ผู้นำในภูมิภาคนี้หลายคนมีความชัดเจนและกล้าหาญในการแสดงจุดยืนของประเทศ ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับเขาหรือไม่
ไม่ว่าจะเป็นนายกฯ มหาธีร์ของมาเลเซีย หรือหลี่เสียนหลุงของสิงคโปร์ รวมถึงดูเตอร์เตของฟิลิปปินส์ต่างก็กล้าบอกกล่าวกับชาวโลกว่าในประเด็นร้อนๆ ที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศของเขานั้น รัฐบาลของเขามีแนวทางอย่างไร
แม้จะต้องกระทบความรู้สึกของมหาอำนาจก็ต้องพูด เพราะการแสดงจุดยืนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศของตัวเองนั้นเป็นหน้าที่ของผู้นำแต่ละประเทศ
ผมไม่เห็นวิถีปฏิบัติและวิสัยทัศน์เช่นนี้ในประเทศไทยของเรา
เป็นประเด็นที่น่าคิดมาก...เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำในอาเซียนอื่นๆ แล้ว ผู้นำไทยเราดูเหมือนจะอ่อนด้อยในเรื่องการกล้าแสดงออกในเวทีระหว่างประเทศ
นั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สถานภาพของประเทศไทยในเวทีสากลไม่มีความโดดเด่น ไม่สามารถทำให้ประเทศอื่นมีความเคารพและนับถือเราในฐานะเป็นชาติที่มีความเป็นตัวของตัวเองที่ชัดเจน
มหาธีร์ประกาศว่ามาเลเซียจะใช้ระบบของหัวเว่ย “ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้” และไม่ยอมให้สหรัฐมากดดันบังคับให้ต้องเลิกความร่วมมือกับหัวเว่ยของจีน
มหาธีร์บอกว่าเขาไม่กังวลเรื่องการสอดแนมข้อมูล ยืนยันว่าจะใช้เทคโนโลยีของหัวเว่ยต่อไป เพราะหัวเว่ยล้ำหน้ากว่าสหรัฐ และเป็นประโยชน์ต่อมาเลเซีย
ประโยคเด็ดของมหาธีร์คือ
"ก็จริง อาจจะมีการสอดแนมบ้าง แต่ในมาเลเซียมีอะไรให้สอดแนมจริงๆ ล่ะ เราเปิดเผยอยู่แล้ว" มหาธีร์กล่าว
และสำทับว่า "เราจะพยายามใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของหัวเว่ยให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้"
มหาธีร์บอกด้วยว่าอเมริกาและประเทศตะวันตก ต้องยอมรับว่าประเทศเอเชียสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพในการแข่งขันได้แล้ว และไม่ควรข่มคู่คุกคามคู่แข่งทางธุรกิจ
ในอีกเวทีหนึ่งที่สิงคโปร์ นายกฯ หลี่เสียนหลุงของประเทศนั้นประกาศว่ามหาอำนาจสหรัฐและจีนไม่ควรจะบังคับประเทศเล็กๆ ในอาเซียนต้อง “เลือกข้าง” ในการเผชิญหน้าระหว่างสองยักษ์ เพราะการทำเช่นนั้นเหมือนกับยุค “ล่าอาณานิคม” ของโลกตะวันตกในอดีต
วาทะของผู้นำสิงคโปร์ได้ถูกนำเสนอเป็นข่าวไปทั่วโลก เป็นการตอกย้ำว่าผู้นำของประเทศในอาเซียนมิได้ยอมให้ชาติอื่นมากดดันด้านนโยบายให้เข้าข้างตนแต่เพียงอย่างเดียว
แต่ยังต้องการจะบอกกล่าวให้ได้รับทราบว่า แต่ละประเทศย่อมมีศักดิ์ศรีและอธิปไตยในการตัดสินนโยบายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน
ไม่ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ และสี จิ้นผิง ฟังแล้วจะชอบหรือไม่ชอบ แต่ก็ย่อมจะต้องเคารพในจุดยืนของประเทศต่างๆ ที่ต้องคบหาด้วย
เพราะในท้ายที่สุดแล้ว แม้แต่ทรัมป์กับสี จิ้นผิง เองก็จะต้องมีวิธีคิดและปฏิบัติเหมือนกับผู้นำประเทศเล็กๆ นั่นคือ การยืนหยัดแรงกดดันจากประเทศอื่นหากเป็นการข่มขู่บังคับด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสมและไม่สะท้อนถึงการ “คบหากันอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม”
ประธานาธิบดีดูเตอร์เตของฟิลิปปินส์กล้าบอกวอชิงตันให้ถอนทหารกลับบ้าน และคบหากับจีนใกล้ชิดขึ้นอย่างเปิดเผยโดยไม่กลัวแรงกดดันทางด้านลบจากสหรัฐ
เพราะเขาเห็นว่ายุทธศาสตร์ของการคบหากับมหาอำนาจนั้นบางครั้งต้องแสดงความเป็นตัวของตัวเอง
ยิ่งออกอาการ “หงอ” ก็อาจจะยิ่งทำให้ประเทศใหญ่ๆ ไม่เกรงใจ
แม้กระทั่งกรณี “ขยะจากต่างชาติ” เราก็จะเห็นระดับนายกฯ เช่นมหาธีร์และดูเตอร์เตแสดงจุดยืนด้วยตนเอง
ไม่ยอมให้เรื่องประเทศยักษ์ใหญ่ใช้ประเทศตนเป็น “ถังขยะอิเล็กทรอนิกส์” เป็นเพียงเรื่องของระบบราชการปกติ เพราะเรื่องนี้โยงกับความเป็นอธิปไตยของประเทศ และกระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มิใช่ให้เป็นประเด็นระหว่างหน่วยราชการเท่านั้น
ฟิลิปปินส์กับมาเลเซียบอกกล่าวให้อเมริกา, แคนาดา, ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ขนขยะกลับไปบ้านตัวเองเสีย หาไม่แล้วก็จะส่งขยะเหล่านั้นกลับไปทิ้งในน่านน้ำของประเทศต้นทาง
เป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนและจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
ผมยังไม่เห็นบทบาทที่แสดงความเป็นผู้นำที่รับผิดชอบของประเทศไทยเช่นนี้
แม้ไทยเป็น “ประธานอาเซียน” ปีนี้ก็ยังไร้การแสดงท่าทีแห่งการเป็น “ผู้นำ” ทางความคิดและผลักดันเพื่อประโยชน์ของภูมิภาค
หวังว่ารัฐบาลใหม่ที่กำลังพยายามตั้งกันอยู่ขณะนี้จะสำเหนียกถึงความรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ระหว่างประเทศที่มีนัยสำคัญยิ่งนี้โดยพลัน!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |