เยรูซาเลมตะวันออก ทดสอบมิตรแท้มุสลิม


เพิ่มเพื่อน    


ประธานาธิบดีทรัมป์ยืนเคียงข้างกษัตริย์ซาอุฯ เจ้าภาพ

การประกาศยอมรับเยรูซาเล็มฝั่งตะวันออกเป็นของอิสราเอลกลายเป็นประเด็นวิพากษ์ร้อนแรงในโลกมุสลิม โจมตีรัฐบาลทรัมป์ต่างๆ นานา สวนทางกลับที่ครั้งหนึ่งรัฐบาลซาอุฯ ชมเชยว่าทรัมป์เป็นมิตรแท้มุสลิม

นอกจากประณามมีอะไรอีกไหม :

สันนิบาตอาหรับ (Arab League) เตือนว่าหากรัฐบาลทรัมป์ยอมรับกรุงเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอลจะโหมไฟลัทธิสุดโต่ง เป็นการอยุติธรรม ไม่ช่วยสร้างสันติภาพ ความมั่นคง เฉพาะอิสราเอลที่ได้ประโยชน์

ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย Joko Widodo ชี้ว่าการยอมรับดังกล่าวละเมิดข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงหลายข้อ ซึ่งเป็นข้อมติที่รัฐบาลสหรัฐเป็นผู้รับรองเอง เกรงว่าจะบั่นทอนความมั่นคงโลก

ในทำนองเดียวกัน สันนิบาตอาหรับเรียกร้องให้รัฐบาลทรัมป์ยกเลิกแถลงการณ์ยอมรับเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอล เพราะละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง ขยายความตึงเครียด ยั่วยุให้โกรธแค้น ชักนำให้ภูมิภาควุ่นวายและเกิดเหตุรุนแรงกว่าเดิม

เรเจพ ทายยิพ แอร์โดกาน (Recep Tayyip Erdogan) ประธานาธิบดีตุรกี ตัวแทนองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation : OIC) กล่าวว่า อิสราเอลเป็นรัฐที่โหดร้ายและยึดครองแผ่นดินคนอื่น ขอให้นานาชาติสนับสนุนเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของปาเลสไตน์

มีคำถามว่า นอกจากประณาม จะมีอย่างอื่นที่เป็นรูปธรรมไหม

Hassan Nasrallah ผู้นำฮิซบอลเลาะห์เรียกร้องให้มุสลิมทั่วโลกลุกขึ้นต่อต้านสหรัฐ ด้วยการให้รัฐอาหรับกับรัฐมุสลิมยกเลิกข้อตกลงสันติภาพต่างๆ และข้อตกลงที่ทำกับอิสราเอล การต่อต้านอย่างเป็นรูปธรรมไม่จำเป็นต้องเข่นฆ่าทำร้ายร่างกายอีกฝ่าย มีวิธีการอื่นๆ มากมาย เช่น คว่ำบาตรด้วยการไม่ติดต่อด้วย การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมักเป็นวิธีที่ใช้กัน แนวทางของผู้นำฮิซบอลเลาะห์เป็นตัวอย่างอีกแบบ

มิตรแท้มุสลิม :

กษัตริย์ซาอุฯ ผู้ประกาศเรื่อยมาว่าเป็นผู้ปกป้องอิสลามจะทำอย่างไร ยังจะถือว่าประธานาธิบดีทรัมป์เป็นมิตรแท้มุสลิมหรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นดูเหมือนว่าเป็นมิตรแท้อิสราเอลมากกว่า

ย้อนหลังเมื่อกลางเดือนมีนาคม Mohammed bin Salman รองมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย (ตำแหน่งในขณะนั้น) หารือผู้นำสหรัฐอย่างเป็นทางการที่ทำเนียบขาว แถลงการณ์ฝ่ายซาอุฯ ตอนหนึ่งกล่าวว่า “ประธานาธิบดีทรัมป์เคารพศาสนาอิสลามอย่างจริงจัง” เห็นว่าอิสลามเป็นหนึ่งในศาสนาสำคัญแต่ถูกพวกหัวรุนแรงนำไปใช้ประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ทรัมป์จึงเป็น “มิตรแท้ของมุสลิม” (true friend of Muslims)

แถลงการณ์ไม่เอ่ยถึงการที่ทรัมป์ใช้คำว่า “ผู้ก่อการร้ายอิสลามหัวรุนแรง” (radical Islamic terrorism) นักวิชาการบางคนชี้ว่าใครก็ตามที่ใช้คำว่าก่อการร้ายอิสลามหัวรุนแรงย่อมตั้งใจที่จะเชื่อมโยง “อิสลาม” เข้ากับ “ก่อการร้าย” เข้ากับ “หัวรุนแรง นิยมความรุนแรง”

แถลงการณ์แสดงท่าทีพอใจทัศนคติของประธานาธิบดีทรัมป์ต่ออิสลาม เห็นว่าท่านตั้งใจร่วมไม้ร่วมมือกับโลกมุสลิม ขอให้ทุกคนเข้าใจทรัมป์อย่างถูกต้อง ไม่เป็นไปตามการบิดเบือนของสื่อ

ไม่ว่าเป็นมิตรแท้มุสลิมจริงหรือไม่ ในช่วงหาเสียงเป็นที่รับรู้ทั่วไปว่าทรัมป์แสดงท่าทีเชิงลบต่อมุสลิม มีนาคม 2106 ให้สัมภาษณ์สื่อโทรทัศน์ช่องหนึ่งว่า “ผมคิดว่าอิสลามเกลียดชังเรา เกลียดชังอย่างรุนแรง เราต้องเรียนรู้อย่างลึกซึ้งถึงแก่นข้อนี้”

ดังที่เคยนำเสนอในบทความก่อนว่า ทรัมป์หาเสียงด้วยวิธีการสร้างความแปลกแยก ชูประเด็น “อิสลามหัวรุนแรง” (radical Islam) ให้คนอเมริกันหวาดผวาเรื่องผู้ก่อการร้ายเกินจริง หาเสียงโดยโหนกระแสกลัวอิสลาม (Islamophobia)

หลังการเยือนของเจ้าชาย Salman ทรัมป์กลายเป็นมิตรแท้มุสลิม

การเยือนของเจ้าชาย Salman เป็นเพียงจุดเริ่มต้น 2 เดือนต่อมา ประธานาธิบดีทรัมป์เยือนซาอุฯ อย่างเป็นทางการและเข้าร่วมประชุม “Arab Islamic American Summit” ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้นำชาติอาหรับ ผู้นำมุสลิมประเทศอื่นๆ และผู้นำอเมริกา รวมทั้งหมด 55 ประเทศ

ต้องย้ำว่าทรัมป์คือผู้นำชาติตะวันตกเพียงคนเดียวที่ได้รับเกียรติเข้าร่วมงาน และยืนเคียงข้างกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุล อาซิซ (King Salman Bin Abdul Aziz) ผู้เป็นเจ้าภาพ

ทดสอบมิตรแท้มุสลิม :

จากเหตุการณ์ยอมรับเยรูซาเลม OIC ยืนยันว่าหากต้องการสันติภาพที่สมบูรณ์และยุติธรรม เยรูซาเลมฝั่งตะวันออกจะต้องเป็นเมืองหลวงของรัฐปาเลสไตน์ ขอประณามวิธีการใดๆ ที่ทำให้อิสราเอลเข้าควบคุมโดยผิดกฎหมาย ประณามทุกแถลงการณ์จากสหรัฐที่กระทบความรู้สึกมุสลิม คุกคามสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ สมาชิก OIC จะไม่อยู่เฉย ยอมรับการกระทำของปฏิปักษ์

คำถามน่าสนใจ คือ รัฐบาลซาอุฯ กับพวกจะยึดมั่นคำประกาศของตนและของ OIC หรือไม่ จะยังนับว่ารัฐบาลสหรัฐคือมิตรแท้มุสลิมอีกไหม

ไม่แปลกที่รัฐบาลเนธันยาฮูพยายามยึดครองเยรูซาเล็ม แต่แปลกที่ทรัมป์รับรอง ทั้งๆ ที่สามารถเลื่อนการรับรองออกไปเหมือนประธานาธิบดีคนก่อนๆ แต่ทรัมป์กลับทำสิ่งที่แปลกใหม่แตกต่างจากผู้นำคนอื่น

จึงเกิดคำถามตามมาอีกว่า รัฐบาลทรัมป์เข้าข้างอิสราเอลมากกว่าซาอุฯ หรือไม่ ในสายตาของรัฐบาลทรัมป์ ระหว่างอิสราเอลกับซาอุฯ และโลกมุสลิมทั้งมวล ถือว่าใครเป็นมิตรมากกว่า

ถ้าคิดให้ลึกซึ้ง การยอมรับเยรูซาเลมตะวันออกแท้จริงแล้วเป็นเพียงจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งของแผนการขยายดินแดนของรัฐอิสราเอล ที่ได้ดำเนินนโยบายขยายดินแดนเรื่อยมา โดยเฉพาะการขยายเข้าไปในเขตเวสต์แบงก์ ที่สุดแล้วรัฐอิสราเอลที่ขยายตัวจะมีเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอยู่ตรงกลาง และรายล้อมด้วยดินแดนรอบข้าง

ประเด็นคือรัฐบาลอิสราเอลไล่รื้อที่ปาเลสไตน์อย่างผิดกฎหมายต่อเนื่องเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว รัฐบาลสหรัฐกับหลายประเทศออกแถลงการณ์ประณามเรื่อยมา แต่สุดท้ายก็ทำเพียงเท่านี้ การประณามไม่สามารถยับยั้งการไล่รื้อที่ การขยายดินแดนของอิสราเอล

เป็นข้อพิสูจน์ว่ารัฐบาลเหล่านี้จริงจังต่อปัญหาปาเลสไตน์มากเพียงไร

ต้องไม่ลืมว่าตราบใดที่รัฐบาลสหรัฐยังสนับสนุนอุ้มชูรัฐบาลอิสราเอล เมื่อนั้นการยึดครองไล่รื้อที่จะดำเนินต่อไป จนที่สุดอาจไม่เหลือพื้นที่ให้ก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์

Hossein Amir Abdollahian รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน เชื่อว่าการเจรจาเป็นแผนปิดบังการรุกขยายดินแดนของพวกไซออนนิสต์ นั่นหมายว่าการเจรจาที่รัฐบาลสหรัฐเป็นคนกลางนั้น รัฐบาลสหรัฐรู้เห็นเป็นใจด้วย

จะเป็นเรื่องตลกหากวันหนึ่งปาเลสไตน์ไร้แผ่นดิน รัฐบาลสหรัฐ ซาอุฯ และพวกจะยังคงประกาศยึดมั่นสิทธิเรื่องดินแดนของปาเลสไตน์

ความจริงแล้วทุกประเทศสามารถทำได้มากกว่าการพูด นั่นคือด้วยการคว่ำบาตรอิสราเอลในด้านต่างๆ การคว่ำบาตรที่ได้ผลมากที่สุดคือการคว่ำบาตรจากข้อมติจากคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ แต่ถึงแม้ไม่ได้ข้อมติ แต่ละประเทศสามารถคว่ำบาตรอิสราเอลได้ด้วยตนเอง เช่น ไม่ทำการค้าด้วย ดังเช่นที่สหรัฐกับพันธมิตรคว่ำบาตรอิหร่านเนื่องจากโครงการพัฒนานิวเคลียร์ การพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกล

แต่ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่มีประเทศใดทำเช่นนี้

ผลที่เกิดขึ้นคือ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมโลก อิสราเอลยังคงเดินหน้าขยายดินแดนต่อไป ปล่อยให้ปาเลสไตน์คือผู้ต้องแบกรับความสูญเสีย ชาวปาเลสไตน์หลายล้านทุกข์ยากไร้อนาคต

ซูซาน ไรซ์ (Susan Rice) ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ทบทวนประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิสราเอล ว่า 2 ประเทศมีความสัมพันธ์ยาวนานเกือบ 70 ปี ประธานาธิบดีทรูแมนจากพรรคเดโมแครตเป็นคนแรกที่ประกาศยอมรับประเทศอิสราเอลในฐานะรัฐอธิปไตย ประธานาธิบดีนิกสันจากพรรครีพับลิกันเป็นคนที่ยืนเคียงข้างอิสราเอลในสงคราม Yom Kippur ประธานาธิบดีคาร์เตอร์เป็นคนที่ช่วยสร้างสันติภาพระหว่างอียิปต์กับอิสราเอลที่ยังยั่งยืนจนถึงทุกวันนี้ ประธานาธิบดีคลินตันกับจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช สนับสนุนอิสราเอลที่ต้องต่อสู้กับฮิซบอลเลาะห์และฮามาส ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของผู้นำประเทศ หรือพรรคการเมือง แต่คือการเป็นพันธมิตรของ 2 ประเทศ

ถ้อยคำดังกล่าวของไรซ์อาจเป็นข้อสรุปที่ดีที่สุด

ความเป็นไปของเยรูซาเลมตะวันออกจะเป็นเครื่องวัดว่ารัฐบาลสหรัฐเป็นมิตรแท้มุสลิมหรือไม่ แน่นอนว่ากว่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนอาจต้องรออีกหลายปี

อีกวิธีหนึ่งคือย้อนดูประวัติศาสตร์ ถ้าประมวลของใหม่กับของเก่าเข้าด้วยกันน่าจะพอให้คำตอบได้ว่า แท้จริงแล้วรัฐบาลสหรัฐเป็นมิตรแท้อิสราเอล หรือมิตรแท้มุสลิม หรือเป็นอะไรที่ซับซ้อนกว่านี้หรือไม่ อย่างไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

อนาคตของเยรูซาเลมตะวันออกอาจไม่ขึ้นกับอำนาจรัฐ พลังมุสลิมโลกน่าจะเป็นที่พึ่งได้มากกว่า.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"