นักการเมืองกับเก้าอี้รัฐมนตรี


เพิ่มเพื่อน    

 หลังเลือกตั้งทุกครั้งจะเห็นธรรมชาติของนักการเมือง ที่วิ่งกันฝุ่นตลบเพื่อรวบรวมเสียงในการจัดตั้งรัฐบาลและต่อรองกระทรวงเกรดเอ แย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อเป็นเกียรติประวัติกับตัวเองและวงศ์ตระกูล โดยไม่ต้องสนใจว่าคุณวุฒิ คุณสมบัติ มีเพียงพอที่จะเข้ามาบริหารประเทศชาติบ้านเมืองหรือไม่ ขอให้ได้เก้าอี้รัฐมนตรีเป็นพอ อันที่จริงน่าจะมีการทดสอบคุณสมบัติ ตรวจสอบประวัติฉาว หรือแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ที่จะเข้ารับตำแหน่งแต่ละคนก่อนเข้ารับตำแหน่ง ช่วงนี้เราจะเห็นนักการเมืองออกสื่อรายวัน พูดถึงการจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่มีใครพูดถึงปัญหาปากท้องของประชาชนเลย ไม่มีการเดินสายยกมือไหว้อีกต่อไป นั่งกระดิกเท้าอยู่ในห้องแอร์เตรียมรับเงินเดือน แล้วไปนั่งหลับในสภารอจนครบวาระ เดี๋ยวก็เปลี่ยนคณะรัฐมนตรีเป็นสมบัติผลัดกันชม เหมือนเอาหนังม้วนเดิมมาวนฉายซ้ำ ประชาชนตาดำๆ ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ จะเจอคนเหล่านี้มาเดินยกมือไหว้อีกครั้งก็เฉพาะตอนหาเสียงเลือกตั้งครั้งต่อไป
    ประเทศไทยเหมือนกับ “บริษัท” ที่นักการเมืองผลัดกันเข้ามาบริหาร และกอบโกยผลประโยชน์แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ถ้าฝ่ายหนึ่งไม่ได้ก็หาทางกีดกันฝ่ายตรงข้ามโดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน นักการเมืองยังใช้วิธีเดิมๆ คือ การหาผลประโยชน์ใส่ตัวและเหยียบย่ำคู่แข่งโดยไม่คำนึงถึงความผิดหรือถูก เอาผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง และเมื่อมีการโกงก็จะมีการสืบทอดอำนาจกันเป็นช่วงๆ บางตระกูลมีการส่งต่อถึงลูกหลานเหมือนอุตสาหกรรมในครอบครัวเลยทีเดียว นักการเมืองมักจะอ้างอยู่เสมอว่าเขาเป็นตัวแทนจากประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งถ้าขุดลึกลงไปจะพบว่าตัวแทนเหล่านั้นส่วนใหญ่ได้มาจากการซื้อสิทธิ ขายเสียง หลอกลวง ใช้อิทธิและพลทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นส่วนใหญ่ จะมีสักกี่เสียงที่ได้มาตามแบบประชาธิปไตยที่แท้จริง บางคนบอกว่าหาตัวเลือกไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีเลือกคนที่เลวน้อยที่สุด คนที่ดีจริง มีความรู้ความสามารถก็ไม่อยากจะเอาตัวเองและชื่อเสียงเข้ามาพัวพันในวงการนี้
    ประชาชนอยากได้คณะรัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถ อุทิศตัวในการทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง รักษาผลประโยชน์ของประชาชน ไม่คอร์รัปชันหรือเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้อง ไม่รังแกข้าราชการประจำ คุณสมบัติแค่นี้ไม่น่าจะหายาก แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วเรายังไม่เคยมีรัฐมนตรีในดวงใจเลย เพราะส่วนใหญ่จะมาไวไปไวจนข้าราชการปรับตัวไม่ทันก็มี นโยบายก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ยิ่งถ้ามาจากคนละพรรคยิ่งต้องเปลี่ยน มิฉะนั้นจะเป็นการอ้างผลงานและมีการแฉกันออกสื่อ รวมทั้งเกทับกันตอนหาเสียง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมประชาธิปไตยของไทยยังคงย่ำอยู่กับที่ เพราะระบบการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส ทำให้เราได้นักการเมืองคุณภาพต่ำ พรรคการเมืองที่ขาดความน่าเชื่อถือ ระบบโควตารัฐมนตรีที่ปิดกั้นความสามารถของคนที่เหมาะสม ระบบนอมินีหรือพวกพ้องที่โยงกับผลประโยชน์และการคอร์รัปชันที่ไม่เคยหมดไปจากการเมืองไทย ประชาชนแค่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ไม่เคยได้ตัวแทนที่ถูกใจ เวลาถ่ายทอดสดการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เราจะเห็นผู้แทนอยู่สามประเภท ประเภทแรกคือ อภิปรายแบบบ้าน้ำลาย เยินยอตัวเอง เหน็บแนมฝ่ายตรงข้าม ประเภทที่สองคือ ถูกพาดพิง ลุกขึ้นมาประท้วงสาดโคลนกันไปมา และประเภทที่สามคือ นั่งหลับแบบไม่อายใคร เวลากล้องจับได้ก็อ้างว่าไม่สบายที่หลับเพราะเป็นผลจากฤทธิ์ยา กี่ปีมาแล้วที่เราเห็นภาพแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมา แล้วเมื่อไหร่เราจะเห็นนักการเมืองที่ทำงานสมราคากับภาษีที่เราจ่ายไปเสียที.

            จิตติมา กุลประเสริฐรัตน์

            ([email protected])
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"