ศาลสั่งทบ.จ่าย1.8ล้านซ้อมสท.ดับคาเรือนจำ


เพิ่มเพื่อน    

    ศาลแพ่งสั่งกองทัพบกชดใช้ 1.87 ล้าน เยียวยาแม่อดีตสิบโทกิตติกร ถูกซ้อมดับในเรือนจำทหาร จ.สุรินทร์ ปี 2559 ทนายเล็งอุทธรณ์เยียวยาเพิ่ม-วางบรรทัดฐานผู้บังคับบัญชาร่วมรับผิด แม่วอนกองทัพดูแลให้ดีกว่านี้ มีลูกแค่คนเดียว จะไม่เอาเงินเลยถ้าคืนชีวิตลูกได้
    เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ พ.1131/2560 ที่นางบุญเรือง สุธีรพันธุ์ อายุ 63 ปี มารดาของ ส.ท.กิตติกร สุธีรพันธุ์ บุตรชาย อายุ 25 ปี ซึ่งถูกทำร้ายเสียชีวิต เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกองทัพบกเป็นจำเลย เรื่องละเมิด ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เรียกค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพ รวมทั้งให้เยียวยาทางจิตใจ จำนวน 18,072,067 บาท กรณีที่ ส.ท.กิตติกร ถูกพลทหารอาสาที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้คุมพิเศษ และพลทหารซึ่งเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำทหารจังหวัดสุรินทร์ มณฑลทหารบก (มทบ.25) รุมทำร้ายเมื่อเดือน ก.พ.2559 ในเรือนจำทหาร จ.สุรินทร์ กระทั่งได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยกองทัพบก จำเลย ได้ต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะคดีขาดอายุความ และถือเป็นการกระทำโดยส่วนตัว ซึ่งผู้เสียชีวิตได้ถูกให้ออกจากราชการก่อนเกิดเหตุ
    ศาลแพ่งพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อช่วงเดือน ก.พ.2559 ส.ท.กิตติกร ซึ่งถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำทหาร ได้ถูกพลทหารอาสาสมัคร สห. ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้คุมพิเศษในเรือนจำกับพลทหาร ซึ่งเป็นนักโทษ และผู้ต้องหาที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำอีก 3 คน ทำร้ายจนเสียชีวิตในเวลาต่อมาเมื่อเช้าวันที่ 21 ก.พ.2559 ผลชันสูตรระบุเสียชีวิตจากการถูกทำร้าย โดยมีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะรุนแรงและกระเพาะอาหารแตก โดยโจทก์ในฐานะมารดาได้ยื่นฟ้องกองทัพบก จำเลย เรียกค่าเสียหาย 18,072,067 บาท
    ประเด็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะคดีขาดอายุความหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่า พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด มาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าหน่วยงานต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งการละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ โดยกรณีนี้ข้อเท็จจริงก็รับฟังได้ว่า พลอาสาสมัครชูเกียรติ นันทะพันธุ์ ตำแหน่งพลสารวัตรร้อย สห.มทบ.25 นั้น ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้คุมพิเศษที่มีหน้าที่ดูแลผู้ถูกคุมขังในเรือนจำ โดยขณะเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่สิบเวรดูแลเรือนจำ จึงถือเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลย ส่วนพลทหารซึ่งถูกคุมขังอีก 3 คนนั้น ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงและไม่ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ใด จึงมิใช่เจ้าหน้าที่ของจำเลย เพียงแต่พลอาสาชูเกียรติ์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมทำร้ายด้วยนั้น ได้สั่งให้พลทหารทั้ง 3 ทำร้ายผู้เสียชีวิต โดยไม่ว่าพลทหารอาสานั้นจะเป็นผู้สั่งหรือผู้กระทำ ก็ถือว่าได้กระทำละเมิดต่อผู้เสียชีวิตแล้ว ส่วนอายุความของการฟ้องคดีนั้น พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับอายุความการฟ้องคดีไว้ จึงให้ถือเอาอายุความ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 ซึ่งคดีนี้อายุความ 10 ปี เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 9 มี.ค.2560 คดีไม่ขาดอายุความ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
    ประเด็นต้องวินิจฉัยต่อมาคือ เมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายนั้นเท่าใด ศาลพิจารณาแล้ว
เห็นสมควรกำหนดค่าขาดไร้อุปการะที่จำเลยต้องชดใช้กับโจทก์เดือนละ 10,000 บาท เป็นเวลา 15 ปี รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 1.8 ล้านบาท และสุดท้ายที่โจทก์ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการละเมิดที่ขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เป็นเงินร่วม 10 ล้านบาทนั้น ศาลเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 25 บัญญัติว่าบุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือจากการกระทำผิดทางอาญาของบุคคลอื่น มีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาหรือได้รับการช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งหมายความว่าโจทก์ในฐานะผู้เสียหายก็สามารถใช้สิทธิทางศาลในการยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้อยู่แล้ว ศาลจึงไม่ได้กำหนดค่าเสียหายตามที่โจทก์ร้องขอในส่วนนี้
    พิพากษาว่า ให้กองทัพบก จำเลย ชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน 1,870,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันกระทำละเมิดวันที่ 21 ก.พ.2559 และให้ชดใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ด้วยเป็นเงินอีก 30,000 บาท โดยให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายภายใน 30 วัน
    ต่อมานายปรีดา ทนายความโจทก์ กล่าวว่า โจทก์กำลังพิจารณาที่จะยื่นอุทธรณ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับความรับผิดของผู้บังคับบัญชาเรือนจำ รวมทั้งจำนวนค่าเสียหายบางส่วนที่ยังไม่ตรงตามจำนวนที่ยื่นฟ้อง ซึ่งตัวนางบุญเรืองเองเห็นว่าเรื่องชีวิตเป็นเรื่องหลัก เรื่องค่าเสียหายเป็นเรื่องรอง อยากให้มองในเรื่องการคุ้มครองและการที่ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เป็นสำคัญ โดยการสอบข้อเท็จจริงของหน่วยงานรัฐคือมณฑลทหารบก ก็ได้ลงโทษผู้บังคับเรือนจำในโทษระดับหนึ่งและมีการลงทัณฑ์ไว้ เนื่องจากมีความดีความชอบมาก่อน อันนี้ก็สะท้อนในเรื่องความจริงอยู่บางส่วนที่ว่าขาดการกำกับควบคุมดูแล ถ้อยคำในนั้นก็พูดถึงอยู่แล้วว่าขาดการกำกับเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ก็ยังอุทธรณ์เรื่องค่าปลงศพ, เรื่องขาดรายได้อุปการะ, เรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญด้วย 
    ด้านนางบุญเรืองกล่าวว่า ยังไม่ค่อยพอใจ เพราะชีวิตบุตรชายถูกฆ่าทั้งคน คงจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป “แม่มาวันนี้ แม่ไม่ได้คิดว่าให้ไต่สวนการตาย แต่ให้ช่วยดูแลให้ดีกว่านี้ ให้ดูแลคนอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่ฆ่าลูกแม่แล้วทำกับใครๆ อีก แม่ให้หยุดตรงนั้น กองทัพบอกว่าให้เยียวยาเราได้แค่นี้ ถ้าเรามีลูกแล้วถูกฆ่าตาย เราไม่เอาเงินกองทัพก็ได้ แต่ต้องเอาลูกมาให้แม่คืน ถ้าแม่ได้รับดูแลแค่นี้ แม่จะไม่เอาเงินกองทัพเลย แต่ให้กองทัพเอาลูกมาให้แม่คืน ถ้าลูกเราอยู่ เรามีคนดูแล ตอนนี้แม่ไม่มีคนดูแลเลย แม่มีลูกชายแค่คนเดียว” นางบุญเรืองกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและน้ำตาคลอเบ้า.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"