หนักกว่าพฤษภา35 อาทิตย์เทียบโหวตนายกฯ เพื่อไทยเล็งขยี้คุณสมบัติ!


เพิ่มเพื่อน    


     ดักทางรัฐบาลปริ่มน้ำไปไม่รอดเสี่ยงวิกฤติ ญาติวีรชนพฤษภา'35 ชี้โหวตเลือกนายกฯ หากเสียง ส.ส.ไม่ถึง 250 อาจขัด รธน. ขาดความชอบธรรม เตือนประธานรัฐสภานำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอาจระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ยุขั้วที่ 3 เดินหน้าต่อ "เพื่อไทย" ย้ำคุณสมบัติต้องห้าม "ประยุทธ์"-ส.ว.ผลัดกันเกาหลัง ผิด รธน. ฟันธงงานนี้ไม่หมู รองโฆษก พปชร.หยัน พท.ไปเตรียมตัวเป็นค้านดีกว่า "สนธิรัตน์" รอคำตอบพรรคร่วม คาดประกาศตั้งรัฐบาลได้เร็วๆ นี้ ซูเปอร์โพลระบุประชาชน 71% ประเมิน 6 เดือนข้างหน้ายังไร้ทางสว่าง แต่ 62% ยังให้ “บิ๊กตู่” เหมาะนั่งนายกฯ ต่อ สวนดุสิตโพลเผย ปชช.หน่ายจัดตั้งรัฐบาลอืดเหตุเพราะผลประโยชน์ไม่ลงตัว
    เมื่อวันอาทิตย์ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 ออกแถลงการณ์กรณีที่จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมืองไทย และจะเป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหม่ ไม่อยากเห็นการเมืองเข้าสู่ทางตันสังคมไทยต้องเผชิญหน้าบาดเจ็บล้มตายกันอีก จึงมีข้อเสนอดังนี้ 1.ความพยายามจัดตั้งรัฐบาลเพื่อเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ อีกครั้ง จึงขอเรียกร้องให้ 250 ส.ว. ตัดสินใจด้วยความอิสระคำนึงถึงทางออกของชาติบ้านเมืองมากกว่าผลประโยชน์ต่างตอบแทน แต่หากโหวตเลือกนายกฯ ที่เป็นบุคคลนำประเทศไปสู่ความขัดแย้งจะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย 
    2.ความจัดตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำไม่สามารถนำพาประเทศชาติออกจากวังวนความขัดแย้งได้ จะเป็นรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทุกด้าน ขอเรียกร้องให้ทุกพรรคที่ทบทวนหาแนวทางใหม่ หากเป็นรัฐบาลได้ไม่กี่เดือนแล้วสะดุดล้มลงก็จะถูกตราหน้าจากสังคมว่าเป็นพรรคการเมืองที่ร่วมสร้างปัญหาให้กับชาติบ้านเมืองด้วย 
    3.แม้บทเฉพาะกาลมาตรา 272 ระบุให้การโหวตเลือกนายกฯ ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาหรือ 376 เสียง แต่ต้องยึดมาตรา 159 ที่ต้องใช้มติของสภาผู้แทนราษฎร และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนฯ ซึ่งถือว่าเป็นบทบัญญัติหลัก หากฝ่าฝืนเจตนารมณ์ รธน.จะนำไปสู่การยื่นศาล รธน.ตีความและเกิดความวุ่นวายตามมาอีก 
    4.หากที่ประชุมร่วมรัฐสภาโหวตเลือกนายกฯ โดยเสียง ส.ส.ไม่ถึง 250 เสียง จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ประธานรัฐสภา จะกล้านำรายชื่อบุคคลที่มีคะแนนเสียงสนับสนุนไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของ ส.ส.ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายหรือไม่ บุคคลที่ได้รับเลือกเป็นนายกฯเสียงข้างน้อย จะกล้านำ ครม.เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณหรือ เพราะอาจเป็นกระทำที่กระทบและระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท อาจขัด รธน.ขาดความชอบธรรม และสร้างความชอบธรรมให้เกิดการชุมนุมต่อต้านนำไปสู่ความขัดแย้ง
    5.ให้พรรคการเมืองขั้วที่ 3 ทำหน้าที่ให้ถึงที่สุดก่อน ซึ่งมี ส.ส.กว่า 320 เสียง โดยประกาศร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลขั้วที่ 3 อย่างเป็นทางการที่มีเสียงข้างมากในสภา เท่ากับประกาศความชอบธรรมทางการเมืองที่ไม่มีใครปฏิเสธได้แล้วหาบุคคลที่เป็นที่ยอมรับเป็นนายกฯ เชื่อว่าทุกภาคส่วนจะสนับสนุน ซึ่งจะทำให้ 250 ส.ว.ไม่กล้าฝืนเจตนารมณ์ของประชาชนและจะลงคะแนนเสียงเพิ่มเติมให้จนถึง 376 เสียงในที่สุด    
    "ขอวิงวอนให้ทุกภาคส่วนของสังคมร่วมกันสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลช่วยชาติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเร่งปฏิรูปประเทศในเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนให้แล้วเสร็จก่อนคืนอำนาจให้ประชาชน" แถลงการณ์ ระบุ
ประเทศเสี่ยงวิกฤติ
     นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิศูนย์พัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม ระบุว่า การเลือกนายกฯ ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ จะเป็นเครื่องชี้สำคัญว่าอนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร หาก ส.ส.ตัดสินใจเลือกนายกฯ โดยไม่ยึดหลักการประชาธิปไตยและหลักการที่ถูกต้องชอบธรรม ไม่สนใจต่อสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน และ ส.ว.เลือกเพื่อตอบแทนบุญคุณและไม่ได้เลือกอย่างเป็นอิสระ มีความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองหลังจากนี้ไม่นานนัก และการเลือกหัวหน้าคณะรัฐประหารกลับมาเป็นนายกฯ อีก อาจทำให้เกิดการฟ้องร้องว่าขาดคุณสมบัติ เนื่องจากเคยทำรัฐประหารล้มล้างระบอบประชาธิปไตยและฉีกรัฐธรรมนูญมาก่อน นอกจากนี้ ส.ว.อาจถูกฟ้องร้องว่ากระทำการขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ จึงขอร้องให้สมาชิกรัฐสภาทุกท่านคิดถึงประเทศของเราและประชาชนด้วย
    นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานรัฐสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เปรียบเทียบการตั้งนายกรัฐมนตรีปี 2535 และปี 2562 ว่า เมื่อปี 2535 ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเสียงข้างมากในสภา เสียงข้างมากชัดเจนได้เสนอหัวหน้าพรรคเป็นนายกฯ แต่เนื่องจากการเสนอหัวหน้าพรรคเสียงข้างมากนั้นชัดเจน 195:165 ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของ รสช. ซึ่งประชาชนได้ออกมาคัดค้านประท้วงไม่เห็นด้วย และได้มีการปราบปรามประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ออกมาชุมนุมโดยสงบสันติและปราศจากอาวุธได้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าหากแต่งตั้งนายกฯ จากพรรคเสียงข้างมากที่สภาเสนอ ประชาชนก็ย่อมต้องออกมาประท้วงอีก และรัฐบาลซึ่งมีทหารสนับสนุนก็จะต้องปราบปรามกวาดล้างตามแนวทางของทหารอีกเช่นเดิม จะเกิดการนองเลือดและประชาชนล้มตายอีกเป็นจำนวนมาก
    แม้ว่าประธานสภาฯ ซึ่งสังกัดพรรคเสียงข้างมากอยู่แล้ว และได้รับทั้งคำร้องขอ คำสั่ง คำขู่และอามิสสินจ้างทั้งตำแหน่งและเงินทอง ให้เสนอชื่อตามที่พรรคเสียงข้างมากเสนอ แต่ไม่อาจเสนอชื่อนายกฯตามที่พรรคเสียงข้างมากเสนอได้ จำเป็นต้องหาคนกลางเพื่อเข้ามายุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินต่อไปสถานการณ์ในปี 2562 มีทั้งเหมือนและแตกต่างจากปี 2535 ส่วนที่เหมือนนั้น ในลักษณะที่มีการสืบทอดอำนาจของ คสช.มีอยู่ชัดเจน 
    "การเขียนรัฐธรรมนูญและกติกาการเลือกตั้งใหม่ก็แสดงชัดเจนว่าตั้งใจจะสืบทอดอำนาจตั้งแต่ต้น และไม่เป็นธรรมประชาชนจึงไม่ยอมรับอยู่แล้วในส่วนที่แตกต่างจากปี 2535 ประการสำคัญ คือพรรคต่างๆ ที่สนับสนุนรัฐบาลปัจจุบันกระจัดกระจายและมีเสียงสนับสนุนจากประชาชนน้อยมาก ไม่เป็นปึกแผ่นเอกภาพ แม้จะรวมตัวได้มากที่สุด ก็ยังเป็นรัฐบาลเป็ดง่อยที่ไม่สามารถสร้างความมั่นคงในการบริหารประเทศนำรัฐนาวาไปสู่ความเป็นปึกแผ่น มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้ จึงใคร่ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ปี 2562 นี้หนักหน่วงยิ่งกว่าปี 2535 มากนัก" นายอาทิตย์ระบุ 
    นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การเลือกนายกฯ ครั้งนี้มีความแตกต่างไปจากอดีต ครั้งนี้ให้รัฐสภาต้องเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอตอนเลือกตั้งก่อน บุคคลที่รัฐสภาจะพิจารณามีมติให้เป็นนายกฯ นั้น ต้องพิจารณาเสียก่อนว่ามีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นนายกฯ ที่ผ่านมาปัญหาการดำรงตำแหน่งหัวหน้าคสช.ของ พล.อประยุทธ์ ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐต้องห้ามมิให้เสนอให้เป็นนายกฯ เป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เป็นประเด็นปัญหาที่ยังไม่มีข้อยุติชัดเจน เรื่องนี้รัฐสภาเมื่อมีอำนาจพิจารณาก็ต้องมีอำนาจชี้วินิจฉัย และการที่ ส.ว.ชุดปัจจุบัน ที่จะไปใช้สิทธิเลือกนายกฯ ปัญหาการสรรหาที่ถูกกล่าวหาว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
    “การที่หัวหน้า คสช.ซึ่งเป็นผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ โดยพรรคพลังประชารัฐ และเป็นผู้คัดเลือกส.ว.จากกรรมการสรรหาเสนอมา เป็นผู้ลงนามรับสนองฯ และแล้วในที่สุด ส.ว.ทั้งหลายจะเป็นผู้มาเลือกตนเองให้เป็นนายกฯ ตามบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ ทำนองผลัดกันเกาหลัง ชงเองกินเอง จึงมีปัญหาว่า ส.ว.ผู้โหวตได้กระทำการอันขัดกันแห่งผลประโยชน์ มีสิทธิถูกร้องว่ากระทำผิดทั้งรัฐธรรมนูญและมาตรฐานทางจริยธรรม มีผลร้ายอย่างไรก็ไปเปิดรัฐธรรมนูญดูกันเองยังมีอีกหลายประเด็น จึงฟันธงว่าไม่หมู งานยาก อย่าคิดว่าเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจไว้ดีแล้ว อะไรที่มันผิดธรรมชาติ ดึงดันจะเอาแบบนี้ ที่สุดคืออวสาน เชื่อว่าเรื่องนี้ไม่จบแค่ใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี” นายชูศักดิ์กล่าว
พท.ดัน'หญิงหน่อย'ชิงนายกฯ
     นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า 7 พรรคการเมืองฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยซึ่งมี 246 เสียงประกาศย้ำจุดยืนอยู่เสมอว่าจะต่อต้านการสืบทอดอำนาจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญนำประชาธิปไตยกลับคืนมา ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะให้สิทธิ์โหวตเลือกนายกฯ เฉพาะ ส.ส.เท่านั้น ต้องเร่งฟื้นฟูแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องโดยเร็ว ส่วนการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ จะได้ข้อสรุปว่าจะเสนอใครหลังจากการหารือร่วมกันของทั้ง 7 พรรค ซึ่งจะรู้ชื่อก่อน 5 มิ.ย.มติของทุกพรรควันที่ 4 มิ.ย.นี้จะเป็นการตอบประชาชนว่าจะมีพรรคใดบ้างที่จะร่วมสืบทอดอำนาจ คสช.อีก เพื่อประชาชนจะได้ให้บทเรียนในการเลือกตั้งครั้งหน้า
    นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า การประชุม ส.ส.และคณะกรรมการบริหารพรรควันที่ 4 มิ.ย.นี้ ตนจะเสนอชื่อคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกฯ หมายเลข 1 ของพรรค ชิงตำแหน่งนายกฯ กับ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเหตุผลที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ หมายเลข 1 ของพรรค ในฐานะ ส.ส.ภาคอีสานที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งมากที่สุดถึง 84 ที่นั่ง เพราะพรรคพท.ยืนยันบนเวทีหาเสียงมาตลอดว่าจะให้คุณหญิงสุดารัตน์เป็นนายกฯ คนอีสานถึงได้เทคะแนนให้ พท.อย่างถล่มทลาย สุดท้ายพรรค พท.ไม่เอาคุณหญิงสุดารัตน์ขึ้นชิงนายกฯ ผมคงกลับบ้านที่อีสานไม่ได้
     นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.ภาคอีสาน  กล่าวว่า พรรคฝ่ายประชาธิปไตยทุกพรรคจะยังคงเหนียวแน่น ไม่มีงูเห่า และพร้อมที่จะลงมติหรือโหวตเลือกนายกฯ ตามมติที่ประชุมร่วมอย่างแน่นอน หากผลการลงมติของพรรคเพื่อไทยว่าบุคคลใดจะถูกเสนอชื่อให้เป็นแคนดิเตดนายกฯ มั่นใจว่าทุกคนยอมรับ อย่างไรก็ตามไม่เข้าใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยังคงดื้อดึงไม่ฟังเสียงประชาชน และต้องการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ไม่อายประชาชน ไม่อายระบอบประชาธิปไตยหรืออย่างไร อย่างไรก็ตาม ส.ว.ที่ได้รับการคัดเลือกมาแล้ว หากต้องการที่จะรักษาคำพูดที่ทุกคนล้วนบอกว่าต้องการทำงานเพื่อประเทศ การเลือกนายกฯ หากไม่กล้าที่จะลงคะแนนว่าไม่เลือก พล.อ.ประยุทธ์ ก็สามารถที่จะลาการประชุมได้เช่นกัน
     นายชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวว่า แม้พรรค อนค.จะมีจุดยืนในการสนับสนุนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายกฯ แต่ระหว่าง 7 พรรคการเมือง คงต้องมีการเจรจา ดูข้อดี-ข้อเสียและจุดยืนของแต่ละพรรค โดยพรรคยืนยันเรื่องเป้าหมายสูงสุด คือการยุติการสืบทอดของ คสช. ลบล้างผลพวงรัฐประหาร และแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หากการเจรจายึด 3 หลักเกณฑ์นี้ ทุกอย่างก็สามารถหารือกันได้ และคิดว่าหาก ส.ว.ไม่สะดวกใจที่จะโหวตสวนหรือโหวตไม่เห็นด้วย ก็ควรงดออกเสียง ตนไม่คิดว่า ส.ว. 250 คนจะโหวตไปในทิศทางเดียวกัน เพราะอย่างน้อยก็มี ส.ว. 50 คนที่ผ่านกระบวนการสรรหาจากระดับพื้นที่ขึ้นมา ซึ่งเชื่อว่าคนกลุ่มนี้จะมีจุดยืนของตัวเอง
    เมื่อถามถึงกรณี รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เสนอให้แคนดิเดตนายกฯ แสดงวิสัยทัศน์ก่อนให้ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาโหวตเลือก นายชำนาญกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีแน่นอน แต่เชื่อว่าเรื่องนี้จะถูกก่อกวนและประท้วงเช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค อนค. เสนอให้แคนดิเดตรองประธานสภาฯ คนที่ 1 แสดงวิสัยทัศน์ นอกจากนั้นยังเชื่อว่าจะมีผู้แสดงความเห็นสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์กันเต็มสภา จึงอยากแนะนำให้ ส.ส.เตรียมเครื่องดื่มแก้เลี่ยนมาด้วย
หยันพท.เตรียมเป็นฝ่ายค้าน
    นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ โพสต์ทวิตเตอร์ว่า หรือว่า พปชร.มั่นใจว่ามีงูเห่ามากพอแน่แล้ว เห็นข่าวว่ามีการติดต่อซื้องูเห่ากันด้วยราคาตั้งแต่ 20-40 ล้าน แถมเงินเดือน เดือนละ 2 แสน แต่เลือกนายกฯ งูเห่าจะต้องเปิดตัว เท่ากับฆ่าตัวตายทางการเมืองทันทีคาไมโครโฟน จะบ้าบิ่นกันขนาดนั้นหรือ? ที่แปลกมากๆ ก็คือ พปชร.ถือสิทธิ์อะไรถึงได้เที่ยวไปทาบทามพรรคต่างๆ ให้เข้าร่วมรัฐบาล พปชร.มีเสียงเกินครึ่งแล้วหรือ ถ้าไม่มีทำไมไปเชิญเหมือนตัวเองเป็นรัฐบาลแน่แล้ว หรือ ส.ว.ตกลงยกมือให้หมดทุกคนแล้ว ไหนว่า ส.ว.เป็นตัวของตัวเอง การเมืองมาถึงจุดที่เลอะเทอะเละเทะขนาดนี้ได้อย่างไร     
    ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษก พปชร. กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยระบุ พล.อ.ประยุทธ์ อาจขัดคุณสมบัติการเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ว่าการกล่าวหาเช่นนี้ไม่เป็นธรรมกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะประเด็นคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ได้ผ่านการตรวจสอบจากพรรค กกต. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งสรุปว่า พล.อ.ประยุทธ์สามารถเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมืองได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้มีปัญหา ประเด็นนี้จึงเป็นการดิสเครดิตหรือหาเรื่องกันมากกว่า แต่ไม่มีผลกระทบต่อ พปชร.และ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะการโจมตีกันเช่นนี้เป็นการเล่นการเมืองแบบเก่า จึงอยากให้พรรคเพื่อไทยไปเตรียมตัวเป็นฝ่ายค้านที่ดี ซึ่งจะดีกว่ามัวมาเล่นการเมืองแบบไม่สร้างสรรค์
    "เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้รับการโหวตให้เป็นนายกฯ ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้แน่นอน ส่วนกระบวนการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลนั้น ทางพรรค พปชร.ได้มอบหมายให้นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค เป็นผู้เจรจากับพรรคร่วม โดยตลอดการเจรจาไม่พบว่ามีปัญหาแต่อย่างใด โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้ ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าการเจรจาจะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 5 มิถุนายน ที่จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรี โดยเชื่อว่าเราจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากแน่นอน" นายธนกรกล่าว
    นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค พปชร.กล่าวว่า ขณะนี้ พปชร.กำลังพยายามเดินหน้าอย่างถึงที่สุดที่จะให้มีการตั้งรัฐบาลโดยเร็วตามที่พี่น้องประชาชนคาดหวัง ซึ่ง พปชร.ได้ประสานงานไปยังพรรคร่วมที่มีอุดมการณ์ในทิศทางเดียวกันหมดแล้ว อยู่ระหว่างรอการตัดสินใจของพรรคการเมืองเหล่านั้น ซึ่งหวังว่าจะได้รับคำตอบในเร็วๆ นี้ ก็ต้องขอขอบคุณบรรดาพรรคการเมืองที่ได้ประกาศร่วมตั้งรัฐบาลกับพปชร.มาแล้ว
     "พรรค พปชร.ดำเนินการเจรจาภายใต้ระบบพรรคการเมืองต่อพรรคการเมือง โดยให้ความสำคัญกับนโยบายของทุกพรรคการเมือง ซึ่งจะนำไปขับเคลื่อนสู่พี่น้องประชาชนและแก้ปัญหาของประเทศร่วมกัน อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่าจะมีข้อยุติในการพูดคุย จนสามารถดำเนินการประกาศจัดตั้งรัฐบาลได้ในเร็ววันนี้"
    นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนสมาชิกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 5 มิ.ย.ว่า ในส่วนพรรค ภท.ได้รับทราบกำหนดการประชุมรัฐสภาในวันดังกล่าวแล้ว ซึ่งตามปกติ ก่อนการประชุมสภาทุกครั้ง จะต้องมีการนัดประชุม ส.ส.ภายในพรรคก่อนเสมอ แต่จนถึงตอนนี้หัวหน้าพรรคหรือเลขาธิการพรรคยังไม่ได้แจ้ง ส.ส.พรรค ภท.ว่าจะต้องมีการประชุมก่อนวันที่ 5 มิ.ย.หรือไม่ จึงยังไม่มีความคืบหน้าอะไรเป็นพิเศษ 
    นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ปชป.รู้ดีว่ากำลังทำอะไร และยึดหลักความถูกต้องมาโดยตลอด การจะตัดสินใจแบบไหนก็ต้องยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และรอมติพรรค เพราะ ปชป.ไม่มีเจ้าของพรรคเป็นของคนทุกคน การที่พรรคจะยกมือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ หรือไม่ เป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น วันที่ 5 มิ.ย.นี้ทุกฝ่ายจะเห็นคำตอบ แต่ไม่ว่าพรรคจะตัดสินใจอย่างไรก็พร้อมที่จะมีคำอธิบายให้กับประชาชน 
โพลชี้อนาคตมืดมน
     วันเดียวกัน ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ได้เผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่องประชาชนคิดอย่างไรต่อการเมือง โดยศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ  1,164 ตัวอย่าง พบว่า เกินครึ่งหรือ 51.81% ระบุบรรยากาศการเมืองวันนี้แย่ลงเมื่อเทียบกับ 5-6 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ 33.16% ระบุว่าเหมือนเดิม และ 15.03% ระบุว่าดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นส่วนใหญ่หรือ 71.39% ระบุว่าบรรยากาศการเมืองในอีก 6 เดือนข้างหน้ามืดมน ในขณะที่ 28.61% ระบุเห็นแสงสว่างว่าทุกอย่างจะไปได้ดี 
     “ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือ 79.47% ระบุเชื่อมั่นน้อยถึงไม่เชื่อมั่นเลยต่อความเข้มแข็งของรัฐบาลใหม่ ในขณะที่ 20.53% เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุด แต่เมื่อสอบถามถึงความเหมาะสมในการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 61.51% ระบุว่าเหมาะสม ในขณะที่ 38.49% ระบุว่าไม่เหมาะสม”
     ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลใหม่กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่กับกระแสความไม่เชื่อมั่นและอารมณ์ของประชาชนในเวลานี้ โดยต้องได้รับการบริหารจัดการที่ดี เพราะพวกเขารู้สึกว่าอนาคตการเมืองไทยข้างหน้ามืดมน ถ้าการเจรจาต่อรองตำแหน่งแบ่งเค้กออกมาไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในแต่ละกลุ่มผลประโยชน์ ก็น่าจะเตรียมพบกับความเปลี่ยนแปลงรอบใหม่ที่จะเกิดขึ้นอีก 
     “ทางออกคือ ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองน่าจะทำการเมืองครั้งนี้ให้ดึงความเชื่อมั่นของสาธารณชนกลับคืนมา โดยคัดสรรคนดีมีฝีมือไม่มีประวัติด่างพร้อย ขาลุยทำงานได้ทันที เพราะข้อมูลเชิงลึกพบว่าใครก็ได้ที่มาเป็นนายกฯ และรัฐมนตรี ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องเป็นใครในเวลานี้ ประชาชนยอมรับได้ถ้าเป็นแล้วทำให้ประชาชนมีกินมีใช้ไม่ขัดสน บ้านเมืองไม่วุ่นวาย แต่ถ้าเล็งเห็นว่าใครเป็นแล้วบ้านเมืองจะวุ่นวาย ความขัดแย้งจะรุนแรงบานปลาย จึงควรดับไฟเสียแต่ต้นลม เพื่อความสงบสุขของบ้านเมืองและประชาชน” ผศ.ดร.นพดลกล่าว
     ขณะที่สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในหัวข้อ ความอึดอัดของประชาชนในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งสอบถามประชาชน 1,137 คน โดยเมื่อถามว่าประชาชนคิดอย่างไร กับความไม่แน่นอนในการจับขั้วพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาล พบว่า 44.14% เป็นเรื่องผลประโยชน์ตอบแทน การยื่นข้อเสนอต่อกัน, 33.30% ภายในพรรคเสียงแตก ความคิดเห็นไม่ตรงกัน ตกลงกันไม่ได้, 17.86% ทุกพรรคอยากเป็นรัฐบาล มีการเลือกข้าง เลือกฝ่ายที่ได้เปรียบ, 12.74% พรรคขนาดกลางเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล และ 10.69% ยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ยังไม่ชัดเจน      
     เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่าปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลที่ยืดเยื้อเกิดจากสาเหตุอะไร พบว่า 67.45% ผลประโยชน์ไม่ลงตัวแย่งเก้าอี้ ไม่ได้ตามข้อเสนอที่ต้องการ, 28.27% ผู้นำพรรคยังตัดสินใจไม่ได้ มีความขัดแย้งภายในพรรค และ 19.08% เป็นเกมการเมือง ยังจับขั้วพรรคการเมืองไม่สำเร็จ คะแนนเสียงไม่เพียงพอ 
สำหรับสิ่งที่ประชาชนอยากบอกพรรคการเมืองต่างๆ เกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งแบ่งเป็นพรรคขนาดใหญ่ (พลังประชารัฐ-เพื่อไทย) พบว่า 58.43% ให้นึกถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ หยุดเห็นแก่ตัว, 39.29% เคารพกฎหมาย เป็นประชาธิปไตย ฟังเสียงประชาชน และ 26.24% เร่งจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว ส่วนของพรรคขนาดกลาง (ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์-อนาคตใหม่) พบว่า 47.75% รักษาสัญญา ทำตามที่หาเสียงไว้ ไม่โกหกประชาชน, 30.81% ปฏิบัติตามหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เคารพกฎหมาย และ 25.23% คำนึงถึงชื่อเสียง อุดมการณ์ของพรรค ส่วนพรรคขนาดเล็ก พบว่า 53.42% ทำตามหน้าที่ให้ดีที่สุด สร้างผลงานให้เห็นเป็นรูปธรรม, 34.70% ไม่สร้างความวุ่นวาย อยู่ในขอบเขต หยุดตอบโต้กันไปมา และ 18.72% ไม่ยอมเป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นตัวแทนของประชาชน    
“ประชาชนมีข้อเสนอแนะอย่างไรที่จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลรวดเร็วและประสบผลสำเร็จ พบว่า  43.73% ปฏิบัติตามหลักสากล เคารพเสียงส่วนใหญ่ เป็นประชาธิปไตย, 40.31% ลดการต่อรอง ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องมากเกินไป และ 31.77% ถอยคนละก้าว ลดทิฐิ ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน”     
ท้ายที่สุดเมื่อถามว่า โดยภาพรวมแล้วการจัดตั้งรัฐบาลทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายการเมืองมากน้อยเพียงใด พบว่า 76.29% เบื่อหน่ายมากขึ้น เพราะการเมืองไทยมีแต่ความขัดแย้ง แย่งชิงผลประโยชน์ ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วแต่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เบื่อหน่ายเหมือนเดิม เพราะหากต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ยังคงมีทิฐิด้วยกัน และ 4.26% เบื่อหน่ายน้อยลง เพราะอย่างน้อยก็ทำให้คนสนใจการเมืองมากขึ้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"