กระหึ่มโซเชียล! 'เจิมศักดิ์' ร่อนจดหมายเปิดผนึกถึง 'ชวน หลีกภัย'


เพิ่มเพื่อน    

บ2 พ.ค.62- นายเจิมศักดิ์  ปิ่นทอง  อดีตสมาชิกวุฒิสภา  (ส.ว.) เผยแพร่ จดหมายเปิดผนึกถึง นายชวน หลีกภัย ผ่านเฟซบุ๊ก  โดยมีเนื้อหาดังนี้

เรียน  คุณชวน หลีกภัย ที่เคารพ

​ผมไม่มีโอกาสได้แสดงความยินดีและแสดงความเห็น ต่อคุณชวนด้วยตนเอง  เลยเขียนจดหมายฉบับนี้มาแทน

​ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ประเทศไทยได้มีคุณชวนเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา  ซึ่งเป็นประมุขหรือผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ 1 ใน 3 อำนาจที่สำคัญของสังคมไทย

​คุณชวนเป็นผู้มีความสามารถ สุขุม รอบคอบ รอบรู้ สุจริต และมีประสบการณ์เคยเป็น ประธานรัฐสภามาก่อน และยังเคยเป็นนายกรัฐมนตรี ถึง 2 สมัยอีกด้วย บารมี (คุณความดีสะสม) ของคุณชวนทำให้เป็นที่ยอมรับ ทั้งบุคคลในรัฐสภาและประชาชนทั่วไป จึงนับว่าเป็นความโชคดีของประเทศที่ได้คุณชวนมาเป็นผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ

​อีก 2 วันข้างหน้า คือวันพุธที่ 5 มิถุนายน ประเทศของเราก็จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีของประเทศ ผมขอเรียนว่า ผมไม่มีความวิตกกังวลแต่อย่างใด เพราะถึงอย่างไรเราก็จะได้รัฐบาลที่มีพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ดี

​หากพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคภูมิใจไทยไม่ยกมือให้พลเอกประยุทธ์ ก็อาจจะมี คนของพรรคการเมืองอื่นๆ( งูเห่า )ยกมือสนับสนุน เพราะรัฐธรรมนูญก็ได้เปิดช่องให้ ส.ส.มีอิสระหลุดจากการควบคุมของมติพรรค

​แม้รัฐธรรมนูญจะระบุให้ผู้จะเป็นนายกฯ จะต้องได้เสียงข้างมากของ 2 สภารวมกัน คือ สภาผู้แทนฯ 500 คน และวุฒิสภา 250 คน รัฐธรรมนูญก็ได้ออกแบบไว้แล้ว ให้ที่มาของ ส.ว.มาจากการคัดสรรของ คสช.ที่มีพลเอกประยุทธ์เป็นหัวหน้า คสช. เพื่อให้ ส.ว.มาเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไป

​จะมีความยากลำบากอยู่บ้าง ก็คือ ผู้ที่จะเป็นนายกฯ จะต้องได้คะแนนสนับสนุนเกินครึ่งหนึ่งของเฉพาะสภาผู้แทนฯด้วย คือ ต้องได้รับเสียงสนับสนุน 251 เสียงจากสภาผู้แทนฯ ก็เป็นที่คาดหมายกันว่า ส.ส.(งูเห่า) จากพรรคอื่นๆ คงจะมีมาเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯอยู่แล้ว

​อย่างไรก็ตามหากคะแนนเสียงของพลเอกประยุทธ์ในสภาผู้แทนราษฎร ได้น้อยกว่า 251 คะแนน ก็ไม่ต้องกังวลอะไร คนอื่นที่ได้รับการเสนอชื่อแข่งขัน ก็คงจะไม่มีโอกาสจะได้คะแนนเกิน 375 เสียง ของ 2 สภา (สภาผู้แทนฯ + วุฒิสภา) รวมกัน เพราะจะไม่ได้เสียงสมาชิกวุฒิสภาที่พลเอกประยุทธ์เป็นผู้แต่งตั้ง

​หากเกิดเหตุเลือกนายกฯ ในวันที่ 5 มิถุนายนไม่ได้คนเป็นนายกฯ เพราะเสียงไม่พอ พลเอกประยุทธ์ก็เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป มีอำนาจเต็มปฏิบัติหน้าที่ได้เหมือนเป็นนายกฯในรัฐบาลปกติ แถมยังมีอำนาจตามมาตรา 44 ที่เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกด้วย

​และหากอนาคตมีปัญหาในเรื่องเสถียรภาพ พลเอกประยุทธ์ก็มีอำนาจยุบสภาตามมาตรา 44 หรือจะลาออกเพื่อให้คนอื่นเป็นนายกฯ ทั้งในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอชื่อหรือบุคคลนอกบัญชีก็ได้ เพราะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 60 ได้เตรียมช่องทางพิเศษให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกฯได้อยู่แล้ว และเวลานั้นการแสวงหารวบรวมพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาลอาจจะกระทำได้ง่ายกว่าอีกด้วย

​ท่านประธานสภาฯ ชวน หลีกภัย และพรรคประชาธิปัตย์ไม่จำเป็นต้องรวนเรไปสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ที่ได้เปรียบจากกฎกติกาตามรัฐธรรมนูญอย่างมากอยู่แล้ว การที่คุณชวนได้คะแนนสนับสนุนจาก พรรคพลังประชารัฐ( พปชร )และพรรคแนวร่วมก็เพราะเขาไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า หากส่งคุณสุชาติ ตันเจริญ เข้าแข่งขันเสียงสนับสนุนก็แตก ทำให้คุณสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ จากขั้วเพื่อไทย (สืบทอดอำนาจทุน) เป็นประธานสภาฯ ทันที

​ท่านประธานสภาฯ ชวน สามารถทำหน้าที่เป็นกลางที่อิสระได้อย่างจริงจัง ไม่ต้องเอนเอียงไปในทางใด ซึ่งก็เชื่อว่าท่านประธานฯ ชวน หลีกภัย ก็คงเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว

​สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อีก 52 คน ก็ไม่จำเป็นต้องสับสน รวนเร ตอบแทนบุญคุณ และในความเป็นจริงบุญคุณที่ใช้ในระบบอุปถัมภ์ก็ไม่สมควรแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในสภาของประเทศที่ต้องคิดถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก

​กลุ่มคนที่พยายามกดดัน ดุด่าประชาธิปัตย์หากไม่เข้าร่วมกับ พปชร. และสนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ มองลึกลงไปเขาต้องการให้ประชาธิปัตย์เสริมเป็นฐานให้พลเอกประยุทธ์สืบทอดอำนาจเป็นนายกฯต่อ เขาให้น้ำหนักกับประโยชน์เฉพาะหน้าที่กลัวการสืบทอดอำนาจทุนของอีกฝ่ายจะกลับมา  และปักใจคิดว่าเผด็จการโดยปืนดีกว่าเผด็จการโดยทุน

​ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่งก็คงอยากได้ อยากมีตำแหน่งในรัฐบาลตามความคิดพื้นฐานของคนไทยทั่วไป ก็พยายามผลักและดันให้สนับสนุนผู้ที่มาจากรัฐประหารให้เป็นนายกฯต่อไป

​ท่านประธานฯ ชวน จะได้ยินข้ออ้างว่าถ้าเข้าร่วมจะได้มีอำนาจ ดำเนินงานตามนโยบายของพรรค ทั้งๆที่รู้ว่า ด้วยจำนวน ส.ส. 53 คน รัฐมนตรีจำนวนน้อยนิดจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ยิ่งกว่านั้นยังขู่ด้วยว่า ถ้าไม่ร่วมรัฐบาลสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ เลือกตั้งครั้งหน้าประชาธิปัตย์จะสูญพันธุ์

​ท่านประธานฯ ชวน และพรรคประชาธิปัตย์ คิดถูกแล้วล่ะครับ ที่อาสาเป็นผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ พัฒนาฝ่ายนิติบัญญัติให้ออกกฎหมาย ควบคุม ตรวจสอบฝ่ายบริหาร

​หาก ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์อีก 52 คน จะได้ยึดหลักการแนวทางเดียวกับท่านประธานฯชวน คือ เป็นกลาง เป็นอิสระจากข้อผูกพันของพรรคร่วมรัฐบาล

​เป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายสนับสนุนอิสระ หากฝ่ายบริหารคือรัฐบาลทำดีทำประโยชน์ให้ประเทศก็สนับสนุน  แต่หากฝ่ายรัฐบาลดำเนินการไม่ถูกต้อง ก็ต้องท้วงติง คัดค้าน และไม่ไว้วางใจได้

​การเป็นฝ่ายค้านฝ่ายสนับสนุนอิสระ อาจประกาศสนับสนุนให้จัดตั้งรัฐบาลได้ และอาจจะประกาศสนับสนุน พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดินเพื่อใช้บริหารประเทศได้ แต่ญัตติในเรื่องอื่นๆ ก็พิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป ดีก็สนับสนุน ไม่ดีก็คัดค้าน

​ไม่ต้องผูกมัดเข้าร่วมรัฐบาลอย่างมีส่วนได้ส่วนเสีย  ซึ่งต้องคำนึงถึงมารยาทในการร่วมรัฐบาล มติพรรค และประโยชน์ของประเทศ ซึ่งหลายกรณีจะขัดแย้งกันและมักจะให้น้ำหนักกับมารยาทในการร่วมรัฐบาลมากกว่า

​ท่านประธานฯ ชวน ที่เคารพ ผมฝันไปว่าหาก ส.ส.53 คน ของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นฐานของความเป็นอิสระ เป็นกลางทางการเมืองมากกว่าเข้าร่วมเป็นฐานให้กับพลเอกประยุทธ์ โดยเป็นฝ่ายอิสระ 53 คนในสภา ซึ่งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจะต้องเกรงใจ คอยฟังท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นกลางว่าจะเอาอย่างไร

​แน่นอนครับ ก็ต้องเสียสละความอยากดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาล และหากเป็นกลาง เป็นฝ่ายอิสระที่ดี ประชาชนก็จะไม่ลืมบทบาทในอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาธิปัตย์ก็จะเป็นพรรคอุดมการณ์ที่ไม่ร่วมแสวงหาอำนาจกับทุน หรือไม่แสวงหาอำนาจกับปืน และคงเป็นสถาบันทางการเมืองที่เก่าแก่มั่นคงต่อไป

​ที่ผมเขียนจดหมายมาถึงท่านประธานฯชวน และมีข้อท้วงติงหากพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมเป็นฐานให้พลเอกประยุทธ์ มิใช่ว่าผมรังเกียจเป็นการส่วนตัวหรือคิดว่าผลเอกประยุทธ์เป็นคนไม่ดี กลับกันผมคิดว่าพลเอกประยุทธ์ได้เคยเสียสละตั้งใจทำงาน รักษาบ้านเมืองให้สงบ และจำต้องทำรัฐประหารในยามที่บ้านเมืองมีปัญหา การที่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีเนื่องจากการยึดอำนาจ ผมรับได้มากกว่ากับการที่พลเอกประยุทธ์จะเป็นนายกต่อโดยซ่อนรูปประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง มีรัฐสภาแต่เต็มไปด้วยหมากกลที่ซ่อนเงื่อน เข้าสู่อำนาจโดยอ้างประชาธิปไตย

​หากพรรคประชาธิปัตย์รู้แต่เข้าร่วมรัฐบาลซ่อนเงื่อน พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ต่างกับพรรคที่ประชาชนมองว่าทำการเมืองเพื่อแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์

​ผมได้ขยายความในใจมายืดยาว  ด้วยความเป็นห่วงประเทศที่อยากให้มีพรรคการเมืองที่ยึดอุดมการณ์ เป็นหลักให้กับสังคมระยะยาว  ซึ่งความคิดเห็นทั้งหมดนี้ ส.ส.และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์คงตระหนักดีอยู่แล้ว  ผมก็ได้แต่แสดงความเห็นด้วยความบริสุทธิ์ใจ

​ขอให้ท่านประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย ประสบความสำเร็จในการนำพาฝ่ายนิติบัญญัติให้เป็นหลักของประเทศให้ได้นะครับ

​​ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

​​ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ผู้สือข่าวรายงานจดหมายเปิดผนึกของนายเจิมศักดิ์ ที่สื่อสารไปยังนายชวน หลีกภัย ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ขณะนี้โดยมีทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"