ยกแรก เปิดสภาฯ เดือด เลือกประมุขนิติบัญญัติ "ชวน หลีกภัย" นั่งประธานสภาฯ


เพิ่มเพื่อน    

 

       แค่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ก็ดุเดือด-เลือดพล่าน ปะทะคารม เชือดเฉือนทางการเมืองกันอย่างดุเดือด ระหว่าง ส.ส.ขั้ว พลังประชารัฐ กับ เพื่อไทย ที่มีพันธมิตรฯ อย่าง ”อนาคตใหม่” เป็นกองหนุน กับวาระสำคัญการเลือก ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็น ประธานรัฐสภา โดยตำแหน่ง ที่ก็คือ ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ หลังดีลการเมืองระหว่าง พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์ เรื่องการตั้งรัฐบาล-เลือกประธานสภาฯ พลิกไปพลิกมา

                 เนื่องจากการเจรจาต่อรองเรื่อง เก้าอี้ประธานสภาฯ ระหว่างพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ไม่ลงตัว

                หลังประชาธิปัตย์มีมติเสนอชื่อ ชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแคนดิเดตประธานสภาฯ ซึ่งเดิมทีมีข่าวว่า แกนนำพรรคพลังประชารัฐยอมเปิดทางให้ ด้วยการเฟด ”สุชาติ ตันเจริญ“ ที่เดิมพรรคจะให้ชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ มาเป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 1 แทน เพื่อซื้อใจประชาธิปัตย์ให้ยอมร่วมตั้งรัฐบาลกับพลังประชารัฐ

                ทว่าก็มีข่าวว่า ในช่วงค่ำเมื่อวันที่ 24 พ.ค. แกนนำพรรคพลังประชารัฐ และคีย์แมนจากรัฐบาล ตลอดจนแกนนำพรรคพลังประชารัฐหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มสามมิตร สายสมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ทำการหารืออย่างเคร่งเครียด โดยมีความเห็นสอดคล้องกันว่า พลังประชารัฐต้องมีคนของตัวเองเป็นประธานสภาฯ ไม่ใช่เปิดเก้าอี้ให้ประชาธิปัตย์ ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่พรรคแกนนำ เพราะพรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส. 115 เสียง การให้ ชวน หลีกภัย จากประชาธิปัตย์ มาเป็นประธานสภาฯ มาคุมเกมการเมืองในสภาฯ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อพรรคพลังประชารัฐในระยะยาว

                ที่สำคัญจนถึงขณะนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่ยอมแถลงท่าทีพรรคอย่างเป็นทางการว่าจะร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐหรือไม่ เหมือนกับแทงกั๊กไปเรื่อยๆ ดังนั้นหากพรรคพลังประชารัฐจะไปหนุน ชวน หลีกภัย มาเป็นประธานสภาฯ จึงไม่ใช่การวางแผนทางการเมืองที่ถูกต้อง

                กระแสข่าวพลังประชารัฐไม่ยอมถอย ไม่ยอมร่วมดันชวนขึ้นเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร กระแสข่าวดังกล่าวได้เริ่มแพร่สะพัด ในช่วงเช้าวันที่ 25 พ.ค. ตั้งแต่ในวงกินข้าว-วงกาแฟ ที่บริเวณห้องจัดเลี้ยงอาคารทีโอที สถานที่จัดประชุมสภาฯ โดยเริ่มมีการพูดกันในกลุ่ม ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ว่าอาจจะไม่มีการเลือกประธานสภาฯ ในวันนี้ และก็มีการพูดต่อๆ กันไปในห้องประชุม จนข่าวดังกล่าวเริ่มแพร่สะบัดไปทั่วบริเวณนอกห้องประชุมใหญ่ ที่มี ส.ส.จากทุกพรรคเข้าร่วมประชุม

                จนสุดท้าย กระแสข่าว ”เลื่อนเลือกประธานสภาฯ ออกไปก่อน เพราะพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ ตกลงกันไมได้” ก็เป็นความจริง เมื่อเริ่มเข้าสู่จังหวะที่ ชัย ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุมชั่วคราว เตรียมดำเนินการประชุมในวาระดังกล่าว ก็ปรากฏว่า “วีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พลังประชารัฐ ก็เสนอให้มีการเลื่อนระเบียบวาระการประชุมเลือกประธานสภาฯ ออกไปก่อน ท่ามกลางเสียงฮือฮาของที่ประชุม ที่ข่าวลือเป็นข่าวจริง

                จนส่งผลให้การประชุมสภาฯ นัดแรก ก็ดุเดือดเลือดพล่าน เพราะฝ่ายเพื่อไทยก็อ่านเกมออกว่า ดีลระหว่างพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ในเรื่องเก้าอี้ประธานสภาฯ มีปัญหา ต่อรองกันไม่ลงตัว ทำให้ ส.ส.เพื่อไทย อภิปรายในที่ประชุมคัดค้านการขอเลื่อนการเลือกประธานสภาฯ ออกไป โดยเน้นอภิปรายไปที่การเลื่อนดังกล่าวจะสร้างความเสียหายให้กับส่วนรวม ที่ผ่านมาผ่านการเลือกตั้งมาร่วม 2 เดือนกว่าแล้ว ขณะนี้ประชาชนกำลังรอให้มีรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ปัญหาประเทศ การเลื่อนการเลือกประธานสภาฯ ออกไปโดยไม่มีเหตุผล เพียงเพราะเกิดความไม่ลงตัวในพรรคการเมืองจนจะมาขอเลื่อนการเลือกประธานสภาฯ ออกไป เป็นเรื่องที่จะไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของสภาฯ ที่ประชาชนจับจ้องดูอยู่

                ท่าทีดังกล่าวของขั้วเพื่อไทย ก็เพราะพรรคเพื่อไทยประเมินแล้วว่า เมื่อฝ่ายประชาธิปัตย์กับฝ่ายพลังประชารัฐเสียงแตกกันเอง คือหากพลังประชารัฐเสนอชื่อ สุชาติ ตันเจริญ ชิงประธานสภาฯ แล้ว ประชาธิปัตย์ก็เสนอชื่อ ชวน หลีกภัย แข่งขัน ขณะที่เพื่อไทยก็เสนอชื่อ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ลงชิง เมื่อมีการโหวตที่จะลงคะแนนเสียงแบบลับ โดยที่คนที่จะได้รับเลือกเป็นประธานสภาฯ พบว่า ไม่ได้เขียนบอกว่า ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ดังนั้นหากชื่อไหนได้คะแนนเสียงมากที่สุด ก็จะเป็นประธานสภาฯ เพื่อไทยจึงมองว่า หากพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์เสียงแตกกันเอง ก็เข้าทางเพื่อไทยที่จะมีพรรคแนวร่วมอย่าง อนาคตใหม่-เพื่อชาติ-ประชาชาติ-เสรีรวมไทย-เศรษฐกิจใหม่ มาช่วยออกเสียงให้สมพงษ์ จนได้คะแนนมากที่สุด จนทำให้คนของเพื่อไทยได้เป็นประธานสภาฯ จึงทำให้ฝ่ายเพื่อไทยไม่ยอมให้เลื่อนการประชุมออกไป เพราะสถานการณ์กำลังได้เปรียบ

                จึงทำให้การประชุมดำเนินไปอย่างดุเดือด เข้มข้น และหลัง ส.ส.เพื่อไทย-อนาคตใหม่ ลุกขึ้นอภิปรายคัดค้านการเลื่อนการเลือกประธานสภาฯ ออกไปอย่างหนัก จนสถานการณ์ในห้องประชุม ฝ่ายพลังประชารัฐกำลังเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองอย่างหนัก

                จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้มีการเบรกเกมโดย วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ลุกขึ้นชี้แจงกลางที่ประชุมว่า ”เหตุที่ขอเสนอเลื่อน เนื่องจากช่วงเย็นเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา พรรคมีมติเสนอคนของตัวเองลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานสภาฯ แต่ในเวลาเดียวกันผู้ใหญ่ของพรรคได้ไปพูดคุยกับพรรคการเมืองต่างๆ และข้อสรุปออกมาช่วง 20.00-21.00 น. ขณะเดียวกันพรรคชาติไทยพัฒนาก็มีมติจะสนับสนุนบุคคลจากพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้นหากปล่อยให้มีการโหวต และยังไม่กลับมติ เกรงว่าจะนำเรื่องดังกล่าวไปร้องเรียน เราจึงขออนุญาตว่า ถ้ามีโอกาสได้เลื่อนก็ขอให้เลื่อน ซึ่งเชื่อจะเลื่อนเพียงไม่กี่วัน”

                อย่างไรก็ตาม ฝ่ายเพื่อไทยก็ยังรุกไล่อย่างต่อเนื่อง เช่น ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายว่า “หากมีการเลื่อนออกไปมันน่าอายประชาชน วันนี้วาระการประชุมก็มีเพียงหนึ่งวาระ ถ้าเลือกไม่ได้มันน่าอาย ขอให้วันนี้มีการเลือกประธานสภาฯ ให้ได้”

                 บรรยากาศการประชุมที่เคร่งเครียดดังกล่าว ส่งผลให้สุดท้าย วีระกร คำประกอบ จากพลังประชารัฐ ที่เสนอให้เลื่อนการเลือกประธานสภาฯ ออกไปก่อน ลุกขึ้นกล่าวกลางที่ประชุมว่า ขอให้พักการประชุมไว้ก่อน แล้วเมื่อกลับมาจะขอถอนข้อเสนอให้เลื่อนการพิจารณาเรื่องการเลือกประธานสภาฯ จนสุดท้าย ชัย ชิดชอบ ประธานการประชุมได้สั่งพักการประชุมเพื่อเบรกการประชุมอันเคร่งเครียด

                ระหว่างการพักประชุม ก็มีความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐ ที่มีการเรียกประชุมแกนนำ-ส.ส.ที่ห้องรับรองแห่งหนึ่งในอาคารทีโอที เพื่อหารือเรื่องดังกล่าวว่าจะเดินหน้าให้เลื่อนการเลือกประธานสภาฯ ออกไปก่อน หรือจะให้มีการเลือกประธานสภาฯ ให้จบไปเลย

                ท่ามกลางกระแสข่าวนอกห้องประชุมว่า แกนนำพรรคพลังประชารัฐต่อสายคุยกับคนในรัฐบาล คสช.แล้วเห็นว่า ควรให้มีการเลือกประธานสภาฯ ให้จบ ไม่ต้องเลื่อน และให้พลังประชารัฐสนับสนุนนายชวนเป็นประธานสภาฯ

                แต่แล้วเมื่อเปิดการประชุมสภาฯอีกครั้งในช่วงบ่าย วีระกร ส.ส.พลังประชารัฐ ก็ยืนยันต่อที่ประชุมอีกครั้งว่า ทางพรรคพลังประชารัฐหารือกันแล้วเห็นควรว่า ให้ยืนยันตามข้อเสนอเดิมคือ ให้เลื่อนการเลือกประธานสภาฯ ออกไปก่อน

                จนนำมาสู่การขานชื่อ ส.ส.รายบุคคล เพื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการให้เลื่อนระเบียบวาระการเลือกประธานสภาฯ ออกไปก่อน

                สุดท้ายเมื่อมีการขานผลการออกเสียง โดยที่มี ส.ส.พลังประชารัฐ 5 คน เช่น อนุชา นาคาสัย แกนนำกลุ่มสามมิตร ส.ส.ชัยนาท ออกเสียงผิด เพราะไปออกเสียงไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนการประชุมออกไป ทั้งที่ต้องออกเสียงว่า เห็นด้วย ก็ปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่ 248 เสียง เห็นด้วยกับการให้เดินหน้าเลือกประธานสภาฯ ต่อไป ขณะที่ 246 เสียง เห็นควรให้เลื่อนการประชุม โดยมีข่าวว่า ส.ส.พลังประชารัฐ 5 คนที่ขานมติผิดดังกล่าว เกิดจากเพราะระหว่างนั้น แกนนำประชาธิปัตย์กับพลังประชารัฐคุยกันลงตัวแล้ว และเห็นว่าไม่ควรเลื่อนการเลือกประธานสภาฯ ออกไป เลยให้ทั้ง 5 คนดังกล่าว ออกเสียงผิดจากแนวทางของพรรคพลังประชารัฐ

                เลยทำให้ฝ่ายขั้วเพื่อไทยชนะในกระดานแรก เฉียดฉิว 2 เสียง โดยมีคนงดออกเสียง 2 คนคือ ชัย ชิดชอบ และเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ประชาธิปัตย์ จนสุดท้าย ต้องกลับเข้าสู่การประชุมเพื่อเลือกประธานสภาฯ ต่อไป

                โดยฝ่ายพลังประชารัฐ เมื่อเห็นแล้วว่าฝ่ายประชาธิปัตย์ ส.ส.ทั้งหมด ยกเว้นเทพไท ออกเสียงไปในทางเดียวกับพลังประชารัฐ และคาดว่าแกนนำพรรคพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์คุยกันลงตัวแล้ว จึงทำให้ ณัฏพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ-ส.ส.บัญชีรายชื่อ เสนอชื่อ ชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาฯ ขณะที่ฝ่ายเพื่อไทยเสนอชื่อ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ลงประกบ

                ซึ่งผลการลงคะแนนลับของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ออกมาปรากฏว่า นายชวน หลีกภัย ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาฯ    

                เพียงแค่ยกแรกของการเปิดประชุมสภาฯ กับการเลือกประธานสภาฯ ในสถานการณ์ศึกชิงเสียงตั้งรัฐบาล ระหว่างขั้วเพื่อไทย-พลังประชารัฐ ก็เห็นเค้าลางแล้วว่า การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐ ยังไงก็ได้รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำแน่นอน หากไม่มีการ "ซื้องูเห่า" ข้ามขั้วจากเพื่อไทยมาอยู่กับพลังประชารัฐ ขณะเดียวกันการเผชิญหน้ากันในสภาฯ ระหว่างขั้วเพื่อไทยกับพลังประชารัฐ ก็เห็นชัดเจนว่า มีแนวโน้มดุเดือด-เข้มข้นแน่นอน เพราะแค่ยกแรก ประชุมสภาฯ วันแรก ยังดุเดือด มันส์ขนาดนี้ ยกต่อๆ ไปจากนี้ จะไม่แตกหักยิ่งกว่านี้หรือ!.

 

                                                                                                                                                ทีมข่าวการเมือง

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"