ที่ประชุมสภาผู้แทนฯ สร้างประวัติศาสตร์ ใช้เวลากว่า 10 ชั่วโมง เกมซ้อนเกม 2 ขั้วการเมืองชิงไหวชิงพริบไม่พอ พลังประชารัฐหอบแดด โดยประชาธิปัตย์แท็กทีมภูมิใจไทยต่อรองเก้าอี้ ครม. ทำให้เลือกได้แค่ประธาน ผลโหวต "ชวน" ชนะ "สมพงษ์" 258 ต่อ 235 เสียง เพื่อไทยยอมรับมี "งูเห่า" เลื้อย 7 ตัว เตรียมหาว่าเป็นใคร ขณะ "ปู่ชัย" ลากสังขารไม่ไหว นัดประชุมเลือกรองประธานอีก 2 คนวันอาทิตย์
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่หอประชุมบริษัททีโอที ถ.แจ้งวัฒนะ ซึ่งถูกใช้เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว เพื่อเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร มี ส.ส.จากหลายพรรคการเมืองทยอยเดินทางเข้าประชุมตั้งแต่ช่วงเช้า และมีความเห็นกรณีการโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังจากมีความคลุมเครือมาตลอดทั้งสัปดาห์
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เปิดเผยก่อนการประชุมว่า พรรคภูมิใจไทยจะยกมือโหวตให้นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานสภาฯ เพราะมีความเหมาะสม เป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมือง และมีบารมี อีกทั้งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึงเคยเป็นประธานรัฐสภามาก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคภูมิใจไทยได้ตำแหน่งรองประธานคนสภาฯ คนที่ 2 ใช่หรือไม่ เพราะมีชื่อของนายศุภชัย โพธิ์สุ นายอนุทินกล่าวว่า “ก็เสนอ โอ้! ทำไมรู้ก่อนผมอีก”
ถามต่อว่าการที่ยกมือโหวตให้นายชวนแสดงว่าพร้อมร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐแล้วใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า “ทีละสเต็ป”
เมื่อถามว่า ปกติตำแหน่งประธานสภาฯ จะเป็นของพรรคใหญ่ หรือพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นายอนุทินตอบว่า “พรรคภูมิใจไทยก็แฮปปี้กับท่านนายกฯ ชวน แต่อย่างไรก็ตาม ต้องดูว่าจะมีผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นประธานสภาฯ อีกหรือไม่”
ด้านนายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ยืนยันว่าพรรคชาติพัฒนายินดีจะโหวตนายชวนเป็นประธานสภาฯ แน่นอน
ขณะที่นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกระแสข่าวพรรคพลังประชารัฐอาจจะมีการเสนอชื่อตนเป็นประธานว่า ทราบว่าพรรคประชาธิปัตย์มีมติส่งนายชวน แต่ถ้าพรรคพลังประชารัฐมีมติเสนอชื่อตนชิงในตำแหน่งเดียวกัน ตนก็มีความพร้อมที่จะทำหน้าที่ แต่เรื่องนี้ต้องตระหนักถึงประชาชนไม่ให้เกิดความสับสน เพราะวันนี้ประชาชนใจจดใจจ่อว่าเมื่อไหร่ถึงจะจัดตั้งรัฐบาลได้ หากไปสร้างความแตกแยกหรือรอยร้าวในการจัดตั้งรัฐบาล จะต้องคิดดูอีกที ซึ่งการจะทำอะไรก็แล้วแต่ จะต้องให้การจัดตั้งรัฐบาลบรรลุล่วงไปได้ เนื่องจากเรารอมานานแล้ว ทั้งนี้ ตนพร้อมปฏิบัติตามมติพรรค หากไม่ส่งก็ไม่เป็นไร เพราะขณะนี้เราตระหนักถึงการจัดตั้งรัฐบาลเป็นหลัก
"ชวน"ยังไม่พูด
เขากล่าวว่า ในอดีตก็เคยเกิดขึ้น พรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้วไม่ได้ตำแหน่งประธานสภาฯ เพราะมันต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ส่วนจะให้ไปนั่งตำแหน่งรองประธานสภาฯ หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับมติพรรคในการเสนอชื่อ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีพรรคเสนอชื่อนายชวน ว่า เป็นเรื่องขั้นตอนการเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ
เมื่อถามว่าการที่พรรคส่งนายชวน แสดงว่าพรรคที่จะร่วมงานกับ ปชป.จะโหวตให้กับนายชวนใช่หรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า ได้ประสานงานต่างๆ แล้ว แต่ขอไม่บอกว่ามีพรรคใดบ้าง แต่มีความมั่นใจว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอ จนทำให้นายชวนเข้าไปทำหน้าที่ประธานสภาฯ ได้ และขอความกรุณา ส.ส.ช่วยกันสนับสนุน เพราะถือว่านายชวนเป็นนักการเมืองต้นแบบของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะช่วยให้รัฐสภาของเรามีศักดิ์ศรี เพราะนายชวนเป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์ มีความซื่อสัตย์สุจริต ส่วนเรื่องของการร่วมรัฐบาลไม่ได้มีการพูดถึง เพราะต้องดูว่ามีพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะเชิญหรือไม่
ด้านนายชวนปฏิเสธการตอบคำถาม และกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ขอให้ผลการเลือกเสร็จสิ้นก่อน
ส่วนความเคลื่อนไหวของฝั่งพรรคเพื่อไทยนั้น นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ก่อนที่จะมีการประชุมสภาเพื่อเลือกประธานและรองประธานสภาฯ ว่า ทางพรรค พท.และพรรคร่วมรวม 7 พรรคมีมติที่จะโหวตไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งพรรค พท.จะเสนอชื่อนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พท. ชิงตำแหน่งประธานสภาฯ แม้เราจะทราบว่ามีความพยายามในการที่จะเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ที่ประชาชนตัดสินใจมา แต่เราจะยืนยันสิ่งนี้
เมื่อถามว่า ได้มีการประสานงานกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอชื่อนายชวนชิงตำแหน่งประธานสภาฯ หรือไม่ เลขาธิการพรรคเพื่อไทยตอบว่า อย่างที่เรียนว่าเจตนารมณ์ของพวกเราทั้ง 7 พรรคชัดเจน เราจะเลือกตามเสียงที่พี่น้องประชาชนว่ามา โดยการเรียงลำดับพรรคที่ได้คะแนนอันดับ 1-3 แต่ทั้งหมด เวลานี้เรายังเปิดถึงวินาทีสุดท้ายที่จะเข้าไปว่าเราจะเอาอย่างไร แต่สำหรับพรรคเพื่อไทย หากเราจะต้องเป็นผู้เสนอชื่อ เราก็อยากเสนอชื่อคนจากพรรคของเรา แต่หากมีการร่วมมือกันแล้วทำให้สิ่งต่างๆ สำเร็จขึ้นได้อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น
ถามว่า มั่นใจได้อย่างไรว่าเสียงของพรรคร่วมจะไม่แตก นายภูมิธรรมกล่าวว่า เรามั่นใจในเจตนารมณ์ที่พี่น้องประชาชนมอบให้เรา และเชื่อมั่นว่าพวกเราทั้งหมดจะแข็งแรงทั้งหมด
ขณะที่นายสมพงษ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมโหวตเลือกประธานสภาฯ ว่า หากมีใครเสนอชื่อต้องดูในข้อเท็จจริง และหาก 7 พรรคสนับสนุนอย่างไรก็ต้องเป็นไปอย่างนั้น
"สมพงษ์"ไม่เชื่อเสียงแตก
ผู้สื่อข่าวถามว่ามั่นใจว่าเสียงจะไม่แตกใช่หรือไม่ นายสมพงษ์ตอบว่า เราไม่เชื่อว่าพวกเราเสียงจะแตก เราเคารพคุณชวนเป็นอย่างมาก คลุกคลีกันมากว่า 30 ปี เป็นผู้แทนฯ มาด้วยกัน แต่ในส่วนของสังกัดเราอยู่ในส่วนของประชาธิปไตย ส่วนของคนอื่นจะเป็นอย่างไรไม่รู้ เมื่อเป็นแคนดิเดต ก็ต้องแข่งกัน แพ้ชนะเรื่องของเกม
"เป็นเรื่องของความเข้าใจกันในสภา เรามาเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนในสภา เมื่อไปพูดอะไรกับประชาชนไว้แล้วตระบัดสัตย์ คราวหน้าประชาชนก็ไม่เลือก ทุกอย่างประชาชนเขาอ่านออก" นายสมพงษ์กล่าว
ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ นำทีม ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ 78 คน มาพร้อมกันด้วยรถบัสสองคัน ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม หลังจากประชุมแนวทางการลงมติประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ที่ทำการพรรคอนาคตใหม่
โดยนายปิยบุตรให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการลงมติและรายชื่อรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ในสัดส่วนพรรคอนาคตใหม่ว่า ใช่ แต่ไม่ใช่ตนเองแน่นอน ยืนยันว่า 7 พรรคยังเป็นเอกภาพในการลงคะแนนเลือกประธานและรองประธาน ไม่มีงูเห่าพรรคอนาคตใหม่แน่นอน
ด้านนายธนาธรกล่าวว่า ส่วนของผมไม่มีอะไรมาก รอเพียงนายชัย ชิดชอบ ประธานชั่วคราววินิจฉัยเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อรองประธานคนที่ 1 พรรคต่อต้าน คสช. จะเสนอในสัดส่วนของพรรคอนาคตใหม่คือ น.ส.เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ ส่วนรองประธานคนที่สองของพรรคเสรีรวมไทย คือ นพ.ประสงค์ บูรณ์พงศ์
ด้านนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ กล่าวว่า ยืนยันในจุดยืนเดิมมาโดยตลอด ส.ส.ของพรรคทั้ง 6 คนยังอยู่ด้วยกันครบ เรื่องการเลือกประธานสภาฯ ต้องรอฟังว่าจะมีการเสนอชื่อนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หรือไม่ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับ 7 พรรคร่วม แม้เพื่อไทยจะเป็นฝ่ายค้านก็พร้อมเป็นฝ่ายค้าน
ต่อมาเวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมใหญ่ทีโอที ถ.แจ้งวัฒนะ มีการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 เป็นครั้งแรก โดยมีนายชัย ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะอาวุโสสูงสุด ทำหน้าที่ประธานการประชุมชั่วคราว มีองค์ประชุมทั้งหมด 494 จาก 497 คน
ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า มีเสียงหลายทิศทางดักมาว่า หลังจบวาระที่ 1 จะไม่มีการประชุมตามระเบียบวาระที่ 2-3 คือการเลือกตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงอยากขอความมั่นใจจากประธานว่า จะมีการประชุมเป็นไปตามระเบียบวาระหรือไม่
ขอเลื่อนประชุม
จากนั้น นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ เสนอญัตติขอเลื่อนการประชุม เพื่อเลือกประธานและรองประธานออกไปก่อนทันที แต่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติให้เดินหน้าการประชุมเพื่อเลือกประธานและรองประธานต่อไป เพราะประเทศชาติเสียหายมามากแล้ว พร้อมกับขอให้นายวีระกรชี้แจงเหตุผลว่าทำไมถึงขอเลื่อน ทำให้ขณะนี้ที่ประชุมเสียเวลากับการถกเถียงประเด็นดังกล่าวนาน 20 นาทีแล้ว และยังไม่มีข้อยุติ
นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า เหตุที่ขอเสนอเลื่อน เนื่องจากช่วงเย็นเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา พรรคมีมติเสนอคนของตัวเองแข่งขันตำแหน่งประธานสภาฯ แต่ในเวลาเดียวกัน ผู้ใหญ่ของพรรคได้ไปพูดคุยกับพรรคการเมืองต่างๆ และข้อสรุปออกมาช่วง 20.00-21.00 น. ขณะเดียวกันพรรคชาติไทยพัฒนาก็มีมติจะสนับสนุนบุคคลจากพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้นหากปล่อยให้มีการโหวต และยังไม่กลับมติ เกรงว่าจะนำเรื่องดังกล่าวไปร้องเรียน เราจึงขออนุญาตว่า ถ้ามีโอกาสได้เลื่อนก็ขอให้เลื่อน ซึ่งเชื่อจะเลื่อนเพียงไม่กี่วัน
จากนั้น นายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปไตยใหม่ ได้สนับสนุนให้มีการเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากเป็น ส.ส.ใหม่เพิ่งเข้าสภา จึงอยากศึกษาข้อบังคับสภาให้ชัดเจน ดังนั้นการเลื่อนออกไปก่อนคงไม่ทำให้เสียหายมาก
ทำให้นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายว่า หากมีการเลื่อนออกไปมันน่าอายประชาชน วันนี้วาระการประชุมก็มีเพียงหนึ่งวาระ ถ้าเลือกไม่ได้มันน่าอาย ขอให้วันนี้มีการเลือกประธานสภาฯ ให้ได้
ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า อยากให้ความไม่พร้อมของบางคนมาหยุดยั้งการทำหน้าที่ของสภา ถึงอย่างไรวันนี้ต้องมีการเลือกประธานสภาฯ ให้ได้
ในเวลาต่อมา ระหว่างที่ห้องประชุมกำลังโต้เถียงการเลือกประธานสภาฯ อยู่นั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ส.ส.จากพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์จำนวนมากพร้อมใจกันเดินออกจากห้องประชุม
กระทั่งเวลา 11.50 น. ภายหลังจากที่ ส.ส.อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง และยังไม่สามารถหาข้อสรุปในเรื่องการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ นายชัย ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานการประชุม ได้สั่งพักการประชุม และเปิดประชุมอีกครั้งในเวลา 13.00 น.
ด้านนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเจ้าขอญัตติขอเลื่อนประชุม กล่าวภายหลังประธานที่ประชุมสั่งเบรกประชุมว่า เมื่อเปิดประชุมอีกครั้ง ตนจะขอถอนญัตติดังกล่าวออก ขอให้มั่นใจว่าวันนี้เราจะได้ประธานสภาฯ แน่นอน เหตุที่ตนขอเลื่อนเพราะปัญหาภายในพรรคของเรายังไม่ลงตัว แต่ขณะนี้เราได้แก้ปัญหานั้นแล้ว
ข้อตกลงไม่ลงตัว
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ดีลระหว่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ในการยกมือเพื่อโหวตสนับสนุนประธานสภาผู้แทนราษฎรเกิดสะดุด เนื่องจากนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอตัวชิงไม่ยอมให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เป็นตำแหน่งดังกล่าว ทำให้เป็นที่มาของพรรคพลังประชารัฐขอเสนอเลื่อน ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยขอให้ที่ประชุมดำเนินการตามระเบียบวาระ
รายงานข่าวจากพลังประชารัฐแจ้งว่า ในช่วงค่ำเมื่อวันที่ 24 พ.ค. แกนนำพรรคพลังประชารัฐและคีย์แมนจากรัฐบาล นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมตรี ได้ทำการหารืออย่างเคร่งเครียด โดยมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ไม่สามารถยอมให้นายชวนขึ้นเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งได้ เนื่องจากจะเป็นการทำให้ ปชป.มีอำนาจต่อรองมากเกินไป ทั้งที่มี ส.ส.แค่ 52 เสียง แต่กลับได้ตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ
อีกทั้งรับไม่ได้กับเงื่อนไขเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะถ้านายชวนได้เป็นประธานรัฐสภา จะทำให้มีการผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งพรรคพลังประชารัฐและ คสช.ไม่สามารถรับได้ และต้องการผลักดันนายสุชาติ ตันเจริญ ให้เป็นประธานสภาตามเดิม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระแสข่าวดังกล่าวได้เริ่มแพร่สะพัดในช่วงเช้าที่บริเวณห้องจัดเลี้ยงอาคารทีโอที โดยเริ่มมีการพูดกันในกลุ่ม ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ว่าอาจจะไม่มีการเลือกประธานสภาฯ ในวันนี้ และก็มีการพูดต่อๆ กันไปในห้องประชุม
ระหว่างพักการประชุม หัวหน้าพรรคการเมืองขั้วพรรคเพื่อไทยเปิดแถลงข่าวเรียกร้องให้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกประธานและรองประธานสภาฯ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 25 พ.ค.
โดย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วาระการประชุมเพื่อเลือกประธานสภาฯ กำลังถูกถกเถียงและทำท่าว่าจะมีการเลื่อนออกไป ขณะที่ปัญหาของประชาชนมีมากมาย พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่าไม่สมควรที่จะเลื่อนวาระการประชุมออกไป พรรคเพื่อไทยและแนวร่วม 7 พรรค เห็นพ้องให้สภาดำเนินการประชุมต่อไปจนแล้วเสร็จในภาคบ่ายวันนี้
ขั้วเพื่อไทยไม่ให้เลื่อน
ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า แกนนำทั้ง 7 พรรคได้มีการประชุมร่วมกันและมีมติ ยืนยันว่าสภามีบุคลากรที่เหมาะสม พร้อมเป็นประธานและรองประธานสภาฯ จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องมีการเลื่อนการประชุมออกไป กรณีที่บางพรรคต้องการเลื่อนการประชุมนั้น 7 พรรคเห็นตรงกันว่าเป็นการเลื่อนเพื่อสืบทอดอำนาจ จึงไม่สมควรที่จะต้องเลื่อนการประชุมเพื่อแก้ปัญหาให้กับพรรคใดพรรคหนึ่ง นอกจากนี้ ประธานสภาฯ เป็นตำแหน่งสำคัญ จึงขอเรียกร้องไปยังประธานที่ประชุม ไม่ให้เลื่อนการประชุมหรือสั่งปิดประชุมในวันนี้
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ระบุว่า วาระการประชุมมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เป็นการเลือกประธานและรองประธานสภาฯ เมื่อได้ตัวประธานสภาฯ มาปฏิบัติหน้าที่ ขั้นตอนต่อไปประธานจะต้องมีการเชิญประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี และจะมีคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน พวกเราเป็น ส.ส.กินเงินเดือนจากภาษีของประชาชน แม้แต่ข้าราชการที่มาจัดประชุม และค่าเช่าอาคารที่ใช้เป็นสถานที่ประชุม ต้องมีค่าใช้จ่ายเดือนละเป็นล้านบาท
"ทำไมเรามักง่ายเห็นแก่พวกพ้อง เราไม่พร้อม แต่ประชาชนพร้อม ทำเป็นเล่นๆ ได้อย่างไร อยากให้นึกถึงบุญคุณของประชาชนที่ท่วมหัวเรา งานและภาระของสภามีอีกมากมาย ดังนั้นจึงควรเลือกประธาน และรองประธานสภาฯ ให้เสร็จสิ้นภายในวันนี้" นายวันนอร์กล่าว
นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า หากจะเลื่อนการประชุมเพราะเหตุผลเกี่ยวกับปัญหาปากท้องถึงเป็นความเป็นความตายของประชาชนพวกเราเห็นด้วย แต่เรื่องนี้เป็นปัญหาส่วนตัวของใครบางคน จึงไม่สมควรจะทำ และขอให้ผู้ที่เสนอเลื่อนการประชุมหรือปิดประชุมช่วยถอนวาระนี้ออกไป เพื่อเห็นแก่ชาติบ้านเมือง
ด้านนายศุภกิจ อากาศฤกษ์ รักษาการหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ กล่าวว่า 7 พรรคพร้อมส่งตัวแทนเป็นประธานและรองประธานสภาฯ การเสนอให้เลื่อนการประชุมออกไป ส่อให้เห็นถึงความไม่พร้อมของอีกฝ่ายหนึ่ง
นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย กล่าวว่า การประชุมในวันนี้มีแค่ 3 วาระ แต่ดูเหมือนยากเหลือเกิน เราต้องมีประธานสภาฯ เพื่อเดินหน้าประเทศ การเลื่อนประชุมเท่ากับทุจริตเวลา วันนี้เป็นวันแรกที่พวกเราเริ่มทำงาน ภาษีของประชาชนถูกจ่ายออกมาแล้ว จึงขอให้ใช้เวลาทุกนาทีให้เป็นประโยชน์
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เราทราบมาก่อนเข้าประชุมว่าเหตุผลที่ยังไม่สามารถเลือกประธานสภาฯ ได้ เพราะพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ยังตกลงผลประโยชน์กันไม่ได้ พวกเราทั้ง 7 พรรคยืนยันว่าในวันนี้จะต้องเลือกประธานสภาฯ ให้ได้ และขอฝากไปถึงคนที่กำลังจัดตั้งรัฐบาลว่า วันนี้ยังลำบาก การตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ วันหน้าจะเป็นอย่างไร และฝากถึงคนร่างกฎหมายด้วยว่า ภาพอัปลักษณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นเพราะคนร่างกฎหมาย
"ไอติม"สอนมวย ปชป.
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ทวีตในทวิตเตอร์ส่วนตัวชื่อ “Parit Wacharasindhu” พร้อมข้อความระบุว่า ประเทศกลับมาอยู่จุดที่ต้องลุ้นกันว่า “เลื่อนไม่เลื่อน?” โดยไม่ทราบเหตุผลได้อย่างไร
นอกจากนี้ยังโพสต์ด้วยว่า ส.ส.พรรคประชาธิปไตยใหม่ ขอเลื่อนการประชุมสภาเพราะบอกว่าอยากไปศึกษาข้อบังคับก่อน เหมือนเด็กนักเรียนขอเลื่อนวันสอบ เพราะว่ามัวแต่ไปเที่ยวและไม่ได้ทวนหนังสือเอง ประชาธิปไตยใหม่สมชื่อจริงๆ
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาภายในของพรรคพลังประชารัฐ ที่คาดว่าจะเกิดการตกลงที่ไม่ลงตัว ซึ่งพรรรคประชาธิปัตย์ แม้จะเป็นพรรคที่เตรียมเสนอชื่อนายชวน แต่ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะเป็นเรื่องที่พรรคใหญ่ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต้องเป็นผู้พิจารณา พรรคประชาธิปัตย์เป็นฐานะพรรคขนาดกลาง ไม่มีสิ่งที่ต้องพิจารณา แม้ว่าจะเป็นพรรคที่เสนอชื่อบุคคลดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ ขณะที่การประชุมที่มีแนวโน้มจะเลื่อนออกไปนั้น เชื่อว่าเป็นความต้องการของพรรคพลังประชารัฐเพื่อขอเวลาแก้ปัญหา
ต่อมาเวลา 13.00 น. นายชัย ในฐานะประธานการประชุม ได้เปิดประชุมอีกครั้ง แต่ยังไม่มี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐเข้าห้องประชุม ทำให้นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย และนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ลุกขึ้นขอหารือให้เดินหน้าเลือกประธานสภาฯ และขอให้กดออดเรียก ส.ส.เข้าประชุมอีกครั้ง
กระทั่งนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เดินเข้าห้องประชุม พร้อมแจ้งว่า เนื่องจากสมาชิกพรรคมีการหารืออยู่ข้างนอก จึงขอเวลา 5 นาที ขณะที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐเริ่มทยอยเข้ามาในห้องประชุม โดยมีนายวิรัชเดินไปพูดคุยกับแกนนำพรรคต่างๆ ที่จะเข้าร่วมรัฐบาลอย่างเคร่งเครียด
จากนั้นนายชัยสั่งให้โหวตญัตติของนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอค้างไว้เมื่อช่วงเช้า โดยขอให้เลื่อนการประชุมสภาออกไปก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการขานชื่อ ส.ส.แบบรายบุคคล เป็นที่น่าสังเกตว่าในฝั่งของพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมอีก 6 พรรค ไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว ตรงกันข้ามกับพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย รวมทั้งพรรคเล็ก ที่เห็นด้วยให้เลื่อนการประชุมดังกล่าวออกไปก่อน
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการโหวต มี ส.ส. 5 คนจากพรรคพลังประชารัฐ ขอกลับการลงคะแนนขอตัวเอง ทำให้ที่ประชุมอภิปรายกว้างขวาง โดยฝั่งพรรคเพื่อไทยท้วงว่าไม่สามารถขอแก้ไขได้ เพราะได้ใช้สิทธิ์ไปแล้ว และไม่มีข้อบังคับการประชุมข้อใดอนุญาต
เดินหน้าเลือกประธานสภาฯ
กระทั่งเวลา 15.40 น. นายชัยแจ้งผลการนับคะแนนว่า เห็นชอบ 246 ไม่เห็นชอบ 248 งดออกเสียง 2 เสียง หรือหมายความว่าให้ดำเนินการเลือกประธานสภาฯ
กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการลงมติครั้งนี้ขั้วพรรคพลังประชารัฐแพ้โหวตขั้วเพื่อไทย ซึ่งจะทำให้เสียงสนับสนุนรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎรมีปัญหาในอนาคตอย่างแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการลงคะแนนพบว่านายชวนและ ส.ส.ของพรรคหลายคนได้โหวตเห็นด้วยกับการเลื่อนวาระออกไปก่อน แต่พบว่ามีผิดปกติในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะนายอนุชา นาคาศัย หรือเสี่ยแฮงค์ กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ แกนนำกลุ่มสามมิตร ได้โหวตไม่เห็นด้วย แต่ได้ขอแก้มติเป็นเห็นด้วยให้เลื่อนในภายหลัง
ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการงดออกเสียงให้เลื่อนการเลือกประธานสภาฯ ว่า ได้มีการขออนุญาตกับผู้ใหญ่ภายในพรรคแล้วว่าการงดออกเสียงเป็นเรื่องของเอกสิทธิ์ เพราะตนไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการเลื่อนการเลือกประธานสภาฯ ออกไป ถ้าไม่พร้อมก็ควรจะทำก่อนที่จะมีการประชุม เนื่องจากสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้นัดประชุมล่วงหน้ามาแล้ว ก็ไม่ควรมีการมัดมือชก จนทำให้สมาชิกเดือดร้อน
“การโหวตของผมเป็นเชิงสัญลักษณ์ เพราะแคร์ความรู้สึกของประชาชนที่รอการก้าวเดินของประชาธิปไตย และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นหากเลื่อนการประชุมสภาฯ ออกไป ก็ต้องเลื่อนเวลาเลือกนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้งรัฐบาลด้วย ทั้งนี้ใจจริงไม่เห็นด้วย แต่ก็ใช้วิธีการงดออกเสียง"
เมื่อถามว่า การโหวตครั้งนี้สวนทางกับสมาชิกคนอื่นในพรรคประชาธิปัตย์ นายเทพไทกล่าวว่า คนอื่นก็คงโหวตด้วยความจำเป็น และรักษามารยาท แต่ตนอาจไม่มีมารยาท เพราะมาจากประชาชน ก็ต้องแคร์ประชาชน และกระแสสังคมต้องการให้มันเดินหน้าไป อย่าไปเสียเวลาเล่นเกม เราว่างเว้นสภามาถึง 5 ปีแล้ว อย่าให้ประชาชนสิ้นหวัง
ถามว่าการเลือกประธานสภาฯ ดูเหมือนแนวโน้มพรรคประชาธิปัตย์จะไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐใช่หรือไม่ นายเทพไทกล่าวว่า วันนี้เป็นเพียงการพูดคุยในเรื่องฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนฝ่ายบริหารเป็นเรื่องของอนาคต ไม่ได้ตกลงอะไร ก็ต้องรอดูไปก่อน และไม่ปิดโอกาสฝ่ายใด แต่ส่วนตัวแล้วยังเชื่อมั่นในรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ เพราะแค่ยกแรกวันนี้ คะแนนก็ห่างกันเพียง 2 เสียง ถ้าทิ้งเวลาไปก็อาจจะเจอวิกฤติ สภาเดินต่อไม่ได้ รัฐบาลเดินไม่ได้ เสียหายต่อประชาธิปไตย เพราะเสียงที่เลือกประธานสภาฯ ก้ำกึ่งกัน ก็คือเดดล็อกทางตันการเมือง ดังนั้นควรจะหันหน้าคุยกันได้หรือไม่ ตนอยากให้คิดถึงบ้านเมืองมากกว่าการเมือง เพราะถ้าทอดเวลาออกไป ก็จะมีการเจรจาต่อรองอีก
พปชร.แห่ขอแก้มติ
นอกจากนี้ยังพบว่ายังมี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐอีกหลายคน อาทิ นายอัครวัฒน์ อัศวเหม ส.ส.สมุทรปราการ, นายอนุชา น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก, นายอัฏฐพล โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี, นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา ขอแก้มติมาเป็น “เห็นด้วย” เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการลงคะแนนยังคงมีกระแสข่าวแพร่สะพัดว่า ตามที่พรรคพลังประชารัฐ เสนอให้มีการเลื่อนเลือกประธานสภาฯ ท่ามกลางกระแสข่าวว่าการดีลกันระหว่างพรรค พปชร.กับพรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงตัว โดยแกนนำกลุ่มสามมิตร ไม่เห็นด้วยที่จะสนับสนุนนายชวน อาจเป็นการลงคะแนนแตกแถวและมีการมาแก้ไขทีหลัง
ขณะที่การลงคะแนนเลือกประธานสภาผู้แทนฯยังคงดำเนินต่อไป เวลา 15.40 น. ที่ประชุมเข้าสู่ระเบียบวาระที่สอง คือเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่นายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ เสนอนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
ทั้งนี้ ขั้นตอนการออกเสียงลงคะแนนจะใช้วิธีการลงคะแนนลับในคูหาลงคะแนน โดยสมาชิกต้องลงชื่อรับบัตรออกเสียงจากเจ้าหน้าที่ ก่อนเขียนชื่อบุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ เพียงชื่อเดียวบนบัตรออกเสียง ก่อนหย่อนลงหีบบัตร
ขณะที่การนับคะแนนได้ตั้งตัวแทน ส.ส.จากที่ประชุมเป็นกรรมการนับคะแนน อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการออกเสียงดังกล่าวยังมีสมาชิกติดใจ ทำให้ นายชัยต้องพักการประชุมและชี้แจงรายละเอียด ก่อนจะกลับมาเริ่มประชุมและเรียกสมาชิกลงคะแนนทีละคน ในเวลา 17.00 น. และเสร็จสิ้นการลงคะแนนเป็นรายบุคคล เมื่อเวลา 18.00 น. ก่อนจะลงมือนับคะแนน
โดยผลปรากฏว่า นายชวนชนะโหวตด้วยเสียงข้างมาก 258 เสียง ขณะที่นายสมพงษ์ได้รับเสียงสนับสนุน 235 คะแนน และมีผู้งดออกเสียง 1 เสียง
ทั้งนี้ ก่อนการเริ่มนับคะแนน นายชัยระบุว่า มีผู้ลงคะแนนทั้งสิ้น 494 คน จากผู้ที่เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 496 คน โดยพบผู้ไม่ลงคะแนนทั้งสิ้น 2 คน ได้แก่ นายชัย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุม ของดใช้สิทธิ์เพื่อวางตัวเป็นกลาง และนายกนก ลิ้มตระกูล ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย ขณะที่มีสมาชิก 1 คนลาการประชุมคือ นางจุมพิตา จันทรขจร ส.ส.นครปฐม พรรคอนาคตใหม่
งูเห่าโผล่ 7 ตัว
เป็นที่น่าสังเกตว่า 7 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคพลังปวงชนไทย เดิมรวม 245 เสียง แต่เมื่อตัดนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งศาล จะเหลือ 244 เสียง โดยก่อนหน้านี้ทั้ง 7 พรรคยืนยันว่าจะโหวตเลือกประธานสภาฯอย่างเป็นเอกภาพ ไม่มี ส.ส.แตกแถว
ขณะที่ในช่วงลงคะแนนเลือกประธานสภาฯ เสียงของ 7 พรรคเหลือเพียง 242 เสียง เนื่องจากนายกนก และอีก 1 ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ลาป่วย แต่เมื่อปรากฏผลคะแนนที่เลือกนายสมพงษ์ ตัวแทนจาก 7 พรรคได้เพียง 235 เท่ากับหายไป 7 เสียง
หลังจากมติของสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายชวน ให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ นายสมพงษ์ได้เดินเข้าไปแสดงความยินดี ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส.จากหลายพรรคการเมืองต่างเข้าไปแสดงความยินดีจำนวนมาก ขณะที่นายชวนยังได้เดินเข้ามาพื้นที่ของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เพื่อแสดงความขอบคุณเช่นกัน
ต่อจากนั้น นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ขอเสนอให้เลือกผู้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ตามลำดับต่อไป แต่นายชัยกล่าวว่า ขอให้เลือกในวันที่ 26 พ.ค. เวลา 09.00 น. และสั่งปิดประชุมเวลา 19.05 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการประชุมที่ยาวนานตลอดทั้งวันกว่า 10 ชั่วโมง เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงท้ายการประชุม นายชัยมีอาการเหนื่อยและพูดช้า เนื่องจากมีอายุมากถึง 91 ปี และหลังจากปิดประชุมต้องมีทีมพยาบาลมาดูแล เนื่องจากอาการปวดหลังกำเริบ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังผลการลงคะแนนเสียงโหวตเลือกประธานสภาฯ ว่าหลังจากการโหวตเลือกประธานสภาฯ เสียงของฝ่ายพรรคเพื่อไทยและพรรคที่ร่วมอุดมการณ์ได้คะแนนเสียง 235 เสียง หายไปประมาณ 7-8 คะแนนเสียง ก็ต้องยอมรับว่าขณะนี้งูเห่าเกิดขึ้นแล้ว ไม่รู้ว่าเป็นเพราะมีสิ่งใดโน้มน้าวจูงใจอะไรอย่างไรหรือไม่ แต่การจะพิสูจน์ผ่านการลงคะแนนเลือกประธานสภาฯ ที่ผ่านมาว่าเป็นใครบ้างคงลำบาก
“7 พรรคเราต้องรับผิดชอบร่วมกัน หลังจากนี้พรรคทั้ง 7 พรรคคงต้องไปตรวจตราดูว่ามีร่องรอยอะไรหรือไม่ ไปดูสมาชิกพรรคให้เข้มแข็งขึ้น เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย ก็ต้องไปดูว่าใครสุ่มเสี่ยงหรือมีพฤติการณ์เสี่ยงบ้าง อย่างไรก็ดี ในการโหวตเลือกรองประธานสภาฯ ในวันที่ 26 พ.ค. ก็ต้องสู้ไปตามเกม ซึ่งในส่วนของพรรคเพื่อไทย ได้วางวิปชั่วคราวทำหน้าที่ประสานงาน ส.ส.เอาไว้แล้ว” นพ.ชลน่านกล่าว
ไม่ใช่สัญญาณตั้งรัฐบาล
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นที่น่าพอใจ และเป็นไปตามมติพรรค แต่ไม่ได้หมายความว่ามีสัญญาณร่วมในการจับมือกันจัดรัฐบาล เพราะยังตอบไม่ได้ ต้องรอเลือกรองประธานสภาฯ ว่าผลจะออกมาอย่างไร ทั้งนี้ ยืนยันว่าการขอเลื่อนประชุมไม่ได้เป็นเกมการต่อรอง แต่เป็นปัญหาภายในของพรรคเอง
ด้านนายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท พรรคพลังประชารัฐ กล่าวยืนยันว่า การลงมติไม่เห็นด้วยให้เลื่อนการเลือกประธานออกไปนั้น เป็นความตั้งใจลงมติผิดเอง
ขณะที่นายชวนได้แถลงข่าวขอบคุณ พร้อมทั้งระบุว่า เดิมทีไม่ได้ตั้งใจมารับหน้าที่ แต่ด้วยความจำเป็นในฐานะที่มาจากการเลือกตั้ง และทำงานการเมืองมากกว่า 50 ปี ขณะนี้นักการเมืองถูกมองให้เสียหาย โดยต้องแยกให้ออกระหว่างความผิดของตัวบุคคลหรือองค์กร จึงต้องใช้โอกาสนี้ในการทำหน้าที่โดยใช้อำนาจอธิปไตยอาศัยความร่วมมือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด สร้างความเชื่อมั่นจากประชาชน และเป็นศูนย์กลางในการรับฟังปัญหาของประชาชน บทบาทของสมาชิก ส.ส.มีผลต่อความมั่นคงและความทุกข์สุขของประชาชน
ส่วนรายละเอียดที่ตนเองจะทำหน้าที่จะเป็นอย่างไร ต้องรอพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมลงมาก่อน ส่วนการที่พรรคมีประธานสภาผู้แทนราษฎรมีความจำเป็นจะต้องร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายชวนระบุว่า ขอให้ไปสอบถามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เอง แต่ยืนยันว่าไม่มีเงื่อนไขหรือการต่อรองในการโหวตให้ตนเอง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |