โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาฯ-ประธาน ส.ว. พร้อมรองประธาน "ชวน" เคาะประชุมร่วมรัฐสภา 5 มิ.ย.โหวตเลือกนายกฯ "ส.ว.เสรี-ไพบูลย์" อ้างเจตนารมณ์ รธน.ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้ ชี้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณไม่ได้ให้ ส.ส.-ส.ว.ลงมติ หากนายกฯ โดนซักฟอกพ้นสภาพ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกคนเดิมมาอีกได้ "อลงกรณ์-ธีระชัย" ตอกกลับขัด รธน. ยันต้องมีเสียงกึ่งหนึ่งของ ส.ส.ด้วย "ชทพ." มีมติร่วมรัฐบาล พปชร.แล้ว "จุรินทร์" ย้ำ 2 เงื่อนไข ต้องแก้รธน.กำหนดนโยบายเกษตรกร รอ พปชร.เคลียร์ปัญหาภายในให้จบ ขณะที่ พปชร.เชื่อ ปชป.ยกมือหนุนเกินครึ่ง เกลี่ยเก้าอี้ใหม่ ยื่น ศธ.-พ่วงอุตฯ หวังดึงกษ.คืน เอาพลังงานล่อ ภท.หวังปล่อย คค.กลับ
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศแต่งตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2562 เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2562 เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้
1.นายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร 2.นายสุชาติ ตันเจริญ เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง 3.นายศุภชัย โพธิ์สุ เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง จึงแต่งตั้งให้ผู้มีนามดังกล่าวเป็นประธานและรองประธานสภาฯ ตามความในมาตรา 116 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 28 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
นอกจากนี้ ราชกิจจานุเบกษายังเผยแพร่ประกาศ แต่งตั้งประธานและรองประธานวุฒิสภา ดังนี้
1.นายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธานวุฒิสภา 2.พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง 3.นายศุภชัย สมเจริญ เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่สอง
ที่ห้องประชุมริมน้ำ ชั้น 4 อาคารรัฐสภาใหม่ เกียกกาย เวลา 16.00 น. มีพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ ทั้ง 2 คน โดยนายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นผู้เชิญพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งมายังหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ, นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 และนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 รวมถึง ส.ส. นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้บริหาร และข้าราชการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมในพิธี
จากนั้นเวลา 16.15 น. นายชวนให้สัมภาษณ์ว่า สำนักงานเลขาธิการสภาฯ จะส่งหนังสือเชิญประชุมสภาและประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 1 มิ.ย. เพื่อเรียกประชุมในวันที่ 5 มิ.ย. โดยมีวาระสำคัญคือ เวลา 09.00 น. ให้ 4 ส.ส.ที่ยังไม่ได้กล่าวปฏิญาณตนกล่าวปฏิญาณตนต่อที่ประชุมสภาก่อนปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ จากนั้นเวลา 11.00 น. จะมีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาวาระสำคัญคือเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยจะใช้หอประชุมใหญ่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ
นายชวนกล่าวว่า การประชุมสภานั้นจะนัดประชุมอีกครั้งวันที่ 6 มิ.ย. โดยมีวาระสำคัญตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณายกร่างข้อบังคับการประชุมสภาฉบับใหม่ รวมถึงกำหนดวันประชุมสภาในสมัยประชุมด้วย
ขณะเดียวกัน ภายหลังพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา, พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 และนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 จากนั้น นายพรเพชรให้สัมภาษณ์ว่า จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด โดยภารกิจหลังจากนี้ก็จะเป็นเรื่องของการนัดประชุมรัฐสภา ซึ่งที่ประชุมสภาผู้แทนฯ ได้กำหนดวันเลือกนายกฯ ออกมาแล้ว คือวันที่ 5 มิถุนายนนี้ จากนั้นจะเริ่มการประชุมในเวลา 11.00 น. ที่หอประชุมทีโอที และการประชุมวุฒิสภาจะมีการแต่งตั้งกรรมาธิการวุฒิสภาเพื่อร่างระเบียบวาระการประชุม
รธน.หนุนตั้ง รบ.ข้างน้อย
ส่วนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี นายพรเพชร กล่าวว่า เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ว. เชื่อว่าในพฤตินัยสมาชิกเเต่ละคนจะใช้ดุลยพินิจเพื่อนำพาประเทศชาติไปสู่ข้างหน้าต่อไปได้ด้วย เเม้จะมีการปรึกษาพูดคุยกันบ้างในนามส่วนตัว เพราะจนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครมาชี้นำได้ อย่างไรก็ตาม เเม้การประชุมโหวตเลือกนายกฯ จะใช้วิธีขานชื่อเป็นรายคน เเต่เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นานเเละจบภายในวันนั้น
เมื่อถามว่า ส.ว.ทั้ง 250 คนนี้ จะเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ทั้งหมดหรือไม่ นายพรเพชรอมยิ้มก่อนจะตอบว่า ในเมื่อมันเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิก เเล้วตนจะไปตอบเเทนสมาชิกได้อย่างไร
ด้ายนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ "รัฐบาลที่มี ส.ส.เสียงข้างน้อยสนับสนุน จะอยู่ได้หรือไม่?" ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ในปัจจุบัน ได้บัญญัติให้การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีนั้นใช้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา (คือ ส.ส.และ ส.ว.รวมกัน) คือต้องให้ได้เสียงไม่น้อยกว่า 376 เสียง ซึ่งในเสียงของ ส.ส. อาจไม่ถึงจำนวน 250 เสียง ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เท่ากับเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร
"การที่รัฐบาลมีเสียงสนับสนุนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็มิได้หมายความว่าจะทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งหากรัฐบาลไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ไม่โกงกิน ทำงานอย่างเต็มที่มีประสิทธิภาพ ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องใช้เสียง ส.ส.เกินกว่ากึ่งหนึ่งมาคอยปกป้องคุ้มครอง ดังนั้นหากใช้เสียง ส.ส.ในสภาผู้แทนฯ ในการโหวตแต่งตั้งนายกฯ ก็จะใช้เสียงเพียง 126 เสียงขึ้นไป เมื่อรวมเสียงของ ส.ว. 250 เสียง รวมแล้วไม่น้อยกว่า 376 เสียง ก็สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ เท่ากับว่าการจัดตั้งรัฐบาลนี้มีเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนฯ สนับสนุน ก็ยังสามารถตั้งรัฐบาลได้ อันเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่หากรัฐบาลมีเสียงในสภาจำนวนน้อย ก็ยังสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้"
ส่วนที่มีคนห่วงว่าในการออกกฎหมายต่างๆ หาก ส.ส.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยก็เกรงว่ารัฐบาลจะอยู่ไม่ได้และจะต้องยุบสภานั้น ที่ผ่านมารัฐบาลปัจจุบันที่ได้เสนอให้ สนช.ผ่านกฎหมายออกมาใช้ 400-500 ฉบับ ก็เป็นการมากมายเพียงพอแก่การนำมาบริหารประเทศได้ แต่หากฝ่าย ส.ส.ไม่เห็นด้วย รัฐบาลก็สามารถออกเป็นพระราชกำหนดออกมาใช้ได้ ส่วนกฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดิน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ตามมาตรา 143 ซึ่งตาม รธน.มาตรา 141 มีเจตนาให้ ส.ส.และ ส.ว.ช่วยกันพิจารณาให้แล้วเสร็จ เพื่อที่รัฐบาลจะได้นำไปใช้ โดยต้องร่วมกันพิจารณาและดำเนินการออกกฎหมายดังกล่าวให้แล้วเสร็จ มิได้ให้มีมติไม่เห็นชอบในการไม่ออกกฎหมาย จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาหรือเป็นอุปสรรคที่ทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้เช่นกัน
ในเรื่องของการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น หากนายกฯ ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย แต่หาก ส.ส.ในสภาที่มีจำนวนมากกว่ากลั่นแกล้งมีมติไม่ไว้วางใจนายกฯ หลังจากนั้นก็จะต้องมีกระบวนการให้ได้นายกฯ ใหม่เข้ามาทำหน้าที่ นายกฯ คนเดิมก็มีสิทธิได้รับการพิจารณาจากสมาชิกรัฐสภาให้กลับมาเป็นนายกฯ ได้อีก และ ส.ว.ก็มีสิทธิในการลงคะแนนโหวตเลือกให้นายกฯ คนเดิมกลับมาเป็นนายกฯ อีกได้
"โดยสรุปแล้วประเทศย่อมมีทางออก แต่เมื่อจำเป็นจะต้องตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ต้องทำ ซึ่งผมเชื่อว่าตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน 2560 สามารถทำให้รัฐบาลเสียงข้างน้อยอยู่ได้" นายเสรีระบุ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป กล่าวเช่นกันว่า สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันยังไม่ถึงทางตัน เพราะสามารถดำเนินการตั้งรัฐบาลตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ หากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภา 400 เสียง แต่มีเสียงในสภาผู้แทนฯ ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็สามารถบริหารประเทศไปได้ระยะยาว เพราะสามารถแก้ไขปัญหาการพิจารณากฎหมายงบประมาณด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 270 ให้พิจารณาโดยที่ประชุมรัฐสภา และหากฝ่ายค้านเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ เสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีผลให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2 พ้นออกไป ก็เสนอให้รัฐสภาเสียงข้างมากเลือกกลับมาเป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 3 อีกวาระหนึ่งได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 และฝ่ายค้านจะเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอีกไม่ได้ไปตลอดปี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 จึงเป็นแนวทางที่ควรจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้
โหวตนายกฯ เสียงต้องเกิน 251
ขณะที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า เป็นเหตุผลข้ออ้างพิลึกพิสดารของท่าน ส.ว. และไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ความจริงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้รัฐสภาเลือกนายกฯ ได้ด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา (500 ส.ส.+250 ส.ว.) คือ 376 เสียง และต้องการให้นายกฯ มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ เพื่อความมีเสถียรภาพของรัฐบาล มิใช่ให้จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยตั้งแต่เริ่มตั้งรัฐบาล เพราะนอกจากรัฐบาลจะไม่มีเสถียรภาพแล้ว จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศและเศรษฐกิจโดยตรง
"การเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรนั้นไม่มีเสถียรภาพ เพราะหากไม่สามารถผ่านกฎหมายทางเงินสำคัญๆ รวมทั้ง พ.ร.บ.งบประมาณฯหรือญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ต้องลาออกหรือยุบสภา นี่คือหลักถ่วงดุลและตรวจสอบของระบบรัฐสภา วุฒิสภาช่วยอะไรไม่ได้หรอก หรือจะหวังน้ำบ่อหน้าไปหางูเห่ามาเสริมก็ผิดวิถีทางการปฏิรูปการเมืองโดยทั่วไป" นายอลงกรณ์กล่าว
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.การคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า บทความโดย ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ลงวันที่ 30 พ.ค.2562 ตรงกับที่ผมวิเคราะห์ไว้ก่อนหน้า “สรุปหลักการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในระบบรัฐสภา รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นจะต้องเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก (ของสภาผู้แทนราษฎร) หากประธานรัฐสภานำชื่อบุคคลที่มีคะแนนเสียงสนับสนุนไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร และไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ย่อมเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ และขัดเจตนารมณ์ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา และยังอาจเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมที่กระทบหรือระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาท
"รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นต่อไปจากการนำของนายกฯที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร ย่อมเป็นรัฐบาลที่ปราศจากความชอบธรรมเป็นเบื้องต้น และมีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ ย่อมไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล" นายธีระชัยระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ว่าได้เดินทางเข้าทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ตามปกติ พร้อมติดตามสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่อย่างใกล้ชิด โดยไม่มีหมายประชุมหรือวาระงานใดๆ เป็นพิเศษ ทั้งนี้ แม้จะเป็นช่วงนับถอยหลังเพื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาล แต่ พล.อ.ประยุทธ์ยังเดินหน้าทำงานเต็มที่ โดยสั่งทีมโฆษกรัฐบาลเปิดเชิงรุกงานประชาสัมพันธ์ เร่งสรุปผลงานรัฐบาลที่โดดเด่น เพื่อแจ้งให้ประชาชนรับทราบทุกช่องทาง โดยได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติแก่ทีมประชาสัมพันธ์ทุกกระทรวงในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ก่อนทยอยเปิดผลงานตลอด 5 ปี ในช่วงสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป
มติ ชทพ.ร่วม พปชร.
สำหรับความเคลื่อนไหวการจัดตั้งรัฐบาล เช้าวันเดียวกัน ที่พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค เป็นประธานการประชุมกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) โดยมีกรรมการเข้าร่วม 14 คน เพื่อพิจารณาการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลังจากที่นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคและผู้บริหารพรรค พปชร. มาเทียบเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาลเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา
ต่อมา นายยุทธพล อังกินันทน์ รองหัวหน้าและโฆษกพรรค ชทพ. แถลงว่า กก.บห.พรรคมีมติเอกฉันท์ตอบรับเข้าร่วมเป็นรัฐบาลกับ พปชร.เพื่อต้องการขับเคลื่อนและให้ประเทศเดินหน้า ส่วนบุคคลที่ พปชร.จะเสนอให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ นั้น ชทพ.พร้อมจะลงคะแนนให้คนของ พปชร.ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเสนอ เนื่องจากเป็นมารยาททางการเมือง ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีที่พรรคจะได้ ยังไม่ได้คุยรายละเอียด เพราะต้องขอเวลาพิจารณา โดย กก.บห.มีมติมอบอำนาจให้ น.ส.กัญจนาไปพิจารณาคัดสรร ส่วนข้อกังวลการเซ็นเซอร์ตำแหน่งรัฐมนตรี เชื่อว่าแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลจะรักษามารยาทเพื่อให้การทำงานร่วมกันเดินหน้า
“เราไม่กลับลำ พูดคำไหนคำนั้น เมื่อพรรคตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับ พปชร.แล้วจะไปไหนก็ไปกัน ส่วนกรณีที่พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ตกลงเข้าร่วมรัฐบาล เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และไม่เกี่ยวกับการตัดสินใจของ ชทพ. ส่วนจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือไม่ต้องพิจารณาในอนาคต แต่ ชทพ.พร้อมอยู่กับ พปชร.เพื่อประคับประคองให้ประเทศเดินหน้าไปสู่สิ่งที่ดี” นายยุทธพลกล่าว
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำ ชทพ. ให้สัมภาษณ์ต่อการยอมรับเงื่อนไขของพรรคการเมืองอื่น ที่เสนอให้ พปชร.ตัดสินใจก่อนการเข้าร่วมรัฐบาล เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า แนวทางของพรรคอื่น ชทพ.ไม่ได้พิจารณา โดยส่วนตัวมองว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีเสียงสนับสนุนร่วมกัน ทั้งฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภาด้วย
ที่พรรคพลังประชารัฐ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. กล่าวภายหลังมีกระแสข่าวผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก The Public ระบุว่าเตรียมนำ 30 ส.ส.กลุ่มสามมิตรย้ายออกจากพรรคกลับไปอยู่กับพรรคเพื่อไทย (พท.) เนื่องจากมีการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่สำเร็จว่า เป็นการปล่อยข่าวทำให้เกิดความเสียหาย หากบุคคลที่ไม่ได้เข้าใจการเมืองมากนักจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าตนและพวกเป็นคนเกเร ตีรวนในส่วนของการตั้งรัฐบาลของ พปชร. โดยข้อเท็จจริงการทำงานและพูดคุยในส่วนกระทรวงต่างๆ กก.บห.ได้มอบหมายให้หัวหน้าและเลขาธิการพรรคไปทำหน้าที่ตรงนี้ พวกเราก็รอฟัง
นายสมศักดิ์กล่าวว่า ในการทำงานการเมืองตนมีปัญหาน้อยที่สุด แม้จะมีเปรี้ยวหวานมันเค็มผสมผสานกันไป เราก็ไม่คิดจะหนีหายไปจากพรรค ต้องปักหลักอยู่ที่นี่ตลอดไป คนที่ปล่อยข่าวไม่ได้ประสงค์ดี เรื่องเก้าอี้กระทรวงเกษตรฯ การหารือจะเป็นอย่างไรส่งใครไปอยู่กระทรวงไหน สุดท้ายตามประเพณีปฏิบัติคนเป็นนายกฯ ต้องดูว่าเหมาะสมหรือไม่ พวกเราก็ต้องยอมรับเงื่อนไขแบบนี้มาโดยตลอด ส่วนตัวมีศักดิ์ศรีพอที่จะไม่ทำให้เรื่องตรงนี้เกิดความวุ่นวายและไม่เชื่อว่าจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย สุดท้ายต้องลงตัว เพราะหลายพรรคมีนโยบายและมีประชาชนที่รออยู่มั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้รับการเสนอให้เป็นนายกฯ แน่นอน การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับทหารใดๆ ทั้งสิ้น
ส่วนกรณีที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย วิพากษ์วิจารณ์กรณีที่มีข่าวลือว่ากลุ่มสามมิตรจะย้ายออกจาก พปชร. นายสมศักดิ์บอกว่า “ส่วนตัวไม่ได้ยินโดยหูของตัวเอง ที่ถ้าคุณหญิงจะพูดอย่างนั้น ก็เหมือนสุภาษิตว่า มะนาวหวาน องุ่นเปรี้ยว คุณหญิงสุดารัตน์เคยไปพบไปเชิญถึงที่บ้านก่อนการเลือกตั้ง แต่ก็ตัดสินใจว่าจะไม่ไปที่นั่น และวันนี้องุ่นเปรี้ยว มะนาวหวานไปแล้ว ท่านเป็นถึงคุณหญิง จะมาพูดคำอะไรที่ดูแล้วไม่น่าที่จะเป็นคำพูดของท่าน แต่ตัวเองก็ได้ยินคนในพรรคของท่านเขาพูดถึงท่าน เหมือนที่ท่านพูดถึงผมเหมือนกัน ผมก็คิดว่าเท่านี้ก็คงพอแล้ว”
ในช่วงท้ายการให้สัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าหากไม่ได้ดำรงตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะเป็นอย่างไร นายสมศักดิ์ตอบอย่างอารมณ์ดีสั้นๆ ว่า "ร้องไห้"
ปชป.ย้ำ 2 เงื่อนไข
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคปชป. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าปชป.จะร่วมรัฐบาลว่า ต้องเริ่มต้นที่ พปชร.ก่อน ซึ่งถือว่าเป็นขั้วหนึ่งที่กำลังทำหน้าที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้นับหนึ่งที่ ปชป. ความคืบหน้าล่าสุดทราบตรงกันว่า พปชร.มาเชิญ ปชป.เข้าร่วมรัฐบาล แต่ที่ ปชป.ต้องเลื่อนการประชุมออกไป เป็นเพราะพปชร.ต้องใช้เวลาในการทำให้ พปชร.เป็นหนึ่งเดียวเสียก่อน จึงต้องให้เวลา แต่สำหรับการทำหน้าที่ของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ก็มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอยู่แล้ว
เมื่อถามว่า การที่นายชวนเป็นประธานสภาฯแล้วจะผูกมัดว่า ปชป.ต้องเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า การที่พรรคไหนจะเสนอชื่อใครเป็นนายกฯ อย่างไรก็คงขึ้นอยู่กับแต่ละพรรคการเมืองที่จะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งในส่วนของ ปชป.ยังไม่ได้มีการประชุมกันว่าจะเสนอใครเป็นนายกฯ หรือไม่ เพราะคงต้องนับหนึ่งที่ พปชร.ก่อนว่ามีความเห็นอย่างไร แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งความคืบหน้าใดๆ ส่วนที่ว่าจะโหวตเลือกนายกฯ ก่อนค่อยมาจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีและนโยบาย ก็สุดแล้วแต่ พปชร. เพราะต้องเป็นผู้ตัดสินใจ เรื่องนี้ยังไม่เคยคุยกันว่าจะต้องโหวตนายกฯ ก่อนค่อยจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี
"รัฐธรรมนูญกำหนดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ทำยากมาก เป็นที่มาว่าทำไมพรรคต้องยื่นเงื่อนไขเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ว่าถ้าร่วมรัฐบาล รัฐบาลต้องเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามรัฐบาลหรือกำหนดเป็นนโยบาย เพราะจะมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า นอกจากนั้นก็มีการเสนอเรื่องนโยบายที่ ปชป.หาเสียงไว้กับประชาชน ว่าถ้าจะฟื้นเศรษฐกิจต้องนับหนึ่งจากเศรษฐกิจฐานราก คือนโยบายประกันรายได้เกษตรกรของพรรคต้องได้รับการพิจารณาบรรจุเป็นนโยบายของรัฐบาล ทั้งหมดจะต้องอยู่ที่พรรคแกนนำว่าจะตอบรับข้อเสนอนี้หรือไม่ ซึ่งเงื่อนไขทั้งสองข้อมีความสำคัญต่อการตัดสินใจว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่" นายจุรินทร์กล่าว
นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวถึงกระแสข่าว ปชป.ตกลงจะร่วมรัฐบาลกับปชป.แล้วว่า ไม่เป็นความจริง ปชป.ยังรอรับแจ้งผลสรุปจาก พปชร.อยู่ ซึ่งหลังจากที่เขามาเชิญเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้เขายังไม่ได้ติดต่อแจ้งผลอะไรมาให้เราทราบ เราจึงยังไม่ได้ประชุมใดๆ ทุกคนเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว ต้องเคารพและให้เกียรติกัน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ บางครั้งท่าทีหรือการให้เหตุผลเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ทำหน้าที่เจรจาต้องมีศาสตร์และศิลป์ ต้องมีวุฒิภาวะมากพอในการทำเรื่องอย่างนี้ ไม่ใช่ใครก็มาทำได้
"มีทางเลือกว่าถ้าเราไม่ร่วมด้วย เขาจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยแล้วจะเดินไปอย่างไร เขาจะเสนอกฎหมายอย่างไร จะเอาองค์ประชุมมาจากที่ไหน จะทำให้การเมืองไปสู่การยุบสภาใช่หรือไม่ มันต้องดูให้ตลอดทั้งหมด แต่ถ้าจะคิดเพียงแค่ให้ได้เสียงลงมติเลือกนายกฯ แต่ต่อไปฝ่ายรัฐบาลไม่มีเสียงข้างมากจะเกิดทางตันขึ้นทันที ดังนั้นผู้ที่จะเป็นผู้บริหารต้องดูหมากทั้งกระดาน ไม่ควรดูทีละตา ประเทศไม่ใช่อยู่ที่อารมณ์ของใครคนใดคนหนึ่ง จึงต้องมีสติในการแก้ปัญหา ไม่เชื่อว่าการตัดสินใจอย่างนั้นจะเป็นทางออกที่ดี" นายนิพนธ์กล่าว
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ปชป. โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุเหตุผลที่ ปชป.ยังไม่มีมติร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล ปชป.เป็นพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมือง ไม่มีใครสามารถสั่งการชี้นำได้เพียงคนคนเดียว หลักการทำงานของ ปชป.ที่ได้บอกกล่าว ปชป.ไป ยังไม่ได้มีการตอบกลับมาอย่างเป็นทางการ ที่อ้างว่ามีการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี คงไม่ใช่ถ้อยความจริง การตัดสินใจ ซึ่งจะยืนอยู่บนหลักการประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง ทั้งนี้ นายราเมศจะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในวันที่ 1 มิ.ย. เวลา 10.30 น.
ขณะที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคปชป. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า สายๆวันนี้ผมรับโทรศัพท์จากผู้ใหญ่บ้านแถวบ้านซึ่งเป็นเพื่อนกัน โทร.มาปรารภด้วยความเป็นห่วงถึงภาพของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งตอนนี้โดนวิจารณ์หนักมากจากความไม่ชัดเจนว่าจะตัดสินใจร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล ผมยอมรับกับเพื่อนว่า พรรคสมควรถูกวิจารณ์ เพราะท่าทียังไม่ชัดเจนจริงๆ เพื่อนผมบอกว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมรัฐบาลกับฝ่ายใด ควรชัดเจนได้แล้ว แต่แถมว่าถ้าจะไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ แล้วที่ให้ทางนั้นช่วยเลือกท่านนายกฯ ชวนเป็นประธานรัฐสภา จะตอบเขาว่าอย่างไร ผมก็ได้แต่บอกว่า ใช่ๆ เพื่อนเอ๋ย ตูละกลุ้ม
ปชป.มาแล้วครึ่งพรรค
สำหรับความเคลื่อนไหวจัดตั้งรัฐบาล การแบ่งโควตารัฐมนตรีที่สะดุด เมื่อ พปชร.พยายามดึงอำนาจต่อรองกลับ เปลี่ยนมือดีลหวังเกลี่ยโควตาใหม่หมดเข้าที่ประชุมพรรคและสุดท้ายนายกฯ ใหม่เป็นคนเคาะ หลังผู้ใหญ่นอกพรรคมือดีลรอบแรกยอมถอย ล่าสุด แกนนำ พปชร.ได้ประเมินพลังการต่อรองของปชป.ว่าไม่มีเลย เพราะเสียงในพรรคแตก เชื่อการโหวตนายกฯ ของ ปชป.สายนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กับนายถาวร เสนเนียม พร้อมเข้าร่วมอยู่ ที่มีอยู่ กว่า 20 เสียง ขณะที่ล่าสุด นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค ได้โพสต์ภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวที่งาน "THAIFEX-WORLD of Food Asia 2019" ที่เมืองทองธานี ที่ถ่ายร่วมกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ พร้อมนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก ทำให้แกนนำ พปชร.ยิ่งมั่นใจยังไงก็มี ปชป.โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์เกินครึ่งพรรค
ขณะที่การแบ่งโควตารัฐมนตรีกระทรวงเกรดเอยังเป็นปัญหาไม่จบ ปชป.เลื่อนลงมติตัดสินใจร่วมตั้งรัฐบาลด้วย ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภท. ออกมาขู่พร้อมถอยแพ็กคู่ร่วมกับ ปชป. เมื่อมีข่าวพปชร.พยายามทวงคืนกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะเก้าอี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ หลังนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตรประกาศสู้เต็มที่ทวงคืน โดยแกนนำพปชร.ยืนยันขอเอาเกลี่ยที่ประชุม กก.บห.ก่อน แต่ข่าวต่อรองออกมาว่า พปชร.เสนอ 2 เก้าอี้ คือ รมว. ศึกษาธิการและ รมช.ศึกษาธิการ แลก รมว.เกษตรฯ โดยเสนอพวง รมช.ศึกษาธิการ เพื่อตัดลดโควตาต่อรองไม่ให้งอกขึ้นมา รวมถึงมีข่าวแลก รมว.เกษตรฯ กับ รมว.ยุติธรรม หรือ รมว.อุตสาหกรรม
ส่วนกระทรวงคมนาคม ที่มีข่าวดีลรอบแรกยกให้ภูมิใจไทยแล้วนั้น แม้ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันกระทรวงคมนาคมซึ่งเป็น 1 ใน 4 กระทรวงที่ต้องเป็นของพรรคหลักจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงมองว่าเป็นงานที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล และเป็นห่วงภาพลักษณ์เรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน มีข่าว พปชร.พยายามทวงคืนด้วยเช่นกัน แลกกับ รมว.พลังงาน ซึ่งก่อนนี้มีข่าวเป็นโควตาของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคและ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พปชร.
นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวว่า ในขณะนี้กลุ่ม 11 พรรค ไม่พอใจการจัดตั้งรัฐบาล เพราะพรรคชาติไทยพัฒนายังได้ 2 ที่นั่ง และทำไมกลุ่ม 11 จะไม่ได้เลยหรืออย่างไร หากไม่มีกลุ่ม 11 ก็จะไม่มีนายกฯ ชื่อประยุทธ์ หากระบบการเมืองไม่แฟร์ จะมาทำงานร่วมกัน 4 ปีได้อย่างไร ถ้ากลุ่ม 11 ไม่ได้เก้าอี้อะไรเลย การโหวตเลือกนายกฯ พวกเราก็จะทำตามสัญญาที่ให้ไว้ จะยกให้ 2 มือด้วย แต่หลังจากนั้นก็จะดูใจท่านนายกฯ ว่าท่านจะให้ความเป็นธรรมกับเราหรือไม่ หากไม่ เราทั้ง 11 คนก็พร้อมจะออกจากพรรคร่วมรัฐบาล
ทางด้านนางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทุกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งเพื่อต่อต้านการสืบทอดอำนาจและนำพาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกลับมาสู่สังคมไทย ส่วนกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ เป็นเพียงแค่ข่าวลือ เพราะในพรรคเพื่อไทยก็มีเพียงการรับฟังความคิดเห็นจาก ส.ส.ของพรรค ยังไม่มีการสรุปแต่อย่างใด เพราะทุกอย่างต้องมีการประชุมกันอีกครั้งกับพรรคพันธมิตรในเร็วๆ นี้จึงจะได้ข้อสรุป
นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังมีการนัดประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ วันที่ 5 มิ.ย. จะเสนอใครชิงตำแหน่งนายกฯ ว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ พรรคเพื่อไทยต้องคุยกันก่อน รวมถึงต้องนำไปหารือกับพรรคการเมืองอีก 6 พรรค ที่ร่วมลงสัตยาบันไม่เอาการสืบทอดอำนาจ ซึ่งทุกพรรคยังยึดมั่นในแนวทางนี้อย่างชัดเจน ส่วนข่าวที่บอกว่าจะเสนอชื่อนายชัชชาตินั้น เป็นเพียงแค่ข่าวลือ
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลยังเป็นไปได้ เพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช. พร้อมยอมรับยังมีการพูดคุยกับทั้งพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ซึ่งหวังให้ตัดสินใจร่วมกัน อย่าไปเป็นนั่งร้านให้กับการสืบทอดอำนาจ และเข้าร่วมกับ 7 พรรคการเมืองเพราะมีเงื่อนไขน้อย พร้อมยังเรียกร้องไปถึง ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แสดงสปิริตไม่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |