ปัจจุบันแนวโน้มอายุไขของคนไทยมีทีท่าว่าจะยืนยาวขึ้น และคาดว่าอาจจะมีอายุถึง 100 ปี จากอายุในอดีตโดยเฉลี่ย ตั้งแต่เกิดกระทั่งสิ้นสุดชีวิตจะอยู่ที่ประมาณ 75 ปี แต่ปัจจุบันจากการสำรวจข้อมูลในปี 2559 พบว่าอายุเฉลี่ยของคนไทยอายุยืนยาวอยู่ที่ระหว่าง 80-89 ปี ขณะที่ผลสำรวจในปี 2560 พบว่าคนไทยอายุเฉลี่ย 90-99 ปี ปัจจุบันพบอยู่ที่ 1 แสน 7 หมื่นคน ดังนั้นในอนาคตอันใกล้ประชาชนไทยจะอายุยืนแตะ 100 ปีเพิ่มสูงขึ้นจากจำนวนดังกล่าว ตามประเทศที่พัฒนาแล้ว ในโซนตะวันตกอย่างอเมริกา ที่พบว่าประชากรอายุยืนอยู่ที่ 104 ปี ตามด้วยประเทศแคนาดา และอิตาลี ที่คนอายุยืน 100 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันมีวิวัฒนาการและเทคโนโลยีมากมายที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำให้คนแก่ช้าลง และอายุยืนยาวมากขึ้น
(ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์)
เมื่อประชากรไทยมีแนวโน้มอายุยืน อาจจะตามมาด้วยการป่วยโรคเรื้อรังที่ซ่อนอยู่อย่าง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง การป่วยติดเตียง การไม่ออกกำลังกาย ตลอดจนปัญหาแวดล้อมด้านอื่น เช่น เรื่องบ้านและที่อยู่อาศัยไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต เสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ในงานสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอ (TDRI) ประจำปี 2562 “สังคมอายุยืน:แข่งขันได้ และอยู่ดี มีสุขได้อย่างไร” ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ “ทีดีอาร์ไอ” ได้ออกมาเผยให้เห็น “6 ประการท้าทาย” ที่จำเป็นต้องแก้ไขเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยที่ประชากรมีอายุยืนมากขึ้น ในหัวข้อ “อะไรจะเปลี่ยนไป เมื่อสังคมไทยกลายเป็นสังคมอายุยืน” เพื่อเตรียมรับมือได้อย่างเป็นรูปธรรม
ดร.สมเกียรติกล่าวถึงความท้าทายประการแรก คือ “การรักษาความเติบโตของเศรษฐกิจให้ต่อเนื่อง เพื่อสร้างรายได้นำมาเลี้ยงดูคนสูงวัยได้มากขึ้น” เนื่องจากปัจจุบันหนุ่มสาวที่เป็นวัยแรงงานน้อยลง จากอัตราการเกิดที่ลดลง ทั้งนี้ การที่คนไทยอายุ 50-59 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ได้รับเงินบำนาญ หรือเงินจากประกันสังคมได้หายไปจากตลาดแรงงาน จะทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบ 0.8% ในทางตรงกันข้ามหากเรายังรักษาให้คนวัย 50-59 กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกครั้ง หรือทำงานต่อตามความถนัดและความรู้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถึงร้อยละ 12% เพราะถ้าแก้ไขเรื่องนี้ได้ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจที่ขาดแรงงานคนหนุ่มสาวให้ลดน้อยลงได้เช่นกัน
ส่วนความท้าทายเรื่องที่สอง คือ “การสร้างเมืองให้มีพลังสู้” ซึ่งในที่นี้หมายถึงตั้งแต่การต่อสู้กับสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของคนสูงวัย เช่น ถนนที่เป็นบ่อเป็นหลุม ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ เพราะต่อไปบ้านเราจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว ดังนั้นเราจำเป็นต้องสร้างเมืองของเราให้น่าอยู่ และปราศจากปัญหาดังกล่าวที่อาจกระทบต่อสุขภาพของคนสูงวัย ส่วนความท้าทายลำดับที่สาม คือ “การถนอมกาย รักษาใจให้พร้อมอยู่” ปัจจุบันยังมีผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งก่อให้เกิดภาระในการดูแล ตรงนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญว่าจะทำให้อย่างให้คนสูงวัยหันมาดูแลสุขภาพหมั่นออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงทั้งกายและใจ ป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพื่อป้องกันภาวะป่วยติดเตียงดังกล่าวที่เป็นผลมาจากกลุ่มโรค NCDs
ขณะที่ความท้าทายประการที่สี่ คือ “การรู้หารู้ออมพร้อมอยู่นาน” หรือการรู้จักการเก็บออมเงินไว้ในยามชรา ท่ามกลางกระแสที่คนจะอายุยืนเตะที่ 100 ปีในอนาคตอันใกล้ และประการที่ห้า คือ “เรียนรู้คู่ไปกับการทำงาน” ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะต้นทุนที่สำคัญของมนุษย์คือสุขภาพกายและใจ ดังนั้นเราจึงต้องมาคิดกันว่าอะไรที่ทำให้มนุษย์มีความสุขมากที่สุด คำตอบก็คือว่าต้นทุนมนุษย์ เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสูงวัย ที่คนส่วนใหญ่จะมีอายุยืนขึ้น คือการเปิดกว้างในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อเลือกงานให้ตรงกับความสามารถ หรือเลือกที่จะลงทุนโดยการสร้างความรู้ให้กับตัวเอง เพราะทุกช่วงวัยเป็นวัยแห่งการเรียนรู้
ส่วนประการที่ 6 คือ “การบริหารความขัดแย้งของช่วงวัย” ความขัดแย้งที่เรามักพบเห็นได้ในกลุ่มของคนสูงอายุ และคนวัยลูกหลาน นั่นคือการที่คนวัยเก๋ามักจะเป็นวัยที่อนุรักษนิยม หรือไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ส่วนวัยหนุ่มสาวส่วนใหญ่ก็มักอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่ทั้งนี้ก็ยังมีกลุ่มคนวัยลูกหลานอีกจำนวนไม่น้อยที่อยากรับนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาใช้ในชีวิต แต่ขณะเดียวกันก็ยังยึดติดกับของเก่า ดังนั้นถ้ามองให้แง่ดีความท้าทายที่สำคัญทั้ง 6 ประการ ย่อมถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะการที่อะไรเปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตาม เพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับสังคมสูงวัยที่คนอายุยืนมากขึ้นนั่นเอง”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |