แม้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการนัดประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันใด เพราะอยู่ในขั้นตอนที่ต้องรอให้ชวน หลีกภัย เข้าปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งเสียก่อน จากนั้นเมื่อนายชวนดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาอย่างเป็นทางการแล้ว ก็จะได้นัดหารือกับ พรเพชร วิชิตชลชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา-รองประธานรัฐสภา เพื่อสอบถามความพร้อมของฝ่าย ส.ว.ในการนัดประชุมรัฐสภานัดแรกเพื่อเลือกนายกฯ ซึ่งตามขั้นตอนการนัดประชุมจะต้องแจ้งให้สมาชิกรัฐสภาทั้งหมดทราบก่อนล่วงหน้าภายในไม่น้อยกว่า 3 วัน หลายคนจึงรอลุ้นกันว่าจะมีการนัดประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกฯ ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นี้แบบตอนที่เลือกประธาน-รองประธานสภาฯ หรือไม่ หรือจะเป็นกลางๆ สัปดาห์หน้าไปเลย
ทว่าที่ชัดเจนแล้วระดับหนึ่งก็คือ สถานที่ซึ่งจะใช้ประชุมสมาชิกรัฐสภาทั้ง 750 คน จะใช้สถานที่เดิมคือ ห้องประชุมใหญ่สำนักงานทีโอที ถนนแจ้งวัฒนะ หลังผู้รับผิดชอบเห็นว่าสถานที่อื่นๆ ที่มีการมองกันไว้เช่นหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เทียบความพร้อมแล้ว ของทีโอทีเหนือกว่า เพราะเพียงแค่ติดเก้าอี้เสริมให้นั่งให้เพียงพอกับจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดทุกอย่างก็จบ เพราะตอนนี้ ทั้ง ส.ส.-ส.ว.ก็คุ้นเคยกับหอประชุมใหญ่ทีโอทีกันแล้ว
ก็ติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วที่ประชุมรัฐสภาจะโหวตเลือกนายกฯ กันวันไหน โดยตามสถานการณ์ถึงตอนนี้ ยังยากที่ผลโหวตจะพลิกล็อก นายกฯ ไม่ใช่ บิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการคัมแบ็กตึกไทยคู่ฟ้ารอบสอง ?
แม้เวลานี้การเดินหน้า จัดตั้งรัฐบาลพลังประชารัฐ ยังฝุ่นตลบ เต็มไปด้วยการต่อรอง-ดึงเช็ง–ชิงจังหวะความได้เปรียบทางการเมืองกันอยู่ระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ที่พลังประชารัฐ แห่ขันหมากไปชวนให้มาตั้งรัฐบาลทั้งประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย ขณะเดียวกันก็จะยกขันหมากไปสู่ขอ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในวันพฤหัสบดีที่ 30 พ.ค. นี้ เพื่อชวนให้มาร่วมตั้งรัฐบาลกับพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการ ทั้งที่ความจริงระดับแกนนำพลังประชารัฐกับชาติไทยพัฒนา ต่อสายคุยกันมาหลายรอบแล้ว ถึงขั้นเคยคุยกันว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พปชร.พร้อมให้ ชทพ.รับผิดชอบ ซึ่งทางพรรค ชทพ.ก็จะดันวราวุธ ศิลปอาชา ไปนั่งเป็น รมว.ทรัพยากรฯ แต่ล่าสุด เกิดปัญหาขึ้น เมื่อสันติ พร้อมพัฒน์ แกนนำพลังประชารัฐ กลุ่มเพชรบูรณ์ ที่สร้างผลงาน กวาด ส.ส.เพชรบูรณ์ยกจังหวัด ก็ต้องการเป็น รมว.ทรัพยากรฯ เช่นกัน จนทำให้ ชาติไทยพัฒนาส่งเสียงตึงตังออกมาว่า พร้อมจะเป็นฝ่ายค้าน จนเป็นที่มาของขบวนขันหมาก พลังประชารัฐที่ต้องรีบไปสู่ขอพรรค ชทพ. เพื่อที่แกนนำ พปชร.-ชทพ. จะได้ปิดห้องเคลียร์กันให้รู้เรื่อง
อันพบว่า ท่วงทำนอง ปฏิกิริยาไม่พอใจ คีย์แมนพลังประชารัฐของพรรคการเมืองพันธมิตรอื่นๆ จับสัญญาณได้ว่า เริ่มมีอาการ เลียนแบบ จากพวกพรรคขนาดเล็ก 11พรรคทั้งหลายที่เริ่มส่งเสียงงอแง เรียกร้องความสนใจจากคีย์แมนพลังประชารัฐ ให้เห็นหัวกันบ้าง เมื่อเป็นแบบนี้ ก็อยู่ที่การ management ของคีย์แมนพลังประชารัฐแล้วว่า จะบริหารจัดการกันอย่างไร เพราะนี้แค่เริ่มจัดตั้งรัฐบาล หากเคลียร์กันไม่ได้ โชว์ฝีมือการเป็นทีมผู้จัดการรัฐบาลไม่ราบรื่น มันก็ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการเกิดขึ้นของรัฐบาล บิ๊กตู่ 2/1 แน่นอน
ถ้ายังติดๆ ขัดๆ กันแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่แน่ คนที่อยู่หลังฉากตัวจริงในการตั้งรัฐบาลที่นั่งอยู่ในทำเนียบรัฐบาล อาจถึงเวลาต้องโผล่ออกมาหน้าฉากเต็มตัว หลังปล่อยให้ทีมเจรจา ทั้งอุตตม สาวนายน-สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์–ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ที่ยังขาดความเชี่ยวกรากทางการเมือง บารมีการเมืองยังเป็นรองพวกคีย์แมนพรรค ปชป.-ภูมิใจไทย ทำให้พอไปเจรจา ภาพที่ออกมา พลังประชารัฐถูกขี่คอ-ขบเหลี่ยม-ตกเป็นรอง อยู่ตลอด ต้องไปรับเงื่อนไขที่พลังประชารัฐไม่เคยประกาศตอนหาเสียง เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
สิ่งที่เกิดขึ้น ฝ่ายแกนนำรัฐบาล-คีย์แมน พปชร.ก็รู้ดี เลยเริ่มจะพบว่า ระยะหลังคีย์แมน พปชร.พยายามเปลี่ยนแท็กติกแก้เกมใหม่ ไม่เร่งจังหวะเหมือนเคย เพราะมั่นใจว่า ยังไงเสียงโหวตเลือกนายกฯ ในฝั่ง ส.ว.250 เสียง แท็กทีมยกให้บิ๊กตู่ครบหมด ไม่มีแตกแถว ดังนั้น ขาดอีกแค่ 126 เสียง บิ๊กตู่ก็เป็นนายกฯ แล้ว ซึ่งพอบิ๊กตู่เป็นนายกฯ เต็มตัว ถึงตอนนั้น พปชร.จะกลับมาได้เปรียบในการเจรจาต่อรองมากขึ้น เพราะยังไงบิ๊กตู่ คนของ พปชร.ก็เป็นนายกฯ แล้ว ก็ไม่ต้องรีบร้อนอะไร ไม่ต้องไปเร่งปิดดีลกับ ปชป.-ภท. จนทำให้ พปชร.ถูกขี่คอมากเกินความจำเป็น
โดยท่าทีของฝ่าย พปชร.ในการตั้งรัฐบาล มีให้เห็นอย่างเป็นทางการ ระหว่างการเปิดแถลงข่าวของแกนนำพรรค เมื่อ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา
ที่เนื้อหาหลักๆ แกนนำ พปชร.ยืนกรานว่า ใน พปชร.ไร้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี และมั่นใจว่าจะรวมเสียงตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แต่ขอเวลาดำเนินการก่อน
อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค บอกไว้ว่า จนถึงเวลานี้ก็ยังเจรจากันอยู่ ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าพรรค พปชร.มีปัญหาขัดแย้งภายในพรรค ไม่เป็นความจริง พรรคไม่มีปัญหา เพราะในพรรคมีบุคลากรที่มีความสามารถอยู่พอสมควร ต้องพิจารณานโยบายของพรรคว่าจะเหมาะกับหน่วยงานใด และย้ำว่าการต่อรองเป็นเรื่องปกติของการเมือง หากยึดประโยชน์บ้านเมืองเป็นหลักจะไม่เกี่ยวกับการได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ยืนยันว่าภายในพรรค พปชร.ยังมีความเป็นเอกภาพ มีการหารือร่วมกันอยู่ตลอด
“วันนี้เป็นเรื่องของพรรคการเมืองพูดคุยกัน แต่เมื่อเลือกนายกฯ แล้ว นายกฯ มีอำนาจทางกฎหมาย ที่จะพิจารณาจัดตั้งรัฐมนตรี เชื่อว่าประเด็นนี้จะไม่ทำให้พรรคร่วมไม่สบายใจ เพราะคนเป็นนายกฯ มีหน้าที่จัดตั้งรัฐบาล มั่นใจว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้เห็นได้จากการเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ"
การเจรจาต่อรองตั้งรัฐบาลของซีก พปชร. ดูแล้วคงไม่จบง่าย เพราะต่อให้ดีลกับพรรคอื่นๆ จบ แต่เชื่อได้ว่า ถึงเวลานำโควตา รมต.มาจัดสรรภายในพรรค พปชร.กันเอง กลุ่มก๊วนการเมืองต่างๆ ใน พปชร. ที่มีมากกว่า 10 กลุ่มและหลายคนจองเก้าอี้ รมต.กันไว้แล้ว หากสุดท้ายต้องผิดหวัง ไม่ได้อย่างที่คิด คงไม่ยอมกันง่ายๆ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |