หลังสมาชิกวุฒิสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญฯ เสร็จสิ้นภารกิจการเลือก ”ประธาน-รองประธานวุฒิสภา” ไปแล้วเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ภารกิจสำคัญที่รอ ส.ว.ในฐานะสมาชิกรัฐสภาต่อจากนี้ก็คือการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติ ”เลือกนายกรัฐมนตรี” ร่วมกับ ส.ส. และต่อจากนั้น ส.ว.ทั้ง 250 คน ก็จะได้เริ่มติดเครื่องทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป
แต่ระยะแรกๆ ส.ว.ทั้งหมดก็ต้องหารือกันเพื่อวางกรอบการทำงานของ ส.ว.ต่อจากนี้ห้าปี ที่ก็คงจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการไปศึกษาเรื่องข้อบังคับต่างๆ เพื่อจัดตั้ง ”คณะกรรมาธิการสามัญ ประจำวุฒิสภา” ที่ ส.ว.จะต้องตกลงกันว่าจะให้มีกี่คณะ และแต่ละคณะจะมีบทบาทหน้าที่อย่างไรบ้างเพื่อให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยเฉพาะ ”ภารกิจพิเศษของ ส.ว.” ตามรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือการที่บทเฉพาะกาลใน รธน.บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีต้องมารายงานความคืบหน้าเรื่องการปฏิรูปประเทศและการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ ทุกๆ สามเดือนต่อที่ประชุมวุฒิสภา ดังนั้น วุฒิสภาชุดนี้ก็เชื่อว่าจะมีการตั้งกรรมาธิการสามัญฯ ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นการเฉพาะในเรื่องการติดตามปฏิรูปประเทศและแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ
ซึ่งการขับเคลื่อนของสภาสูงชุดปัจจุบันที่ถูกมองว่าเป็น ”สภาลากตั้ง” มาด้วยกลไกอำนาจพิเศษของ คสช. บ้างก็เรียกขานว่า “สภาท็อปบู๊ต-ฐานอำนาจของ คสช.” ดังนั้น ทุกจังหวะการทำงานของ ส.ว.ทั้ง 250 คน รับรองว่าถูกสแกนจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้าม คสช.อย่างเข้มข้นแน่นอน
มีความเห็นน่าสนใจต่อการทำงานของสภาสูงต่อจากนี้ เมื่อ ”เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา“ ที่ถึงปัจจุบัน เป็น ส.ว.มาแล้วสองสมัย เพราะก่อนหน้านี้เป็นอดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร ปี 2543 เท่ากับเป็นมาหมดแล้ว ทั้ง ส.ว.เลือกตั้ง-ส.ว.สรรหาแต่งตั้ง
“เสรี-สมาชิกวุฒิสภา” กล่าวว่า หลังจาก ส.ว.ทั้งหมดเริ่มเข้าทำงาน ก็คงจะได้มีการหารือกันเรื่องกรอบการทำงานของ ส.ว.ต่อจากนี้ เช่นการตั้งคณะ กมธ.ชุดต่างๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่จะเสนอให้ ส.ว.ทั้งหมดได้คุยกันก็คือเรื่อง ”การเดินทางไปต่างประเทศ” ที่เห็นว่าต่อไปนี้ไม่ควรมีอีกแล้ว ประเภทตั้งงบในคณะ กมธ.สามัญชุดต่างๆ ที่บอกว่าจะเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศโดยไม่มีความจำเป็น ซึ่งเป็นการใช้เงินเดือนภาษีประชาชน
“เสรี” กล่าวว่า ส.ว.ชุดนี้จะต้องเรียกศรัทธาจากประชาชน เพราะถูกเรียกว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือบ้างก็บอกว่ามาจากการสืบทอดอำนาจ ส.ว.จึงต้องสร้างประโยชน์ คุณงามความดีให้ประชาชนเห็น รักษาผลประโยชน์ให้ประชาชน
“สิ่งที่ผมอยากเห็นตอนนี้ก็อยากบอก ส.ว.ทุกคนว่าการรักษาผลประโยชน์ชาวบ้านเราทำได้อย่างเช่น ที่ผ่านมานักการเมืองไม่ว่าสภาไหนก็ตาม มักใช้งบประมาณไปในแนวทางที่หาประโยชน์สุขส่วนตน เช่น การไปศึกษาดูงานต่างประเทศ มีการใช้งบประมาณไปเที่ยว” เสรีระบุ
“สมาชิกวุฒิสภา-เสรี” ให้ข้อมูลว่า ระบบก่อนหน้านี้สมาชิกคนหนึ่งไปมีชื่ออยู่ในคณะ กมธ.สองชุด ซึ่งกรรมาธิการแต่ละคณะ เวลามีช่วงว่างในช่วงการปิดสมัยประชุมฯ ที่จะมีปีละสองครั้ง ก็จะไปกับ กมธ.ทั้งสองชุด
“เท่ากับว่า ส.ส.-ส.ว.คนหนึ่งจะไปเที่ยวไปดูงานต่างประเทศปีละสี่ครั้ง อันนี้ไม่ได้รวมถึงการประชุมสภาฯ ระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องการใช้งบศึกษาดูงาน เรื่องพวกนี้สื่อมวลชนประจำรัฐสภาก็รู้ เวลาปิดสมัยประชุมก็จะมีข่าวออกมาว่ามีบริษัททัวร์มาวิ่งรับงาน กมธ.ชุดไหนจะไปที่ใด ทุกคณะฯ เป็นเหมือนกันหมด ชาวบ้านก็ก่นด่า วิพากษ์วิจารณ์ตามสื่อมาตลอด แต่สมาชิกรัฐสภาไม่มีความอาย กลับประพฤติตนเยี่ยงนี้ตลอดเวลา ใช้งบประมาณแผ่นดินไปในทางฟุ่มเฟือย หาผลประโยชน์ใส่ตน ส.ว.ชุดปัจจุบันต้องยกเลิกให้หมด ต้องทำให้เป็นตัวอย่าง ต้องยกเลิกการตั้งงบประมาณของกรรมาธิการในเรื่องการไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ต้องยกเลิกให้หมด”
อย่างไรก็ตาม ”เสรี-ส.ว.” ย้ำว่า แต่หากจะมีบุคคลใดบอกว่ามีเรื่องอยากไปท่องเที่ยวไปดูงานลักษณะแบบนี้ ก็ต้องจ่ายเงินส่วนตัวเอง เขาไม่ได้ห้าม แต่ต้องห้ามการใช้งบประมาณที่ประชาชนมีความรู้สึกไม่ดี หากใครจะไป ก็ทำเรื่องขออนุญาตเพราะไปในนามรัฐสภา ต้องประหยัดงบประมาณแผ่นดิน ไม่ใช้เงินภาษีประชาชนไปในทางที่เกิดความรู้สึกกับประชาชน หากมีการทำก็จะเป็นตัวอย่างต่อหน่วยงานราชการอื่นๆ แล้วนำเงินงบประมาณเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางอื่นเช่น ดูแลคนป่วย ผู้สูงอายุ ให้งบการศึกษา ทำแบบนี้ประชาชนก็จะชื่นชมยินดี แต่หากจะไปราชการจริงๆ ก็ทำหนังสือแจ้งมาเป็นเรื่องเป็นราว ทำมาเป็นครั้งๆ ไป ต้องมีเหตุมีผล ไม่ใช่ว่าปิดประชุมที กมธ.ทุกคณะก็ไปกันหมด มาแบบเหมากันไป แล้วเอาบริษัททัวร์เข้ามาจัด
อีกประเด็นที่หลายคนสนใจต่อจากนี้ก็คือ เมื่อสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.-ส.ว. รวมกัน 750 คน เข้าทำงานแล้ว ก็จะต้องมีการตั้ง “ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว-ผู้ช่วย ส.ส.-ผู้ช่วย ส.ว.” ที่ก็จะมีเงินเดือนให้แตกต่างกันออกไป แต่อยู่ที่หลัก 15,000-20,000 บาทต่อเดือน โดยจะมีโควตาให้ ส.ส.-ส.ว.ตั้งได้ไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ ซึ่งที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัย บรรดา ส.ส.-ส.ว.ก็มักจะเอาชื่อคนในบ้าน-เครือญาติทั้ง ”ผัว-เมีย-ลูก-หลาน-คนใกล้ชิด-ญาติพี่น้อง” หรือบางทีก็มีข่าวเอาชื่อคนขับรถมาส่งชื่อให้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ-สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดยที่คนเหล่านี้ก็ไม่เคยมาปฏิบัติงานจริง จะมาโผล่ที่รัฐสภา ก็เฉพาะตอนยื่นเอกสารประจำตัว-รูปถ่าย-สำเนาบัญชีธนาคารให้เจ้าหน้าที่สภาฯ โดยนักการเมืองบางรายก็จะให้คนที่ตัวเองตั้ง พอได้เงินเดือนแล้วก็ต้องนำเงินมาส่งให้ทุกเดือน อันเป็นเรื่องที่ทำกันเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ประเด็นดังกล่าว ”เสรี-ส.ว.” ย้ำว่า การตั้งผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ผู้ช่วย ส.ว. ก็ต้องเพื่อให้เข้ามาทำงานให้จริงๆ อย่างตั้งลูกหลานเข้ามา หากจะตั้งลูกหลาน ก็ต้องมีความชัดเจนว่าตั้งแล้วเข้ามาทำงานจริงๆ เพราะบางคนอาจมีการศึกษาสูง การศึกษาดี แล้วเขาจะตั้งมาช่วยงาน แบบนี้ก็ไม่ควรปิดกลั้น แต่ประเภทเอาชื่อมาใส่แล้วได้เงิน โดยไม่ได้เคยมาทำงาน มาช่วย ส.ว.ทำงานจริง เรื่องแบบนี้ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นแบบนั้น แนวทางข้อเสนอข้างต้นของ ”ส.ว.-เสรี” เชื่อได้ว่าหลายคนย่อมเห็นด้วย และหากสภาสูงชุดนี้ที่ถูกมองว่ามาจากการแต่งตั้ง แต่กลับสร้างบรรทัดฐานที่ดีๆ ให้กับฝ่ายนิติบัญญัติ ก็อาจทำให้สภาล่าง พวก ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อาจต้องคิดเดินตามแนวทางนี้ด้วย เว้นเสียแต่ ส.ว.ส่วนใหญ่ ไม่เอาด้วยกับข้อเสนอของ ส.ว.เสรี ก็จบเห่กันไป.
.......................
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |