พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานพิธีมอบทุนและประมูลจัดหาทุนฯ ปี 2557 โดยมีปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ เคียงข้าง
ถือเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของประเทศไทยต่อการจากไปของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐบุรุษและประธานองคมนตรี ในพระมหากษัตริย์ถึง 2 พระองค์ ซึ่งท่านถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบด้วยวัย 99 ปี
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หรือที่คนนิยมเรียกท่านว่า “ป๋าเปรม” เป็นปูชนียบุคคลที่สร้างคุณงามความดีให้กับบ้านเมืองมากมาย ท่านเสียสละทำงานเพื่อแผ่นดิน เป็นเจ้าของประโยคลึกซึ้งว่า“เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”
หนึ่งในบทบาทสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งให้วงการศิลปะ คือการสร้างคน ลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนผ่านการสนับสนุนการศึกษาศิลปะของนักศึกษาเรียนดีแต่ยากจน ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รับทราบภารกิจนี้ของ”ป๋าเปรม”
'ป๋าเปรม' ถ่ายภาพกับนิสิต-นักศึกษาศิลปะเรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ที่ได้รับทุนการศึกษา
อ.ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ และประธานคณะทำงานกองทุนส่งเสริมการศึกษาการสร้างสรรค์ศิลปะ“มูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรมติณสูลานนท์” กล่าวว่า การจากไปของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษที่มีคุณอย่างอเนกอนันต์ต่อกองทุนฯ กรรมการและนิสิตนักศึกษาทุนทุกคนมีความอาลัยอย่างยิ่ง ท่านเป็นรัฐบุรุษผู้เกิดมาเพื่อแผ่นดินไทยและมีคุณูปาการต่อศิลปวัฒนธรรม ท่านเป็นผู้มีพระคุณโดยเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งกองทุนฯ สนับสนุนการศึกษาศิลปะของนิสิต-นักศึกษามาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปี 2561 มีนิสิต-นักศึกษาได้รับทุนรวมทั้งสิ้น 1,413 คน
“ การมอบทุนครั้งล่าสุดจัดขึ้นปีที่แล้วคณะกรรมการฯ กำหนดให้มีการมอบทุน 99 ทุนแต่ขยายเป็น126 ทุน เพราะสถาบันการศึกษาสนใจมาก ถือเป็นสัญลักษณ์ฉลองในงานเชิดชูเกียรติและร่วมอวยพรให้พลเอกเปรมมีสุขภาพแข็งแรงในโอกาสที่ท่านจะมีอายุก้าวสู่ 99 ปีวันที่ 26 สิงหาคม2562 และวางแผนไว้ว่าถ้าท่านมีสุขภาพดีขึ้นปีนี้จะจัดงานเชิดชูเกียรติ100 ปีที่สวนประวัติศาสตร์พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จ.สงขลา แต่ท่านจากไปเสียก่อน “ อ.ปัญญา กล่าว
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ให้โอวาทแก่นิสิต-นักศึกษา เน้นเรียนจบรับใช้สังคม ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน
เมื่อย้อนหลังไปพลเอกเปรมปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมศิลปะมาตลอด อ.ปัญญา เล่าว่า เมื่อปี 2528 พลเอกเปรมในฐานะนายกรัฐมนตรีได้รับเชิญไปเยือนสหราชอาณาจักร หนึ่งในภารกิจสถานทูตจัดกิจกรรมให้คนไทยในอังกฤษได้พบนายกฯ ตนและอ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ซึ่งช่วงนั้นเป็นจิตรกรอาสาเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพุทธปทีป วัดไทยในกรุงลอนดอน ได้มีโอกาสพบ สนทนาและนำภาพให้ดู ท่านสนใจเช้าวันรุ่งขึ้น ท่านยกเลิกภารกิจส่วนตัวเพื่อไปชมจิตรกรรมฝาผนัง จากนั้นรัฐบาลจัดสรรงบประมาณดูแลการสร้างจิตรกรรมในช่วงสุดท้าย ทำให้งานสำเร็จร่วมฉลอง 60 พรรษาในหลวงรัชกาลที่ 9 คุณความดีของท่านจะไม่เลือนหาย
ในช่วง พล.อ.เปรม พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นองคมนตรีและประธานองคมนตรีตามลำดับ ท่านไม่ทิ้งวงการศิลปะ อ.ปัญญา กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยศิลปากรเชิญพลเอกเปรมเป็นประธานเปิดงานศิลปนิพนธ์ โดยนักศึกษาปริญญาชั้นปีสุดท้ายคณะจิตรกรรมฯ ทุกปี ท่านให้ความเมตตาไม่เคยปฏิเสธ ถามไถ่นักศึกษาทำงานเป็นยังไง ส่วนใหญ่พบนักศึกษาไม่มีเงิน ขณะที่การสร้างศิลปนิพนธ์ต้องลงทุนสูง เป็นที่มาของกองทุนส่งเสริมการศึกษาการสร้างสรรค์ศิลปะ“มูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรมติณสูลานนท์” ตามดำริพล.อ.เปรมกองทุนฯ ยืนหยัดสนับสนุนนักศึกษาเก่งและดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์มาจนทุกวันนี้
“ วันหนึ่งมีนักศึกษาคณะจิตรกรรมฯ ชื่อสมพร แต้มประสิทธิ์ ไปหย่อนหนังสือขอทุนเรียนศิลปะที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ บ้านพักพลเอกเปรม ท่านจึงมีดำริให้จัดงานประมูลภาพจิตรกรรมเพื่อหาทุนการศึกษา สมพรเป็นหนึ่งในนักศึกษาทุน ปัจจุบันเป็นศิลปินมีผลงานเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ” อ.ปัญญากล่าว
รำลึกคุณูปการด้านศิลปวัฒนธรรมของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษเพื่อแผ่นดินไทย
จากให้ทุนนิสิต-นักศึกษาในสถาบันการศึกษาศิลปะโดยตรง คณะกรรมการฯ พิจารณาขยายการคัดเลือกผลงานของนิสิต-นักศึกษาภาคอีสาน ภาคใต้ และสถาบันราชภัฏต่างๆ เข้ารับทุน อีกทั้งเพิ่มจากระดับปริญญาตรีเป็นระดับปริญญาโทและปริญญาเอกด้วยกระจายให้ทั่วถึงตามดำริ“ป๋าเปรม”
ประธานคณะทำงานฯ กล่าวว่า พลเอกเปรมพอใจในการดำเนินงานของกองทุนฯ ที่ขยายถึงปริญญาเอก นักศึกษาทุนทุกรุ่นท่านให้โอวาทให้นำความรู้และความสำเร็จของตนเองมาช่วยพัฒนาชาติบ้านเมือง เน้นย้ำเรียนจบออกมาให้รับใช้สังคมตามแนวทาง“เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” ท่านเห็นความงอกงามของนักศึกษา ทุกปีจะจัดพิธีมอบทุนและประมูลผลงานศิลปะหาทุนให้นักศึกษาเรียนศิลปะ ท่านให้เกียรติเป็นประธานทุกครั้ง ยอมเหนื่อยแม้จะป่วย ซึ่งปี 2561 งดจัดงานประมูล เพราะสุขภาพท่านไม่เอื้ออำนวย ถ้าเราจัด ท่านก็มา เพราะท่านสั่งไม่ให้หยุด อย่างไรก็ตาม มีพิธีมอบทุนโดยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีและประธานมูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรมติณสูลานนท์ เป็นประธาน
กองทุนฯ สนับสนุนการศึกษาศิลปะตั้งแต่ปี 44-61 มีนิสิต-นักศึกษาได้รับทุนแล้ว 1,413 คน สานต่อเจตนารมณ์'ป๋า'
“ ปี 60 ที่พลเอกเปรม มาเป็นประธานประมูลผลงานศิลปะได้เงิน 60 ล้านบาท เป็นผลงานของศิลปินแห่งชาติและศิลปินชั้นเยี่ยม รายได้เข้ามาสมทบกองทุนฯ ระยะหลังมีผลงานของนักศึกษาทุนที่มีชื่อเสียงร่วมประมูลด้วย ช่วยลดการขอบริจาคผลงานจากศิลปินอาวุโส เป็นช่องทางการเพิ่มรายได้ อีกทั้งแสดงให้สังคมเห็นว่า ศิลปะพัฒนาประเทศได้จริง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนรักงานศิลป์เท่านั้น“ อ.ปัญญา กล่าว
นิสิต-นักศึกษาที่ได้รับทุน 1,413 คนจากกองทุนฯ วันนี้สานเจตนารมณ์ของพลเอกเปรม ที่ต้องการให้ทุกคนตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน อ.ปัญญา บอกว่า นักศึกษาได้ทุนเรียนจบ นอกจากเป็นอาจารย์ศิลปะ ทำงานบริษัทเอกชน รวมถึงเป็นศิลปินอิสระ ยังกลับมาช่วยงานกองทุนฯ ร่วมค่ายศิลปะสัญจร Art Camp ไปสถานที่ต่างๆ เป็นพี่เลี้ยงให้รุ่นน้องที่ได้รับทุนร่วมกับศิลปินแห่งชาติเพื่อสร้างงานศิลปะ ปีที่แล้วจัดค่ายที่สงขลาบ้านเกิดพลเอกเปรมได้ผลงานจำนวนมากและนำมาแสดงนิทรรศการที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลปเจ้าฟ้า ซึ่งกองทุนฯ มีแนวคิดจะส่งเสริมสงขลาเป็นเมืองศิลปะที่ผ่านมาจัดกิจกรรมอบรมและปลูกฝังศิลปะระดับโรงเรียนและชุมชนด้วย เนื่องจากพลเอกเปรมสนใจการส่งเสริมศิลปะในจังหวัด
ย้อนหลังไปปี 2555 'ป๋าเปรม' เป็นประธานพิธีมอบทุนและประมูลจัดหาทุนฯ หารายได้สมทบกองทุนฯ
สำหรับทิศทางการดำเนินงานของกองทุนฯ ต่อไป อ.ปัญญา กล่าวว่ากองทุนฯ อยู่ภายใต้มูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรมติณ สูลานนท์ ซึ่งภายในมูลนิธิมีหลายกองทุน การใช้เงินจะต้องทำโครงการให้มูลนิธิพิจารณา ส่วนจะมอบทุนส่งเสริมการศึกษาศิลปะต่อไปหรือไม่ คงมีการประชุมโดยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นประธาน เพื่อความชัดเจน เช่นเดียวกับกิจกรรมการประมูลจะคงไว้หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบ
อ.ปัญญา ศิลปินแห่งชาติ ที่ช่วยงานกองทุนฯ ใกล้ชิดกับพลเอกเปรมมาตลอด กล่าวว่า ประทับใจในความเมตตาของท่านในงานกองทุนฯ ครั้งหนึ่งตนเรียกพลเอกเปรมว่า“ท่าน” เหมือนทุกครั้ง แต่ท่านบอกให้เรียก“ป๋า” แทน เพราะเป็นเพื่อนกันมา20 ปี ท่านเอ็นดูทุกคน รวมถึงนิสิตนักศึกษาไม่เคยลืมใคร ความห่วงใยใส่ใจที่ท่านมอบให้ทุกคนมีคุณค่ามากกว่าทุนการศึกษาที่ได้รับ พวกเราตั้งปณิธานแม้ท่านไม่อยู่แล้วจะช่วยกันทำคุณประโยชน์ให้สังคมและสานต่อเจตนารมณ์”ป๋า” ให้ดีที่สุด