสรรหา ส.ว.นั้น ไม่ใช่ คสช.หรือ และตนรู้ว่านายวันชัยเคยลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคชาติพัฒนาเมื่อปี 2544 เเต่ประชาชนไม่เลือก ทำให้นายวันชัยอภิปรายว่า ความเป็นประชาธิปไตยจะต้องหัดฟังคนอื่นบ้าง ตนรู้กำพืดนายคารมดี ตั้งเเต่หิ้วกระเป๋าตามใคร นายคารมจึงสวนว่า แบบนี้หรือจะบอกว่าเป็นผู้ใหญ่อย่างไร ท่านเห็นตนถือกระเป๋าให้ใครหรือไม่ สุดท้ายนายพรเพชรทำหน้าที่ประธานการประชุมขณะนั้นต้องเตะเบรกไกล่เกลี่ยจนจบประเด็นก่อนจะบานปลาย 
    จากนั้นนายวันชัยจึงอภิปรายยืนยันว่า ส.ว.มาจากประชาชนและตามรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องบอกว่าดีกว่าเเคนดิเดตอีกคนหนึ่ง เพราะ 1.มาจากประชาชนมากที่สุด เมื่อรวมตัวเลขที่พรรคการเมืองจะยกมือสนับสนุน 2.ขณะนี้ไม่ได้เอาปืน ไม่ได้เอาทหารมาจี้หัว เหมือนการรัฐประหาร 3.ถ้าพูดเรื่องจริยธรรม ไม่มีคดีค้างอยู่ในโรงในศาล แต่อีกคนมีคดีค้างอยู่ และ 4.พล.อ.ประยุทธ์มาจาก รธน. ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงมีประสบการณ์เหนือกว่า สร้างบ้านเเปงเมือง ไม่มีประวัติความไม่น่าไว้วางใจในความสุจริต ไม่ซุกหุ้น จึงบอกได้เลยว่า พล.อ.ประยุทธ์ดีกว่าแน่นอน 

    ทำให้นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายสวนทันทีว่า ความไม่ไว้วางใจใหญ่หลวงของ พล.อ.ประยุทธ์ คือการเป็นหัวหน้ารัฐประหาร และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่มีเพราะพล.อ.ประยุทธ์ ฉีกรัฐธรรมนูญ 50 ดังนั้นจึงเชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาจะคิดได้เองว่าจะเลือกใครเป็นนายกฯ
    จากนั้น นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ อภิปรายว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศช่วยให้ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น และตัวเลขหนี้สาธารณะลดลง เหนือกว่ารัฐบาลก่อนหน้านี้ เช่นเดียวกับปัญหาการทุจริต แม้รัฐบาลนี้จะมีปัญหาทุจริต แต่ยับยั้งได้ หลายโครงการรู้ว่าทุจริต แต่ยกเลิกไม่ทำ ถือเป็นบทพิสูจน์ 5ปี
    นายมงคลกิตติ์กล่าวอีกว่า ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มีข้อดีและมีข้อเสียพอกัน จึงไม่รู้ว่าจะเลือกใคร เพราะรักพี่ก็เสียดายน้อง แต่ส่วนตัวถ้าเลือกได้อยากเลือกให้เป็นนายกฯ ทั้งสองคน โดยแบ่งกันคนละสองปี เพราะในขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ถือว่าเหมาะสมกว่า แต่อีก 5-10 ปีข้างหน้า นายธนาธรถือว่ามีความพร้อมมากกว่า 
    ต่อมาเวลา 20.30 น. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ซึ่งได้ขึ้นอภิปรายเป็นคนสุดท้าย ก่อนที่จะมีการโหวตนายกฯ ว่า ตามประเพณี ตนเป็นผู้ได้รับฉันทานุมัติสรุปการอภิปรายในหลายประเด็น ตั้งแต่เช้าจนถึงตอนนี้ เป็นเรื่องคุณสมบัติหลายท่านไม่ชัดเจน ในเรื่องของเสียงที่อ้างว่าได้จากประชาชน 8.4 ล้าน เป็นเสียงของพลังประชารัฐ ก่อนหน้า 3.9 ล้านจากประชาธิปัตย์ ก็บอกว่าไม่เอาพลังประชารัฐรวมถึงภูมิใจไทยด้วย
    นอกจากนี้ นายจิรายุยังได้ยกตัวอย่างการทำผิดจริยธรรมในหลายครั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์กับนักข่าวด้วยคำพูดที่ไม่เหมาะสม ซึ่งหากจะตอบว่ายังไม่ได้รับรายงาน ก็สามารถทำได้ ในเรื่องคุณสมบัติของว่าที่นายกฯ ถูกต้องตาม รธน. หรือไม่นั้น มีการสอบถามไปยัง กกต. แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน จึงเป็นหน้าที่ของรัฐสภาต้องวินิจฉัยกันเอง แต่ในเรื่องของคุณสมบัติ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นว่าที่นายกฯ พูดไปก็ไลฟ์บอย เหมือนเป็นการเปิดถ้วยแทง ถ้าเกิดมี ส.ว. 2 เสียง ไม่โหวตประยุทธ์ ตนจะไปกราบเท้าให้ดู การเป็นผู้นำ ต้องมีจริยธรรม ผมรู้สึกเสียเวลากับ 5 ปีที่ผ่านมา พวกเราทั้งหลายก็ยอม ไม่อยากคิดว่าจัดตั้งหรือไม่ เข้ามาแรกๆ ก็บอกว่า เข้ามาแก้ไขความขัดแย้ง และขอเวลาอีกไม่นาน 
รัฐสภาโหวต "ประยุทธ์"
    นายจิรายุอภิปรายอีกว่า ประเด็นที่ไม่ยกมือให้ พล.อ.ประยุทธ์ อาทิ บางทีก็ร่าง รธน. โดยเงื่อนไขที่อยากอยู่ยาว ที่จริงการอภิปรายในวันนี้ก็อยากให้ยิน ส.ว.อภิปรายถึงนายธนาธรบ้างว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกับการเป็นนายกฯ อย่างไร สุดท้าย รัฐสภามีผู้เสนอให้อภิปรายลักษณะต้องห้ามของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ รัฐสภาจึงมีอำนาจวินิจฉัย โดยขอให้ประธานโปรดวินิจฉัยว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อคือนายธนาธรและ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้มีคุณสมบัติหรือไม่ก่อน ตราบใดที่ยังไม่ได้วินิจฉัย เท่ากับว่าปล่อยผ่านลงมติ ต้องรับผิดชอบร่วมกัน เพราะฉะนั้นขอให้ท่านประธานวินิจฉัย และปล่อยให้ประเทศอยู่ภายใต้การบริหารของว่าที่นายกฯ
          ซึ่งต่อมา นายชวนไม่พิจารณาข้อโต้แย้ง กรณีคุณสมบัติว่าที่นายกฯ ที่ขัดรัฐธรรมนูญ พร้อมแจ้งให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติเห็นชอบนายกรัฐมนตรีต่อไป
          กระทั่งเวลา 21.40 น. จบการอภิปรายวาระต่อไปเป็นพิจารณาความเห็นชอบของ 2 สภาร่วมกันเป็นการเปิดเผย และเป็นรายบุคคล 
    สำหรับจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดที่มีอยู่ของทั้งสองสภา รวมทั้งสิ้น 747 คน ประกอบดวย ส.ส.จำนวน 497 คน ส่วน ส.ว.จำนวน 250 คน ผลปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่ลงมติเห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ  
     ในระหว่างการประชุมรัฐสภา  เมื่อเวลา 13.00 น. ที่หน้าห้องประชุม นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้แถลงแสดงวิสัยทัศน์ในฐานะผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกฯ ว่า ปัญหาหลายอย่างทับถมมายาวนาน และเชื่อมโยงกับกลุ่มผลประโยชน์แน่นแฟ้น เราต้องประเมินปัญหาอย่างเป็นระบบ หลายปัญหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับเจตจำนงของผู้นำ แต่ขาดความกล้าหาญในการเสนอและบังคับใช้อย่างจริงจัง (เช่น การปฏิรูปภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่ไม่บังคับใช้) เราต้องกล้าชนกับความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างอย่างตรงไปตรงมา หลายปัญหาหมักหมมมานานหลายสิบปี แต่ผู้เดือดร้อนเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่มีปากมีเสียง (เช่น การจัดการป่า ที่ดินทำกิน สวัสดิการสังคม) การขจัดความเหลื่อมล้ำจะต้องไม่ใช่แค่การปรับตัวเลข เปลี่ยนสถิติแต่ต้องยืนยันความเท่าเทียมของสิทธิและโอกาส
    ในอีกด้านหนึ่ง เราต้องวางเป้าหมายในการสร้างประเทศไทยที่เท่าทันโลก ขีดเส้นมาตรฐานบริการของรัฐและยกระดับเศรษฐกิจของไทยใหม่ให้เท่าทันสากล เป็นประเทศไทยที่ทะยานไปอย่างเต็มศักยภาพ ไม่น้อยหน้าใครในเวทีโลกจะดีแค่ไหน ถ้าเราสามารถส่งต่อประเทศไทยที่อยู่ในโลกที่หนึ่ง ให้กับลูกหลานของเราได้ ประเทศไทยที่คนมีสิทธิเสรีภาพ มีความเป็นธรรม และไม่มีรัฐประหาร
    "ผมจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงผ่านระบอบรัฐสภา ใช้กลไกที่ยึดโยงกับประชาชน มีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล ยึดมั่นในระบบนิติรัฐ และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ควบคู่กับระบอบประชาธิปไตยอย่างมั่นคงสถาพร แม้จะยากจะนานเพียงใดต้องยืนยันเส้นทางนี้ ไม่มีทางลัด การด่วนรัฐประหาร ล้มกระดาน บิดเบือนเสียงของประชาชน มีแต่จะพาประเทศไทยเข้าสู่ทางตัน ผมจะเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งความเป็นจริง จะเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งความเปลี่ยนแปลง และจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่พาประเทศไทยไปข้างหน้า" นายธนาธรกล่าว 
    ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาล นำโดยพรรค พปชร. หลังจากแกนนำพรรคไปเจรจาพูดคุยกับพรรคที่จะมาร่วมรัฐบาล โดย พปชร.ยืนยันเงื่อนไขที่จะนำข้อเสนอของพรรคที่จะมาร่วมรัฐบาลเข้าที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค ทั้งเรื่องนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล ตัวบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี รวมไปถึงการจัดสรรโควตารัฐมนตรีตามที่พรรคการยื่นข้อเสนอมา โดยจะนำข้อเสนอเหล่านี้ส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้พิจารณาในรายละเอียดให้เกิดความเหมาะสม และอาจต้องมีการเกลี่ยกระทรวงใหม่อีกครั้ง เพื่อขอคืนกระทรวงพาณิชย์, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงคมนาคม หลังจากผู้ประสานเจรจาในรอบแรกเสนอให้กับพรรคร่วมจนแกนนำกลุ่มต่างๆ ภายในพรรคไม่พอใจ และเปลี่ยนผู้เจรจาให้มาเป็นแกนนำที่มาจากสายการเมืองในพรรคโดยตรงเพื่อป้องกันข้อครหาคนนอกเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมในพรรค ขณะที่ยังมีแรงกดดันจากกลุ่มสามมิตรที่พยายามจะขอคืนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือต่อรองให้พิจารณากระทรวงอื่นที่มีความสำคัญ เช่น กระทรวงคมนาคม เพื่อให้มีตัวแทนของกลุ่มเข้าไปบริหารแทน
    อย่างไรก็ตาม การจัดสรรเก้าอี้ยังไม่ลงตัว แม้จะมีการเสนอข่าวว่าพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรค ปชป.และพรรค ภท. จะได้ตำแหน่งรองนายกฯ รมว. 3 ตำแหน่ง และ รมช. 4 ตำแหน่ง แต่ทั้งหมดยังต้องมาพิจารณากันใหม่ โดยจะดูผลคะแนนที่แต่ละพรรคลงมติโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ มาประกอบการพิจารณาด้วย จึงเป็นการล้มเจรจาในรอบแรก โดยผู้ที่มีอำนาจบางคนมาเป็นบุคคลภายในพรรคดำเนินการแทน
    มีรายงานด้วยว่า ขณะเดียวมีความพยายามของแกนนำ ปชป.และ ภท.วิ่งเข้าหาผู้ใหญ่นอกพรรค เพื่อขอให้ยืนดีลเดิมในรอบแรก
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"