ระบบการจัดการเรียนการสอนในบ้านเรามีปัญหามากมาย ก็ยังมองไม่เห็นรัฐมนตรีคนไหนที่จะทุ่มเทเอาจริงเอาจังและทำการปฏิรูปการศึกษาให้มันดีขึ้น หลังเลือกตั้งนี้ก็พากันลาออกไปเป็น ส.ว.กันหมด ทิ้งนโยบายและแผนงานค้างคากันไป แถมกระทรวงศึกษาธิการยังเป็นกระทรวงหนึ่งที่ใช้ตำแหน่งรัฐมนตรีไปต่อรองเพื่อการจัดตั้งรัฐบาล ประชาชนที่เฝ้ารอคอยการปฏิรูปการศึกษาได้แต่พากันถอนหายใจไป สาปแช่งนักการเมืองไป ไม่รู้ชะตากรรมว่าใครจะมาสานต่อให้เด็กไทยพ้นการท่องจำ นั่งฟังครูสอน และแข่งขันกันด้วยคะแนน กวดวิชาเป็นว่าเล่นเพื่อเกรดที่เป็นตัววัดและตัดสินอนาคตทางการศึกษา ภาคประชาชนเองก็ทนรอต่อไปไม่ไหว โรงเรียนทางเลือกเริ่มได้รับความนิยม เด็กที่มีความต้องการพิเศษ เด็กที่เกรดไม่ถึงเกณฑ์การประเมินถูกกำจัดออกจากระบบการศึกษานับแสนคนเพียงเพื่อความอยู่รอดของผู้บริหารโรงเรียน ในขณะที่ พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับระบุว่ารัฐต้องจัดการศึกษาให้เด็กอย่างทั่วถึง แต่ในความเป็นจริง ในความเท่าเทียมไม่เคยมีความเท่ากันเอาซะเลย
จากสถิติของศาลเยาวชนและครอบครัวพบว่า 90% ของเด็กที่ถูกถีบออกจากระบบการศึกษาเกิน 3 ปีมักจะก่อคดี และช่วงวัยที่มีปัญหาทากที่สุดคือมัธยมศึกษาตอนต้น โดยมากจะเริ่มมีปัญหาตั้งแต่ ม.1 และออกจาก รร.ช่วง ม.2 ส่วนใหญ่ไม่จบมัธยมต้น จะไปประกอบอาชีพอะไรก็ไม่ได้ กระทรวงศึกษาธิการได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2561 ถึง 17.6% หรือ 560,961.81 ล้านบาท เป็นกระทรวงที่มีผู้บริหารเฉลี่ยแล้วปีละคน เหมือนเป็นตำแหน่งที่เป็นสมบัติผลัดกันชม ทำให้การขับเคลื่อนไปไม่ถึงไหน อันดับ PISA ของไทยก็อยู่รั้งท้ายเต็มทน ไม่ต้องพูดถึงเยาวชนอายุ 15-17 ปี จำนวนกว่า 2 แสนคนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับเพราะความยากจน ในขณะที่เด็กที่ได้เรียนต่อถึง 65% ยังไม่รู้ว่าอยากทำงานอะไร การคัดเลือกรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ใช่แค่เลือกใครก็ได้มาอยู่แล้วก็ไป ต้องได้คนที่มีความรู้ความสามารถ และมีใจให้กับการปฏิรูปการศึกษา ข้อสำคัญต้องอยู่นานพอที่จะสานนโยบายให้เป็นรูปเป็นร่าง
จากเวทีเสวนาเรื่อง ‘ชวนพรรคร่วมคิด พลิกห้องเรียน เปลี่ยนไทยทันโลก’ ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI จัดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากในการเปิดพื้นที่ให้กับนโยบายขายฝันของพรรคการเมืองซึ่งจะเข้าชิงชัยกันในการเลือกตั้ง ได้มาแสดงแนวคิดของแต่ละพรรคในเรื่องการวางนโยบายปฏิรูปการศึกษาไทย ไม่น่าจะเป็นของพรรคใดพรรคหนึ่งแต่ทุกพรรคต้องเห็นความสำคัญตรงกันก่อนว่าจะดำเนินไปอย่างไร ตอนนี้ก็ได้แต่รอว่าใครจะมาเป็นรัฐมนตรี มีความรู้ความสามารถ ความตั้งใจจริงและความทุ่มเทให้กับการศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21 อย่างไร เป็นสิ่งที่หลายคนคอยจับตาอยู่ ที่น่าสนใจคือ การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ได้เริ่มทำในหลายจังหวัด โดยมีนวัตกรรมการศึกษาจากการขับเคลื่อนที่โดดเด่น อาทิ โรงเรียนมอนเตสซอรี่ (Montessori), โรงเรียนสะเต็มศึกษา (STEM Education), โรงเรียนที่นำแนวทาง Brain-based Learning มาปรับใช้กับการเรียนการสอน การจัดการเรียนการสอนโดยวิธี Active Learning, Project Based Learning และ Problem Based Learning เป็นต้น หากพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้ง 6 ภาคประสบผลสำเร็จ คงเป็นรูปแบบในการขับเคลื่อนและขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไปในอนาคต.
จิตติมา กุลประเสริฐรัตน์
([email protected])
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |