เป้าโจมตีอิหร่านหากการเจรจาล้มเหลว


เพิ่มเพื่อน    

 

      ความตึงเครียดระหว่างฝ่ายสหรัฐกับอิหร่านปะทุขึ้นอีกรอบ ฝ่ายสหรัฐในที่นี้ประกอบด้วยรัฐบาลสหรัฐ รัฐบาลกลุ่มประเทศอาหรับและอิสราเอล ต่างมองว่าอิหร่านมีพฤติกรรมเป็นภัยคุกคามเพื่อนบ้าน ในขณะที่อิหร่านย้ำว่าต้องการอยู่กับเพื่อนบ้านอย่างสันติ แต่เพราะรัฐบาลสหรัฐกับพวกที่พยายามปิดล้อมอิหร่านตั้งแต่หลังการปฏิวัติอิหร่าน 1979 เป้าหมายสุดท้ายคือล้มล้างระบอบอิหร่าน

ท่าทีของรัฐบาลทรัมป์ :

                รัฐบาลสหรัฐทุกสมัยต่างต่อต้านอิหร่านในระดับความเข้มข้นต่างกัน รัฐบาลที่แล้ว (สมัยโอบามา) ถูกฝ่ายซาอุฯ  โจมตีว่าเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ การก้าวขึ้นมาของประธานาธิบดีทรัมป์เปลี่ยนสถานการณ์จากหน้ามือเป็นหลังมือ ตีตราว่าอิหร่านคือภัยคุกคามสำคัญที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง เป็นรัฐอุปถัมภ์ก่อการร้าย ส่งเสริมกลุ่มก่อการร้ายอย่างฮิซบอลเลาะห์ ฮามาส และกองกำลังมุสลิมชีอะห์จากหลายประเทศทั่วโลก พยายามพัฒนาขีปนาวุธ (ballistic missile) มีความคิดสร้างอาวุธนิวเคลียร์ แทรกแซงกิจการภายในของเพื่อนบ้าน ละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯลฯ

                การยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์ 2015 เป็นกรณีตัวอย่างชัดเจนที่รัฐบาลทรัมป์ยกเลิกเพียงฝ่ายเดียว ทั้งๆ ที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency) ผู้กำกับดูแลยืนยันเรื่อยมาว่าอิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัด ประเทศคู่สัญญาอื่นๆ อย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร รัสเซีย จีน ล้วนพอใจกับข้อตกลง ช่วยให้มั่นใจว่าอิหร่านจะไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ อยู่ภายใต้การตรวจสอบขององค์กรระหว่างประเทศดังเช่นประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

                แต่ด้วยเหตุผลของฝ่ายสหรัฐดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลทรัมป์ออกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติมหลายอย่าง ล่าสุดคือขู่คว่ำบาตรทุกประเทศที่ซื้อน้ำมันจากอิหร่าน รวมทั้งประเทศที่แต่เดิมเคยรับการผ่อนผันเป็นกรณีพิเศษ เป็นความพยายามปิดล้อมอย่างรุนแรงที่สุด

สถานการณ์ตึงเครียด :

                ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านรัฐบาลทรัมป์กับรัฐบาลอาหรับหลายประเทศพูดเสียงเดียวกันอย่างพร้อมเพรียงว่าไม่คิดทำสงครามกับอิหร่าน แต่พฤติกรรมที่สวนทางคือสหรัฐส่งกองกำลังเสริมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กองเรือบรรทุกเครื่องบิน เครื่องรบ B-52, F-35, F-15 เตรียมพร้อมระบบต่อต้านขีปนาวุธ และอาวุธอื่นๆ อีกมากที่ปิดลับ

                อีกข่าวที่แทรกเข้ามาคือการก่อเหตุร้ายในแถบอ่าวเปอร์เซีย เริ่มจากเรือบรรทุกสินค้าจำนวน 4 ลำ (รวมทั้งเรือบรรทุกน้ำมัน) โดนก่อวินาศกรรมแถบชายฝั่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

                วันต่อมาเครื่องโดรนติดอาวุธโจมตีสถานีสูบน้ำมัน 2 จุดของซาอุฯ สถานีหนึ่งถึงกับไฟไหม้ คาดว่าเป็นฝีมือของกองกำลังฮูตี (Houthi) ในเยเมนที่อิหร่านหนุนหลัง

                ประธานาธิบดีทรัมป์ออกโรงเตือนรัฐบาลอิหร่านจะต้องรับโทษอย่างสาสม หากตรวจพบว่าเป็นผู้ก่อเหตุวินาศกรรม เหตุร้าย 2 เรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเสริมทัพของสหรัฐเป็นตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจนว่าสถานการณ์เข้าสู่ความตึงเครียด

                รัฐบาลสหราชอาณาจักรถึงกับออกโรงเตือนอิหร่านว่าอย่ายั่วยุสหรัฐเด็ดขาด ทรัมป์ “เอาจริง” ไม่ใช่ขู่เล่นๆ ล่าสุดช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา โอมานส่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไปหารือกับอิหร่าน รายงานผลผ่านสื่อสั้นๆ ว่า  มีโอกาสเกิดสงครามกระทบต่อทั้งโลก ทั้งอเมริกากับอิหร่านต่างรับรู้อันตรายของสงคราม

                จากการวิเคราะห์พบว่ารัฐบาลทรัมป์น่าจะเริ่มแผนเสริมกองกำลังตั้งแต่เดือนเมษา.หรือต้นเดือนพฤษภา. กำหนดวันปฏิบัติการที่อาจเป็นไปได้คือปลายพฤษภาคมจนถึงกรกฎาคม ทั้งนี้ขึ้นกับการเจรจาว่าจะยืดเยื้อหรือไม่

                กำหนดการที่สำคัญคือการประชุมฉุกเฉินของกลุ่ม GCC กับสันนิบาตอาหรับ (Arab League) ในปลายเดือนนี้ อาจมีการลงมติตัดสินใจบางเรื่อง ในอดีตที่ประชุมสันนิบาตอาหรับประกาศระงับสมาชิกภาพของซีเรีย เรียกร้องให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด (Bashar al-Assad) ก้าวลงจากอำนาจ เป็นจุดเริ่มต้นที่หลายประเทศส่งกองทัพเข้าซีเรีย สงครามกลางเมืองซีเรียจึงรุนแรงและยืดเยื้อ

                21 พฤษภาคม ผลโพลของ Reuters/Ipsos ชี้ชาวอเมริกันร้อยละ 51 คิดว่าจะเกิดสงครามระหว่างสหรัฐกับอิหร่านใน 2-3 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นถึง 8 จุดเมื่อเทียบกับการสำรวจเมื่อเดือนก่อน ร้อยละ 54 เห็นว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามร้ายแรง (serious) หรือเป็นภัยจวนตัว (imminent) อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 49 ไม่เห็นด้วยกับวิธีการจัดการอิหร่านของรัฐบาล

                ถ้าอิงผลโพลดังกล่าวรัฐบาลทรัมป์สามารถตัดสินใจโจมตีทางอากาศโดยไม่ต้องกังวลเรื่องผลกระทบทางการเมืองที่จะตาม แต่เป็นการยากที่จะสรุปว่าจะเปิดฉากโจมตีหรือไม่ เพราะขึ้นกับผลการเจรจาที่ดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมา ผ่านหลายช่องทาง

เป้าหมายการโจมตีจากสหรัฐและการรับมือจากอิหร่าน :

                หากมีการสู้รบจริง น่าจะเป็นการโจมตีทางอากาศจากฝ่ายสหรัฐ เป้าหมายที่น่าจะเป็นไปได้คือฐานทัพอากาศ ฐานทัพเรือ กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guards Corps), Quds Force และอาจขยายไปถึงกองกำลังที่อิหร่านหนุนในซีเรียกับอิรัก

                อีกจุดที่เป็นไปได้คือ โรงงานอุตสาหกรรมน้ำมัน เพื่อลดการส่งออกน้ำมันจากอิหร่าน สอดคล้องกับแผนจำกัดการส่งออกน้ำมัน การคว่ำบาตรเศรษฐกิจที่ดำเนินเรื่อยมาและเข้มข้นมากในสมัยทรัมป์ การโจมตีทำลายเป็นทางเลือกในตอนนี้

                รายงาน The Military Balance 2018 ของ International Institute for Strategic Studies (IISS) นำเสนอว่าอิหร่านยังคงเผชิญปัญหาอาวุธล้าสมัยลงทุกวัน ต้องพัฒนาปรับปรุงและสร้างด้วยตัวเอง แม้บางประเทศขายบางชิ้นบางเทคโนโลยีให้โดยเฉพาะรัสเซียกับจีน

                อิหร่านมีกำลังพลทั้งสิ้น 523,000 นาย เป็นกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) 125,000 นาย IRGC เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพที่แยกออกมา จัดตั้งขึ้นหลังปฏิบัติ 1979 นอกจากนี้ยังมี Quds Force เป็นกองกำลังติดอาวุธที่อิหร่านหนุนหลังซึ่งอาจเป็นชาวอิหร่านหรือต่างชาติ เช่น ฮิซบอลเลาะห์อยู่ในกลุ่มนี้

                เครื่องบินรบที่สำคัญคือ MiG-29, F-7M (MiG-21 ที่จีนสร้างปรับปรุงใหม่) เครื่องบินโจมตี Su-24 นอกจากนั้นยังมีอีกหลายรุ่นแต่อายุใช้งานค่อนข้างสูง เช่น F-4, F-5, F-14            ขีปนาวุธ (ballistic missile) รุ่นล่าสุดคือ Shahab-3 มีพิสัยยิงถึง 1,300 กิโลเมตร Fateh-110 พิสัย 200-300 กิโลเมตร

                ระบบป้องกันภัยทางอากาศที่สำคัญ ประกอบด้วย ระบบ S-200A "Angara" ที่อิหร่านปรับปรุงด้วยตัวเอง ขีปนาวุธพื้นสู่อากาศพิสัยใกล้ TOR-M1 9A331 (SA-15) กับ Shahab Thaqeb FM-80 (HQ-7) และรุ่นเก่าอีกหลายรุ่น เช่น MIM-23 Hawk, S-75M (SA-2) นอกจากนี้ยังมีขีปนาวุธประทับบ่า ปืนต่อสู้อากาศยาน ที่สำคัญคือได้รับขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกล S-300 จากรัสเซียในชื่อรุ่น SA-20c หลังบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ 2015

                จะเห็นว่าระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศที่น่ากลัวสุดคือ S-300 กับ S-200A เป็นไปได้ว่าระบบดังกล่าวคือเป้าหมายสำคัญที่ฝ่ายสหรัฐต้องทำลายให้สิ้นซาก

คำถามสำคัญคืออิหร่านจะตอบโต้อย่างไร :

                ฝ่ายสหรัฐจะเปิดฉากโจมตีหรือไม่เป็นคำถามที่หลายคนอยากรู้ บางคนคิดว่าไม่น่าจะเกิด คำถามสำคัญกว่าคือหากเกิดขึ้นจริงอิหร่านจะตอบโต้อย่างไร รุนแรงเพียงใด เปิดศึกหน้ากว้างแค่ไหน เช่น โจมตีกองเรือบรรทุกเครื่องบิน ฐานทัพสหรัฐในภูมิภาค ปิดอ่าวเปอร์เซีย โจมตีพวกอาหรับ โจมตีอิสราเอล หรือกระทั่งโจมตีสถานทูต ผลประโยชน์สหรัฐทั่วโลก

                คำถามตามมาอีกข้อคือหากอิหร่านตอบโต้ ฝ่ายสหรัฐจะโจมตีให้หนักกว่าเดิม ยืดเยื้อกว่าเดิมหรือไม่

                สงครามจะเกิดหรือไม่ขึ้นอยู่กับผลการเจรจา เป็นสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าติดตามใกล้ชิด.

----------------------------------

ภาพ : ขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศ S-300PMU2 Favorit / SA-20B

ที่มา : https://www.ausairpower.net/APA-S-300PMU2-Favorit.html

---------------------------------- 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"