"วิษณุ" เผยกรอบเวลาเดิมที่คาดจะได้นายกฯ พ.ค.นี้อาจขยับออกไป "ประยุทธ์" โบ้ยตั้งรัฐบาลเป็นเรื่องพรรคการเมือง เป็นไปตามขั้นตอน ขอทุกฝ่ายคำนึงถึงบ้านเมืองก่อน แนะอ่าน "การเมืองเรื่องสรรพสัตว์" แกนนำ พปชร.ปัดไม่มีปัญหาภายในระบุต้องดูนโยบายก่อนแบ่งเค้ก รับเป็นอำนาจ "บิ๊กตู่" ดูเก้าอี้ รมต. หลังโหวตนายกฯ ปัดขู่ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย-ยุบสภา แกนนำ ปชป.ลั่นต้องรับเงื่อนไขก่อนคุยกัน อบรมเจ้าบ่าวต้องอดทน ให้เกียรติ ดีลให้จบก่อนเลือกนายกฯ "อนุทิน" ประกาศชัดไม่ร่วมรัฐบาลเสียงข้างน้อย หาก ปชป.ไม่ร่วม ภท.ก็ไม่เอาด้วย เตือนนายกฯ คนไหนกล้าพา ครม.เสียงข้างน้อยเข้าถวายสัตย์ฯ
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 29 พฤษภาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรอบเวลาที่จะได้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ว่าจะล่าช้าไปกว่าที่ตนคาดคิด เพราะกระบวนการเลือกประธานและรองประธานสภาฯ ใช้เวลาถึง 2 วัน จึงเกิดปัญหา ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2551 ซึ่งนายชวน หลีกภัย ว่าที่ประธานสภาฯ จะแม่นในข้อบังคับนี้ โดยตามกำหนดการจะโหวตเลือกนายกฯ จะต้องแจ้งสมาชิกรัฐสภาล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน และสามารถนัดประชุมในวันเสาร์-อาทิตย์ได้ แต่ก็เป็นห่วงว่าสัปดาห์นี้มีวันหยุดยาว สมาชิกอาจอยู่ต่างจังหวัดและเดินทางมาไม่ทันส่งผลต่อการแพ้ชนะโหวตได้
"ผมเห็นแล้วว่าเมื่อเปิดประชุมสภาแล้วจะใช้เวลาปุบปับ 2-3 ชั่วโมงเสร็จทันทีคงเป็นเรื่องยาก เพราะดูจากการประชุมสภาในรอบแรก ตามกรอบเวลาเดิมที่คาดว่าจะได้นายกฯ ภายใน พ.ค.นี้ อาจจะขยับออกไป แต่ไม่นาน ซึ่งในการเรียกประชุม ขึ้นอยู่กับประธานสภาฯ ผมไม่อยากก้าวล่วง" นายวิษณุกล่าว
พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกรณีการจัดตั้งรัฐบาลว่า เป็นเรื่องของพรรคการเมือง จึงขอให้รอความชัดเจน ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติ ส่วนตัวนายกฯเคารพกฎหมาย คะแนนเสียงของทุกพรรค และความต้องการของประชาชน ไม่ว่าใครจะมาเป็นนายกฯ ก็ต้องทำตามนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการมีส่วนร่วมของทุกพรรคการเมือง นายกฯ หวังเพียงให้บ้านเมืองเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้สังคมมองเรื่องของผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลักด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะขณะนี้เรากำลังเผชิญกับปัญหาท้าทายหลายอย่าง โดยไม่อยากให้โยงนายกฯ ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองของพรรค ดังนั้นหากเป็นเรื่องการเมือง ให้สอบถามกับพรรคการเมืองจะเหมาะสมกว่า
“วันนี้นายกฯ ยังคงทำงานตามปกติ โดยเฉพาะงานเอกสารที่มีเข้ามาให้พิจารณาทุกวัน และยังฝากแนะนำให้อ่านหนังสือ Animal Farm ฉบับภาษาไทย ซึ่งเป็นหนังสือน่าอ่านที่ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี”
ทั้งนี้ สำหรับ Animal Farm หรือการเมืองเรื่องสรรพสัตว์ เป็นวรรณกรรมอมตะเชิงอุปมานิทัศน์ เขียนโดยจอร์จ ออร์เวลล์ ชาวอังกฤษ ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2488 สะท้อนถึงเหตุการณ์การปฏิวัติรัสเซียและการครองอำนาจของสตาลิน โดยใช้สัตว์เป็นตัวดำเนินเรื่องเพื่อเสียดสีการปกครองของสตาลิน เนื้อหาว่าด้วยเรื่องราวของสัตว์ในฟาร์มที่ปฏิวัติล้มล้างมนุษย์และยึดครองฟาร์มมาเป็นของสัตว์
มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า ในวันที่ 30 พ.ค.นี้ เวลา 08.30 น. ทางกองพิธีการ ทำเนียบรัฐบาล จะมีการเรียกประชุมเตรียมความพร้อมรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 30 คน ที่ห้องประชุม 235 ตึกสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ขณะที่ภารกิจนายกฯ ในวันดังกล่าว ยังคงไม่มีวาระงานหรือภารกิจอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด ทั้งนี้มีรายงานจากคนในรัฐบาลระบุว่า รัฐบาลมีเวลานับจากนี้อีก 15 วัน ที่จะสะสางงานก่อนส่งมอบให้รัฐบาลใหม่
สำหรับความเคลื่อนไหวการจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังที่มีการเลื่อนประชุมร่วมระหว่าง ส.ส.และคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ในเรื่องการพิจารณาการร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมายังไม่ลงตัว
พปชร.เดินหน้าต่อ
เมื่อเวลา 12.00 น. ที่ทำการพรรค พปชร. นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พร้อมด้วยนายสนธิรัตน์สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ร่วมแถลงถึงความชัดเจนการเจรจากับพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยนายอุตตมกล่าวว่า พรรค พปชร.กำลังพูดคุยหารือกับพรรคการเมืองอื่นที่มีอุดมการณ์ร่วมกันในการร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งการดำเนินการมีหลักการใหญ่คือการให้ความสำคัญกับนโยบาย จากนั้นจึงแบ่งจัดสรรงานให้บุคลากรของแต่ละพรรคการเมือง ต้องมีการเจรจาตกลงร่วมกัน เหมือนกับที่ไปเชิญพรรค ปชป.และพรรคภาคภูมิใจไทย (ภท.) มาร่วมรัฐบาล ซึ่งทั้งสองพรรคเห็นชอบในหลักการเบื้องต้นของเรา จากนั้นจะไปตกลงในรายละเอียดจัดสรรแบ่งกระทรวง หลังจากนี้ พปชร.จะเดินทางไปเชิญพรรคการเมืองอื่นอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ต่อไป จากนั้น พปชร.จะรับข้อเสนอต่างๆ ที่เจรจากับพรรคอื่นมาหารือภายในพรรค
"ยืนยันว่าพรรคยังเดินหน้ารวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลต่อไปโดยไม่หยุด โดยยึดประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นหลัก มากกว่าการต่อรองทางการเมืองหรือแบ่งเค้กกัน เชื่อว่าจะแล้วเสร็จตามกรอบที่กำหนด เพราะการเจรจาไม่ได้มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น" นายอุตตมกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ ปชป.ยังไม่ตอบรับเข้าร่วมรัฐบาล เป็นเพราะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ กลับคืน นายอุตตมกล่าวว่า การหารือกับ ปชป.เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นการพูดคุยในหลักการเบื้องต้นยังไม่ลงรายละเอียด ใครจะดูแลกระทรวงใดจนถึงเวลานี้ก็ยังเจรจากันอยู่ ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า พปชร.มีปัญหาขัดแย้งภายในพรรคไม่เป็นความจริง เราไม่มีปัญหา กระทรวงเกษตรฯ จะเป็นของพรรคใด รวมทั้งกระทรวงอื่นๆ ด้วย ต้องมาพูดคุยกัน
ส่วนที่ยังไม่สามารถสรุปได้เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์จะพิจารณารายชื่อรัฐมนตรีด้วยตัวเอง นายอุตตมกล่าวว่า การดำเนินการต่างๆ เป็นเรื่องของพรรค ตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนตำแหน่งในรัฐบาลใหม่พรรคจะเป็นผู้ดำเนิน วันนี้เป็นเรื่องของพรรคการเมืองพูดคุยกัน แต่เมื่อเลือกนายกฯแล้ว นายกฯ มีอำนาจทางกฎหมายที่จะพิจารณาจัดตั้งรัฐมนตรี เชื่อว่าประเด็นนี้จะไม่ทำให้พรรคร่วมไม่สบายใจ เพราะคนเป็นนายกฯ มีหน้าที่จัดตั้งรัฐบาล
ต่อข้อถามว่า เวลานี้ยังมีความจำเป็นที่จะให้เสียง ส.ว.มาช่วยโหวตเลือกนายกฯ อยู่หรือไม่ นายอุตตมกล่าวว่า อย่าเพิ่งคาดการณ์ เพราะเป็นเรื่องของพรรคเรากำลังพูดคุยกับพรรคร่วมเพื่อจัดตั้งรัฐบาล และจะทำให้ดีที่สุด ซึ่งจะใช้ระยะเวลาซักระยะ ส่วนกระแสข่าวว่า พปชร.จะต่อรองให้พรรคร่วมโหวตเลือกนายกฯ ก่อนถึงจะมาตกลงเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่มีเรื่องเช่นนั้น แต่ยืนยันว่าพรรคจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ แน่นอน
เมื่อถามว่าหาก ปชป.ไม่ตอบรับร่วมรัฐบาลจะทำอย่างไร หัวหน้าพรรค พปชร.กล่าวว่า อย่าเพิ่งคาดการณ์หรือแสดงเงื่อนไขมากเกินไป เพราะกระบวนการเจรจายังเดินอยู่ เชื่อว่าสุดท้ายจะมีข้อยุติ เรายังมั่นใจว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้เห็นได้จากการเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ ส่วนที่มีข้อสังเกตว่าหาก พปชร.ต้องเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย และจะรอให้โหวตนายกฯ ผ่านไปก่อนจะมีการยุบสภาในภายหลัง เรายังไม่บอกถึงขั้นนั้น แต่จะทำอย่างเต็มที่ เชื่อว่าทุกอย่างจะเดินหน้าไปด้วยดี เรื่องนี้อาจเป็นมุมมองผ่านการวิเคราะห์ของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรค แต่ไม่ได้หมายความว่า พปชร.จะทำ
ปัดตั้ง รบ.ข้างน้อย
ด้านนายสนธิรัตน์ กล่าวถึงเงื่อนไขของ ปชป.ที่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ปชป.ได้นำมาพูดคุยกับเรา พปชร.ก็รับข้อเสนอของพรรคร่วมว่ามีความคิดเห็นอย่างไร และไม่ต้องเป็นกังวลกับความเป็นเอกภาพของ พปชร. การที่พรรคมีบุคลากรหลากหลาย และมีสมาชิกค่อนข้างมาก ก็เป็นธรรมดาที่มีการพูดคุยกัน ขอให้สบายใจในความเป็นเอกภาพของพรรค การตัดสินใจทั้งหมดในทางการเมืองจะเป็นการตัดสินใจในระบบพรรค โดยมี กก.บห.และมีหัวหน้าพรรคในการนำเจรจากับพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล
"ในเรื่องของกระทรวงต่างๆ เป็นเพียงแนวทางการหารือ เป้าหมายของ พปชร.ในฐานะพรรคแกนนำเราต้องการพาประเทศไปข้างหน้า มากกว่าการดูว่ากระทรวงจะเป็นของใครก่อน ช่วงนี้เป็นช่วงที่กำลังรวบรวมนโยบายของพรรคร่วมทั้งหมดที่ได้หาเสียงไว้แล้วถึงจะดำเนินการไปสู่ขั้นตอนการหารือในส่วนของกระทรวง เราดำเนินการอยู่ในขั้นตอนของการพูดคุยเรื่องนโยบายของแต่ละพรรคเท่านั้นเอง และยังมีเวลาในการดำเนินการ" นายสนธิรัตน์กล่าว
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้า พปชร.ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กชี้ แจงถึงการให้สัมภาษณ์เมื่อค่ำวันอังคารที่ผ่านมา มีใจความหลักดังนี้ 1.เราผ่านขั้นตอนการเลือกประธานสภามาเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเลือกนายกฯ 2.พปชร.ไปเชิญและเราให้เกียรติทุกพรรคการเมืองที่เราไปเชิญมาร่วมบริหารรัฐบาล ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงการปรึกษาหารือกัน เพราะแต่ละพรรคก็มีความประสงค์จะผลักดันนโยบายที่เคยให้ไว้ต่อประชาชน 3.ผมมั่นใจว่าน่าจะมีการปรึกษาหารือและแนวทางทำงานร่วมกันได้ก่อนการเลือกนายกฯ 4.โดยที่คุณสันติสุขได้ถามช่วงท้ายรายการถึงสถานการณ์ที่เลวร้าย หากหาแนวทางทำงานกันไม่ลงตัว แม้ได้นายกฯ แล้ว และนายกฯ ตัดสินใจยุบสภา เป็นไปได้ไหมครับ ผมตอบว่า “ผมไม่อยากให้สถานการณ์ไปถึงจุดตรงนั้น เพราะประชาชนได้มาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ไม่อยากให้การเดินไปข้างหน้าสะดุด แต่หากเป็นความจำเป็นก็เป็นดุลยพินิจของท่านนายกรัฐมนตรี”
นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษก พปชร. เปิดเผยว่า วันที่ 30 พ.ค. เวลา 10.00 น. พปชร.นำโดยนายอุตตม นายสนธิรัตน์ และแกนนำพรรค จะเดินทางไปส่งเทียบเชิญพรรคชาติไทยพัฒนาเข้าร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการ
ส่วนที่ทำการพรรค ปชป. บรรยากาศยังเงียบเหงา มีเพียงแกนนำบางส่วนเดินทางเข้าพรรคตามปกติ เช่น นายชวน หลีกภัย ว่าที่ประธานสภาฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค, นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์, นายสาธิต ปิตุเตชะ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เดินทางเข้าพรรคเป็นประจำอยู่แล้ว ส่วน ส.ส.และ กก.บห.คนอื่นๆ ไม่ได้เดินทางเข้ามาที่ทำการพรรค เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการประชุมร่วมระหว่าง กก.บห.และ ส.ส. เมื่อไหร่
รับเงื่อนไขก่อนเจรจา
โดยนายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้า ปชป.กล่าวว่า ปชป.ได้เสนอแนวทางในการทำงานร่วมกันคือแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ต้องนำนโยบายแก้จน สร้างคน สร้างชาติ รวมถึงการประกันรายได้พืชผลทางการเกษตร ต้องเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายรัฐบาล หากพรรคแกนนำรับเงื่อนไขนี้ได้ค่อยมาคุยกันในรายละเอียดในเรื่องการจัดสรรตำแหน่ง ดังนั้นคนที่เป็นแกนหลักต้องพิจารณาจะทำอย่างไรให้ได้สมบูรณ์ทั้งหมด ไม่ใช่ได้แค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ฉะนั้นคนที่เป็นแกนหลักต้องมีความอดทน ประสาน เจรจาโดยต้องรู้ว่าจุดไหนที่จะทำให้เดินหน้าต่อไปได้ ที่สำคัญคือต้องให้เกียรติกันและกัน และพูดจากันด้วยเหตุผล
ส่วนกรณีที่นายอุตตมแถลงว่าจะให้มีการเลือกนายกฯ ก่อนค่อยจัดสรรตำแหน่งทีหลังนั้น นายนิพนธ์ กล่าวว่า เป็นดุลยพินิจของ พปชร.ที่จะตัดสินใจ หากต้องการเดินแบบนี้ก็เป็นสิทธิ เพราะมีเสียง ส.ว. 250 เสียงสนับสนุนอยู่แล้ว ส่วน ปชป.จะตัดสินใจอย่างไรต้องหารือกันในที่ประชุมร่วมระหว่าง กก.บห.และ ส.ส.ขณะนี้ยังไม่กำหนดว่าจะประชุมเมื่อไหร่ ที่ผ่านมาการจัดตั้งรัฐบาลจะดีลทุกอย่างให้จบก่อนแล้วค่อยเลือกนายกฯ ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจเป็นไปพร้อมกันทีเดียว คิดว่าเจ้าของบ้านต้องมีความอดทนในการเชิญแขก แต่ทั้งหมดก็เป็นเรื่องภายในที่ พปชร.ต้องไปจัดการ ตนยังคิดว่าขณะนี้ยังเจรจากันต่อได้
เมื่อถามว่า หากไม่ได้ตำแหน่ง รมว.เกษตรฯ แล้วจะสามารถผลักดันนโยบายของ ปชป.ได้หรือไม่ นายนิพนธ์กล่าวว่า ต้องพิจารณาถึงกลไกในการแก้ปัญหาว่าเมื่อเรากำหนดเรื่องการแก้ปัญหาพืชผลการเกษตร ต้องใช้เครื่องมือบริหารอย่างไร ซึ่งต้องพูดคุยกันสิ่งที่ควรชัดเจนก่อนคือใน พปชร. ใครคือบุคคลที่มีอำนาจในการเจรจา เรื่องนี้จะต้องนิ่ง และเป็นเอกภาพก่อน เพราะขณะนี้พรรคการเมืองที่จะไปร่วมก็ไม่ทราบว่าพูดจากับใคร
ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้า ปชป. กล่าวถึงกรณีที่ พปชร.ยืนยันว่ายังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อ ว่ายอมรับว่าเสียงในที่ประชุมร่วมของ ส.ส.กับ กก.บห.มีความหลากหลาย จึงต้องหารือกันอีกครั้ง แต่การมองว่าควรจะสนับสนุนใครเป็นนายกฯนั้น ขณะนี้ยังมีเวลาในการถกเถียงและหารือกัน จนกว่าจะมีการโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงต้นเดือน มิ.ย.นี้
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ปชป. กล่าวว่า สาเหตุที่ยังไม่จบ เพราะเกิดจากปัญหาภายใน พปชร.ที่มีหลายก๊วนหลายก๊ก และมีการต่อรองตำแหน่งกัน แล้วก็มากระทบกับ ปชป. เมื่อ 28 พ.ค. พรรคได้นัดหมายที่จะประชุม กก.บห. และ ส.ส.ทางเลขาธิการพรรคเป็นผู้ไปเจรจา แต่เมื่อถึงเวลาเลขาฯ ไม่ได้เข้ามาประชุม ทางพรรคก็เลยไม่มีข้อมูลการเจรจาว่าเป็นอย่างไร จึงต้องเลื่อนออกไปโดยปริยายแบบไม่มีกำหนด แต่กลายเป็นวันเราถูกสังคมต่อว่าเล่นตัว ต่อรอง กลายเป็นจำเลยของสังคมทั้งที่ต้นเหตุเกิดจาก พปชร.
“จุดหลักตอนนี้คือพรรค พปชร. ซึ่งเป็นพรรคแกนนำจะต้องมีความชัดเจน และต้องนิ่งก่อนว่าจะเอาอย่างไร จากนั้นค่อยมาคุยกับพรรคร่วมเพื่อให้เขานำข้อมูลไปพิจารณา ไม่ใช่ว่าพรรคแกนนำไม่นิ่ง ยังฝุ่นตลบอยู่เลย แล้วจะให้พรรคร่วมพิจารณาได้อย่างไร”นายเทพไทกล่าว
ไม่ร่วมรบ.เสียงข้างน้อย
เมื่อถามว่า ถ้านายกฯ ขอเซ็นเซอร์รายชื่อรัฐมนตรีของพรรคร่วมจะทำอย่างไร นายเทพไทกล่าวว่า ทางปฏิบัตินั้น เขาก็ต้องหารือร่วมกันอยู่แล้ว แต่ไม่ควรแสดงท่าทีที่ชัดเจนในทางสาธารณะแบบนี้ เพราะถือว่าไม่เหมาะสม เวลาเขาจะจัดใครร่วมรัฐบาลนั้น ก็ต้องพิจารณากันแล้ว ทั้งองค์ประกอบ ข้อจำกัด และคัดเลือกคนที่ดีที่สุด เป็นที่ยอมรับของคนในพรรคมากที่สุดอยู่แล้ว ไม่มีใครรู้ดีว่าใครเหมาะสมกับตำแหน่งไหนเท่ากับคนในพรรค การที่นายกฯ พูดแบบนี้ เหมือนไม่ให้เกียรติกับพรรคร่วมรัฐบาล และไม่ให้เกียรติกับคนที่ไปเป็นรัฐมนตรี
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท.กล่าวในรายการเจาะลึกข่าวร้อนช่อง TNN 16 ว่า เงื่อนไขที่ตนตั้งไว้คือจะไม่ยอมให้ ส.ว. 250 คนซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนมากำหนดว่าใครจะเป็นนายกฯ ของประเทศไทย ซึ่งถึงวันนี้ตนก็ยังไม่ได้ทำผิดสัญญา หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่มาร่วมพรรคภูมิใจไทยก็ร่วมไม่ได้ เพราะก่อนจะไปโหวตนายกฯ ก็ต้องแถลงกันก่อน อันนี้ก็เป็นหนึ่งในเงื่อนไขก่อนจะไปโหวตนายกฯ พรรคแกนนำจะต้องนำพรรคที่จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลมาแถลงร่วมกันก่อนว่าเราได้พูดคุยกันเรียบร้อยแล้ว มีเสียงจำนวนสมาชิกเพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว และจะต้องเป็นเสียงข้างมากซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ ถ้าอย่างนั้นผมไป แต่ผมก็หวังว่าท่านณัฏฐพลไม่ได้ให้สัมภาษณ์จริงนะ ที่บอกว่าพร้อมจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะถ้าไม่รวมประชาธิปัตย์แล้วก็ยังมีเสียง ส.ว.อยู่ อันนั้นต้องลบผมออกไปด้วย
นายอนุทินกล่าวย้ำว่า หากตนไปร่วมรัฐบาลเสียงข้างน้อย ก็จะถือว่าตนทำผิดคำพูด ตอนนี้ไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ ปีกพรรคพลังประชารัฐจะมี 188 เสียง รวมพรรคตนด้วย ไปรวมกับ ส.ว. 250 เสียง แม้จะสามารถเป็นรัฐบาลได้ แต่ก็ถือว่าผิด และหากไม่มีพรรคตน พรรคพลังประชารัฐก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
“ต่ำกว่า 250 ไปไม่ได้ผิดหลักการ เรามีรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพไม่ได้ ประเทศไทยไม่เคยมีรัฐบาลเสียงข้างน้อยแม้แต่ครั้งเดียว รัฐบาลต้องเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ฯ นายกฯ คนไหนจะกล้าพาคณะรัฐมนตรีที่มีเสียงข้างน้อยเข้าไปถวายสัตย์ฯ และสุดท้ายก็ต้องจบด้วยการยุบสภา มันจะมีปัญหาอื่นๆ มากมายเต็มไปหมด” นายอนุทินกล่าว
นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พปชร.ระบุว่าวันที่ 30 พ.ค. เวลา 10.00 น. แกนนำ พปชร.จะเดินทางไปส่งเทียบเชิญ ชทพ.เข้าร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการนั้น ได้มีการประสานมาที่นายวราวุธ ศิลปอาชา ส.ส. บัญชีรายชื่อ ในฐานะแกนนำพรรค ชทพ. และที่พรรคว่าจะมาหารือเรื่องการเชิญไปร่วมรัฐบาล ซึ่งทาง ชทพ.ก็ยินดีที่จะพูดคุยด้วย โดยเฉพาะในเรื่องนโยบาย ทาง ชทพ.ก็เตรียมหารือด้วย เวลา 10.00 น. โดยนางสาวกัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค, นายประภัตร โพธสุธน เลขาธิการพรรค, นายวราวุธ ประธานนโยบายและยุทธศาสตร์พรรค, นายธีระ วงศ์สมุทร ประธานคณะกรรมการดำเนินกิจกรรมของพรรค และตน จะเข้าร่วมหารือ แล้วผลการหารือจะเป็นประการใดจะได้แถลงข่าวให้ทราบ
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า พรรคที่เป็นแกนนำจะต้องมีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และเด็ดขาดมากกว่านี้ และใช้จุดแข็งของตัวเองให้เป็นประโยชน์ในการต่อรอง ส.ว.มีอิสระในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี บนพื้นฐานของประโยชน์สูงสุดของชาติและประชาชน ซึ่งในการโหวตเลือกนายกฯ นี้ ส.ว.ก็ต้องตัดสินใจคิดกันเองให้ดี เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดของชาติบ้านเมืองดังกล่าว
เข็น"พ่อฟ้า"ชิงนายกฯ
นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย(พท.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า ถึงวันนี้เชื่อว่าทุกฝ่ายคงได้ประจักษ์ถึงความบิดเบี้ยวที่พิสดารของรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นผลงานของ คสช. และพวกที่ออกแบบมาเพื่อหวังการสืบทอดอำนาจ วันนี้มีข่าวว่าหากการร่วมจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จถึงขั้นมีการกล่าวอ้างอาจจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยแล้วจะยุบสภา สะท้อนให้เห็นว่ การต่อรองทางการเมืองนับวันจะเป็นปัญหาที่ไม่มีวันจบสิ้นลงง่ายๆ ทำให้ปัญหาของประเทศและประชาชนที่เดือดร้อนที่กำลังต้องการการแก้ไข กลับต้องสะดุดเพราะความพยายามของพลังประชารัฐที่จะให้อดีตนายกฯ ทำหน้าที่ต่อ อยากเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคที่เคยได้รับผลกระทบจากกติกาของผู้มีอำนาจมาร่วมผนึกกำลังกันเพื่อต่อรองผลประโยชน์ให้กับประชาชนถึงวันนี้ก็ยังไม่สาย จนถึงวันนี้ หากพรรคใดจะเปลี่ยนใจก็ยังไม่สายเกินไป
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พท. กล่าวว่า การที่นายณัฏฐพลออกมาขู่ว่าจะยุบสภาเพื่อให้เลือกตั้งใหม่แล้วจะตอบประชาชนในเรื่องงบประมาณ 6 พันล้านบาทที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมอย่างไร หรือจะตอบว่าเพราะพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นนายกฯ จึงต้องยุบสภาใช่หรือไม่ การจะยุบสภาต้องมีเหตุผล กล้าพูดเลยว่าในการทางการเมืองไม่มีใครกลัวใครหรอก
นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยังไม่มีข้อสรุปเรื่องการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ขณะนี้แกนนำของพรรคอยู่ระหว่างหารือกับ 7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตย โดยจะนำสถานการณ์ทางการเมืองซึ่งเปลี่ยนแปลงทุกวันมาประกอบการพิจารณาอย่างรอบด้าน เมื่อได้หารือทั้ง 7 พรรคแล้วได้ข้อสรุปว่าจะเสนอชื่อใครจะได้แถลงให้ทราบต่อไป
มีรายงานว่า ในการประชุม 7 พรรคการเมือง ที่ประชุมไปเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่มีตัวแทนระดับแกนนำทุกพรรคไปร่วมหารือ ได้พูดคุยถึงการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของฝ่ายประชาธิปไตยที่มี 7 พรรคการเมืองได้ร่วมลงสัตยาบันไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้เสนอว่าทั้ง 7 พรรคควรเสนอชื่อคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยต่อที่ประชุมรัฐสภา แต่คุณหญิงสุดารัตน์ปฏิเสธ พร้อมกับเสนอว่าควรเป็นนายธนาธร ตามที่นายธนาธรได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ ซึ่งนายธนาธรไม่ได้ปฏิเสธ ในเบื้องต้นที่ประชุมได้เห็นพ้องกันว่าควรเสนอชื่อนายธนาธร แต่มีการตั้งข้อสังเกตในข้อกฎหมายว่าการที่นายธนาธรถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส. จะกระทบกับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯหรือไม่ จึงได้มอบให้ 2 พรรคใหญ่คือเพื่อไทยและอนาคตใหม่ร่วมกันหารือในเรื่องนี้ ได้ข้อสรุปเช่นใดให้แจ้งกลับมายัง 7 พรรค
ที่สำนักงาน กกต. น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร หรือตั๊น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เข้ารับหนังสือรับรองจาก กกต.เพื่อนำไปรายงานตัวต่อสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดย น.ส.จิตภัสร์กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ได้มอบคะแนนให้กับทางพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้
เช่นเดียวกัน น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี หรือมาดามเดียร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ได้เดินทางมารับหนังสือรับรอง ส.ส. เพื่อไปรายงานตัวที่สภา พร้อมกล่าวว่า รู้สึกดีใจ และตั้งใจว่าในการเข้ามาทำหน้าที่ ส.ส.ครั้งแรก ในฐานะตัวแทนของพี่น้องประชาชน จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
ขณะที่ น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เขต 8 พรรคอนาคตใหม่ เดินทางเข้ารับหนังสือรับรองจาก กกต. เพื่อนำไปรายงานตัวต่อสำนักเลขาธิการสภาฯ เช่นกัน
จากนั้น น.ส.จิตภัสร์และ น.ส.ศรีนวล เข้ารายงานตัวที่อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ถ.เกียกกาย ในส่วนของน.ส.วทันยา ยังไม่ได้เดินทางมารายงานตัว ทำให้ขณะนี้มี ส.ส.เข้ารายงานตัวแล้ว 499 คน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |