ลานกว้างของย่าน Bascarsija ใจกลางกรุงซาราเยโว
“ดวา” แปลว่า “สอง” ในภาษาเซอร์เบียน เช่นเดียวกับภาษาบอสเนียน การออกเสียงแทบไม่ต่างกัน โกรันเพื่อนชาวเซิร์บของผมสั่งเคบับ อาหารขึ้นชื่อประจำร้าน Petica เขาบอกผมว่าไม่ต้องดูเมนูให้เสียเวลา มาที่นี่ต้องกินเคบับ เมื่อพนักงานหญิงวัยกลางคนเดินมาที่โต๊ะของเรา โกรันสั่ง “ดวา” หมายถึงเคบับ 2 ที่
คนรับออเดอร์จ้องหน้าเขม็งแล้วพูด “ดวา” ในสำเนียงของบอสเนีย เป็นการทวนให้โกรันพูดใหม่อีกครั้งให้ถูกต้อง
“ดวา” โกรันพูดกลับไป ผมไม่ได้ยินความแตกต่างระหว่าง “ดวา” ของโกรัน และ “ดวา” ของคนเดินโต๊ะ แต่หูของคนสองเชื้อชาตินี้แยกแยะได้
ไม่มีรอยยิ้มจากหล่อน แต่คงพอใจในระดับหนึ่งที่ได้ยินโกรันแก้คำออกเสียงจนถูกต้อง แล้วจึงเดินกลับไปแจ้งออเดอร์กับทางครัว บรรยากาศอึมครึมที่ผมนึกว่าจะจากไปแล้วคงกลับมาอ้อยอิ่งรอบๆ ตัวโกรันอีกครั้ง
ร้านนี้ตั้งอยู่บนถนน Bravadziluk ไม่ห่างจากศาลาว่าการกรุงซาราเยโว ปกติลูกค้าจะเต็มเกือบตลอด โดยเฉพาะในชั่วโมงหิวโหยของนักท่องเที่ยว แต่ปลายเดือนพฤษภาคมอาจยังไม่ใช่ไฮซีซั่นดีนัก โต๊ะด้านนอกร้านมีว่างแต่ผมขอให้โกรันดูข้างในก่อนจะดีกว่า เพราะข้างนอกอากาศหนาวเย็นเกินไปคงกินอาหารไม่อร่อย เราโชคดีที่มีโต๊ะว่างแค่โต๊ะเดียว โต๊ะติดกันอีกสองสามโต๊ะล้วนมีป้ายเขียนจองไว้แล้ว
แม่น้ำมิลยัสคาและศาลาว่าการกรุงซาราเยโว
นอกจากเคบับแล้ว เมนูอื่นในร้านก็ยังมีไส้กรอกเนื้อ เบอร์เกอร์เนื้อ สเต๊กเนื้อ ตับลูกวัวทอด เนื้อลูกวัวทอด เนื้อลูกวัวเสียบไม้ และยังมีเมนูไก่ต่างๆ อีกด้วย สลัดและขนมปังก็มีซึ่งต้องสั่งต่างหาก ด้านเครื่องดื่มก็มีหลายอย่าง แต่ผมเห็นแต่ละโต๊ะสั่งโยเกิร์ตกันแทบทั้งนั้น โต๊ะจองที่ลูกค้ายังไม่มาคนเดินโต๊ะก็นำโยเกิร์ตมาวางไว้ก่อนแล้ว โยเกิร์ตที่ว่านี้เป็นแบบถ้วย ซีลปิดปากเหมือนตามท้องตลาดทั่วไป แต่โกรันไม่ยอมสั่งมา ตอนหลังผมต้องขอน้ำเปล่าป้าหน้าบึ้งคนรับออเดอร์มาดื่มแก้จุก
โต๊ะข้างๆ อีกด้านของเรา มีคู่รักนั่งกันอยู่ 2 คู่ และทารกชายวัยแบเบาะอีกคน หน้าตาน่ารักจิ้มลิ้มและเต็มไปด้วยซอสตามปากและแก้ม เขาจ้องมองผมอย่างเอาจริงเอาจังจนฝ่ายพ่อต้องอุ้มขึ้นและเดินมาให้เขาเห็นหน้าผมชัดๆ ผมหยอกล้อกับทารกน้อย เขาก็ชอบใจใหญ่ จนเมื่อเคบับมาเสิร์ฟพ่อก็บอกให้ผมกิน ไม่ขอรบกวน หลังจากพินิจเคบับอยู่ได้สักครู่ จึงหันไปอีกทีครอบครัวนี้ก็หายไปแล้ว
“พวกเขาเป็นชาวบอสเนียจากเมืองอื่น” โกรันว่า
เคบับเสิร์ฟมาในลักษณะที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งเท่ากับว่าเข้าใจผิดมาตลอดว่ารูปร่างหน้าตาเคบับที่แท้จริงเป็นอย่างไร นั่นก็คือ เป็นห่อขนมปังปิ้งรูปครึ่งวงกลม เปิดด้านที่เป็นเส้นตรงแล้วใส่ไส้กรอกเนื้อชิ้นขนาดหัวแม่มือผู้ใหญ่เข้าไปจำนวนหลายชิ้น แต่ไส้กรอกเนื้อวัวซึ่งใส่เครื่องปรุงพวกผักชีฝรั่ง กระเทียม และกะหล่ำปลีสีเขียวลงไปผสม แล้วนำไปย่าง ไม่มีไส้หุ้มที่จะให้เราเรียกว่าไส้กรอกได้ ในรายละเอียดของเมนูจึงเขียนว่า “Fingers” หรือนิ้ว คงหมายถึงมีลักษณะคล้ายนิ้วมือ เหมือนกับมิช (Mici) ของโรมาเนียที่ผมเขียนถึงไปก่อนหน้านี้ แต่มิชปรุงให้สุกด้วยการทอด
น้ำพุโบราณกลางลาน Bascarsija
ภายในห่อขนมปังย่างรูปครึ่งวงกลมยังมีซาวร์ครีมอยู่ที่ปลายด้านหนึ่งและหัวหอมสับอยู่ที่ปลายอีกด้านหนึ่ง หัวหอมสับมีเยอะมากจนผมต้องเขี่ยออกไปครึ่งหนึ่ง รสชาติของชิ้นเนื้อค่อนข้างเค็ม รายละเอียดของเมนูระบุว่าใช้เนื้อวัว 99.04 เปอร์เซ็นต์ และเกลือ 0.96 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อกินกับเครื่องเคียงทั้ง 2 อย่างก็ถือว่ากำลังดี และหากมีโยเกิร์ตแกล้มอีกหน่อยคงเข้ากันกว่านี้อีก ส่วนที่เป็นแป้งย่างก็จืดตามแบบฉบับ ผมกินหมดเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อ นึกในใจว่าถ้ามีเบียร์ก็จะเข้ากันได้ดีกว่าอะไรทั้งหมด แต่ถ้าผมเรียกหาเบียร์ก็คงจะถูกไล่ออกจากร้าน เพราะนี่คืออาหารของมุสลิม
อิ่มนี้ราคาแค่คนละ 5 บอสเนียนมาร์ค หรือประมาณ 100 บาทเท่านั้น
เราเดินไปบนถนนคนเดิน Bravadziluk ร้านอาหาร ร้านค้าตั้งอยู่เต็มสองฝั่ง จนมาถึงจุดที่เป็นลานกว้าง จะว่ามีลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้าก็ไม่ใช่ สี่เหลี่ยมคางหมูก็ไม่เชิง เรียกบริเวณนี้ว่า Bascarsija ย่านตลาดหรือบาซาร์เก่าและเป็นศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของกรุงซาราเยโวเลยก็ว่าได้ สร้างขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยเสนาบดีที่ขึ้นตรงกับสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน
ด้านซ้ายมือซึ่งต้องเดินเข้าซอยไปหน่อยมีอาคารที่เรียกว่า Bezistan หรือ Bedestan ซึ่งเป็นตลาดแบบหลังคาปิดสร้างขึ้นให้คล้ายกับมัสยิดในแบบออตโตมัน ถือเป็นศูนย์กลางการค้าของเมืองที่จักรวรรดิออตโตมันเข้าไปยึดครอง เราเลี้ยวขวาเดินไปยังกลางลาน มีน้ำพุโบราณที่ทำจากไม้ในสไตล์กึ่งออตโตมันเพราะภายหลังการเข้ามาของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี น้ำพุนี้ก็ถูกแปลงโฉมให้เข้ากับสถาปัตยกรรมของนักล่าอาณานิคมรายใหม่ ด้านขวามือคือมัสยิด ตรงข้ามมัสยิดคืออีกส่วนของตลาดที่มีร้านรวงอยู่เป็นจำนวนมาก กลุ่มชายหนุ่มและวัยกลางคนนั่งด้านหน้าของคาเฟ่สูบบารากุพ่นควันโขมง
ความสัมพันธ์อันดีระหว่างอิสตันบุลและซาราเยโวประจักษ์ชัดเสมอมา
ผู้คนที่เดินไปมา หากเป็นชาวบอสนีแอกหรือคนท้องถิ่นก็จะดูไม่ออกว่าเป็นมุสลิม เพราะโดยทั่วไปแล้วมีลักษณะหน้าตาไม่ต่างจากชาวสลาฟใต้เผ่าอื่นๆ จึงให้รู้สึกแปลกๆ ว่านี่หรือคือโลกมุสลิมที่มาตั้งอยู่ในดินแดนยุโรป แต่หากเป็นนักท่องเที่ยวจากตุรกีหรือชาติอาหรับอื่นๆ ก็จะดูออกเพราะหน้าตาและการแต่งกายที่ต่างกันออกไป โดยเฉพาะสตรีที่คลุมญิฮาบ
บริเวณนี้เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1992 ระหว่างการทำประชามติของบอสเนียฯ เพื่อแยกตัวเป็นเอกราชจากสหพันธรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย (ประกาศเอกราชไปแล้วเมื่อ 1 ปีก่อนหน้านั้นตามหลังโครเอเชียและสโลวีเนีย) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบอสนีแอกและชาวโครแอตออกไปใช้สิทธิ์ ผลออกมาเห็นด้วยอย่างท่วมท้น แต่ชาวเซิร์บในบอสเนียฯ ซึ่งขณะนั้นได้แยกสภานิติบัญญัติออกไปจากสภาผสม 3 ฝ่ายก่อนแล้วไม่เห็นด้วย ในงานแต่งงานของคู่บ่าว-สาวชาวเซิร์บ มีแขกในงานโบกธงของเซอร์เบีย ฝ่ายบอสนีแอกหัวรุนแรงยิงปืนเข้าใส่ฝูงชนที่กำลังฉลองวิวาห์ พ่อเจ้าบ่าวเสียชีวิต และบาทหลวงบาดเจ็บ จนทำให้เกิดการแก้แค้นกันไปมา ขยายเป็นความรุนแรงระหว่างเชื้อชาติ และนำไปสู่การปิดล้อมกรุงซาราเยโวของกองกำลังเซิร์บ ต่อสู้นองเลือดยาวนานราว 4 ปี
เราเดินเข้าไปในถนน Saraci ที่อยู่ตรงข้ามมัสยิด ถนนนี้แคบเพราะยังอยู่ในเขตตลาด Bascarsija นักท่องเที่ยวเดินเลือกซื้อสินค้าอยู่ขวักไขว่ ร้านอาหาร บาร์เบียร์ และบาร์ไวน์ก็มีไม่น้อย จนปลายถนนก่อนจะเชื่อมกับเส้นใหญ่ชื่อ Ferhadija ก็มีร้านอาหารตุรกีชื่อ Galatasaray ตั้งอยู่ด้านขวามือ
เปลวไฟนิรันดร์ อนุสรณ์สถานรำลึกสิ้นสุดการยึดครองของนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2
เจ้าของร้านคือ “ทาริก ฮอดซิซ” อดีตนักฟุตบอลชื่อดังของบอสเนีย ฮอดซิซเล่นในตำแหน่งกองหน้าให้กับ Famos Hrasnica ทีมในดิวิชั่น 2 ของยูโกสลาเวียในสมัยนั้น เขาเป็นดาวซัลโวของลีกในปี ค.ศ.1973 โยกไปเล่นให้กับอีกสองสามทีมก่อนจะย้ายไปโด่งดังเป็นยอดดาวยิงในลีกของประเทศเบลเยียม และไปเป็นขวัญใจของแฟนบอลทีมกาลาซาตาราย (Galatasaray) ในประเทศตุรกี ซึ่งในฤดูกาล 1983–84 เขาเป็นดาวซัลโวของลีกแดนไก่งวง ฮอดซิซเล่นให้กับทีมในตุรกีอีก 2 ทีมก่อนแขวนสตั๊ดในปี ค.ศ.1987 แต่เขาไม่เคยได้ติดทีมชาติ เพราะขณะนั้นบอสเนียต้องแข่งในนามทีมชาติยูโกสลาเวียที่มีตัวเลือกมากมาย ทั้งจากเซอร์เบีย โครเอเชีย สโลวีเนีย แอลเบเนีย มาซิโดเนีย และมอนเตเนโกร
เมื่อเข้าสู่ถนน Ferhadija ก็พบกับความแตกต่างขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากขนาดถนนที่กว้างขึ้นแล้ว ตัวอาคารร้านค้าก็เปลี่ยนจากลักษณะแผงค้าหรือร้านที่ทำจากไม้ หิน และอิฐ มาเป็นอาคารในแบบของออสเตรีย-ฮังการี ที่ดูใหญ่โตแข็งแรง และสถาปัตยกรรมที่เน้นรายละเอียดการแกะสลักลวดลาย สินค้าก็เปลี่ยนจากแบบท้องถิ่นมาเป็นบรรดาแบรนด์เนมระดับโลก
เลยโบสถ์ Sacred Heart Cathedral แบบโกธิคของคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ทางขวามือของถนนไปหน่อยก็เป็น “พิพิธภัณฑ์อาชญากรรมต่อมนุษยชาติและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 1992–1995 (The Museum of Crimes Against Humanity and Genocide 1992-1995) แต่พิพิธภัณฑ์ได้ปิดลงแล้วเราจึงไม่ได้เข้าไป ตรงข้ามกันคือโบสถ์ของคริสต์นิกายเซอร์เบียนออร์โธดอกซ์ โกรันบอกว่าปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียง 2 แห่งในกรุงซาราเยโว
เราเดินไปจนถนน Ferhadija บรรจบกับถนนเส้นหลัก MarsalaTita ซึ่งมีรถยนต์และรถรางวิ่งสัญจร ที่หัวมุมจุดเชื่อมของ 2 ถนน ถัดจากสำนักงานไปรษณีย์ คือ Vjecna Vatra อนุสรณ์สถานรำลึกผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่ง Vjecna Vatra แปลว่า “เปลวไฟที่ไม่เคยดับ”
สะพาน Festina Lente เชื่อมสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งซาราเยโว และถนน Obala Kulina Bana
อนุสรณ์สถานแห่งนี้มีการทำพิธีเปิดไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ.1946 ในวาระครบรอบ 1 ปีการปลดปล่อยกรุงซาราเยโวจากการยึดครองยาวนาน 4 ปี ของกองทัพนาซีและรัฐเอกราชโครเอเชีย ซึ่งเป็นรัฐหุ่นเชิดของนาซีเยอรมัน มีข้อความสลักไว้บนแผ่นหินโค้งหลังเปลวไฟ แปลได้ว่า
“ด้วยความกล้าหาญและการรวมเลือดเนื้อของนักสู้แห่งบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา ชาวโครแอต มอนโตเนกริน และกองทัพยูโกสลาฟอันเกรียงไกร อีกทั้งพลังและการเสียสละของเพื่อนผู้รักชาติชาวซาราเยโว ที่มีทั้งเซิร์บ, มุสลิม และโครแอต เมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ.1945 ซาราเยโว เมืองหลวงแห่งบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ ด้วยบุญคุณอันเป็นนิรันดร์ของวีรบุรุษทั้งหลายที่ได้กระทำเพื่อบ้านเกิดเมืองนอน วันนี้คือวันครบรอบหนึ่งปีที่ซาราเยโวอันเป็นที่รักมีอิสรภาพ”
หนุ่มสาวนักท่องเที่ยวกำลังถ่ายภาพโดยมีเปลวไฟนิรันดร์และถ้อยแถลงแห่งอิสรภาพที่สลักไว้เบื้องหลังเป็นฉาก
เราเดินต่อไปบนถนน MarsalaTita ได้สักพักก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนน Radiceva ออกสู่ถนน Obala Kulina Bana ซึ่งเป็นถนนเลียบแม่น้ำมิลยัสคา (Miljacka) ที่มีทางรถรางวางไปบนถนนคอนกรีตด้วย ฝั่งตรงข้ามคือสะพาน Festina Lente เป็นสะพานลักษณะโมเดิร์นที่มีหลังม้วนโค้งอยู่ตรงกลาง ออกแบบโดยสามนักศึกษาจากสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งซาราเยโว (Academy of Fine Arts Sarajevo) เมื่อปี ค.ศ.2012 นี่เอง ซึ่งสะพานนี้เชื่อมถนนและสถาบันที่ตั้งอยู่อีกฝั่งแม่น้ำ
สะพาน Latin จุดที่มกุฎราชกุมาร “ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์” แห่งออสเตรียถูกลอบปลงพระชนม์
เดินต่อไปทางซ้ายมือ พบสะพานถัดมาชื่อ Cobanija สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1887 โดยสร้างทับสะพานไม้เก่าที่สร้างขึ้นก่อนนั้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 ต่อด้วยสะพาน Drvenja ที่สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1898 ในสมัยที่จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีเข้ามาปกครอง ถัดไปอีกสะพานคือ Cumurija เริ่มแรกสร้างขึ้นด้วยไม้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1565 โดยจักรวรรดิออตโตมัน
และแล้วก็มาถึงสะพาน Latin ซึ่งเป็นจุดที่ “ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์” มกุฎราชกุมารแห่งออสเตรียเสด็จผ่านเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1914 ก่อนจะถูก “กัฟริโล ปรินซิป” เด็กหนุ่มชาวบอสเนียน-เซิร์บ ใช้ปืนสังหารสิ้นพระชนม์พร้อมพระมเหสี “ดัชเชสโซฟี”
สะพานนี้จึงมีความสำคัญ เชื่อมให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |