“งูเห่า” ชื่อสัตว์เลื้อยคลานที่ใช้เรียกกันอย่างกว้างขวางในการเมืองไทยเวลานี้ เปรียบเทียบกับนักการเมืองที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) อยู่พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง แต่ลงมติสวนทางกับพรรคของตนไปให้กับพรรคการเมืองที่อยู่ขั้วตรงข้าม ทำให้ฝ่ายตรงข้ามได้ผลประโยชน์ ฝ่ายตนเองเสียผลประโยชน์ เช่นเดียวกับนิทานอีสป เรื่อง “ชาวนากับงูเห่า” ที่งูเห่าได้ฉกผู้เลี้ยงอย่างชาวนาซึ่งมีพระคุณเสียเอง
การเปรียบเทียบเรียกนักการเมืองเป็น “กลุ่มงูเห่า” เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงหลังการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ปลายปี พ.ศ.2540 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมมีมติจะสนับสนุนให้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาขณะนั้น ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ด้วยเสียง ส.ส. รวม 197 เสียง หนึ่งในนั้นมีพรรคประชากรไทยของนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทยขณะนั้นรวมอยู่ ขณะที่อีกขั้วซึ่งนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ รวมได้ 196 เสียง ซึ่งน้อยกว่าฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเดิมอยู่เพียง 1 เสียง
ต่อมา พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น ได้ชักชวน ส.ส.พรรคประชากรไทย กลุ่มของนายวัฒนา อัศวเหม เข้ามาสนับสนุน รวมได้เป็น 209 เสียง นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น จึงได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการไม่เคารพกติกาประชาธิปไตย เนื่องจากนายสมัครมีมติพรรคไม่ให้กลุ่มของนายวัฒนาเข้าร่วมรัฐบาล
หลังเหตุการณ์ครั้งนี้นายสมัครจึงเปรียบเทียบว่า ตนเองเป็นเหมือนชาวนาในนิทานอีสป เรื่องชาวนากับงูเห่า ที่เก็บงูเห่าที่กำลังจะตายจากความหนาวเย็น มาไว้ในอกเสื้อเพื่อให้ความอบอุ่น แต่ต่อมางูเห่านั้นก็ฉกชาวนาตาย ซึ่งนายสมัครเปรียบเทียบงูเห่ากับ ส.ส.กลุ่มปากน้ำ ของนายวัฒนา ซึ่งเดิมสังกัดพรรคชาติไทย แต่หลังจากมีความขัดแย้งกับหัวหน้าพรรค จึงไม่มีพรรคสังกัด จนในที่สุดก็มาเข้าสังกัดพรรคประชากรไทย และต่อมาก็มีการกระทำที่ขัดต่อมติพรรคดังกล่าว
คำว่า “งูเห่า” จึงถูกใช้เรียกเป็นครั้งแรกนับแต่นั้น จนกระทั่งต่อมาในช่วงปลายปี 2551 คำนี้ถูกใช้เป็นครั้งที่ 2 ในการเรียกกลุ่มเพื่อนเนวิน ของนายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งมี ส.ส. ที่แตกออกจากพรรคพลังประชาชนเดิมหลังถูกยุบพรรค ร่วมกับนักการเมืองที่กระจายตัวอยู่ในพรรคต่างๆ อาทิ นายสุชาติ ตันเจริญ, นายสรอรรถ กลิ่นประทุม, นายบรรหาร ศิลปอาชา, นายสุวิทย์ คุณกิตติ, นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นต้น โดยการประสานของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น นำเสียงมาหนุนจัดตั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้สำเร็จ
ณ ปัจจุบัน คำว่างูเห่าถูกนำมาใช้ คาดการณ์ต่อกรณี 7 พรรคการเมือง ที่จับมือร่วมเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ว่าจะมี ส.ส.คนใดใน 7 พรรค กลายเป็นงูเห่าไปสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ซึ่งจากการลงคะแนนลับออกเสียงเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่นายชวน หลีกภัย ได้รับเลือกเป็นประธานสภาฯ ส่วนนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคเพื่อไทย กลับมีคะแนนเสียงหายไปจากฐานเดิมของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ 7 เสียง
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกรองประธานสภาฯ ในวันต่อมา น.ส.เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 จากพรรคอนาคตใหม่ แม้จะไม่ชนะ แต่ก็ได้คะแนนเสียงมากกว่าฐานเดิมของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเช่นกัน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอาจทำให้พรรคการเมืองเกิดความระแวงเรื่องงูเห่าขึ้นมาบ้าง แต่ควรคิดในแง่อื่นด้วยว่า เสียงที่แตกต่างอาจพิจารณาจากตัวบุคคลที่ขั้วตรงข้ามเสนอบุคคลที่น่าเชื่อถือมากกว่า อาจเป็นเหตุให้ ส.ส.บางคนเลือกโหวตแตกแถวแบบเนียนๆ ไม่ใช่ความต้องการที่จะเป็นงูเห่าเสมอไปก็ได้
ดังนั้นการจะเกิดปรากฏการณ์ “งูเห่า” ครั้งที่ 3 ของการเมืองไทยหรือไม่ รอเพียงวันโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการออกเสียงอย่างเปิดเผยนั่นแหละ จะชัดเจนที่สุด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |