ตัวปราสาทโคริยามะในปัจจุบันเหลือแค่ฐานหิน
หากเอ่ยนาม “โคริยามะ” ขึ้นมา หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นเมืองใหญ่ในจังหวัดฟุกุชิมะ ทางเหนือของเกาะฮอนชู เมืองโคริยามะในจังหวัดนาราจึงมีคำว่า “ยามาโตะ” นำหน้าด้วย เพราะในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดยามาโตะ ซึ่งยามาโตะยังเป็นชื่อราชวงศ์ของญี่ปุ่นที่ยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน ทว่า “ปราสาทโคริยามะ” ใช้ชื่อนี้โดยไม่ต้องเติมยามาโตะเข้าไป
ปราสาทโคริยามะอยู่ห่างจากอพาร์ตเมนต์ของฮิโรกิแค่กิโลเมตรกว่าๆ ฮิโรกิออกไปทำงานตั้งแต่เช้าแล้ว ผมและเพื่อนร่วมทางออกจากอพาร์ตเมนต์ของเขาเวลาใกล้ๆ เที่ยง ยังคงเก็บกระเป๋าไว้ที่อพาร์ตเมนต์เพื่อความสะดวกสบายในการเดินเหิน
รถไฟของบริษัทคินเท็ตสึวิ่งผ่านหน้าทางเข้าปราสาท หลังรางรถไฟเป็นซุ้มประตูชั่วคราวสีชมพู เขียนเชิญชวนเที่ยวงาน Oshiro Matsuri งานฉลองปราสาทครั้งที่ 59 ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม ถึง 4 เมษายน 2562 ขณะนี้อยู่ในช่วงเวลาของเทศกาลพอดี
คูน้ำและกำแพงหินนอกปราสาทโคริยามะ
ก่อนจะลอดซุ้มประตูนี้ไป ทางด้านซ้ายมือเต็มไปด้วยซากุระที่ดอกกำลังบานสะพรั่งอยู่ในสวนเล็กๆ มีทางเดิน 2 เลน ตกแต่งด้วยโคมไฟสีขาว เสาสีแดง รอสร้างสีสันให้กับงานในเวลากลางคืน เราแวะไปถ่ายรูปครู่หนึ่งก็เดินเข้าสู่เขตปราสาท
ผ่านซุ้มประตูไปไม่ไกลก็เห็นแถวยาวนับร้อยเมตรของแผงลอยขายอาหาร ของเล่น และของที่ระลึก มีคนใส่เสื้อหนาวมาเดินเที่ยวกันไม่ค่อยหนาตานัก คงรอให้ถึงเวลาเย็นย่ำเสียก่อน
เรายังไม่ได้กินอะไรกันมา ผมเห็นขนมไทยากิ หรือขนมรูปปลาไส้ถั่วแดงกวน ก็รีบซื้อรองท้องทันที เพื่อนร่วมทางของผมซื้อไก่คาราเกะมา 1 ถ้วยกระดาษ เขาว่ารสชาติไม่ตกมาตรฐาน อร่อยดีแต่ไม่มาก
มีอ่างปลาทองแซมๆ อยู่ในงานออกร้าน เด็กๆ พากันเข้าไปช้อนปลาทองด้วยสวิงเล็กๆ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเมืองยามาโตะโคริยามะมีชื่อเสียงในการเลี้ยงปลาทองมาอย่างยาวนาน และถือเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำเมืองเลยทีเดียว เมืองนารามีรูปกวางบนฝาท่อระบายน้ำตามถนนหนทาง เมืองยามาโตะโคริยามะก็มีรูปปลาทองอยู่ทั่วเช่นกัน
อ่างปลาทองในงานออกร้านของเทศกาลเที่ยวปราสาทโคริยามะ
สำหรับปราสาทโคริยามะนั้นสร้างขึ้นเมื่อเกือบ 500 ปีก่อน แต่ถูกทำลายลงในยุคการปฏิรูปสมัยเมจิ เหลือเพียงกำแพงหินและคูน้ำล้อมรอบปราสาท มีการสร้างประตู ป้อมปืน และหอคอยขึ้นมาใหม่บางส่วน รวมถึงสะพานข้ามคูน้ำบางจุด แต่ตัวปราสาทคงเหลือแต่ฐานหิน 2 ชั้น มีไว้ให้คนขึ้นไปดูวิวเมือง
ซากุระที่ปลูกเอาไว้เป็นจำนวนมากออกดอกบานเต็มที่ในช่วงนี้พอดี โคมไฟบนเสาสีแดงอยู่ทั่วริมทางเดิน รักษาระยะห่างระหว่างต้นแค่สอง-สามเมตร สนามเด็กเล่นตั้งอยู่ใกล้ๆ ห้องน้ำสาธารณะ ที่มุมหนึ่งมีเวทีถาวรพร้อมหลังคา ยกพื้นสูงประมาณ 2 ศอก ตรงข้ามคือม้านั่งหลายตัวตั้งเรียงกันเป็นแถวสำหรับนั่งชมการแสดง คาดว่าจะเริ่มในช่วงเย็นเป็นต้นไป
แถวร้านค้ายาวเหยียดในงาน Oshiro Matsuri
เราเดินวนเข้าไปตามทางเดินเล็กๆ สู่พื้นที่ชั้นใน แต่ตัดสินใจไม่ขึ้นไปบนฐานของปราสาท เพราะต้องเดินวนอีกยาว ยิ่งเข้าไปใกล้กลับรู้สึกยิ่งไกลออกไป
ออกจากปราสาทแล้วเราก็เดินต่อไปยังสถานีรถไฟโคริยามะของบริษัทคินเท็ตสึที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 600 เมตร หากจะขึ้นจากสถานีโคริยามะของบริษัทเจอาร์เราต้องเดิน 1 กิโลเมตรกว่า ตั้งอยู่ใกล้อพาร์ตเมนต์ของฮิโรกิ แต่ปัญหาของบริษัทคินเท็ตสึคือต้องไปเปลี่ยนรถไฟที่สถานี Yamato-Saidaiji แล้ววิ่งผ่านพระราชวังเฮโจะ ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลก เข้าสู่สถานี Kintetsu-Nara
เราเลือกซื้อของฝาก กินมื้อเที่ยง (ตอนบ่ายแก่ๆ) และกาแฟบนถนน Sanjo Dori แล้วเดินไปยังสถานีรถไฟนาราของบริษัทเจอาร์เพื่อกลับสถานีโคริยามะ และเดินอีกนิดไปอพาร์ตเมนต์ของฮิโรกิ ด้วยวิธีนี้จะทำให้เราเดินโดยรวมเท่าๆ กับเดินตรงจากปราสาทโคริยามะสู่อพาร์ตเมนต์ แต่ยังได้เที่ยวตัวเมืองนาราเป็นของแถม
โชคดีที่ได้ไปเยือนในช่วงซากุระบานเต็มที่
ผมคืนกุญแจให้กับเอมิซัง-ภรรยาของฮิโรกิ แล้วลาเธอกับเจ้าชายน้อยยูตะวัย 3 เดือนออกมา ขึ้นรถไฟจากสถานีโคริยามะสู่สถานีโอซากา ต่อโอซากาลูปไลน์ไปยังสถานีเทนโนจิ แล้วเดินไปเช็กอินที่ Park Inn รวมเวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง
ห้องพักที่ผมได้จองไว้ตั้งแต่เมื่อคืนเป็นแบบห้องเดี่ยว แต่ใช้ห้องน้ำรวม ตกคืนละประมาณ 500 บาทเท่านั้น ถูกกว่า Hotel Raizan ที่อยู่ตรงข้ามกัน ซึ่งเราเคยพัก 300-400 บาท แต่ที่พักใหม่ของเราไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันแบบ Hotel Raizan และห้องน้ำไม่สะอาดเท่า แต่เห็นว่าพรุ่งนี้เช็กเอาต์ตั้งแต่เช้าตรู่คงไม่เป็นไร
มุมพักผ่อนในปราสาทโคริยามะ
ผมลงไปอาบน้ำในห้องอาบน้ำรวมที่มีลักษณะแบบ “เซนโต” ซึ่งเป็นการใช้น้ำประปา ไม่ใช่น้ำจากธรรมชาติแบบ “ออนเซ็น” โดยห้องอาบน้ำนี้ไม่ได้แยกชาย-หญิง แต่ได้แบ่งช่วงเวลาการใช้ไว้ จำได้คร่าวๆ ว่าเวลาเย็นๆ จนถึงค่ำเป็นช่วงเวลาของผู้ชาย และหลังจากนั้นเป็นช่วงเวลาของผู้หญิง
เพื่อนร่วมทางของผมเลือกที่จะเอนหลังพักผ่อนอยู่ในห้องของเขา เนื่องจากเขามีรอยสักบริเวณแขน เกรงว่าจะไม่สุภาพต่อสายตาผู้พบเห็น เกินครึ่งของห้องอาบน้ำรวมในญี่ปุ่นยังไม่อนุญาตให้คนที่มีรอยสักใช้บริการเพื่อกันสมาชิกแก๊งยากูซ่าออกไป แม้ว่าในปัจจุบันประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ จะอนุโลมแล้วก็ตาม และห้องอาบน้ำตามโรงแรมที่พักก็น่าจะอยู่ในกลุ่มนี้ บางทีเพื่อนร่วมทางของผมยกกฎเกณฑ์รอยสักมาอ้างก็เพื่อที่จะไม่อาบน้ำมากกว่า
ตอนผมเข้าไปใช้บริการมีแขกอยู่คนหนึ่งซึ่งกำลังจะอาบเสร็จพอดี ผมล้างตัวแล้วลงไปแช่ก็สะดุ้งโหยงเหมือนโดนน้ำร้อนลวก น้ำในอ่างร้อนกว่าปกติอยู่มากโข พยายามอยู่พักใหญ่ก็แช่ได้แค่ช่วงขา ไม่สามารถลงไปทั้งตัวได้ ขึ้นจากอ่างก็ยังรู้สึกร้อนที่ขาเหมือนจะพอง หันไปเห็นก๊อกน้ำร้อนไหลลงอ่างอยู่ก๊อกเดียว ก๊อกน้ำเย็นปิดอยู่ จึงถึงบางอ้อว่าเหตุใดอุณหภูมิจึงเกินเกณฑ์มาตรฐานที่ประมาณ 38-42 องศาไปมาก ผมปิดก๊อกร้อนแล้วเปิดเฉพาะก๊อกเย็นอยู่นานก็ไม่ได้ทำให้น้ำเย็นลงสักเท่าไหร่ ตัดสินใจอาบจากฝักบัวแล้วกลับขึ้นห้องพัก
ทางเดินออกจากเขตปราสาทโคริยามะ
เพื่อนร่วมทางของผมเคาะประตูแล้วเปิดเข้ามาแจ้งว่า “ไปกินอาหารไทยกันเถอะ” ผมใคร่รู้อยู่สอง-สามวันแล้วว่าเขาจะอยู่โดยไม่มีอาหารไทยตกถึงท้องได้กี่วัน เขาบอกว่า “เลี้ยงเอง” เพราะรู้ว่าผมอยู่ได้ทั้งปีโดยไม่พึ่งอาหารไทยเลยก็ยังได้
เขาหาข้อมูลร้านอาหารไทยในโอซากาไว้แล้วระหว่างที่ผมลงไปผจญกับน้ำร้อน ร้านที่มีนักท่องเที่ยวชาวไทยแนะนำในสังคมออนไลน์ชื่อว่า “Tai Thai” ตั้งอยู่ในย่านนัมบะ เรานั่งรถไฟใต้ดินไปโผล่ที่สถานีนัมบะแล้วเดินอีกครึ่งกิโลเมตรก็ถึง หน้าร้านมีป้ายไฟรูปธงชาติไทยที่มีช้างสีขาวในวงกลมสีแดง ผสมระหว่างธงชาติในอดีตและปัจจุบัน ภายในร้านขนาดกะทัดรัดตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้แกะสลักลายไทยและสิ่งของประดับที่นำไปจากเมืองไทย
สตรีญี่ปุ่นพูดภาษาไทยได้ อายุประมาณ 50 ปี ทำหน้าที่เดินโต๊ะ ส่วนพ่อครัวและผู้จัดการเป็นคนไทย จึงเป็นไปได้ว่าสตรีชาวญี่ปุ่นท่านนี้อาจจะเป็นคนรักของชาวไทยคนใดคนหนึ่ง โต๊ะข้างเราเป็นชาวญี่ปุ่น 2 คน สั่งอาหารมาเต็มโต๊ะ ตอนนี้กินใกล้จะเสร็จแล้วจึงเน้นคุยและดื่มเบียร์ (จนกระทั่งเราเช็กบิลออกไปแล้วเธอทั้ง 2 ก็ยังดื่มและคุยกันอยู่)
เพื่อนร่วมทางของผมสั่งข้าวกระเพราะไก่ไข่ดาว ผมดูเมนูแล้วไม่รู้สึกอยากกินอะไรเป็นพิเศษ สั่งข้าวผัดกุ้งและไข่ดาว ราคาอาหารตกจานละ 1,200 เยน เบียร์ไทยยี่ห้อดังทั้ง 2 ก็มีในเมนู แต่เราเลือกสั่งเบียร์สดญี่ปุ่นมาดื่ม ราคาแก้วละ 480 เยน ผมกินข้าวผัดหมดไม่เหลือ แม้จะเอ่ยไว้ก่อนว่ายังไม่คิดถึงอาหารไทย ส่วนเพื่อนร่วมทางของผมคงเอกลักษณ์ไว้เช่นเดิม ถึงจะบ่นว่าร่างกายต้องการอาหารไทย ก็ยังกินเหลือเกือบ 1 ใน 3 ของจาน
ผู้จัดการเข้ามาพูดคุยกับเรา แกให้บริการที่พักแบบ Airbnb จำนวน 5 แห่งในโอซากา นับรวมห้องที่อยู่ข้างบนร้านอาหารด้วย ราคาคืนละ 5,000 เยน ระหว่างที่เราคุยกันอยู่ก็มีหนุ่มไทยที่พักอยู่ข้างบนเดินเข้ามาสั่งอาหารขึ้นไปกินในห้อง
ออกจากร้านอาหารไทยแล้วเราก็เดินหาบาร์ในย่านใกล้เคียง เพื่อนร่วมทางของผมไม่ถูกใจสักร้าน และอากาศเริ่มหนาวขึ้นเรื่อยๆ จึงตัดสินใจลงรถไฟใต้ดินกลับ โผล่ขึ้นมาเดินผ่านร้าน Traveler’s Bar – Osaka Tacos (โอซากาทาโก) ที่ผมเคยด้อมๆ มองๆ เมื่อห้า-หกวันก่อน หน้าประตูร้านในส่วนที่ไม่ใช่บานกระจก อนุญาตให้เขียนอะไรลงไปก็ได้ (เช่นเดียวกับภายในร้าน) หนึ่งในนั้นมีภาษาไทยเขียนไว้ว่า “ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป”
ถนน Sanjo Dori ในตัวเมืองนารา
ร้านนี้มีลักษณะหน้าแคบ แต่ข้างในลึก เคาน์เตอร์บาร์ตั้งตามยาวร้าน ด้านหลังมีโต๊ะสำหรับนั่งเป็นกลุ่มอยู่สอง-สามตัว เปิดประตูเข้าไปก็ได้รับการกล่าวต้อนรับอย่างเป็นมิตร เจ้าของร้านชื่อ “โชตะ” อัธยาศัยดีมาก พูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว เขาเข้ามาดูแลร้านสัปดาห์ละไม่กี่วัน มีบาร์เทนเดอร์เป็นชาวฝรั่งเศสชื่อ “อาร์โนลด์” เวลากลางวันเข้าคอร์สเรียนภาษาญี่ปุ่น เขายังหนุ่มอยู่มาก แต่เดินทางและทำงานไปพร้อมกันมาหลายประเทศแล้ว พูดออกมาประโยคหนึ่งว่า “ยิ่งเดินทางมากเท่าไหร่ก็ยิ่งรู้จักตัวเองมากขึ้นเท่านั้น”
ผมเริ่มด้วยเบียร์สดกิริน แล้วสั่ง House Whisky หรือวิสกี้โปรโมชั่นประจำค่ำคืน คือ Nikka Black Special ราคาแก้วละ 500 เยนเท่านั้น ย่านนี้เป็นย่านที่พักราคาถูกสำหรับแบ็กแพ็กเกอร์ เครื่องดื่มตามบาร์ก็เลยราคาไม่แพงตามไปด้วย จากนั้นลอง Fuji-sanroku วิสกี้ 50 ดีกรีของบริษัทกิริน เมื่อจิบได้ครู่หนึ่งก็รู้สึกได้ถึงไอร้อนพุ่งออกจากรูหู ดับความหนาวได้ชะงัด ช่วงท้ายๆ ต้องลดระดับลงมาที่ไฮบอล หรือวิสกี้ผสมโซดา ส่วนเพื่อนร่วมทางของผมไม่กล้าออกนอกลู่เกินเบียร์และไฮบอล
ลูกค้าที่นั่งข้างผมชื่อ “ยูซากุ” อายุประมาณ 30 ปี มาจากจังหวัดโทกุชิมะบนเกาะชิโกกุ บอกว่าชีวิตบนเกาะชิโกกุไร้สีสัน มีแต่ผู้สูงอายุ ตัดสินนั่งรถบัส 4 ชั่วโมง เพื่อมาหางานทำในโอซากา เขาเคยไปเมืองไทยหลายครั้ง เวลาเข้าร้านอาหารจะสั่งต้มยำกุ้งกินกับเบียร์ทุกมื้อ
คุยๆ อยู่เขาก็สั่งนาโชส์มาเป็นกับแกล้มกินกับไฮบอล ชวนให้เรากินด้วย ผมหยิบมาชิ้นหนึ่ง แล้วเขาก็โชว์มิวสิกวิดีโอเพลงไทยแนวลูกทุ่งอินดี้ให้ดูจากโทรศัพท์มือถือ ผมไม่รู้จักเพลงพวกนั้นเลย ส่วนเพื่อนร่วมทางของผมรู้จักบางเพลง
อาร์โนลด์ต้องกลับที่พักตอนประมาณเที่ยงคืนเพื่อให้ทันรถไฟเที่ยวสุดท้าย ชายผิวดำกล้ามใหญ่เดินเข้าร้านสวนมา มีโอกาสได้คุยกันจึงทราบว่าเขาเป็นทหารเรืออเมริกันที่ประจำการในญี่ปุ่น ชอบคาราเต้มาตั้งแต่เด็ก เขาพูดกับผมเป็นภาษาญี่ปุ่นในตอนแรก พอบอกว่าผมเป็นคนไทยเขาก็พูดถึง “มวยโบราณ” ขึ้นมา และว่าเพื่อนทหารของเขาก็ฝึกอยู่
โชตะที่อยู่หลังเคาน์เตอร์บาร์เดินเข้ามาคุยกับเราเป็นระยะ คงเห็นว่าผมสนใจวิสกี้ของญี่ปุ่น จึงให้ข้อมูลร้านจำหน่ายวิสกี้ใกล้ๆ ย่านอุเมดะ เขาซื้อที่นั่นบ่อย มีวิสกี้หลากหลายยี่ห้อและที่หายากๆ ก็จะหาเจอที่ร้านนี้ ผมสารภาพว่าคงไม่มีเวลา เขาก็ยังอุตส่าห์แนะนำว่าระหว่างเส้นทางที่เราจะไปเกียวโตในวันพรุ่งนี้มีโรงกลั่นวิสกี้ Yamazaki ของบริษัทซันตอรี่ตั้งอยู่ มีโปรแกรมทัวร์สำหรับชมและชิมด้วย สถานีรถไฟที่ใกล้โรงกลั่นที่สุดก็ชื่อ Yamazaki
ผมขอบคุณในคำแนะนำที่จริงใจและจริงจัง บอกเขาว่าอาจจะแวะไป แม้ในใจทราบดีว่ารอบนี้ไม่มีเวลา.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |