ที่มาที่ไปของสวนโมกข์กรุงเทพฯ (1)


เพิ่มเพื่อน    

      วันก่อนผมได้อ่านบทความที่เขียนโดย คุณหมอบัญชา พงษ์พาณิช ว่าด้วย “สวนโมกข์กรุงเทพ” ผ่านทาง Goodlife Update.com ทำให้เข้าใจที่มาที่ไปของโครงการที่น่าเลื่อมใสแห่งนี้เพิ่มจากเดิมมาก จึงขออนุญาตนำมาเล่าต่อเพื่อท่านผู้อ่านที่สนใจได้ร่วมซึมซับเหมือนกับผมด้วยดังนี้ครับ

                เหลียวหลัง : ท่านอาจารย์พุทธทาสกับการวางรากฐานการขับเคลื่อนงานธรรม

                ท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นพระที่มีวิสัยทัศน์และแสวงหาช่องทางเพื่อสื่อสารธรรมะมากที่สุดรูปหนึ่ง โดยท่านใช้สารพัดสื่อมาเผยแผ่งานธรรมของท่าน กล่าวคือ ตั้งแต่ปี 2475 ท่านตั้งโรงพิมพ์ สำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์ราย 3 เดือน เพื่อเผยแผ่ธรรมะ และในการบรรยายธรรม ท่านใช้สื่อโสตทัศน์ที่ทันสมัยที่สุดในยุคท่าน

                เมื่อมีโอกาสท่านก็ขยายช่องทางไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ และมีกลยุทธ์ในการออกหนังสือเป็นเล่มเล็ก เล่มใหญ่ หรือฉบับมาสเตอร์อย่างธรรมโฆษณ์ นอกจากนี้ รูปถ่ายยังเป็นอีกสื่อหนึ่งที่ท่านทำมาก ทั้งพิมพ์โปสเตอร์ แต่งกลอน และคิดวลีธรรมให้ง่ายและโดนใจคน จนหลายวลีกลายเป็นอมตะ เช่น ท่านแปลคำยากอย่างสักกายะทิฐิเป็นตัวกู-ของกู เป็นต้น

                สิ่งที่สะท้อนวิสัยทัศน์ที่ข้ามห้วงเวลาของท่านในเรื่องการเผยแผ่ธรรมคือ สิ่งที่ท่านเขียนทิ้งไว้อย่างลึกซึ้ง ก่อนมรณภาพปี 2536 ว่า “คอมพิวเตอร์เหมือนยักษ์หลับแห่งยุคสมัย...เมื่อไหร่โพธิปัญญาจึงจะแสวงหาสหายภาพกับคอมพิวเตอร์ได้” กล่าวคือ

                โพธิปัญญาคือ ความรู้ความเข้าใจในพุทธศาสนา

                สหายภาพคือ Partnership

                หมายความว่า คอมพิวเตอร์เป็นตัวร้ายถ้าเราจัดการไม่ดี แต่เมื่อไหร่ที่คอมพิวเตอร์กับการเรียนรู้ที่แท้จริงมาเจอกัน มันจะมีการเปลี่ยนแปลง...และนี่คือสิ่งที่ท่านอาจารย์เคยประเมินความเป็นไปได้ ทั้งที่ในวันนั้นผ่านมาเกือบ 30 ปีแล้ว วันที่คนไทยยังไม่รู้จักอินเทอร์เน็ตเลย

                การเผยแผ่ธรรมะของสวนโมกข์กรุงเทพฯ

                การเผยแผ่ธรรมะของสวนโมกข์กรุงเทพฯ พยายามยึดแนวทางท่านอาจารย์และปรับปรุงให้เท่าทันกับยุคสมัย กล่าวคือ ในยุคแรกของสวนโมกข์กรุงเทพฯ คนอ่านหนังสือเล่มเป็นหลัก เราก็มีห้องที่เรียกว่า “ห้องหนังสือและสื่อธรรม” แต่พอโลกเปลี่ยนเราก็ต้องปรับ หนังสือยังมีอยู่ แต่คนใช้ช่องทางอื่นๆ อีกเยอะแยะไปหมด และรูปแบบการมาพบกัน รูปแบบการเรียนรู้มันก็เปลี่ยน เราจึงต้องปรับพื้นที่ใหม่ให้มี “Co ธรรมะ (Working) Space” เพราะโลกทุกวันนี้ การทำงานต้องอาศัยการมีส่วนรวม และต้องการมี platform หลากหลายทั้งเชิงสถานที่ เชิงกิจกรรม ซึ่งเราก็ปรับพื้นที่บางส่วนของที่นี่เป็นที่มาพบปะ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านธรรมะ

                นอกจากนี้ สื่อใหม่เราก็ติดตาม วิเคราะห์ และใช้ Social network อีกหลายตัว ที่จะช่วยเผยแผ่ธรรมะไปได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่ แล้วเราก็โปรโมตผ่านช่องทางเหล่านี้เช่นกัน

                สิ่งที่ต้องทำควบคู่กับการเผยแผ่ธรรมะ

                สิ่งที่ต้องทำควบคู่กับการเผยแผ่ธรรมะคือ การทำให้ท่านอาจารย์พุทธทาสและสวนโมกข์เข้าไปอยู่ในใจคนในทุกรูปแบบ ซึ่งเดิมใช้สื่อกระแสหลักอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ วารสาร รวมถึงการร่วมมือกับ ThaiPBS ทำสารคดี “พื้นที่ชีวิต” ทั้งที่สวนโมกข์ไชยา สวนโมกข์นานาชาติ และสวนโมกข์กรุงเทพฯ ตลอดจนที่ไหนๆ ก็เป็นสวนโมกข์ได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องในประเทศไทยหรือในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ซึ่งเป็นสารคดีเชิงท่องเที่ยวที่ชี้ชวนให้คนเข้ามาสนใจธรรมะของพระพุทธองค์ ของนานาครูบาอาจารย์ รวมทั้งของสวนโมกข์ด้วย ซึ่งได้รับความนิยมมาก จนกระทั่งมี Facebook และ Social network อื่นๆ ซึ่งเราใช้ช่องทางเหล่านี้ควบคู่ไปด้วย

                กลุ่มเป้าหมาย

                ก่อนเปิดสวนโมกข์กรุงเทพฯ เราคิด (เอาเอง) ว่า คนที่สนใจเรากลุ่มแรกน่าจะเป็น พวก hard core ที่สนใจงานท่านอาจารย์พุทธทาสเชิงลึก กลุ่มต่อมาคือคนที่แสวงหาคำตอบให้ชีวิตหรือที่มีปัญหา ซึ่งมีอายุหลายสิบปีขึ้นไป เพราะเราเชื่อว่างานท่านอาจารย์ “ร่วมสมัย” มีเรื่องราว มีลีลาที่คนวัยนี้เข้าถึงได้

                เมื่อเปิดจริง ช่วง 2-3 ปีแรก Age group ที่มาใช้บริการเรามากที่สุดกลับเป็นคนอายุ 40 ปีขึ้นไป และเข้ามาเป็นคนๆ ระยะต่อมา Age group อยู่ที่ 30-40 ปี และนัดมากันเป็นกลุ่มเป็นก้อนจากที่ทำงานเดียวกันบ้าง กลุ่มเพื่อนกันบ้าง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังเหนียวแน่นกับที่นี่ ที่สำคัญ คนกลุ่มนี้เป็น active citizen ที่จะไปทำอะไรให้กับครอบครัวเขา ทำให้องค์กร ชุมชน ผลได้จึงประเมินค่าไม่ได้

                ขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ก็สำคัญ เพราะอนาคตพุทธศาสนาต้องฝากไว้กับกลุ่มนี้ ซึ่ง Co ธรรมะ space ที่จัดทำขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับคนรุ่นใหม่ และตอนนี้เราจึง target ไปที่คนใหม่ๆ และทำงานเชิงรุกมากขึ้น ได้แก่ กลุ่มแรกที่เราให้ความสำคัญมากคือ พระที่ตั้งใจบวชจริง บวชมาแล้ว 5-10 พรรษา กลุ่มต่อมาคือ คนทำงานรุ่นใหม่ เราตั้งใจทุ่มเทเพื่อให้เขาพบเส้นทางธรรมของตัวเอง นอกจากนี้ เรามีเป้าหมายสนับสนุนองค์กรศาสนา และบริการงานธรรมถึงที่ทำงาน เพราะปัจจุบันที่ทำงานหลายแห่งมีชมรมพุทธศาสนา และมีกลุ่มพนักงานที่แสวงหาเส้นทางการปฏิบัติธรรมมากขึ้น.

                                                (พรุ่งนี้ : ทุกอย่างย่อมเกิดจากเหตุ)

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"