กิจกรรม"ปักผ้าด้วยมือ" สร้างสังคมเสริมสุขวัยเก๋า


เพิ่มเพื่อน    

      หยิบประโยชน์ของงาน ปักผ้าด้วยมือ ของผู้สูงอายุจากกลุ่มปักผ้าด้วยมือบ้านสันกอง อ.แม่จัน จ.เชียงราย มาเล่าสู่กันฟัง เพราะงานนี้ คุณป้านิธี สุธรรมรักษ์ ประธานศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านสันกอง ผู้อบรมฝึกสอนงานฝีมือดังกล่าวให้กับผู้สนใจ ทั้งกลุ่มของชาวเขาและผู้สูงอายุที่เข้ามาเป็นสมาชิก บอกให้ฟังว่า ผู้เรียนจะได้รับทั้งความสุขและความภูมิใจ เพราะปัจจุบันคุณตาคุณยายที่อยู่ในชุมชนบทจำนวนไม่น้อยที่ต้องเหงา เพราะต้องจับเจ่าเฝ้าบ้าน ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์ที่บูดบึ้ง นำมาซึ่งกันทะเลาะเบาะแว้งกับบุตรหลาน ทำให้ความอบอุ่นในครอบครัวลดน้อยลง แต่ทว่างานภูมิปัญหาท้องถิ่นดังกล่าวกลายเป็นสิ่งที่เติมเต็มคุณภาพชีวิตคนหลัก 6 ไปกระทั่งถึงหลัก 8 ก็ยังสร้างสรรค์งานปักผ้าได้เช่นกัน

(นิธี สุธรรมรักษ์)

      คุณป้านิธี ประธานศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านสันกอง และผู้ฝึกสอนงานปักผ้าด้วยมือ วัย 59 ปี บอกว่า ถ้าให้บอกถึงประโยชน์ของการปักผ้าด้วยมือของผู้สูงอายุจาก อ.แม่จัน มีอยู่หลายด้าน อันดับแรกเขาได้เรื่องของสมาธิ ไม่ฟุ้งซ่าน ประการที่สอง คนแก่จะมีรายได้เพิ่ม โดยป้าจะอบรมงานปักผ้าด้วยมือให้ชาวเขาและผู้สูงอายุในชุมชนทั่วทั้งจังหวัดเชียงราย ซึ่งผู้สูงอายุบางคนก็จะใช้เวลาเพื่อเรียนรู้งานปักผ้า 1 วัน 2 วัน หรือ 5 วัน กระทั่งบางคนเป็นอาทิตย์ หรือบางคนก็ใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะทำได้ แต่ทว่านั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะเจ้าตัวในฐานะของผู้ฝึกสอนไม่ได้เน้นความถูกผิด แต่เน้นความสวยงามและเป็นธรรมชาติตามแบบที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นกำลังใจให้คนสูงวัยได้ร่วมกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการอนุรักษ์งานปักผ้าพื้นถิ่นด้วยลวดลายธรรมชาติไม่ให้สูญหายไป

(งานปักผ้าด้วยมือ กิจกรรมเติมความสุขและสร้างความภูมิใจให้กับคนสูงอายุ)

        ผู้สูงอายุคนไหนที่พอทำเป็นแล้ว ป้าก็จะแจกงานให้ทำ และก็จะนัดเวลาส่งงาน ซึ่งคนแก่บางรายก็จะไม่เบิกเงินเลย รอให้ได้ผ้าปักมืออย่างน้อย 2-3 ผืน ซึ่งบางคนได้ 3-4 พันบาทต่อ 1 เดือนเลย ตรงนี้ผู้สูงอายุก็จะรู้แล้ว ตัวเองมีเงินทำบุญแล้ว หรือเดือนนี้ลูกหลานไม่ส่งเงินมาให้ แต่เขาก็มีเงินจ่ายค่าไฟแล้ว เขามีเงินซื้อของจากการปักผ้า เนื่องจากที่หมู่บ้านของป้าจะมีการจัดตั้งเป็น ชมรมผู้สูงอายุด้วย ดังนั้นเวลาที่คนแก่รู้สึกเหงาก็มารวมตัวกันที่นี่เพื่อทำงานปักผ้าด้วยมือ คนแก่ก็จะหัวเราะไปและทำไปด้วยกัน มันก็มีความสุข ป้าจะเน้นกับผู้ที่อบรมว่า อย่าเอาเงินเป็นตัวตั้ง แต่ขอให้เอาความสุขเป็นตัวตั้ง วันนี้ปักได้ 5 บาท แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ได้หัวเราะ เมื่อนั้นก็จะได้ความสุขกลับไป คิดเป็น 500 บาทเลยทีเดียว

      พอจบจากงานปักผ้าที่ป้าสอน เราทั้งหมดก็ไปทำกับข้าวกินกัน ถ้าเหลือก็ห่อกลับบ้าน เรียกได้ว่ากลับบ้านด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส เมื่อลูกหลานกลับมาจากทำงาน เห็นแม่ไม่บ่น ก็มีความสุขกันทั้งบ้าน แต่ถ้าเราทิ้งผู้เฒ่าผู้แก่ให้อยู่บ้านลำพัง เขาจะรอให้ลูกหลานกลับมาตอนเย็น หน้าก็จะบูดบึ้ง หน้างอ รอด่าลูกหลาน แต่ถ้ามาทำงานปักผ้า ท่านก็ไม่มีเวลาคิดที่จะด่าหรือบ่นลูกหลาน เมื่อนั้นลูกหลานเองก็มีความสุขไม่ทะเลาะกัน และผลงานปักผ้าก็จะทำให้เขาจะภูมิใจและมีรายได้ แม้จะเป็นรายได้ที่ไม่เยอะก็ตาม ซึ่งในต่างจังหวัดนั้น หากบ้านไหนที่ต้องเสียค่าไฟ 150 บาท ก็ถือว่าค่อนข้างมาก แต่ถ้ามีรายได้จากงานปักผ้า เขาจะมีทั้งเงินจ่ายค่าไฟและมีความสุขกับงานที่ตัวเองชอบ เพียงแค่นี้เป็นสิ่งที่คนสูงวัยต้องการค่ะ

(ตัวอย่างชิ้นงานของผู้สูงอายุที่ปักผ้าด้วยมือย่าง ลายเมล็ดขาวสาร, ข้าวเปี๋ยน (ปลายข้าวสาร) ใบไม้, ดอกไม้, สายน้ำ, สายฝาบ้าน, ลายก้นหอย)

        ประธานศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านสันกอง บอกอีกว่า ลวดลายปักผ้าที่เหมาะกับผู้สูงนั้น เป็นลายอะไรก็ได้ที่ผู้สูงอายุถนัด เรียกได้ว่าเป็นลายที่ง่าย และไม่มีผิดหรือถูก เช่น ลายเมล็ดขาวสาร, ข้าวเปี๋ยน (ปลายข้าวสาร) ใบไม้, ดอกไม้, สายน้ำ, สายฝาบ้าน, ลายก้นหอย อะไรก็ได้ ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุที่สามารถมาฝึกงานปักผ้านั้น เริ่มได้ตั้งแต่คนอายุ 60-85 ปี และทุกคนภูมิใจในสิ่งที่ทำ ได้เงิน และอนุรักษ์การปักผ้าด้วยมือ    

(ลายเดินเส้น และลายเมล็ดขาวสาร เป็นลวดลายพื้นฐานงานปักผ้าด้วยมือ ที่ป้านิธีสอนและอบรมให้กับคนทั่วไปและผู้สูงอายุที่สนใจ)

      เรื่องสายตาไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับผู้สูงอายุที่คิดทำงานปักผ้าด้วยมือ เพราะอย่างที่บอกไปว่าลวดลายที่สอนนั้นจะไม่เน้นว่าถูกหรือผิด เป็นลวดลายที่ง่าย เพียงแค่ใช้เข็มเป็น และปักจิ้มขึ้นแทงลงได้ กระทั่งเป็นลวดลายตามจินตนาการ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ถ้าไม่สวยป้าก็จะนำมาแก้ไขเอง ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งขั้นตอนในการสอนนั้นก็สอนลายง่ายๆ ให้ก่อน เช่น การปักลายแบบเดินเส้น เพื่อให้ผู้สูงอายุคุ้นเคยกับงานปัก และเมื่อท่านเริ่มทำได้ก็จะสอนลายเมล็ดข้าวสาร ลายกากบาท ที่ถือเป็นลายเบสิกให้กับท่าน แต่ถ้าผู้สูงอายุที่หัวไว หรือมีพื้นฐานการเย็บปักถักร้อยอยู่แล้ว ก็จะสอนลายยากอย่างการปักลายใบไม้ เป็นต้น ที่สำคัญไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานงานปักผ้ามาก่อน เพราะทุกอย่างสามารถเรียนรู้กันได้ค่ะ ที่สำคัญชิ้นส่วนลวดลายผ้าปักด้วยคุณย่าคุณยายนั้นจะถูกนำไปดีไซน์เป็นกระเป๋าใส่โทรศัพท์มือ ประดับตกแต่งกระเป๋าสำหรับถือ กระทั่งปักลงรองเท้า ปักลงบนหมอน ฯลฯ

        เงินไม่ใช่ทุกอย่าง แต่ทว่าความสุขใจเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนใฝ่หา โดยเฉพาะงานฝีมือพื้นถิ่นที่ถ่ายทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย อย่างงานปักผ้าด้วยมือของชาว อ.แม่จัน เห็นด้วยไหมค่ะ...


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"