'รัฐบุรุษ' ผู้เกิดมา 'เพื่อแผ่นดิน'


เพิ่มเพื่อน    

             เมื่อวาน........

                วันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖

                แรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี เป็นวัน "อัฏฐมีบูชา"

                อัฏฐมีบูชา คือ......

                วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ณ กรุงกุสินารา หลังพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ๘ วัน

                และแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อวาน ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

                "พลเอกเปรม ติณสูลานนท์" ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ

                เมื่อภารกิจส่งผ่านเพื่อแผ่นดินอันรัฐบุรุษได้กระทำจบสิ้นแล้ว

                ตอนเช้า....

                ท่านก็ส่งคืน ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ที่ประกอบเป็นเรือนกายให้อาศัยมา ๙๙ ปี ด้วยจิตผ่องแผ้ว ท่านถึงแก่  "อสัญกรรม"

                ดิน คืนสู่ดิน, น้ำ คืนสู่น้ำ, ลม คืนสู่ลม, ไฟ คืนสู่ไฟ

                ส่วน "จิตวิญญาณ"

                ไม่คืน........เพราะ

                มโนนั้น รัฐบุรุษของแผ่นดิน ได้มอบพระผู้สถิตอยู่ยอดสวรรค์ เป็นนิรันดร์ก่อนกาลแล้ว

                วันนี้ จันทร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒             

                "พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว" ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้

                "สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี"

                เสด็จฯ แทนพระองค์ ไปพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

                ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร เขตพระนคร เวลา ๑๘.๐๐ น.

                ชื่อ "เปรม"

                นามสกุล "ติณสูลานนท์"

                มีความหมายว่าอย่างไร ผมถอดรหัสตามรอยเท้า ๙๙ ปีของท่าน ได้เป็นอักษร ๙ คำ คือ

                "เกิด/มา/ต้อง/ตอบ/แทน/บุญ/คุณ/แผ่น/ดิน"

                กราบด้วยสำนึกในปณิธานรัตนบุรุษคู่บัลลังก์และคู่แผ่นดินในรอบศตวรรษ

                ขอเก็บความประวัติบางส่วนจากเพจ "ตำนานบรรดาเรา" บันทึกไว้เพื่อศึกษา ดังนี้

                เกิด ๒๖ สิงหาคม ๒๔๖๓ ที่ ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา

                ชื่อ "เปรม" นั้น พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) เป็นผู้ตั้งให้ ส่วนนามสกุล "ติณสูลานนท์"

                "พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว" ได้พระราชทานให้ เมื่อ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๒

                เป็นบุตรชายรองสุดท้อง จากจำนวน ๘ คน ของ "รองอำมาตย์โท หลวงวินิจทัณฑกรรม" (บึ้ง ติณสูลานนท์) ผู้ต้นตระกูล กับนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์)               

                สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา เลขประจำตัว ๑๖๗ และสวนกุหลาบวิทยาลัย  "ส.ก.๗๕๘๗" เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐

                เข้าศึกษาต่อ "โรงเรียนเทคนิคทหารบก" รุ่นที่ ๕ สังกัดเหล่าทหารม้า (ก่อตั้ง พ.ศ.๒๔๗๗ ต่อมาคือ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า)

                จบการศึกษาปี พ.ศ.๒๔๘๔ เข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีน ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ปอยเปต  ประเทศกัมพูชา

                จากนั้น เข้าสังกัดกองทัพพายัพ.......

                ภายใต้การบังคับบัญชา "หลวงเสรีเริงฤทธิ์" (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) ทำการรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่าง พ.ศ.๒๔๘๕-๒๔๘๘ ที่เชียงตุง

                ภายหลังสงคราม รับราชการอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ "โรงเรียนยานเกราะ" ของกองทัพบกสหรัฐฯ ที่ฟอร์ตน็อกซ์ รัฐเคนทักกี

                พร้อมกับ "พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์" และ "พลเอกวิจิตร สุขมาก" เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕

                กลับมารับตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ

                ต่อมา มีการจัดตั้งโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า ที่จังหวัดสระบุรี

                ได้รับพระบรมราชโองการ เป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ยศพลตรี เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑

                ช่วงระยะเวลา ๕ ปี ที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ใช้คำว่า "ป๋า" เรียกแทนตัวเองต่อผู้อาวุโสน้อยกว่า

                และเรียกผู้อาวุโสน้อยกว่าว่า "ลูก" จนเป็นที่มาของคำว่าป๋าหรือ "ป๋าเปรม"

                คนสนิทของท่าน ถูกเรียกว่า "ลูกป๋า" และเรียกติดปากกันมาจนถึงปัจจุบัน

                ย้ายไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ ๒ ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน ปี พ.ศ.๒๕๑๖ และขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗

                เป็น "พลเอก" ในตำแหน่ง "ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก" พ.ศ.๒๕๒๐ ขึ้นเป็น "ผู้บัญชาการทหารบก" ปี พ.ศ.๒๕๒๑

                นอกจากยศ "พลเอก" แล้ว...........

                ถือว่าเป็นหนึ่งในบุคคลปัจจุบันที่มิใช่พระบรมวงศานุวงศ์ ที่ได้รับยศ พลเรือเอก ของกองทัพเรือ  และ พลอากาศเอก ของกองทัพอากาศ ด้วย

                จากการพระราชทานโปรดเกล้าฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๙ ในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่

                ปี พ.ศ.๒๕๐๒ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

                จากนั้น เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ และวุฒิสมาชิก ช่วง พ.ศ.๒๕๑๑-๒๕๑๖ สมัยจอมพลถนอม  กิตติขจร

                ร่วมรัฐประหาร ๒ ครั้ง ที่นำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ ล้มรัฐบาล "หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช"

                และวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๐ ล้มรัฐบาล "ธานินทร์ กรัยวิเชียร"

                เป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในรัฐบาล "พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์" ในตำแหน่ง รมช.มหาดไทย

                ช่วงปลายรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ เป็น รมว.กลาโหม ควบคู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

                ในช่วงนั้น พลเอกเปรมได้รับการยอมรับจากหลายฝ่าย หลังจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ลาออกจากนายกฯ เมื่อ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๓

                "สภาผู้แทนราษฎร" หยั่งเสียงหาตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

                และเลือก "พลเอกเปรม"

                โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สืบต่อจากพลเอก เกรียงศักดิ์ เมื่อ ๓ มีนาคม ๒๕๒๓

                เป็นนายกฯ มา ๘ ปี กลุ่มนักวิชาการก่อกระแสคัดค้านการเป็นต่อ

                ปี พ.ศ.๒๕๓๑ ยุบสภา มีการเลือกตั้ง หัวหน้าพรรคที่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาล "พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ" พรรคชาติไทยเป็นแกนนำ

                เข้าพบที่บ้านพัก เชิญให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นสมัยที่ ๔

                แต่พลเอกเปรมปฏิเสธ บอก "ผมพอแล้ว"

                พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) จึงเป็น "นายกรัฐมนตรี" คนที่ ๑๗

                เมื่อพลเอกเปรมพ้นตำแหน่งนายกฯ

                "พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร" รัชกาลที่ ๙

                โปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรี เมื่อ ๒๓ ส.ค.๓๑ และเป็นรัฐบุรุษ ๒๙ ส.ค.ปีเดียวกัน

                ๔ สิงหาคม ๒๕๔๑ โปรดเกล้าฯ ประธานองคมนตรี

                จากอสัญกรรมของพลเอกเปรม ชาวสงขลาผู้หนึ่ง "เริงวุฒิ มิตรสุริยะ" โพสต์ fb สะท้อนบางสิ่ง-บางอย่างน่าสนใจ ดังนี้

                ตอนเด็กๆ แม่ถามเสมอว่า "จำหน้าตาของตาได้ไหม" ผมจะตอบว่า "จำไม่ได้ คลับคล้ายคลับคลาเท่านั้น" เหตุเพราะ "ตา" ของผมเสียไปตั้งแต่ผมยังเรียนชั้นประถม

                แม่ก็จะบอกว่า "ดูข่าว ดูหน้าป๋าเปรม นั่นละ ตาแกหน้าตาอย่างนี้เลย"

.               เราก็ได้แต่ล้อแม่ว่า "หน้าตาคล้ายกัน ทำไมไม่ได้เป็นใหญ่เป็นโตอย่างป๋าเปรมบ้างละตา"

                ตอน พล.อ.เปรม เป็นนายกฯ สมัยแรก แม่ในฐานะหนึ่งในกลุ่มแม่บ้านข้าราชการสงขลา มีโอกาสขึ้นมากรุงเทพฯ เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี "คนสงขลา".....ฯลฯ......

.               กลับถึงบ้าน ผมรีบถามแม่ว่า "เป็นงัยบ้างล่ะ ได้พบกับตาไหม"

                แม่ตาแดง บอกว่า หน้าตาป๋าเปรมตัวจริงคล้ายมากเลย แต่ที่ไม่เหมือนคือ ป๋าเปรมใจดี ส่วนตาผมดุ

                นั่นเป็นเพียงภาพที่ผมจดจำเกี่ยวกับ พล.อ.เปรม

                แน่นอนในฐานะคนสงขลา ย่อมภูมิใจว่า อย่างน้อยคนสงขลาคนหนึ่ง ได้มาเติบโตเป็นใหญ่ในกรุงเทพฯ และมีอำนาจบารมีในประเทศไม่ต่างจากคนที่อื่น

.               เป็นฝันและแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ต่างจังหวัดอยู่ไม่น้อยว่า หากมีความสามารถ ก็สามารถจะก้าวหน้าและเติบโตเป็นที่ยอมรับในสังคมและประเทศชาติได้

                นอกนั้น ก็ไม่มีอะไรเกี่ยวพันกันอีกเลย....

                ผมไม่แน่ใจว่า พล.อ.เปรม ท่านทำอะไรหรือทำอย่างไร ที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งไม่ชอบท่านเอามากๆ

                แน่นอนว่า ส่วนหนึ่ง คงมาจากที่ท่านอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทางการเมืองยาวนาน ซึ่งอาจส่งผลต่อการได้หรือเสียผลประโยชน์ของใครบางคนบางกลุ่ม

.               กระนั้น เมื่อพิจารณาเทียบกับผลงานของท่านแล้ว ผมมองว่ามันเทียบกันไม่ได้

                โลกสมัยที่ภัยคอมมิวนิสต์สยายปีกเข้าคลุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ต่อมาอินโดจีนถูกกลืนไปแล้ว

                ไทยเป็นรายต่อไป ที่ใครต่อใครมองว่าไม่น่าจะรอด แต่สุดท้ายเราก็เอาอยู่

.               มาจนถึงวันนี้ เราเห็นชัดเจนว่า ใครที่เคยเปลี่ยนไปเป็นคอมมิวนิสต์แบบเข้มข้น ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ทุนนิยมอย่างจีนในปัจจุบัน

                คำตอบคือ สังคมนั้นล้มเหลว ระบอบนั้นคว่ำไม่เป็นท่า ถ้าหากไทยเราต้องเปลี่ยนระบอบการปกครองไปในเวลานั้นคิดไม่ออกเหมือนกันว่า วันนี้ประเทศเราจะเป็นเช่นไร

.               ในภาวะความขัดแย้งทางการเมืองชัดเจนยามนั้น ด้วยนโยบาย 66/23 ประสบความสำเร็จ เปิดประตูทางออกให้ขบวนการที่กำลังแตกร้าว กระทั่งนำมาสู่ความสงบในที่สุด คนที่เคยจับปืนเข้าป่า ออกมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย หลายคนได้เชิดหน้าชูตาในแวดวงผู้บริหารประเทศ ไม่ถูกไล่ล่าอย่างในหลายประเทศที่เคยเป็นมา

.               แน่นอนว่า มีอีกหลายอย่าง ที่ พล.อ.เปรมทำเอาไว้ ที่เป็นความดี ทั้งเรื่องส่วนตัวและสังคม

                หากนำมาเทียบกับความเกลียดชังที่บางคนถูกสั่งสอนมา และเทียบกับความรักประเทศรักชาติแล้ว

                คนอย่าง พล.อ.เปรม ซึ่งได้รับการเชิดชูให้เป็นรัฐบุรุษ ย่อมมีค่ากว่าใครอีกหลายคนที่ก่นด่าประณามท่าน

.               พล.อ.เปรม ถึงแก่อสัญกรรม ในวันนี้

                ในสายตาผม นับเป็นความสูญเสียของรัฐและของชาติ แน่นอนผมเชื่อว่า การจากไปของท่าน ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อการเมืองการปกครองของประเทศอีกแล้ว

                คนที่ออกมาประณามท่าน น่าจะอายปากตัวเองบ้างไม่มากก็น้อย

                เพราะแม้จะสาปแช่งเช่นไร ประเทศเรา ก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรไปมากกว่าที่เป็นอยู่

                แต่หากหันไปสาปแช่งตัวเองเสียบ้าง น่าจะทำให้ชาติก้าวหน้าขึ้นก็ได้

                ครับ....

                วันนี้ เรื่องการเมือง "มี" แต่ไม่คุย

                ขอใช้พื้นที่ตรงนี้ "กราบส่งป๋า" ด้วยสำนึกในรัฐบุรุษผู้เกิดมาเพื่อแผ่นดินโดยแท้. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"