จัดตั้งรัฐบาลต่อรองกันฝุ่นตลบ! แกนนำพปชร.ปิดปากแจงความคืบหน้า ตะเพิดนักข่าวออกจากพรรค ขณะที่ ปชป.เสนอ "ชวน" ชิงประธานสภาฯ ชูเป็นคนซื่อสัตย์ เป็นหลักของบ้านเมืองได้ สะพัด! พปชร.ยอมยกให้นายชวนเอง ภท.จ่อแถลงร่วมด้วย ด้าน ชทพ.พร้อมส่ง 10 เสียงหนุน ขณะที่ "มิ่งขวัญ" นำ 4 ส.ส.แถลงไม่ร่วม พปชร. ยันยังอยู่ขั้ว ปชต. ส่วนพท.รอดูท่าที ปชป.ไม่เร่งเคาะประธานสภาฯ อ้างแต่ละคนมีผลต่อเกมการเมือง
เมื่อวันศุกร์ ภายหลังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) เข้าร่วมรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ในเวลา 15.00 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ พรรคการเมืองต่างๆ ได้นัดประชุมเพื่อกำหนดท่าทีและแนวทางการเลือกประธานสภาฯ ในวันที่ 25 พ.ค.นี้ และจุดยืนในการเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่าแกนนำพรรค ทั้งนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค, นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค เดินทางเข้าที่ทำการพรรคตั้งแต่ช่วงเช้า ซึ่งมีกำหนดจะประชุมกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ในเวลา 09.30 น. แต่เจ้าหน้าที่ได้แจ้งกับสื่อมวลชนให้ทราบภายหลังว่าการประชุมดังกล่าวจะเลื่อนไปหลังเสร็จสิ้นงานรัฐพิธีแล้ว ท่ามกลางความสนใจของสื่อมวลชนที่พยายามจะสอบถามถึงความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีการโหวตในวันที่ 25 พ.ค. ปรากฏว่าในเวลา 10.40 น. แกนนำพรรคทั้ง 4 คนได้เดินทางออกจากพรรคไปพร้อมกัน โดยไม่แจ้งว่ามีภารกิจที่ใด
นายอนุชา นาคาศัย กก.บห.พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติ ทั้งการจัดตั้งรัฐบาลและการเสนอชื่อบุคคลชิงตำแหน่งประธานสภาฯ ซึ่งวันนี้ กก.บห.กำลังหารือและรอดูความชัดเจนจากมติของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคเดียว เพราะต้องให้เกียรติพรรค ปชป. ในฐานะพรรคที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ แต่เชื่อว่าการตกลงจะสะเด็ดน้ำ และได้ความชัดเจนภายในวันนี้ทั้ง 2 ประเด็น คือการเข้าร่วมรัฐบาลและการที่พรรคร่วมจะเสนอชื่อใครเป็นประธานสภาฯ และมั่นใจว่าพรรคพลังประชารัฐจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างแน่นอน แค่รอดูความชัดเจนจากพรรคร่วมเท่านั้น
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ประธานยุทธศาสตร์ภาคเหนือ พรรค พปชร. กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลว่า ผู้ใหญ่ในพรรคกำลังประสานเพื่อให้จบภารกิจภายในสัปดาห์หน้า ส่วนกระแสข่าวที่ตนจะได้รับตำแหน่ง รมช.มหาดไทยนั้น ส่วนตัวคิดว่าอยากทำงานเพื่อพื้นที่ก่อน ยังไม่ได้คิดในเรื่องตำแหน่งต่างๆ อยู่ที่ผู้ใหญ่จะพิจารณา สำหรับตำแหน่งประธานสภาฯ พรรค พปชร.ยืนยันจะเสนอนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทราเพียงคนเดียว ไม่สนับสนุน ส.ส.จากพรรคอื่น ภารกิจของเราคือทำให้นายสุชาติเป็นประธานสภาฯ ให้ได้ เพราะควรจะเป็นของพรรคพปชร. ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะเป็นผลดีต่อการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีด้วย ทั้งนี้ไม่ทราบเรื่องที่พรรคปชป.จะเสนอชื่อประธานสภาฯ ด้วย แต่หากตกลงกับพรรคร่วมไม่ได้ ก็คงต้องไปรอดูผลโหวตกันในสภา ในวันที่ 25 พ.ค.
เมื่อถามว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยยกมือโหวตประธานสภาฯ ให้พรรค ปชป.จะทำอย่างไร ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า “ยอมรับว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราก็ต้องทำ"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอุตตม นายสนธิรัตน์ พร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรค รวม 12 คน เดินทางเข้าประชุมเพื่อติดตามผลการประชุม ส.ส.และกรรมการบริหารของพรรค ปชป. และการสรุปชื่อของบุคคลที่จะเสนอเป็นประธานสภาฯ ในนามของพรรค โดยมีรายงานแจ้งถึงความคืบหน้าการชิงตำแหน่งประธานสภาฯ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเจรจาร่วมรัฐบาลระหว่าง พปชร.และ ปชป. ล่าสุด แคนดิเดตของ ปชป. ประกอบด้วย นายชวน หลีกภัย, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ปฏิเสธไม่รับตำแหน่งดังกล่าว และมีรายงานข่าวคาดว่า ปชป.อาจเสนอชื่อนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ เป็นประธานสภาฯ แทน
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่ ปชป.พยายามชิงตำแหน่งประธานสภาฯ เพราะต้องการต่อรองให้พปชร.แบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญให้พรรคอื่นๆ ขณะที่ พปชร.ยืนยันชัดเจนแล้วว่าจะเสนอชื่อนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา ชิงตำแหน่งประธานสภาฯ แน่นอน โดยมั่นใจว่าจะชนะในการโหวต
ปิดปากหลบสื่อ
ต่อมาในช่วงเย็น ท่ามกลางการจับตามองเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่ลงตัว เมื่อเวลา 16.00 น. แกนนำพรรคได้เดินทางกลับเข้ามาเพื่อประชุม กก.บห.กระทั่งเวลา 17.20 น. นายอุตตมได้เดินทางออกจากพรรคด้วยความเร่งรีบ โดยปฏิเสธให้สัมภาษณ์ เพียงแต่ระบุว่าจะให้นายสนธิรัตน์ชี้แจง แต่ปรากฏว่าผู้สื่อข่าวที่ปักหลักรอ จนกระทั่ง 18.40 น. รถยนต์ส่วนตัวของนายสนธิรัตน์ได้เคลื่อนออกจากพรรค แต่ไม่มีนายสนธิรัตน์นั่งออกไปด้วย ซึ่งผู้สื่อข่าวต่างเชื่อว่านายสนธิรัตน์ยังอยู่บนห้องทำงาน
กระทั่งเวลา 19.00 น. แม่บ้านประจำพรรคได้ลงมาแจ้งผู้สื่อข่าวให้ออกจากพรรค เนื่องจากจะทำการปิดที่ทำการพรรคแล้ว พร้อมระบุว่าผู้ใหญ่ในพรรคเดินทางออกไปหมดแล้วเช่นเดียวกัน ท่ามกลางความไม่ชัดเจนในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่ลงตัว ทำให้บรรดาผู้สื่อข่าวออกมาปักหลักรอด้านนอกที่ทำการพรรค
จากนั้น เวลา 19.20 น. ปรากฏว่านายสนธิรัตน์ได้ลงลิฟต์จากที่ทำการพรรค และเดินอย่างเร่งรีบขึ้นรถยนต์ส่วนตัวที่วนกลับมารับด้านประตูหลัง ที่ทำการพรรค เพราะเชื่อว่าผู้สื่อข่าวเดินทางกลับไปหมดแล้ว โดยมีเจ้าหน้าที่ รปภ.เข้ามากางมือกันผู้สื่อข่าว โดยระบุว่า “ไม่อนุญาตให้เข้า” ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวพยายามตะโกนถามเรื่องการตั้งรัฐบาลยังไม่ได้ข้อสรุปใช่หรือไม่ ซึ่งนายสนธิรัตน์ไม่ได้หันมาตอบคำถามดังกล่าวแต่อย่างใด
ที่พรรค ปชป. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค บ่ายเบี่ยงที่จะตอบคำถามถึงการชิงตำแหน่งประธานสภาฯ โดยกล่าวเพียงว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ มีหลายคน ไม่ได้มีชื่อตนคนเดียว
ส่วนนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า ตนไม่รับตำแหน่งนี้และได้ปฏิเสธแล้ว บุคลากรในพรรคมีอีกมาก แม้พรรคจะมีมติเสนอชื่อใคร ก็ต้องถือความสมัครใจเป็นหลัก แต่ถ้าความสมัครใจของเจ้าตัวกับมติพรรคไปด้วยกันก็เป็นเรื่องดี ยืนยันว่าได้ปฏิเสธไปแล้ว เพราะตนมีงานที่ตั้งใจจะทำ
ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค กล่าวว่า มีการคุยในที่ประชุมเบื้องต้น แต่ต้องให้ที่ประชุมร่วมระหว่าง ส.ส.กับ กก.บห.รับรองให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง การเสนอชื่อชิงตำแหน่งดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการแบ่งโควตาในการร่วมรัฐบาล แต่เป็นเพียงมติที่ประชุมของ ส.ส.ของพรรคเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่าควรจะเสนอชื่อบุคคลไปเป็นประธานสภาฯ เพื่อให้มีโอกาสเข้าไปทำหน้าที่ ส่วนข่าวการไปพูดคุยตกลงตำแหน่งรัฐมนตรีที่มูลนิธิป่ารอยต่อ 5จังหวัด ที่อยู่ภายใน ร.1 ทม.รอ. ตนไม่ทราบเรื่อง
นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา ปชป. กล่าวปฏิเสธกระแสข่าวว่ากลุ่ม ส.ส.ของตนเอง 27 คน เตรียมสวนมติพรรคในการเสนอชื่อประธานสภาฯ ว่าไม่เป็นความจริง ยืนยันว่าจะทำตามมติพรรค ซึ่งข้อบังคับพรรคก็กำหนดกฎเกณฑ์ไว้อยู่แล้วให้สมาชิกต้องเคารพมติพรรต ส่วนข่าวที่ออกมาก็เพื่อต้องการเสี้ยมให้ตนเองทะเลาะกับคนในพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น
ต่อมาเมื่อเวลา 19.45 น. ได้มีการประชุม กก.บห. โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค เป็นประธานการประชุม โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที จากนั้นได้เริ่มประชุมร่วมระหว่าง กก.บห.และ ส.ส.ของพรรค เพื่อซักซ้อมการเดินทางไปประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 25 พ.ค.นี้ ที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
ปชป.ส่ง"ชวน"นั่งปธ.สภา
จากนั้นเวลา 20.45 น. นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ปชป. แถลงภายหลังประชุมร่วมระหว่างกก.บห.และ ส.ส.ว่า ที่ประชุมคณะ กก.บห. มีมติส่งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นได้นำมติดังกล่าวเข้าที่ประชุมร่วมเพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งผลปรากฏว่าเห็นชอบให้นายชวนเป็นบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ เนื่องจากเป็นคนที่เป็นหลักให้แก่บ้านเมือง อีกทั้งเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต และไม่ทอดทิ้งประชาชน ซึ่งเชื่อมั่นว่าการโหวตในวันพรุ่งนี้จะไม่มีสมาชิกโหวตสวน เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามมติพรรค ส่วนการตัดสินทางการเมืองร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐนั้น ยังไม่มีการพูดคุยเพราะจะต้องดำเนินการด้านนิติบัญญัติให้เสร็จสิ้นเสียก่อน
มีรายงานว่า ในการประชุม กก.บห.มีการพิจารณาเพียงเรื่องเดียวคือ การส่งผู้ที่มีความเหมาะสมลงชิงตำแหน่งประธานสภาฯ ซึ่งมีชื่อให้พิจารณาเพียง 2 ชื่อคือ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค และนายชวน แต่นายบัญญัติปฏิเสธที่จะรับตำแหน่ง ทำให้ทั้งนายจุรินทร์และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ต้องไปเกลี้ยกล่อมยอมรับตำแหน่งนี้ ซึ่งกว่าจะตัดสินใจก็ใช้เวลานาน แต่ในที่สุดนายชวนก็ยอม เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้
มีรายงานด้วยว่า การเสนอนายชวนชิงตำแหน่งประธานสภาฯ มาจากการเจรจาต่อรองกระทั่งพรรคพปชร.ยอมยกตำแหน่งประธานสภาฯ ให้ ปชป. โดยเสนอให้นายชวนดำรงตำแหน่งดังกล่าว ส่วนการลงมติร่วมรัฐบาลและโหวตนายกฯ นั้น ปชป.จะลงมติหลังจากโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับนายสุชาติ ตันเจริญ ที่ พปชร.เสนอเป็นประธานนั้น จะเป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 1 เนื่องจากนายชวนเป็นอดีตนายกฯ ที่นายสุชาติอาจจะยอมรับได้
ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวจากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) แจ้งว่า พรรค พปชร.ได้ประสานมายังพรรค ภท.ว่า ขณะนี้มี ส.ส. 251 เสียงอยู่ในมือแล้ว ซึ่งเป็นไปตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค เคยระบุว่า จะร่วมกับผู้ที่ได้เสียงข้างมากในสภาฯ ทำให้ไม่มีเงื่อนไขใดที่ ภท.จะไม่ร่วมกับพรรค พปชร. โดยเตรียมแถลงจุดยืนของพรรคในการเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรค พปชร. เพียงแต่ขอให้พรรค ปชป.แถลงมติเรื่องดังกล่าวมาก่อน เพื่อจะดูว่าพรรค ปชป.มาร่วมกับพรรค พปชร.ทั้งหมด หรือแค่ครึ่งเดียว จากนั้นพรรค ภท.จะแถลงตามทันที
ที่พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เวลา 19.00 น. น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค แถลงภายหลังการหารือร่วมกับ 10 ส.ส. ชทพ. ว่า มีการหารือถึงแนวทางการทำงานของพรรค ชทพ.หลังเปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรก รวมถึงพูดคุยเรื่องการโหวตประธานสภาฯ ในวันที่ 25 พ.ค. ทั้งนี้ การจะเลือกใครเป็นประธานสภาฯ และเลือกร่วมรัฐบาลกับพรรคไหนนั้น เป็นสิ่งที่พรรคคิดอย่างรอบด้านและใช้เหตุผล เพราะการตัดสินใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้ง 2 ขั้วต่างมีนโยบายที่ดีทั้งนั้น แต่พรรคตัดสินใจเลือกสิ่งที่คิดว่ามีปัญหา มีความวุ่นวายน้อยที่สุด สามารถนำสู่การปฏิบัติได้ และประเทศเดินไปได้ ซึ่งถือเป็นหลักสำคัญที่พรรคตัดสินใจ จึงขอประกาศว่าพรรค ชทพ.มีความเห็นร่วมกันที่จะเลือกแนวทางเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ และจะยกมือให้ พปชร.ในการเลือกประธานสภาฯ ส่วนการยกมือโหวตเลือกนายกฯ นั้น ขอยังไม่พูดในวันนี้ เอาทีละขั้น ต้องเอาประธานสภาฯ ก่อน
ทั้งนี้ พรรคจะมอบหมายให้หัวหน้าพรรค นายวราวุธ ศิลปอาชา นายประภัตร โพธสุธน เป็นตัวแทนไปพูดคุยเรื่องจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน ต้องเอาขั้นแรกว่าตัดสินใจเลือกประธานสภาฯ ก่อน ทั้งนี้ ถือว่าเราเป็นพรรคกลางๆ พรรคเดียวที่ประกาศชัดเจนอย่างเป็นทางการ
"ลุงมิ่ง" ลั่นไม่ร่วม พปชร.
เมื่อถามถึงกระแสข่าวจัดสรรโควตากระทรวงที่มองว่ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเคยเป็นของพรรค ชทพ. น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา กล่าวว่า ถ้ามองอย่างนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกระทรวงการคลัง และอีกหลายกระทรวงก็เคยเป็นของพรรค ชทพ. จึงคิดแบบนั้นไม่ได้ เรื่องนี้ต้องมีการพูดคุยเจรจากัน และยืนยันจุดยืนของหัวหน้าพรรคจะไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรี ส่วนกระแสข่าวว่า พรรคได้ 1 รมว.กับ 1 รมช.นั้น ยังเป็นเรื่องที่พูดคุยกันอยู่ ยังไม่ตกผลึก ต้องให้การเลือกประธานสภาฯ ผ่านไปก่อนถึงจะพูดคุยกันได้
ที่รัฐสภาแห่งใหม่ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ นำ ส.ส. 4 คนของพรรค แถลงยืนยันจุดยืนหลังเข้าร่วมพิธีเปิดประชุมรัฐสภาว่า จุดยืนของพรรคเศรษฐกิจใหม่ยังอยู่กับขั้วฝั่งประชาธิปไตย ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นคนรักษาคำพูด เหตุผลที่ไม่ได้ไปร่วมแถลงลงนามสัตยาบัน เนื่องจากติดภารกิจ ส่วนเหตุผลที่มายืนยันเพียง 4 คน เพราะ ส.ส.อีก 2 คน คือ นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ และนางมารศรี ขจรเรืองโรจน์ ไม่ได้เตรียมชุดสุภาพมาเปลี่ยนจากชุดปกติขาวที่เข้าร่วมพิธีเปิดประชุมรัฐสภา จึงไม่เหมาะที่จะมาแถลงข่าว แต่ยืนยันว่าทั้ง 2 คนยังอยู่ร่วมกับพรรคเศรษฐกิจใหม่ และชัดเจนว่าอยู่ฝั่งประชาธิปไตยโดยไม่เปลี่ยนจุดยืน
ส่วนที่พรรค พปชร.อ้างว่า ส.ส. 5 คนของพรรคเศรษฐกิจใหม่ ไปร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร.แล้วนั้น นายมิ่งขวัญกล่าวว่า ไม่เป็นความจริง เพราะสมาชิกพรรคไม่เคยพูด และยืนยันไม่มีเรื่องบาดหมางกับพรรค พปชร. เพียงแต่อุดมการณ์แตกต่างกัน ขอย้ำว่าพรรคเศรษฐกิจใหม่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ยืนยันว่าการประชุมสภาในวันที่ 25 พ.ค. เพื่อเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ นั้น พรรคเศรษฐกิจใหม่จะลงมติไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
สำหรับสาเหตุที่ลาออกจากหัวหน้าพรรค นายมิ่งขวัญกล่าวว่า เพราะตั้งใจตั้งแต่ต้นแล้วว่าหลังเลือกตั้งจะลาออก เพราะไม่ถนัดงานด้านบริหาร ที่ผ่านมาได้มีการตกลงกันไว้แล้ว ตนจะช่วยหาเสียงช่วงเลือกตั้งเท่านั้น
เวลา 18.00 น. พรรคเพื่อไทยมีการประชุม ส.ส.หลังพิธีเปิดประชุมรัฐสภา มีแกนนำพรรคและ ส.ส.เดินทางเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรค ชี้แจงว่า พรรคได้ตั้งวิปชั่วคราว เพื่อประสานงาน ส.ส.สำหรับการประชุมสภาฯ เพื่อเลือกประธานสภาฯ และรองประธาน รวมถึงนายกฯ จากนั้นจะมีการแต่งตั้งวิปชั่วคราวต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิปของพรรคเพื่อไทยแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ ภาคอีสาน ภาคเหนือ กลาง และ กทม. โดยภาคอีสานมีทั้งหมด 24 คน อาทิ นายเอกธนัธ อินทร์รอด นายสุทิน คลังแสง ภาคเหนือมี 8 คน อาทิ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ กทม. 2 คน คือ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ นายการุณ โหสกุล และภาคกลาง 4 คน คือ นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังแจกแบบเสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ ส่วนของพรรคในที่ประชุม เพื่อให้ ส.ส.ได้โหวตรายชื่อบุคคลที่อยากให้เป็นประธาน และรองประธานสภาฯ ก่อนจะรวบรวมเสนอผู้บริหารพรรค
พท.ขอดูท่าที ปชป.
รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการนัดหมายให้ ส.ส.มาประชุม เพื่อกำหนดท่าทีทางการเมืองเกี่ยวกับการเลือกประธานรัฐสภา ในวันที่ 25 พ.ค. ปรากฏว่าในที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากแกนนำหลายประเมินว่า ควรดูรายชื่อผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานรัฐสภา จากพรรคประชาธิปัตย์ก่อนว่าจะส่งใคร หากเป็นนายบัญญัติ บรรทัดฐาน จะมีการกำหนดท่าทีอีกรูปแบบ แต่ถ้าเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็จะวางแนวทางการต่อสู้อีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าเป็นคนอื่นก็จะมีการต่อสู้ในอีกแนวทางหนึ่ง ดังนั้นพรรคจึงจะยังไม่เคาะรายชื่อบุคคลที่จะเสนอชื่อเป็นประธานรัฐสภา เพราะจำเป็นต้องรอดูท่าทีจากพรรค ปชป.ก่อน นอกจากนี้ในเย็นวันเดียวกัน คุณหญิงสุดารัตน์เชิญ ส.ส.ในกลุ่มไปร่วมรับประทานอาหารที่บ้านพักย่านลาดปลาเค้า เพื่อให้กำลังใจ ส.ส.และผู้สมัคร ส.ส. แต่เนื่องจากพรรคได้เรียกประชุมในช่วงเวลาเดียวกัน จึงได้เลื่อนการนัด ส.ส.ออกไปก่อน
น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่ามี ส.ส.พรรคเพื่อชาติ จำนวน 3 ท่าน เป็นงูเห่าที่จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคฝั่งตรงข้าม ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง และพรรคเพื่อชาติยืนยันว่ายังคงยึดมั่นอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ได้ร่วมลงนามสัตยาบันกับ 7 พรรคการเมือง ขอเรียนไปยังแหล่งข่าวที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จขอให้ยุติพฤติกรรมดังกล่าว และขอความกรุณาอย่าให้ข่าวบิดเบือนจากความเป็นจริง เนื่องจากกระแสข่าวดังข่าวส่งผลให้พรรคเพื่อชาติเกิดความเสียหาย
นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวถึงข่าวจะมี ส.ส.ของพรรคไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐว่า จุดยืนของพรรคยังเหมือนเดิม คืออยู่ร่วมกับพรรคเพื่อไทย ส.ส.ของพรรคทุกคนยังอยู่กับพรรคเพื่อชาติ รวมถึงนายอารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคด้วย
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า การลาออกของนายมิ่งขวัญ ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อเสียง ส.ส.ของขั้วพรรคเพื่อไทย เพราะหากมีการย้ายขั้วไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐจริงก็จะมีเสียง ส.ส.หายไป 6 เสียงเท่านั้น จาก 245 เสียง ยังมีเสียง 239 เสียง ถือว่าสูงในการทำงานในสภาฯ ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยยังคงรอการตัดสินใจของพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์อยู่ หากจะย้ายมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ทางพรรคเสรีรวมไทยพร้อมให้ตำแหน่งในโควตาของพรรค แต่ทั้ง 2 พรรคยังคงนิ่งเฉย ไม่มีทีท่าจะตอบรับข้อเสนอของตน ส่วนกระแสข่าวพรรค พปชร.สามารถรวมเสียง ส.ส.ได้ 260 คนนั้น ตนยังไม่เชื่อว่าจะรวมเสียงได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |