การจัดตั้งรัฐบาลเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เมื่อนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พร้อมคณะผู้บริหารพรรค เดินทางไปเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล หลังเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกเพื่อเลือกประธานสภาฯ ได้นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานสภา นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ เป็นรองประธานสภาคนที่ 1 และนายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย เป็นรองประธานสภาคนที่ 2 แต่เรื่องวุ่นๆ นอกสภาฯ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เดินเกมเรียกร้องให้ประชาชนลุกขึ้นตรวจสอบองค์กรอิสระทวงคืนความยุติธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.จนกว่าศาลจะวินิจฉัยเสร็จ
แวดวงตำรวจเช่นเดียวกันอึมครึมมานาน โดยเฉพาะการบริหารงานบุคคล การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ 4-5 ปีให้หลัง ถือเป็นยุคมืดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีการซื้อขายตำแหน่งกันมากที่สุด ถึงแม้หลักเกณฑ์พิจารณาแต่งตั้งในระดับที่สูงขึ้นหรือระนาบเดียวกัน ยึดเกณฑ์ความสามารถ 67 เปอร์เซ็นต์ และยึดหลักอาวุโส 33 เปอร์เซ็นต์ แต่เอาเข้าจริงๆ กฎและระเบียบเป็นเพียงกระดาษแผ่นหนึ่ง การแต่งตั้งโยกย้ายยังขึ้นอยู่ที่ “ตั๋ว” ถึงแม้การซื้อตำแหน่งจะไม่มี “ใบเสร็จ” คนในวงการแวดวงสีกากีรู้กันดี แต่ก็อย่างว่าน้ำท่วมปากพูดไม่ได้
คนทำงานไร้เส้นไร้ตั๋วก็ต้องอยู่กันไปตามสภาพ แต่งตั้งโยกย้ายที่ผิดฝาผิดตัว โยกข้ามหน่วย การบริหารงานบุคคลล้มเหลว ส่งผลต่อหน้าที่ในการปฏิบัติราชการที่ผิดพลาด เหตุผลเดียวคือ “ผลประโยชน์” เดิมทีการแต่งตั้งโยกย้ายแต่ละหน่วยระดับกองบังคับการ กองบัญชาการ สามารถคัดเลือกตัวบุคคล คุณวุฒิ คุณสมบัติ ให้เหมาะสมกับตำแหน่ง ถึงแม้จะมีเด็กเส้นเด็กนายบ้างก็เป็นเรื่องปกติ ที่อ้างเพื่อความชอบธรรมในการปฏิบัติราชการให้ลุล่วงสำเร็จ แต่การแต่งตั้งโยกย้ายในห้วงรัฐบาล คสช. “ตั๋ว” คือองค์ประกอบหลัก ค่าของคนอยู่ที่ผลของงานใช้ไม่ได้ ตำรวจหลายคนต้องยุติชีวิตข้าราชการทั้งที่ยังสามารถตอบแทนคุณแผ่นดินได้ บางรายเลือกที่จะจบชีวิตสังเวยให้กับความอยุติธรรม
"นายตำรวจมากบารมีกุมอำนาจไว้เบ็ดเสร็จ รายชื่อโผแต่งตั้งก่อนเข้าที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ต้องผ่านมือ “บิ๊กตำรวจ” ทั้งหมด ถึงแม้ ก.ตร.เห็นชอบ “ผบ.ตร.” เซ็นประกาศแต่งตั้งโยกย้ายไปแล้ว ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งไปรายงานตัวแล้ว ยังสามารถดึงกลับมาแก้รายชื่อใหม่ได้ ตั๋วเท่านั้นที่สามารถกำหนดตัวบุคคลลงไปนั่งเก้าอี้ทองคำ ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก”
หลังการเข้ามาของรัฐบาล คสช. สาระสำคัญที่ประชาชนคาดหวังในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม คือการ “ปฏิรูปตำรวจ” ทั้งการปรับโครงสร้างองค์กร กระจายอำนาจไปยังส่วนภูมิภาค แยกพนักงานสอบสวนให้เป็นอิสระ และการแต่งตั้งโยกย้ายให้เป็นธรรมโดยยึดหลักอาวุโส ถือว่าเป็นเผือกร้อนของรัฐบาลที่เกริ่นไว้ก่อนหน้าจะเข้ามาปฏิรูปสำเร็จ เพราะก่อนหน้าไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้ แต่เอาเข้าจริงๆ รัฐบาล คสช.ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ซ้ำร้ายการซื้อขายตำแหน่งยิ่งหนักกว่าเดิมอีก มีคนกลุ่มหนึ่งได้รับผลประโยชน์กินกันพุงกาง ตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่เสียขวัญกำลังใจ
ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจ ม.44 ประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 7/2560 เรื่องการปรับปรุงระบบการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ การแต่งตั้งต้องผ่านการพิจารณาคัดกรองโดยคณะกรรมการหรือบอร์ดระดับกองบังคับการ (บก.) หรือระดับจังหวัด โดยมีผู้บังคับการหน่วยเป็นหัวโต๊ะ และรองผู้บังคับการทุกคนเป็นกรรมการ เมื่อผ่านแล้วต้องกรองอีกชั้นโดยกองบัญชาการ ที่มีผู้บัญชาการหน่วยเป็นประธาน และมีรองผู้บัญชาการเป็นกรรมการ ก่อนเข้าบอร์ดสำนักงานตำรวจแห่งชาติกลั่นกรอง โดยมี ผบ.ตร.เป็นประธาน และคณะรอง ผบ.ตร.เป็นกรรมการ โดยมีเหตุผลว่าเพื่อลดการซื้อขายตำแหน่งในแวดวงข้าราชการตำรวจ
แต่คำสั่ง คสช.ฉบับนั้น เหมือน “เสือกระดาษ” ผู้จัดโผแต่งตั้งยังเป็นอดีตบิ๊กตำรวจคนเดิม “ตั๋ว” ยังเป็นใบเบิกทางสู่ตำแหน่งของ “นักวิ่ง” สร้างรอยร้าวในแต่ละหน่วยขององค์กรสีกากีมากยิ่งขึ้น แต่ผลการกระทำย้อนเข้าตัวบิ๊กตำรวจ ถึงคราวหมดอำนาจวาสนา คาราวานที่ติดสอยห้อยตามถึงกับระส่ำ
กระทั่งวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้คืนความสุขให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาทั่วประเทศ เมื่อมีหนังสือคำสั่ง 297/2562 ลงวันที่ 10 พ.ค.62 เรื่อง การมอบหมายอำนาจการสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ใจความว่า "เพื่อให้การบริหารงานบุคคลในส่วนของการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 และมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ 2547 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 7/2559 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 การกำหนดแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 7/2560 เรื่องการปรับปรุงระบบการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ จึงมอบหมายการสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ทั้งกรณีเลื่อนขึ้นหรือสับเปลี่ยนหมุนเวียน
1.การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งในมาตรา 44 (11) และ (12) ในสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้จเรตำรวจแห่งชาติหรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้มีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้แต่งตั้ง 2.การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งในมาตรา 44 (10) (11) (12) ในกองบัญชาการที่มิได้สังกัดในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ผู้บัญชาการหรือตำแหน่งเทียบเท่าที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยเป็นผู้แต่งตั้ง 3.การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจทั้งข้อ 1 และ 2 ให้สำนักงานกำลังพล (กองทะเบียนพล) หรือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานกำลังพลของหน่วยแล้วแต่กรณี เป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งของข้าราชการตำรวจที่จะแต่งตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และ 4.การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระหว่างสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกับกองบัญชาการที่มิได้สังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือการแต่งตั้งที่มิได้สังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้หัวหน้าหน่วยต้นสังกัดที่ประสงค์จะแต่งตั้งข้าราชการตำรวจประสานทำความตกลงไว้เป็นหลักฐานให้ชัดเจน แล้วให้หน่วยที่ประสงค์จะแต่งตั้งเป็นผู้ออกคำสั่ง
ขยายความที่มาที่ไปของคำสั่ง “บิ๊กแป๊ะ” คืนอำนาจแก่ผู้นำหน่วยในการแต่งตั้งโยกย้าย เนื่องจากยุค คสช.อำนาจการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจทุกระดับชั้นอยู่ที่ ผบ.ตร.คนเดียว โดยเฉพาะข้อ 1.การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจสารวัตร พนักงานสอบสวน ผู้บังคับหมู่ในสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นจเรตำรวจ สำนักงานกำลังพล ให้จเรตำรวจ รอง ผบ.ตร. หรือผู้มีอาวุโสสูงสุดเป็นคนแต่งตั้ง ข้อ 2.การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับรอง ผกก. ผู้บังคับหมู่ในกองบัญชาการที่มิได้สังกัดในสำนักงานตำรวจ ให้ผู้บัญชาการหรือตำแหน่งเทียบเท่าที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยเป็นผู้แต่งตั้ง ก่อนเสนอให้สำนักกำลังพลตรวจสอบคุณสมบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่ระดับ ผกก.อำนาจการแต่งตั้งยังเป็นของ ผบ.ตร.
ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการแต่งตั้งโยกย้ายที่จะมาถึง จะได้เป็นบรรทัดฐานการแต่งตั้งโยกย้ายของข้าราชการตำรวจคัดสรรบุคคลให้เหมาะสมกับหน้าที่ในแต่ละหน่วย เป็นการคืนความสุขให้กับเหล่าสีกากีที่จะได้ตั้งใจทำงานตอบแทนคุณแผ่นดิน ในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อย่างภาคภูมิ ผลประโยชน์จะได้ตกไปอยู่กับประชาชนโดยแท้จริง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |