ไม่เซอร์ไพรส์‘ปชป.’ร่วม‘พปชร.’ จับตาทางเดิน‘อภิสิทธิ์’ต่อจากนี้


เพิ่มเพื่อน    

              ยื้อกันมา 2 เดือนกว่า นับตั้งแต่เข้าคูหาหย่อนบัตรเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พัฒนาการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างเชื่องช้า อึมครึม และอึดอัด

                โดยเฉพาะตั้งแต่ที่ 7 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคเพื่อชาติ และพรรคพลังปวงชนชาวไทย ชิงประกาศจัดตั้งรัฐบาลลม ในขณะที่อีกขั้วอย่างพรรคพลังประชารัฐก็ประกาศว่าจะรวบรวมเสียงเช่นเดียวกัน

                สถานการณ์ยังดำเนินไปอย่างขมุกขมัว ต่างฝ่ายต่างอ้างความชอบธรรม กระทั่งผ่านไปแรมเดือน จนที่สุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ทำให้ทุกพรรคเห็นตัวเลข ส.ส.ที่แท้จริงของแต่ละพรรค

                สามารถเช็กขุมกำลังกันได้ หากแต่ว่า การจัดตั้งรัฐบาลไม่สามารถดำเนินไปรวดเร็วอีกเช่นเดิม เมื่อคะแนนเสียงของแต่ละขั้วอยู่ในลักษณะ

                “ปริ่มน้ำ”

                "ประชาธิปัตย์” และ “ภูมิใจไทย” ที่เป็นตัวแปรสำคัญ โดยเฉพาะกับการเพิ่มคะแนนให้ฝั่งพรรคพลังประชารัฐมีจำนวนเสียงเหนือกว่าอีกฝั่งได้ กลับเล่นบท “แทงกั๊ก”

                ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการเปิดโต๊ะเจรจากลับในทางลับ หากแต่ก็มีข่าวออกมาเสมอถึงว่า ทุกอย่างไม่ค่อยราบรื่นเท่าไหร่

                บรรยากาศเหมือนจะจบลงเอย หลังจากพรรคประชาธิปัตย์มีมติเสนอชื่อ นายชวน หลีกภัย ชิงตำแหน่งประมุขนิติบัญญัติ ทว่า ในช่วงเช้า ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ กลับขอเสนอเลื่อนการประชุม อันสะท้อนถึงความไม่ลงล็อกของทั้ง 2 พรรคที่ยังคงอยู่

                อย่างไรก็ดี เมื่อต้องเดินหน้าโหวตประธานสภาฯ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ต่างเทคะแนนให้นายชวน จนได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาฯ จนทุกคนคิดว่า เมื่อออกมาแบบนี้ “ดีล” นี้น่าจบเรียบร้อยแล้ว

                เพราะวันรุ่งขึ้นพรรคพลังประชารัฐก็แห่ขันหมากไปสู่ขอทั้ง “ประชาธิปัตย์” และ “ภูมิใจไทย” บรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น แต่แล้วมันก็เข้าอีหรอบเดิมคือ ยังไม่ได้บทสรุปใดๆ ทั้งสิ้น

                ท่ามกลางกระแสข่าวการต่อรองเก้าอี้ในกระทรวงสำคัญระหว่าง ‘พลังประชารัฐ” กับ “ประชาธิปัตย์” ที่ฝ่ายหนึ่งยื่นเงื่อนไขว่า ต้องการแบบนี้ ในขณะที่อีกฝ่ายไม่ต้องการให้ทั้งหมด เพื่อจะสานต่อนโยบาย

                มีการปล่อยข่าวหยั่งเชิง–ถามทาง–ต่อรอง ไปยังผู้มีอำนาจรายวัน ไม่เว้นแม้แต่คนในพรรคพลังประชารัฐเองบางส่วนที่ต้องการรักษากระทรวงสำคัญเอาไว้

                กลายเป็นว่า ไม่ใช่แค่ปัญหาเงื่อนไขของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ผู้มีอำนาจนอกพรรคก็ยังต้องมาบริหารจัดการคนข้างในเพื่อให้อยู่ในจุดพึงพอใจเพิ่มอีกคำรบ เนื่องจากมีหลายก๊กหลายกลุ่ม

                ซึ่ง “ติดหล่ม” อยู่ตรงนี้นานมาก

                แม้แต่ประชาชนยังมองออกว่า ที่ติดขัดไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วกว่านี้ เพียงเพราะผลประโยชน์ของนักการเมืองที่ไม่ลงตัว

                ทั้งที่หลายคนรู้แล้วว่า ท้ายที่สุด “ประชาธิปัตย์” ไม่สามารถร่วมกับพรรคเพื่อไทยได้อยู่แล้ว และมีโอกาสจะลงเอยกับพรรคพลังประชารัฐมากกว่า

                ท่าทีของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายคนเอง ก็แสดงออกอย่างเห็นได้ชัดว่า มันมีทิศทางเป็นบวกกับพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็น มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ทวิตเตอร์ว่า เป็นข่าวดี หรือ อิสสระ สมชัย แกนนำพรรค ที่พูดชัดว่า เข้าร่วม

                สิ่งที่ตอกย้ำได้ดีว่า “ประชาธิปัตย์” จะมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ คือ การเปิดเรือนชานให้พรรคพลังประชารัฐเข้าไปสู่ขอ ตลอดจนการที่ เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค บอกว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีปัญหา หากแต่พรรคพลังประชารัฐต้องไปแก้ปัญหาภายในตัวเองให้ได้

                ข้อติดขัดหากพรรคพลังประชารัฐแก้ไขได้ พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่อยากที่จะร่วมหอลงโรงด้วย

                ข้อจำกัดว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ออกตัวแรงว่า ไม่สนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มิได้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะมีทางออกมากมายสำหรับกรณีนี้

                โดยเฉพาะการเปิดช่องให้ “อภิสิทธิ์” และ ส.ส.บางส่วน “งดออกเสียง” เพื่อไม่ให้เสียหลักการตัวเอง หรือสุดท้ายหากนายอภิสิทธิ์จะกลับลำเห็นชอบชื่อ “บิ๊กตู่” ก็มีเหตุผลรองรับมากมาย โดยเฉพาะ “พรรคใหญ่กว่าคน”

                เพียงแต่ว่า หาก “อภิสิทธิ์” เลือกจะเห็นชอบตามมติของพรรคด้วยการโหวต “บิ๊กตู่” เส้นทางหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ในเมื่อขัดหลักการของตัวเองที่ประกาศไว้แต่ต้น จะลาออกหรือจะอยู่ต่อเท่านั้น

                มติ 61 ต่อ 16 ที่ให้เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐจึงไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์ใดๆ หรือน่ากังวลเหมือนกระแสข่าวที่ออกมา

                เพียงแต่ที่ต้องจับตาคือ โควตารัฐมนตรีที่พรรคประชาธิปัตย์ได้นั้น “ครบ” หรือไม่

                อย่างไรก็ดี การมาของพรรคประชาธิปัตย์จะนำมาซึ่งพรรคภูมิใจไทยโดยอัตโนมัติ โดยเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 4 มิ.ย. พรรคพลังประชารัฐ มีพรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรครักษ์ผืนป่า พรรคประชาชนปฏิรูป และพรรคเล็กอีก 10 พรรค ซึ่งแตะ 150 แล้ว เป็นต้นทุน

                เมื่อได้พรรคประชาธิปัตย์ 53 เสียง และพรรคภูมิใจไทย 51 เสียง มาเข้าร่วม จะทำให้มีเสียง ส.ส.ในสภาฯ ถึง 254 เสียง ในขณะที่ขั้วพรรคเพื่อไทยมีเพียง 246 คน และยังต้องตัด ส.ส.นครปฐม พรรคอนาคตใหม่ ที่เจ็บป่วย 1 เสียง และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่อีก 1 เสียง ทำให้เหลือ 244 เสียงเท่านั้น

                ขั้วพรรคพลังประชารัฐที่มี 254 เสียง ตัดประธานรัฐสภาที่งดออกเสียง จะเหลือ 253 เสียง ยังเหนือกว่าอีกขั้วถึง 9 เสียง ซึ่งหากจะมีใครงดออกเสียงจากพรรคประชาธิปัตย์ “บิ๊กตู่” ก็มียังเสียงที่เพียงพออยู่

                ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ชนะตั้งแต่เสียง ส.ส.เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ และเปิดทางให้ ส.ว.ร่วมโหวตได้แบบไม่ถูกครหาอีก เพราะถือเป็นฉันทามติของ ส.ส.ส่วนใหญ่มาก่อนแล้ว

                ถือว่าปิดฉากความยืดเยื้อที่ลากยาวถึงวินาทีสุดท้ายก่อนโหวตนายกฯ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"