"แอปสแนปแช้ต" แค่ขำ..ผู้ใหญ่อย่าเยอะ


เพิ่มเพื่อน    

 

      กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับแอปพลิเคชันสแนปแช้ต (Snapchat) ที่กำลังฮอตฮิตในกลุ่มของดาราและเด็กวัยรุ่นยุคใหม่ ทั้งการทำหน้าเด็ก และเปลี่ยนใบหน้าตัวเองจากผู้ชายเป็นผู้หญิง หรือแช้ตสนทนากับเพื่อน ด้วยใบหน้าจากไอคอนของแอปพลิเคชันที่มีให้เลือก ทั้งตาโต ปากหนา ลิ้นยาว เป็นต้น

      ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้เล่นส่วนใหญ่ก็มองว่าเป็นเรื่องสนุก เพราะต่างคนต่างผลัดแต่งรูปส่งให้กันดูว่าใครจะฮาและแปลกกว่ากัน งานนี้ไม่รอช้าไปขอข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญกับเด็ก ว่าแอปพลิเคชั่นสุดฮาดังกล่าวจะผลอย่างไรต่อเด็กวัยรุ่นยุคใหม่หรือไม่ โดยเฉพาะค่านิยมอยากสวย อยากเด่น และอยากมีตัวตนของกลุ่มวัยรุ่นที่เรามักพบเห็นกันอยู่บ่อยๆ เพราะตอนนี้ในเมืองนอกเมืองนาเขาถกกันอย่างหนักว่าอาจส่งผลต่อพฤติกรรมสวยด้วยศัลยกรรม อีกทั้งยังอาจเป็นปัญหาให้เยาวชนเลือกที่จะสร้างสังคมหลอกตัวเองในโลกโซเชียลได้

(พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ)

      พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ บอกว่า “หมอมองว่าแอปพลิเคชันสแนปแช้ตเป็นการเล่นทั่วไปแบบสนุกสนานเฮฮามากกว่าค่ะ ไม่ทำให้เกิดอันตรายกับเด็ก เพราะอย่างมากสุดคือเปลี่ยนรูปตัวเองให้น่าเกลียด แกล้งกันมากกว่า ยังไม่ถึงขึ้นเป็นเรื่องที่โหดร้ายหรือรุนแรงอะไร เพราะอันที่จริงแล้วพฤติกรรม อยากสวย อยากหล่อ หรืออยากโดดเด่น เป็นพฤติกรรมปกติของเด็กที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่นค่ะ หรือแม้แต่การที่เด็กเล่น โดยการเปลี่ยนหน้าตัวเองจากผู้ชายเป็นผู้หญิง ตรงนี้ไม่ได้มีผลหรือไม่ได้กระตุ้น ให้เด็กเบี่ยงเบนทางเพศ หากเด็กวัยรุ่นคนนั้นไม่มีพฤติกรรมเป็นผู้หญิงในร่างผู้ชาย ยกเว้นว่าเขามีภาวะดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหมอมองว่ามันเป็นการที่เด็กได้เล่นได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ หมายความว่าเขาสามารถถ่ายรูปตัวเองจากชายเป็นหญิง หรือตกแต่งใบหน้าตัวเองให้ดูตลกหรือสนุกสนาน ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองมากกว่าค่ะ เพราะอันที่จริงแล้วถ้าเปรียบเทียบกับแอปพลิเคชันแต่งหน้าอื่นๆ ที่ทำให้ใบหน้าของเด็กใสเรียบเนียน สวย หล่อ ตรงนั้นน่าจะทำให้เกิดปัญหาได้มากกว่าแอปพลิเคชันสแนปแช้ต

        “พูดง่ายๆ ว่าแอปดังกล่าวไม่ได้มีแนวโน้มที่นำไปสู่พฤติกรรมที่เสียหาย แต่มันเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่เด็กสนใจ และถ้าหากว่าเขาเล่นโดยสามารถรับผิดชอบตัวเองได้ อีกทั้งไม่ละเมิดสิทธิ์คนอื่น ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ที่สำคัญหมอว่าแอปนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับได้ และเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสม สรุปง่ายๆ ว่าเป็นการเล่นที่วัยรุ่นอยากเล่นเหมือนคนอื่น เนื่องจากเป็นสิ่งที่กำลังอยู่ในเทรนด์ ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้คุยกับคนอื่นรู้เรื่อง ก็เป็นเพียงกิจกรรมกิจกรรมหนึ่งเท่านั้นค่ะ”

(งามสิริ อาศิรเลิศสิริ)

      ขณะที่ งามสิริ อาศิรเลิศสิริ นักจิตวิทยาเด็ก บอกคล้ายกันว่า “สำหรับแอปพลิเคชันสแนปแช้ตถือเป็นว่าสิ่งที่วัยรุ่นเล่นกันเพื่อความสนุกเป็นหลัก เนื่องจากเป็นวัยที่ค่อนข้างโตแล้ว ซึ่งอันที่จริงแอปนี้ก็มีทั้งประโยชน์และโทษ สำหรับประโยชน์ก็เพื่อความสนุกสนาน สามารถเล่นได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของผลเสีย เช่น การที่เรานำไปแกล้งเพื่อน และเพื่อนไม่สนุกกับเรา ซึ่งวัยรุ่นสามารถเล่นแอปนี้ได้ แต่ต้องดูว่าเพื่อนๆ สนุกกับเราหรือไม่ หรือแม้แต่การที่เรานำรูปเพื่อนไปแต่งให้ดูตลกนั้น และนำไปเผยแพร่และเพื่อนไม่ชอบ ตรงนี้อาจจะทำให้เกิดเป็นการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ หรือ “ไซเบอร์บูลลี่” ดังนั้นถ้าจะเล่นกับเพื่อนก็คงต้องขออนุญาตเพื่อนก่อนค่ะ

      ส่วนคำถามที่ว่าแอปพลิเคชันสแนปแช้ตจะมีแนวโน้มกระตุ้นให้เด็กอยากสวย อยากหล่อหรือไม่นั้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการใช้งาน เพราะถ้าหากวัตถุประสงค์ของแอปนี้ไม่ได้แต่งหน้าเพื่อความสวย หล่อ มันก็คงไม่ได้กระตุ้นให้เด็กมีพฤติกรรมเช่นนั้น เพราะอันที่จริงความอยากดูดี อยากเด่น ถือเป็นพฤติกรรมปกติของเด็กวัยรุ่นที่กำลังจะโตค่ะ หรือแม้แต่การที่เด็กผู้ชายแต่งหน้าเป็นเด็กผู้หญิง ในขณะที่ตัวตนจริงๆ ของเขาเป็นเด็กผู้ชายปกติ แอปพลิเคชันสแนปแช้ตก็ไม่ได้มีผลอะไรค่ะ แต่คงเป็นเรื่องของความสนุก และการได้เห็นในสิ่งที่เขาทำด้วยตัวเองมากกว่าค่ะ”.

 

      วัยรุ่นวัยเรียนสะท้อน

        แอปพลิเคชั่นสแนปแช้ต

(พิชญา แฉล่มวารี)

      พิชญา แฉล่มวารี นักเรียนชั้น ม.6 รร.สายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ บอกว่า “ตอนนี้ก็เล่นสแนปแช้ตกับเพื่อนอยู่ค่ะ ส่วนตัวหนูมองว่ามันก็มีประโยชน์มากกว่าผลเสียค่ะ เพราะเป็นแอปแต่งหน้ารูปตัวเองให้ดูตลก เพื่อเล่นกับเพื่อน หรือส่งให้เพื่อนดู หรือบางครั้งลงในไอจีสตอรี่ และก็มีเพื่อนๆ เข้าไปดู ก็มองว่าการเล่นที่น่ารัก ไม่ได้มองถึงว่าจะมีผลเสียร้ายแรงอะไรค่ะ เพราะอันที่จริงแล้วหนูและกลุ่มเพื่อนก็เล่นกันแบบขำๆ ค่ะ แต่งหน้าให้ดูปากใหญ่และส่งให้เพื่อนดู เพื่อนก็จะหัวเราะค่ะ”

(ชญานันท์ ชินวงศ์เขียว)

      ชญานันท์ ชินวงศ์เขียว นักเรียนชั้น ม.5 รร.สายปัญญา ในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกว่า “หนูคิดว่าสแนปแช้ตก็มีโอกาสที่ทำให้คนเข้าใจผิดกันได้ค่ะ เช่น ไอคอนที่เปลี่ยนจากผู้ชายเป็นผู้หญิง แต่อาจจะไม่ถึงขึ้นนำไปสู่การหลอกลวงได้ เนื่องจากสุดท้ายเราก็จะจับได้ค่ะ เพราะมันเป็นการเล่นแบบสนุกสนานมากกว่าค่ะ สำหรับหนูคิดว่าแอปนี้มีประโยชน์มากกว่าโทษค่ะ เพราะเวลาที่เล่นส่วนใหญ่ก็จะเปลี่ยนหน้าตัวเองให้เป็นรูปสัตว์แลบลิ้น และส่งให้เพื่อนดู เพื่อนก็จะหัวเราะมากกว่าค่ะ”

(มีนา ชนะศักดิ์อำไพ)

        มีนา ชนะศักดิ์อำไพ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จาก รร.สายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ บอกว่า “ส่วนตัวก็เล่นสแนปแช้ตกับเพื่อนมาประมาณครึ่งเดือนค่ะ เพราะว่าเห็นเพื่อนเล่นก็เลยเล่นตามเพื่อน และมองว่าเป็นการเล่นแบบสนุกนาน เนื่องจากเป็นแอปที่น่ารัก มีไอคอนรูปหน้าคนหน้าสัตว์ให้เราเลือกที่หลากหลาย ส่วนอันตรายจากการเล่น แน่นอนว่าอาจทำให้คนเข้าใจผิดได้ แต่คิดว่าค่อนข้างน้อยที่จะนำไปสู่การหลอกลวงกันค่ะ เพราะวัยรุ่นส่วนใหญ่ก็จะมองว่ามันเป็นแอปที่เล่นกันแบบขำๆ ค่ะ”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"