เมื่อวาน 4 มิถุนายน 2019 เป็นวันครบรอบ 30 ปีของเหตุการณ์ "จัตุรัสเทียนอันเหมิน" ของประเทศจีน จึงมีการแสดงความเห็นระลึก วิพากษ์และประเมินผลจากกรณีนักศึกษาจีนถูกปราบปรามอย่างหนักหลังรวมตัวกันเรียกร้องประชาธิปไตยในยุคที่เติ้ง เสี่ยวผิงปกครองประเทศ
ภาพนี้เพิ่งจะได้เห็นเต็มๆ ว่า "ผู้ประท้วงเดี่ยว" ที่ไปยืนจังก้าต้านขบวนรถถังที่ถูกสั่งให้ออกมาจัดการผู้ประท้วงนั้นมีความกล้าหาญเพียงใด
ภาพรางวัลพูลิตเซอร์นี้ถ่ายโดยช่างภาพของสำนักข่าว AP ชื่อ Jeff Widener ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่โดดเด่นที่สุดในปี 1989
เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีของเหตุการณ์ครั้งนั้น จึงมีการนำเอาภาพเก่าๆ ที่ไม่เคยนำเสนอมาก่อนมาเผยแพร่กันอย่างกว้างขวาง
แน่นอนว่าบาดแผลของเหตุการณ์ครั้งนั้นสำหรับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บยังมีการเล่าขานกันอย่างกว้างขวาง
น่าสนใจว่ารัฐมนตรีกลาโหมของจีน พลเอกเว่ย เฟิงเหอ ไปพูดในการประชุมที่สิงคโปร์ว่า การตัดสินใจของผู้นำจีนในขณะนั้นในการระงับเหตุ "ความวุ่นวายทางการเมือง" เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว
ขณะที่สหรัฐฯ ก็จับจังหวะนี้กระหน่ำใส่ปักกิ่งอย่างเปิดเผยเช่นกัน
รัฐมนตรีต่างประเทศมะกัน ไมค์ พอมเพโอ เรียกร้องให้รัฐบาลจีนปล่อยตัวนักโทษทั้งหมดที่ถูกคุมขังในคดีที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศจีน
เขาบอกว่า "การปล่อยตัวนักโทษจะแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ต้องการเคารพในสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน"
"สหรัฐฯ ขอให้ทางการจีนปล่อยตัวนักโทษที่ถูกจับกุมเพราะพยายามเรียกร้องสิทธิเสรีภาพเหล่านั้น รวมทั้งยุติการคุมขังโดยไม่มีการพิจารณาคดี และเลิกใช้นโยบายที่ก่อผลเสียด้วยการรวมคนที่แสดงออกทางการเมืองและศาสนาไปอยู่ในกลุ่มเดียวกับผู้ก่อการร้าย"
สื่อตะวันตกถือโอกาสนี้วิเคราะห์ถึง "มรดกบาปทางการเมือง" ที่ผู้นำจีนวันนี้ยังต้องพยายามหาเหตุผลมาอธิบายถึง "ความจำเป็น" ของจีนยุคเติ้ง เสี่ยวผิง ที่ต้องใช้มาตรการรุนแรงจัดการกับขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่จีนในช่วงนั้น
คำถามก็คือว่า คนรุ่นใหม่ของจีนวันนี้มีความทรงจำเหตุการณ์นั้นอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อการเสาะหาข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ช่วงนั้นเป็นเรื่องค่อนข้างลำบากไม่น้อย
เหตุการณ์วันนั้นยังตราตรึงในความทรงจำของคนทั้งโลก เพราะรัฐบาลจีนส่งรถถังไปยังจัตุรัสเทียนอันเหมินปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ที่ต้องการให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนยอมเปิดให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น
ทางการจีนไม่เคยออกมาบอกว่ามีคนตายและบาดเจ็บในเหตุการณ์ครั้งนั้นเท่าไหร่
แต่ล่าสุดใน "เอกสารลับ" ซึ่งเป็นรายงานภายในของกระทรวงต่างประเทศอังกฤษประเมินว่าอาจมีคนตายกว่า 10,000 คนและบาดเจ็บอีกหลายหมื่นคน
แต่สำหรับผู้ประท้วงและญาติพี่น้องผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักยังคงจดจำโศกนาฏกรรมนั้นได้ไม่ลืมเลือน
บีบีซีภาคภาษาไทยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของบางคนต่อสำนักข่าวต่างประเทศ
เช่น หยู เว่ยเจี๋ย หญิงวัย 66 ปี เดินถือกล่องใบน้อยภายในบรรจุรูปภาพแห่งความทรงจำที่ถ่ายไว้กับสามีที่รักเมื่อหลายสิบก่อน...ชายรูปร่างผอม หน้าตาคงแก่เรียนในภาพ เสียชีวิตในเหตุการณ์เทียนอันเหมิน
"ฉันยืนรออยู่ริมถนน คืนนั้นกรุงปักกิ่งคนหนาแน่นมาก" หยูเล่าให้สำนักข่าวเอเอฟพีฟังที่บ้านในกรุงปักกิ่ง "พอตี 3 ฉันก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด"
เวลานั้นเธอเชื่อว่าสามีต้องได้รับบาดเจ็บแน่ แต่ความที่เทคโนโลยีการสื่อสารยังไม่พัฒนาเท่าปัจจุบันทำให้หมดหนทางติดต่อ
หยู เว่ยเจี๋ยเล่าว่าเธอไม่สามารถรอสามีอยู่ ณ จุดนั้นได้อีกต่อไป และต้องกลับบ้านตามลำพัง
ไม่นานหลังจากนั้นสถานะของเธอก็เปลี่ยนเป็น "หญิงหม้าย"
ความรู้สึกสูญเสีย โศกเศร้า โกรธแค้นยังปนเปอยู่ในความคิดของเธอจนถึงทุกวันนี้ แม้เวลาจะผ่านไปถึง 30 ปีแล้วก็ตาม
"4 มิถุนายน 1989 มันคือตราบาป รัฐบาลไม่มีข้อแก้ตัวอะไรที่จะมาใช้ปกปิดบาปนี้จากประชาชนของคุณได้"
ถึงวันนี้หยู เว่ยเจี๋ย ยังไม่ได้รับการชี้แจงใดๆ เกี่ยวกับการเสียชีวิตของสามี
เธอเป็นหนึ่งในกลุ่ม "มารดาเทียนอันเหมิน" (Tiananmen Mothers) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของผู้หญิงที่สูญเสียลูกไปในเหตุนองเลือดยังคงเดินหน้าเรียกร้อง
พวกเธอเพียงต้องการ "ความจริง" จากรัฐบาลจีน
"ลูกของฉัน ทำไมพวกเราถึงยังไม่รู้ความจริงเบื้องหลังการตายของลูกๆ ที่น่ารักของพวกเรา" ตี่ เม่งยี่คร่ำครวญระหว่างการรวมกลุ่มอย่างลับๆ ของกลุ่มมารดาเทียนอันเหมินในจีน
"ลูกรู้ไหมพวกเราที่เป็นแม่ยังทุกข์ทรมานจนถึงวันนี้แม้จะผ่านมา 30 ปีแล้วก็ตาม"
แม่ๆ ที่อยู่ในวัยชราเหล่านี้เคยลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงผู้นำจีนมาตั้งแต่ปี 1995 และยื่นอุทธรณ์มาแล้ว 3 ครั้ง เพื่อขอ "ความจริง สิ่งชดเชย และการรับผิดชอบ"
นี่คือบาดแผลร้าวลึกที่แม้จะผ่านมา 30 ปี แต่ผู้มีอำนาจที่ปักกิ่งก็ยังไม่อาจจะลบออกไปได้เพราะเป็น "รอยด่าง" ที่ฝังลึกอยู่กับประวัติศาสตร์ตลอดไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |