กลุ่มสิทธิมนุษยชนอ้างภาพถ่ายดาวเทียม กล่าวโจมตีทางการพม่าว่าใช้เครื่องจักรกลหนักไถปราบหมู่บ้านของชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 55 แห่งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ถือเป็นการทำลายหลักฐานที่พิสูจน์ความโหดร้ายป่าเถื่อนของทหาร
ภาพดาวเทียมจากดิจิทัลโกลบ วันที่ 19 ก.พ. 2561 ที่ฮิวแมนไรต์วอตช์เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ อ้างว่าเป็นภาพการทำลายล้างหมู่บ้านชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ภาพ DIGITALGLOBE / AFP
องค์กรฮิวแมนไรต์วอตช์เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 ว่า การทำลายล้างหมู่บ้านชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ทางเหนือของพม่านั้น อาจทำลายหลักฐานความโหดร้ายป่าเถื่อนของทหารพม่า ที่เปิดปฏิบัติการปราบปรามตามหมู่บ้านต่างๆ ตอบโต้ที่กองกำลังติดอาวุธชาวโรฮิงญาโจมตีที่ตั้งของตำรวจตระเวนชายแดน 30 แห่งในรัฐยะไข่เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมปีที่แล้ว
ปฏิบัติการของกองทัพพม่าในคราวนั้นบีบให้ชาวโรฮิงญา 688,000 คนหนีข้ามพรมแดนเข้าบังกลาเทศ โรฮิงญาหลายคนบอกเล่าถึงพฤติกรรมโหดร้ายป่าเถื่อนของทหารและตำรวจพม่า ทั้งการเข่นฆ่า ข่มขืนและวางเพลิง
รอยเตอร์รายงานว่า การค้นพบขององค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งนี้เผยแพร่ภายหลังรัฐบาลพม่าบรรลุข้อตกลงกับองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และญี่ปุ่น เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐในรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างพม่ากับยูเอ็น
ยูเอ็นเคยระงับการดำเนินการในรัฐยะไข่และอพยพเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีกิจสำคัญออกจากพื้นที่ ภายหลังรัฐบาลพม่ากล่าวหาว่า ยูเอ็นสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธโรฮิงญาเมื่อปีที่แล้ว
ยูเอ็นและรัฐบาลสหรัฐยังเคยกล่าวถึงการปราบปรามทำลายล้างในรัฐยะไข่ว่าเป็นการล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา แต่รัฐบาลของนางอองซาน ซูจี ผู้เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ขัดขวางไม่ให้คณะสอบสวนข้อเท็จจริงของยูเอ็นและผู้สังเกตการณ์อิสระเข้าไปภายในพื้นที่ได้
ทางการพม่าอ้างเหตุผลว่า ปฏิบัติการของกองทัพมีความชอบด้วยกฎหมายเพื่อปราบปราม "ผู้ก่อการร้าย" มุสลิม
องค์กรสิทธิแห่งนี้กล่าวด้วยว่า มีหมู่บ้าน 362 แห่งถูกทำลายบางส่วนหรือถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงนับแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว และตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา หมู่บ้านบางแห่งในจำนวนนี้ และอีกอย่างน้อย 2 แห่งที่ไม่ได้รับผลกระทบ กลับถูกทำลายอย่างราบคาบ
แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์วอตช์ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า หมู่บ้านหลายแห่งเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์โหดร้ายป่าเถื่อน และควรรักษาสภาพไว้ เพื่อที่ผู้เชี่ยวชาญที่ยูเอ็นมอบหมายให้เก็บรวบรวมเอกสารข้อมูลการกระทำผิด จะสามารถประเมินหลักฐานได้อย่างเหมาะสมและระบุตัวผู้ที่รับผิดชอบได้
"การไถปราบพื้นที่เหล่านี้ เสี่ยงที่จะทำลายทั้งความทรงจำ และการอ้างสิทธิตามกฎหมายของชาวโรฮิงญาที่เคยอาศัยที่นั่น" เขากล่าว
ฮิวแมนไรต์วอตช์กล่าวด้วยว่า ภาพถ่ายหลายภาพจากดาวเทียม เผยให้เห็นหมู่บ้าน 2 แห่งในเขตมยินลุต ซึ่งไม่ได้โดนไฟไหม้เสียหาย และน่าจะไม่มีคนอาศัยอยู่ โดนเครื่องจักรกลทำลายจากราบคาบ ระหว่างวันที่ 9 มกราคม ถึง 13 กุมภาพันธ์
เจ้าหน้าที่พม่าพากันกล่าวอ้างว่า รัฐบาลกำลังเตรียมที่ทางเพื่อรับผู้ลี้ภัยที่จะเดินทางกลับ ตามข้อตกลงส่งตัวกลับ ที่พม่าลงนามไว้กับบังกลาเทศเมื่อเดือนพฤศจิกายน
สื่อของทางการพม่ารายงานเมื่อเดือนที่แล้วว่า มีรถขุดดิน 8 คัน และรถปราบดิน 4 คันกำลังทำงานอยู่ในพื้นที่นั้น ทางการพม่ายังได้จัดตั้งศูนย์รับรอง 2 แห่ง และค่าย 1 แห่งสำหรับผู้ลี้ภัยที่เดินทางกลับ สถานที่เหล่านี้เป็นเพียงที่รองรับชั่วคราว และผู้อพยพจะสามารถเดินทางกลับถิ่นที่อยู่เดิมของพวกเขาหรือพื้นที่ใกล้เคียง
วิน มยัตอาย รัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจากนางซูจีให้รับผิดชอบงานฟื้นฟูบูรณะรัฐยะไข่ กล่าวไว้เมื่อเดือนกันยายนว่า ที่ดินที่โดนเพลิงไหม้เสียหายจะกลายเป็นที่ดินที่รัฐบาลบริหารจัดการตามกฎหมาย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |