ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าใครจะได้เป็นประธานสภาฯ ใครจะรวมกับใคร พรรคไหนจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันอาทิตย์ที่บทความนี้ตีพิมพ์อาจจะมีความชัดเจนแล้วก็ได้ หลังจากที่ประชาชนจำนวนมากหงุดหงิด รำคาญ และเบื่อที่จะติดตามข่าวการเมือง เพราะความอิดออดของนักการเมืองในการตัดสินใจว่าพรรคไหนจะรวมกันให้ได้จำนวน ส.ส. เกินกว่า 251 เสียง เพื่อความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งนี้เพราะว่าผลการเลือกตั้งที่ออกมานั้นมีพรรคที่สามารถอ้างชัยชนะสองพรรค สุดแต่ว่าจะมองจากตัวเลขใดที่เป็นผลลัพธ์ของการเลือกตั้ง กล่าวคือ พรรคหนึ่งสามารถอ้างชัยชนะได้ ถ้าหากจะมองจากจำนวนของ ส.ส.เขต และเขาก็อ้างความชอบธรรมว่าพรรคของเขาได้จำนวน ส.ส.เขตมากที่สุด ดังนั้น พรรคของเขาจึงต้องได้เป็นพรรคที่จัดตั้งรัฐบาล ในขณะที่อีกพรรคหนึ่งได้คะแนนรวมจำนวนประชาชนลงคะแนนเสียงให้มากที่สุด เป็นจำนวนมากกว่า 8 ล้านเสียง ดังนั้นถ้าหากคะแนนทุกคะแนนจะไม่ตกน้ำหายไป พรรคของพวกเขาก็มีความชอบธรรมที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทั้งสองฝ่ายต่างก็พยายามที่จะรวบรวมจำนวน ส.ส.ให้เกิน 251 แต่จนแล้วจนรอดทั้งสองฝ่ายก็ไม่สามารถรวบรวมจำนวน ส.ส.ได้ถึง 251 เสียง เพราะมีบางพรรคไม่ตัดสินใจว่าจะไปรวมกับฝ่ายใดที่กำลังพยายามที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
แม้ว่าทันทีที่รู้ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการจะมีพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งรวมตัวกัน ลงสัตยาบันว่าจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล แต่เมื่อนับจำนวน ส.ส.ที่สังกัดพรรคที่มาร่วมลงชื่อกันนั้นก็ได้เสียงไม่ถึง 251 ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่อาจจะยืนยันว่าฝ่ายของตนมีจำนวน ส.ส.มากกว่า 251 เสียง ถ้าจะว่าไปแล้ว พรรคที่แสดงตนเป็นแนวร่วมของฝ่ายนี้นั้น เมื่อรวมแล้วยังได้จำนวน ส.ส.ไม่ถึง 200 เสียงด้วยซ้ำไป ทั้งนี้เพราะพรรคที่ยังไม่ประกาศการตัดสินใจนั้นมีจำนวนรวมกันมากกว่า 120 เสียง แต่ประชาชนจำนวนหนึ่งและสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งคาดหวังว่าพรรคทั้งหมดที่ไม่ได้ร่วมลงสัตยาบันนั้นน่าจะรวมกับอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะจากการติดตามการให้สัมภาษณ์ของหัวหน้าพรรคและแกนนำของพรรคที่ยังไม่ประกาศการตัดสินใจนั้น เรามักจะได้ยินข้อความที่ทำให้เราเชื่อว่าพวกเขาน่าจะอยู่คนละฝ่ายกับฝ่ายที่ลงสัตยาบัน เพราะว่าทุกพรรคต่างพูดว่าไม่อาจจะทำงานร่วมกับคนโกงและคนที่มีทัศนะที่เป็นอันตรายต่อสถาบันสำคัญของชาติ และมีสองพรรคที่มีคะแนนสูงในกลุ่มที่มาลงสัตยาบันมีข่าวเรื่องโกง (ที่เป็นความจริงเชิงประจักษ์แล้ว) และมีกลิ่นอายของคนต่อต้านสถาบันสูงสุดของประเทศ
อย่างไรก็ตาม การจะมารวมกับอีกฝ่ายหนึ่งนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินใจได้ง่ายๆ ทั้งนี้เพราะในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคที่มาลงสัตยาบันกันนั้นเขาสร้างวาทกรรมว่าพวกเขาเป็นฝ่ายประชาธิปไตย และเรียกอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นฝ่ายเผด็จการที่พยายามสืบทอดอำนาจของ คสช. ที่เข้าสู่อำนาจในการบริหารประเทศด้วยการทำรัฐประหาร บางพรรคที่ไม่ได้ร่วมลงสัตยาบันดูเหมือนว่าจะติดกับดักวาทกรรมดังกล่าวนี้ จนถึงขนาดอดีตหัวหน้าพรรคออกคลิปประกาศไม่สนับสนุนพรรคที่เสนอชื่อหัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ส่งผลให้พรรคต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งเกินกว่าความคาดคิดของคนทั้งประเทศ พรรคอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนหัวหน้า คสช.ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีความกังวลกับวาทกรรม “การสืบทอดอำนาจเผด็จการทหาร” จนไม่อาจตัดสินใจร่วมกับพรรคที่เสนอชื่อหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี การจัดตั้งรัฐบาลจึง “ยืดเยื้อ” จนประชาชนรู้สึกเบื่อหน่าย รำคาญ จนเกิดอาการชิงชังนักการเมืองที่พวกเขามองว่าตกลงกันไม่ได้สักที คงเป็นเพราะผลประโยชน์ไม่ลงตัว ประชาชนมองว่าการตัดสินใจของพวกเขาไม่ได้คิดถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน แต่คิดถึงประโยชน์ของตนและของพรรคมากกว่า (นักการเมืองอย่าน้อยใจที่ประชาชนคิดแบบนี้ เพราะพวกท่านตัดสินใจกันช้าเกินไป ทั้งๆ ที่ข้อมูลที่จะต้องใช้ในการตัดสินใจนั้นน่าจะมีพอแล้ว แต่ที่ยังไม่พอคือผลประโยชน์)
พรรคหนึ่งก็ “เยอะ” เรื่องมากวุ่นวายกับความขัดแย้งภายในพรรค ติดกับดักของข้อความ “การสืบทอดอำนาจ” และมีความหนักใจที่จะประกาศเข้าร่วมกับพรรคที่เสนอชื่อหัวหน้า คสช.ที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนี้ให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ส่วนจะไปร่วมกับฝ่ายที่เขาลงสัตยาบันก็ทำไม่ได้เพราะเป็นพรรคที่เป็นคู่ต่อสู้กันมากว่าทศวรรษแล้ว
อีกพรรคหนึ่งก็ “ย้วย” ข้อความที่หัวหน้าพรรคพูดแต่ละครั้ง ประชาชนสับสน งุนงงว่าเขาจะเอาอย่างไรกันแน่ บางครั้งเราคิดว่าเขาจะมาร่วมกับพรรคที่มีประชาชนเลือกมากที่สุด บางครั้งเราก็รู้สึกว่าเขาจะรวมกับพรรค “เยอะ” และพรรคอื่นๆ เพื่อจะเป็นขั้วที่สามในการชิงตึกไทยคู่ฟ้า เพราะพรรคที่มี ส.ส.เขตมากที่สุดนั้น “ยับเยิน” แล้วเนื่องจากแกนนำที่ลงเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่มีใครได้เข้าสภาแม้แต่คนเดียว
ในขณะเดียวกัน พรรคที่ได้คะแนนรองลงมาในฝ่ายนี้ก็ “ย่ำแย่” เพราะหัวหน้าพรรคโดนคดีต่างๆ มากมายที่ต้องเผชิญกับวิบากกรรมอีกหลายเรื่องจนอาจจะไม่ได้เป็น ส.ส. และอาจจะเป็นเหตุทำให้ต้องติดคุกหรือพรรคอาจจะถูกยุบ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้พรรคหนึ่ง “ยักท่า” ไม่แสดงความชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร หัวหน้าพรรคให้สัมภาษณ์สื่อแบบเลื้อยไปเลื้อยมาจนลูกพรรคที่ได้เป็น ส.ส.แยกวง ในที่สุดตัวเองต้องลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค
ขณะเดียวกัน พรรคที่จะเป็นแกนนำก็ถูกกล่าวหาว่า “ยึดโยง” คือยึดเอากระทรวงหลักไว้หมดและยังโยงกับทหารในการกำหนดตำแหน่งรัฐมนตรี และในที่สุด ความ “ยุ่งยาก” ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ แม้แต่พรรคที่มี ส.ส.เพียงคนเดียวยังมีโอกาสที่จะ “ยึกยัก” ในการจะมาร่วมกับฝ่ายที่คาดว่าจะได้เป็นรัฐบาล โดยเรียกร้องให้เอานโยบายของพวกเขามาพิจารณาใช้ในการบริหารประเทศด้วย ระอาใจจริงๆ แล้วจะไม่ให้ประชาชนเบื่อนักการเมืองได้ยังไงคะ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |