ย้อนรำลึกวันกำเนิด”เสธ.นุ้ย”
เป็นทหารใกล้ชิดที่อยู่กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ จนเกือบจะนาทีสุดท้ายก่อนเสียชีวิต สำหรับ "เสธ.ณุ" พล.อ.พิศณุ พุทธวงศ์ นายทหารคนสนิทฯ ที่นอนในบ้านพักรับรองสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งเป็นที่ทำการสำนักงานฯ ด้วย โดยช่วงเช้ามืดวันที่ 26 พ.ค.เด็กที่นอนเฝ้าในห้อง มาเรียกให้ไปดูป๋าที่ไม่รู้สึกตัว ก่อนจะแจ้งทางโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ ส่งรถโรงพยาบาลมารับไป
“เย็นวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ท่านเรียกผมไปนั่งคุยด้วยถามไถ่ถึงเรื่องราวต่างๆ สั่งโน่น สั่งนี่ ก็รายงานหมดว่าเป็นอย่างไร นั่งคุยกันตั้งแต่ 16.30 น.ถึง 17.15 นาที ผมก็ถามว่าป๋าจะเดินออกกำลังกายไหม เราก็มองรอดมาทางหน้าต่าง ซึ่งผมนั่งคุยกับท่านหน้าห้องทำงาน ที่อยู่ถัดจากห้องนอนชั้น 2 ก็เห็นว่าฟ้าครึ้มๆ ก็เลยขอลงไปดูด้านอกว่าอากาศเป็นอย่างไร พอลงมาดูก็ปรากฏว่ามีฝนปรอยๆ ท่านก็ไม่ได้เดินก็เดินรอบห้อง ก็ให้เด็กวัดออกซิเย่น กับ วัดปรอทว่ามีไข้หรือไม่ ก็อยู่ 36-37 องศา ความดันโลหิตก็ปกติ“
พล.อ.พิศณุ กล่าวว่า พล.อ.เปรม ไม่ได้ดูประชุมสภาฯ จนเครียดเหมือนที่มีการไปลือกัน แม้ระหว่างที่คุยกันนั้นจะเป็นช่วงเลือกประธานสภาฯพอดี แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้เปิดโทรทัศน์ ตนก็เปิดดูจากไอแพด เพราะเกรงว่าเสียงจะรบกวนเวลาคุยกัน ก็เลยดูบ้าง ไม่ได้ดูบ้าง ก็เห็นว่ายังไม่จบ ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าใครได้ มีแคนดิเดทใครบ้างผมก็เล่าให้ท่านฟังว่า มีนายกฯ ชวน และก็ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ซึ่งป๋าเปรมท่านก็รู้จัก นายกฯ ชวนดี เมื่อช่วงปลายปี ท่านนายกฯชวนก็มานั่งคุยกับป๋า เพราะทำงานด้วยกันมาคุ้นเคยกัน
“เสธ.นุ้ย”ผู้อยู่ข้างกาย”รัฐบุรุษ”
ตอนรับราชการอยู่ที่กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 พัน 3 รอ.) ช่วงปีพ.ศ. 2528 หรือ พ.ศ.2529 เกิดกรณีที่ท่านถูกชกที่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตอนนั้นกำลังไปเรียนชั้นนายร้อยทหารราบพอดี หลังจากนั้นเพื่อนป๋า คือ นายโรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ส่งทีมเซ็คเคียวริตี้ ประจำตัวมาฝึกให้ทาง ร.21 รอ.และก็มีพลร่ม ที่มาฝึกด้วยกัน ท่านก็เลือกไว้ 3 คน ทั้งหมดก็เป็นเพื่อนผมทั้งหมด คือ พล.อ.กนิษฐ์ ชาญปรีชญา พล.ต.ชนินท์ เจริญรัตน์ และ ตน ก็เป็นนายทหารรักษาความปลอดภัย ซึ่งตนเองก็เคยถวายงานและ ถวายอารักขา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ ก็จะคุ้นเคยกับข้าราชการ ข้าราชบริพาร ป๋าติดต่อกับทางสำนักราชการ ก็ผ่านทางผม จึงคุ้นเคยกันก่อน
“ผมเป็นคนตัวเล็กที่สุดในบรรดาที่มาอยู่ ท่านก็เห็นผมตัวเล็ก ....... (หยุดพูดไปพักใหญ่ พูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ และน้ำตาคลอ) จะเรียกผมว่า นุ้ย ชื่อเล่นทั่วไปของเพื่อนที่เรียกกัน แม้กระทั่งพี่น้อง ก็เรียก "ณุ" แต่ป๋าบอกว่าจะเรียกผมว่า "นุ้ย" ท่านก็อธิบายให้ผมฟังว่า นุ้ยเป็นภาษาใต้ แปลว่าคนตัวเล็กๆ ตอนเด็กแม่ป๋าก็เรียกป๋าว่านุ้ย..
......ทั้งหมดทั้งสิ้น มีป๋าคนเดียวที่เรียกผมว่า นุ้ย ก็เรียกตั้งแต่นั้นมา เด็กเก่าๆ ก็จะเรียกผมว่าเสธ.ณุ แต่เด็กมาใหม่ไม่รู้ ก็จะเรียกตามป๋าว่า เสธ.นุ้ย “
“มีเรื่องตลกเรื่องหนึ่ง ตอนเวลาเดินทางไปราชการต่างประเทศ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นเลขานายกรัฐมนตรี ก็จะมีลิสต์รายชื่อผู้ร่วมคณะไปในส่วนทหารรักษาความปลอดภัยมีใครบ้าง ก็มีชื่อ พล.ต.สุรยุทธ์ จุลานนท์ พ.อ.อู้ด เบื้องบน แต่ผมนี่ท่านเขียนว่าร้อยเอกนุ้ย ก็มาถามว่ามีใครรู้จักไหม ปรากฎว่าไม่มีใครรู้จักเลย น.ต.ประสงค์ ก็มาบ่นกับผมว่า ร้อยเอกนุ้ยเป็นใคร ผมก็ถามท่านว่าป๋าเขียนลิสต์รายชื่อผมเองใช่หรือเปล่า ถ้าใช่ก็คือ ผมนี่แหละ”
เสธ.ณุ เล่าว่า พอท่านไม่ได้เป็นนายกฯ ก็ต้องลดกำลังที่จะดูแล ให้เหลือ 1 ใน 3 ซึ่งท่านก็เลือกผมไว้ ณ วันนั้นก็ตั้งแต่ปี 2529 ป๋าเป็นนายกฯ ก็เป็นทั้งเป็น รปภ. ติดตามท่านด้วย พล.อ.ไพโรจน์ เป็น ทส. ส่วนการดูแลเรื่องส่วนตัว นัดแนะ ติดต่อคนโน่น เรื่องแต่งตัว ก็ให้ตนช่วยดู
เมื่อถามว่า มาอยู่ตรงนี้มีความจำเป็นต้องกลั่นกรองคนที่เข้าหาป๋าหรือไม่ พล.อ.พิศณุ กล่าวว่า “จำเป็น และจำเป็นมากด้วย มีคนอยากให้ท่านช่วยเยอะมาก ซึ่งผมใช้วิธีที่ง่ายมาก คือ ถามท่านเป็นหลัก และก็มีวิธีของเราไม่ให้เข้ามา ถ้าคนไหน คนเก่าคนแก่ เราไม่รู้ก็จะถามพล.อ.อู้ด เป็นหลัก เพราะพล.อ.อู้ดอยู่กับท่านมาตั้งแต่เป็นนักเรียนเตรียมทหาร ซึ่งท่านส่งเรียนหนังสือมา"
“ป๋าให้ทุนส่งคนเรียนหนังสือมากนะ เป็นหมื่นคน ตั้งแต่สมัยผู้กอง พอมาเป็นแม่ทัพภาค ก็มีแค้ดดี้มาดูแลท่านตอนตีกอล์ฟ ท่านก็ส่งเรียนหนังสือ แคดดี้คนนั้นก็ คือ พล.อ.วิชัย แชจอหอ รองปลัดกระทรวงกลาโหม ทุนที่เกิดจากมูลนิธิเปรม ติณสูลสนนท์ จ.นครราชสีมา ที่มีแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นประธานมีเยอะมาก อันนี้ทำตอนท่านเป็นนายกฯ ก็คิดว่าจะไปอยู่โคราช แต่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ได้เป็นองคมนตรี ก่อนเลยต้องอยู่ กรุงเทพ ฯ ...
..ตอนแรก ก็ไม่คิดว่าป๋าเลือกผม แต่มีอยู่วันหนึ่งมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งนำโทรศัพท์มือถือ โมโตโรล่า รุ่นแรกเอาให้ป๋าใช้ ท่านก็ให้ผมดูแลเก็บไว้เผื่อเอาไว้ใช้ที่โคราช ผมก็เลยรู้ว่าหนึ่งในสามคนที่อยู่กับท่านต่อต้องเป็นผม ท่านพูดน้อย ไม่บอก ให้คิดเอง “
“สี่เสาเทเวศร์”บ้านแห่งตำนาน
เมื่อสิ้น”ป๋าเปรม”แล้ว มีการคาดเดาไปต่างๆนาๆ ว่า “บ้านสี่เสาเทเวศร์” จะใช้ทำอะไรต่อไป บ้างก็ว่าอาจจะเป็นพิพิธภัณฑ์ หรือต้องรื้อทิ้งเป็นที่รกร้างว่าเปล่า
พล.อ.พิษณุ กล่าวว่า ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่กองทัพบกขอเช่าเพื่อทำประโยชน์จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ระหว่างนี้ตนก็ทำหน้าที่จัดการงานศพแทนญาติให้ลุล่วงตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระบรมราชโองการลงมา ก็ทำหนังสือถึง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการบก ขอใช้เป็นศูนย์ประสานงานเพื่อดำเนินการให้จบงานไปก่อน พบจบพระราชทานเพลิงศพ ก็ต้องคืนทุกอย่างไป ซึ่งก็แล้วแต่กองทัพบกจะไปใช้ทำอะไร หรือ จะมีเงื่อนไขอื่นๆ ซึ่งก็แล้วแต่กองทัพบก ตอนนี้
“บ้านหลังนี้ก็ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ เป็นบ้านของ พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ อดีต รมว.กลาโหม ช่วงหนึ่งก็เคยใช้เป็นที่ทำการสำนักงานของกรมสวัสดิการทหารบก"
เขาบอกว่าตั้งใจเก็บบันทึกภาพภายในบ้านไว้ทั้งหมด ทุกมุม ในแต่ละห้อง เพื่อจัดทำเป็นภาพประกอบเล่าเรื่อง เช่นห้องรับรองแขกด้านล่าง ก็จะมีทั้งภาพห้องเปล่า และก็ภาพช่วงที่ท่านรับบุคคลสำคัญ เช่น ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พล.อ.หมิ่น อ่องไล่ย์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมาร์ ซึ่งมีความใกล้ชิดเป็นบุตรบุญธรรม
“ห้องทำงานท่านอยู่ข้างบน ถัดไปจะเป็นห้องนอน ระหว่างห้องก็จะมีที่ว่าง ตั้งโต๊ะกินข้าวเล็กๆ เพราะท่านทานอาหารคนเดียว ท่านชินมากกว่า เพราะใช้ชีวิตอย่างนี้มาตลอด ที่ผมห่วงคือพอสูงวัยจะซึมเศร้า แต่ป๋าเคยชินกับเรื่องพวกนี้ ถามป๋าว่าเครียดไหม ป๋าบอกว่า ไม่เครียดหรอก ดูกีฬา ดูโน่น ดูนี่ไป ผมถึงบอกว่า ความเครียดไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องคิดหรือไปทำอะไรแล้วเครียด แต่อยู่เฉยๆก็เครียดได้ ดูกีฬา ดูโน่น ดูนี่ก็เครียดได้ ถ้าอยู่ในที่ที่จำกัด ก็เลยชวนให้เดินออกมาดูนกดูไม้ ผมให้ปลูกต้นไม้ ให้ผ่อนคลาย ต้นไม้มีแต่เจริญเติบโต เขียว แตกยอด ก็จะสร้างความชุ่มชื่นใจ ป๋าเองก็ชอบดอกไม้ทุกประเภท โดยเฉพาะที่มีกลิ่นหอม “ เสธ.ณุ ระบุ
พล.อ.พิศณุ กล่าวว่า ปกติจะมีทหารนายสิบ จ่า ที่คุ้นเคย เข้าถึงตัวได้เข้าถึงตัวท่านเคยดูแล เพราะถ้าคนที่ไม่คุ้นเคยจะทำอะไรไม่ถูก เพราะต้องดูแลท่านเยอะเป็นพิเศษ คือจะลุกไปไหนต้องเกาะแขน ตนบอกป๋าว่าอย่าไปเอง เพราะอันตราย หมอบอกว่าคนสูงวัยต้องพยายามให้เดิน ถ้าขี้เกียจเดินต่อไปก็จะเดินไม่ได้ ท่านก็ทำตามหมด เข้าห้องน้ำไม่ต้องล้อคประตู ถ้ามีอะไรก็เรียกเด็ก ท่านก็ทำตามหมด
“มีอยู่ครั้งหนึ่งช่วงเมษายน หยุดยาวที่ผ่านมา ท่านท่านอยากไปเที่ยวสังขละบุรี ท่านยังไม่เคยไปเจดีย์สามองค์ อยากไปชายแดนฯใกล้ๆ ก็แจ้ง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี ในฐานะที่เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 มาก่อน แต่มาบอกผมภายหลัง ผมมารู้แต่ก็ไม่เห็นด้วย แต่เมื่อท่านอยากไปก็ต้องไป สุดท้ายท่าน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รักษาการประธานองคมนตรี เตือนว่าการเดินทางลำบาก ไม่อยากให้ไป ผมก็บอกว่าเห็นด้วยกับพล.อ.สุรยุทธ์ เพราะเส้นทางลำบาก จากกรุงเทพฯไปตัวเมืองกาญจบุรี ระยะทาง 126 กิโลเมตร จากเมืองกาญจนบุรีไปสังขละบุรีระยะทางอีกว่า 200 กิโลเมตรและโค้งเยอะ ถ้าจะไปจริงๆ ก็ควรไปค้างคืรเมืองกาญจน์ก่อน แล้วไปต่อ หรือ ไปเฮริลคอปเตอร์ไป-กลับ ใช้เวลาไม่นาน ป๋าบอกว่าไม่อยากยุ่ง หรือรบกวนราชการ ก็ตัดตรงนั้นไป พอท่านคิดไป คิดมา ก็บอกไม่ไปละ ท่านก็บอกว่าถ้านุ้ยเห็นว่าอะไรควร หรือ ไม่สมควร ก็เตือนป๋าด้วย”
สมาชิก"คณะ11"ที่ไร้แกนหลัก
ในยุคก่อนการรวมตัวของนักการเมือง ทหาร นักธุรกิจ ในการพูดคุย รับประทานอาหาร เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พูดคุยสถานการณ์ต่างๆ ล้วนแล้วแต่ต้องมี ชื่อกลุ่มเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพ และเหมือนเป็นสัญญาการนัดหมายในการพบปะกัน
“คณะ11" กลายเป็นกลุ่มบุคคลที่รวบรวมบุคคลที่มีชื่อเสียง และ เป็นเพื่อนที่ใกล้ชิดกับพล.อ.เปรม หลากหลายวงการ จากสมาชิกเริ่มต้น 11 คนและมีเพิ่มบ้าง แต่ปัจจุบันเหลืออยู่แค่ 4-5 คน เช่น ท่านผู้หญิง ชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานี นายดิลก มหาดำรงค์กุล ผู้บริหารโรงแรมสวิสโฮเตล เลอ คองคอร์ด นพ.นพ พิณสายแก้ว นางกัลยาณี พรรณเชษฐ์ (ปัจจุบันเปลี่ยนไปใช้นามสกุลเดิม) พล.ร.อ.ประเจตน์ ศิริเดช อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ
“ป๋าก็จะออกไปทานข้าวข้างนอกบ้าง ส่วนใหญ่ก็ไปที่ โรงแรมสวิสโฮเตล ของ อาดิลก ส่วนท่านผู้หญิง ชนัตถ์ กับ นพ.นพ เดินไม่ค่อยไหวแล้ว ที่เหลือก็จะเป็นลูกน้องเก่า ถึงวันเกิดท่านก็กินข้าวด้วย พี่หมง (พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ) พี่โรจน์ (พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย )พี่อู้ด (พล.อ.อู้ด เบื้องบน” ) กฤษณ์ กาญจนกุญชร อธิบดีกรมราชเลขาธิการในพระองค์ ซึ่งท่านเคยมาดูแลเรื่องการต่างประเทศช่วงที่ป๋าเป็นนายกฯ วันเกิดป๋าที่จะถึงคิดกันว่า จะไม่จัดงานอะไร จะกินข้าวกันวงเล็กๆ แค่นี้ที่บ้านสี่เสาฯ”
“ป๋า”ไม่เคยเลือกข้างการเมือง
ช่วงม็อบเสื้อแดงชุมนุมไล่ พล.อ.เปรม ไม่ไกลจากหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ มีข่าวลือว่า”ป๋า”หนีออกจากบ้าน ถูกลูกป๋า – รปภ. ให้ออกไปอยู่ในที่ปลอดภัยนั้น พล.อ.พิศณุกล่าวว่า ป๋าอยู่บ้าน ปกติ อ่านหนังสือพิมพ์ ดูทีวี กีฬา ไม่ได้ยินอะไรมากนัก แม้จะได้ยินก็ฟังไม่รู้เรื่อง รอบบ้านก็มีตำรวจมา รปภ.เพิ่มเติมบ้างแต่ไม่ได้อะไรมากมาย เพราะเราก็รู้ว่าเขามาเชิงสัญลักษณ์
“ตอบไม่ได้ว่าป๋าเครียดไหม แต่ท่านเป็นห่วงบ้านเมืองตลอด เพราะคนไทยทะเลาะกัน ความจริงแล้วใครเป็นรัฐบาลป๋าก็สนับสนุนให้รัฐบาลไปได้ พรรคไหนฝ่ายไหนก็ให้ดูแลบ้านเมืองให้ดี”
เมื่อถามว่า ที่บอกว่าป๋าอยู่เบื้องหลังการปฏิวัติ พล.อ.พิศณุ กล่าวว่า ไม่จริงหรอก เข้าใจผิด แต่เคยมีช่วงที่ท่านไปปาฐกถาที่โรงเรียนนายร้อย จปร. พูดเรื่องสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เปรียบรัฐบาลเป็นแค่จ๊อกกี้ ซึ่งเป็นการไปพูดเพื่อสร้างความเข้าใจกับทหาร ถ้าถอดความทั้งหมด พอเข้าใจได้ อาจมีเตือนสติบ้าง ให้เด็กมีจิตสำนึก แต่เวลาคนถอดคำพูดมาแค่บางวรรค บางประโยค ก็เข้าใจต่างกัน ก็เป็นเรื่องการปลุกชนวนกันไปใหญ่
“ที่คนรอบข้างท่านไม่ออกมาชี้แจง เพราะมันไม่เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงท่านก็จะเฉยๆ สังเกตว่าผมและคนรอบข้างก็ไม่พูดอะไร เพราะเรารู้ว่าไม่เป็นความจริง เดี๋ยวความจริงก็เปิดเผยเอง ไม่ได้กังวลกับสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าใครจะโจมตีเรื่องอะไร เราก็เฉยๆ แต่ตอนหลังที่พวกคุณเริ่มรู้จักผม ก็จะเริ่มโทร.มาถามบ่อย ผมก็จะตอบบ่อย เช่นเรื่องข่าวลือป๋าเสียชีวิต น่าจะ 20 กว่าครั้งผมก็ตอบทุกครั้ง แต่ครั้งนี้ผมไม่เคยตอบใครเลย”
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |