เปิดปาก ‘เทรนเนอร์ ส.ส.’ พปชร. ปฏิบัติการรับมือเกม ‘นิติบัญญัติ’


เพิ่มเพื่อน    

                 การประชุมเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อสัปดาห์ก่อนเป็นฉากหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า เวทีสภาฯ นับจากนี้จะมีความเข้มข้นไม่ต่างจากอดีต และอาจจะมากกว่า เพราะเสียงที่ ปริ่มน้ำ ของทั้ง 2 ขั้ว

                จะมีการชิงไหวชิงพริบเพื่อแก้และพลิกเกมกันตลอดเวลา นอกเหนือไปจากการปะทะฝีปาก และการทักท้วงตามข้อบังคับ ที่เป็นเสมือนงานรูทีน

                ฝ่าย 7 พรรค ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเรียกประชุมพรรคแนวร่วมเพื่อเตรียมแผนอภิปรายรับน้อง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ในวันที่ 5 มิถุนายน กันแล้ว

                ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า เกมในสภาฯ ค่อนข้างเป็นรองอีกขั้ว ที่มีพวกเก๋าเกมเยอะกว่า นำโดยอดีตดาวสภาฯ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย จะสามารถรับมือได้หรือไม่ เพราะเพียงแค่วันเลือกประธานและรองประธานสภาฯ ดูไม่ไหลรื่นเท่าไรนัก

                ในพรรคพลังประชารัฐเอง มี ส.ส.ป้ายแดงกว่า 60 คน ขณะที่พวกมากประสบการณ์ที่เหลือไม่ใช่สายปะ ฉะ ดะ อาจจะเพลี่ยงพล้ำในอนาคตหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อมีการพิจารณาวาระสำคัญ

                วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ หนึ่งใน ส.ส.อาวุโสในพรรค ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นเทรนเนอร์แก่น้องๆ ให้ความเห็นต่อเรื่องที่หลายคนมองว่า พรรคจะประสบปัญหารับมือในเกมสภาฯ นั้น แท้จริงแล้วได้มีการเตรียมตัวกันมาตลอด ตั้งแต่ก่อนจะมีการโหวตเลือกประธานและรองประธานสภาฯ

                “เรามีการเตรียมพร้อมกันมาตลอดว่าใครจะทำหน้าที่อะไร เราทำเสร็จหมดแล้ว เรื่อง ส.ส.ใหม่ก็ไม่ใช่ปัญหาของพรรค คนเหล่านี้ได้รับเลือกให้เป็นผู้แทน ถูกฝึกเรื่องการพูดในที่สาธารณะ พูดในที่ประชุมสภาฯ มาหมด รัฐธรรมนูญทำให้รู้ว่า ต้องพูดอย่างไร ที่สำคัญ ไม่ใช่แค่เราที่มีแต่ ส.ส.ใหม่ แต่อีกฝั่งก็ใหม่เหมือนกัน ดังนั้นไม่ต้องห่วง”

                เขาบอกว่า ตัวชี้ขาดของการประชุมสภาฯ คือ “กำลังแต่ละฝั่ง” ในที่ประชุม หากรู้ว่า มีเสียงในมือที่มั่นคงแล้ว ไม่จำเป็นต้องกลัวการตีรวนของอีกฝั่ง เพราะธรรมชาติของคนคือ หากได้เปรียบมักจะนิ่ง แต่ถ้าเสียงเปรียบก็ต้องประท้วง

                ขณะเดียวกัน ในวันประชุมเพื่อเลือกประธานและรองประธานสภาฯ ที่มีการพูดกันว่า พรรคพลังประชารัฐไม่ทันเกมของอีกฝั่งนั้น “วิรัช” เห็นแย้ง

                “อย่างตอนท่านวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ขอเลื่อนการประชุม เขาก็คิดว่าเราไม่พร้อม เราต้องเลื่อนการเลือกประธานสภาฯ แน่ๆ แต่จริงๆ เราไม่เลื่อน เราปล่อยให้เขานับองค์ประชุมไป แล้วเปลี่ยนเกมทันที เขาก็ตั้งตัวไม่ทัน เพราะในสภาฯ มันพลิกเกมกันได้ตลอด จากวันนั้นมันจึงเป็นฝั่งเขาต่างหากที่ต้องไปคิดและประเมินจากสิ่งที่เกิดขึ้นในวันแรก”

                ส.ส.รุ่นใหญ่จาก จ.นครราชสีมา ให้ความเห็นว่า ในพรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส.ที่มีฝีมือหลายคน การประชุมวันแรกอาจจะยังไม่เห็นอะไรมาก ซึ่งเรื่องสถานที่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถรับมือได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น ต้องเดินไปที่ไมโครโฟนที่อยู่ตรงบันได ไม่ได้อยู่ตรงที่นั่งเหมือนแต่ก่อน รวมถึงประธานที่ประชุมอาจมองเห็นไม่ทั่วถึงเวลามีผู้ประท้วง เป็นต้น

                ขณะที่วันที่ 5 มิถุนายน ที่จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ทางพรรคพลังประชารัฐเองก็มีการทำการบ้านเอาไว้แล้วว่า อีกฝั่งจะต้องประท้วง หน่วงเวลา เพื่อทำให้ช้า ซึ่งอยู่ที่ประธานการประชุมจะควบคุมให้เข้ารูปเข้ารอย ขณะเดียวกัน ในวันดังกล่าวเป็นการประชุมร่วมรัฐสภา จะมี ส.ว.เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก หลายคนอภิปรายเก่ง และมีเหตุผลในการอภิปราย

                “วิรัช” ระบุว่า การรับมือเกมในสภาของพรรคพลังประชารัฐจะเห็นประสิทธิภาพเต็มหลังวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไปแล้ว

                “พูดตรงๆ ว่า เรายังไม่ได้ทีมงานที่ครบถ้วน ถ้ารวมกับพรรคร่วม ซึ่งมี ส.ส.ที่มีประสบการณ์และเก่งงานสภาอย่างเป็นทางการ ทำงานกันแบบฟูลทีม จะเห็นอะไรมากกว่านี้ ตอนนี้เหมือนทีมฟุตบอลที่ตัวดีๆ ยังไม่ได้ส่งลงสนาม รวมถึงภายในพรรคเราเองด้วย ที่ยังมีอีกหลายคนยังไม่ได้แสดงฝีมือให้เห็น แต่เดี๋ยวก็ได้เห็น”

                ส่วนเรื่องเสียง “ปริ่มน้ำ” ที่อาจสร้างปัญหาในอนาคต ชนิดที่ว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ขาดประชุมสภาฯ ไม่ได้แม้สักหน เพราะอาจส่งผลให้แพ้เรื่องการโหวตต่างๆ “วิรัช” มองว่า ไม่ถึงขนาดนั้น

                “มันไม่ใช่ว่าขาดไม่ได้ แต่ต้องอยู่ในบริเวณที่พร้อมเสมอ เรื่องอาการเจ็บป่วยหรือติดภารกิจมันมีอยู่แล้ว เป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่าลืมว่า มันไม่ใช่ว่าฝ่ายเราจะเจ็บป่วยหรือมีภารกิจฝ่ายเดียว เขาก็เป็นคน ป่วยเป็น มีภารกิจได้ เพียงแต่ว่าเราต้องเช็กว่า ในการประชุมแต่ละครั้งมีคนเข้าประชุมเท่าไหร่ ฝั่งเขาเท่าไหร่ ฝั่งเราเท่าไหร่ ซึ่งเรามีทีมงานคอยเช็กตลอด แต่เพื่อความไม่ประมาท เราจะกำชับให้มาครบตลอด แม้วันนั้นเราจะมั่นใจแล้วว่ามีเสียงมากพอแล้วก็ตาม”

                นี่คือทัศนะของ ส.ส.ที่อยู่ในสภาฯ มาตั้งแต่ปี 2529 ผ่านมาแล้วทั้งการเป็นฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ตลอดจนเป็นอดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่วันนี้ต้องอยู่กันคนละฝั่งในสภาฯ

                เป็นหนึ่งในคีย์แมนที่จะประคอง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และประสานกับพรรคร่วมเพื่อรับมือเกมที่ “เชี่ยวกราก” จากฝ่ายตรงข้าม.!!!.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"