“คลัง” จ่อถก ธปท.ปลดล็อกเกณฑ์ LTV แบงก์รัฐ หลังยอดปล่อยกู้วูบ


เพิ่มเพื่อน    

 

24 พ.ค. 2562 นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ได้เรียก ธอส. และธนาคารออมสิน ให้ข้อมูลผลกระทบมาตรการคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อที่จะไปหารือกับ ธปท. ให้ผ่อนผันเงื่อนไขในการปล่อยกู้บ้านให้กับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ที่เป็นการปล่อยกู้ให้กับผู้มีรายได้น้อยและส่วนใหญ่เป็นการปล่อยกู้บ้านหลังแรก

ทั้งนี้ ยอมรับว่าในส่วนของ ธอส. ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV ค่อนข้างรุนแรง โดยการปล่อยกู้ในไตรมาส 1/2562 โดยเฉพาะในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา มีการอนุมัติสินเชื่อถึง 1.9 หมื่นล้านบาท เพื่อหนีมาตรการ LTV  ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือน เม.ย.2562 ขณะที่การปล่อยกู้ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา อยู่ที่ 9 พันล้านบาท จากทุกปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1.3-1.5 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากมาตรการ LTV และมีวันหยุดค่อนข้างมากในเดือนดังกล่าว

สำหรับการปล่อยกู้ในครึ่งแรกของเดือน พ.ค. 2562 ยอดปล่อยกู้ลดลง 30-35% หากเป็นเช่นนี้จะทำให้ปีนี้ ธอส. ปล่อยกู้ต่ำกว่าเป้าหมาย 6 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2.03 แสนล้านบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังว่าจะหารือกับ ธปท. ให้ผ่อนผันเกณฑ์ LTV กับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐได้หรือไม่

"มาตรการ LTV เป็นมาตรการที่ดี ถูกต้องตามทฤษฎีเหมาะสำหรับการคุมการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์กับลูกค้าที่เป็นผู้มีรายได้ดี การกำหนดให้ปล่อยกู้ได้ไม่ 95% ของราคาประเมิน ไม่กระทบกับผู้มีรายได้ดี แต่มาตาการ LTV ไม่เหมาะกับใช้การปล่อยกู้บ้านของ ธอส. ที่เป็นลูกค้ากลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเป็นผู้กู้ซื้อบ้านหลังแรก ตัวอย่างเช่น ขอกู้ 1 ล้านบาทต้องหาเงินมาดาวน์ 5 หมื่นบาท สำหรับผู้มีรายได้น้อยเป็นเรื่องลำบากที่จะหาเงินดังกล่าว ทำให้การการปล่อยกู้บ้านหลังแรกของ ธอส. ได้รับผลกระทบมาก" นายฉัตรชัย กล่าว

นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ธนาคารเชื่อว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ จะต้องมีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติมทั้งการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการผ่อนผันเกณฑ์ LTV ส่วนอัตราดอกเบี้ยครึ่งปีหลังคาดว่าจะทรงตัว โดยมองว่า ธปท. คงไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว

สำหรับการปล่อยกู้โครงการบ้านล้านหลัง ในรอบแรกมีผู้จองสิทธิ์ 1.27 แสนราย ยืนคำกู้ 7.3 พันราย วงเงินกู้ 5.2 พันล้านบาท อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 6.3 พันราย เป็นยอดเงินกู้ 4.3 พันล้านบาท เฉลี่ยปล่อยกู้เดือนละ 400-500 ล้านบาท โดยธนาคารจะเปิดให้จองสิทธิ์กู้รอบ 2ในเดือน ก.ย. 2562 โดยโครงการบ้านล้านหลังได้รับอนุมัติวงเงินปล่อยกู้จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เบื้องต้น 5 หมื่นล้านบาทและให้ขยายเวลาการปล่อยกู้จากสิ้นปี 2563 ไปถึง 2564

สำหรับความคืบหน้าแผนการออกสลากออมทรัพย์ ธอส. จำนวน 3 ชุด วงเงิน 1 แสนล้านบาทนั้น  ชุดแรกจะเริ่มจำหน่ายได้แก่สลาก Premium ชุดวิมานเมฆ หน่วยละ 1 ล้านบาท วงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท ออกรางวัลทุกวันที่ 16 ของเดือน จำนวน27 รางวัล/เดือน รางวัลละ 200,000 บาท   อายุสลาก 3 ปี ทำให้ผู้ถือสลากมีโอกาสลุ้นรางวัลถึง 972 รางวัล ทำให้มีโอกาสในการถูกรางวัลสูงถึง 0.1%  และเมื่อฝากครบ 3 ปี จะให้ผลตอบแทนหน้าสลากสูงถึง 1.4% ต่อปี เทียบเท่ากับเงินฝากประจำหากถูกรางวัลเพียง 1 ครั้ง ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 8.07%ต่อปี และยังสามารถถือสลากต่อเพื่อมอบเป็น มรดกได้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถออกรางวัลครั้งแรกได้ในเดือนกันยายนนี้

สำหรับสลากอีก 2 ชุด คือ ราคาหน่วยละ 10 ล้านบาท วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท จะออกรางวัลทุกไตรมาส รางวัลละ 3 ล้านบาท มีจำนวน 3-5 รางวัล ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้ทำความเข้าใจกับพนักงาน ว่าสลากออกทรัพย์ของ ธอส. เป็นการขายผลตอบแทนและโอกาส ไม่เหมือนกับสลากอื่นที่มีโอกาสถูกรางวัลเพียง 0.0001% เท่านั้น

ขณะที่ สลาก ธอส. ราคาหน่วยละ 500 บาท  วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะออกจำหน่ายต้นปีหน้า โดยเงินที่ระดมได้จากการออกสลากทั้งหมดจะกันออกมาปล่อยกู้ให้กับผู้มีรายได้น้อยเป็นการเฉพาะในอัตราดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 3% เพราะต้นทุนการออกสลากต่ำประมาณ 1.7% เทียบต้นทุนเฉลี่ยของธนาคารอื่น ๆ ที่ระดมเงินจากเงินฝากและแหล่งอื่นๆ อยู่ที่ 1.9-2.1%

“ขณะนี้ขั้นตอนของการออกสลาก ธอส. อยู่ระหว่างรอประกาศกรมสรรพากรเว้นการเก็บภาษีเงินได้จากเงินรางวัลและดอกเบี้ยที่ได้จากการซื้อสลาก โดยผู้ที่สนใจซื้อสลากPremium ชุดวิมานเมฆ หน่วยละ 1 ล้านบาท จะต้องทำการนำเงินมาฝากกับธนาคารเพื่อเป็นการจองสิทธิในเดือน มิ.ย. นี้ หลังจากนั้นคาดว่าสลากจะถึงมือผู้จองในเดือน ส.ค. และออกรางวัลครั้งแรก 16 ก.ย. 2562” นายฉัตรชัย กล่าว

สำหรับแผนงานของธนาคารในอนาคตจะมีการดำเนินการจัดทำสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) วงเงิน 1 พันล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยของตัวเองและปลอดภาระหนี้ สามารถนำมาจำนองกับธนาคารเพื่อรับเงินเป็นรายเดือน  โดยกำหนดพื้นที่นำร่องที่อยู่อาศัยต้องตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยธนาคารกำหนดให้กู้สำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 80 ปี วงเงินให้กู้สูงสุดไม่เกิน 50% ของราคาประเมินและสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยไม่พิจารณารายได้ของผู้กู้ อัตราดอกเบี้ย 6.25% ต่อปีตลอดอายุสัญญากู้ ระยะเวลาขอรับเงินได้นานสูงสุด 25 ปี หรือจนถึงผู้กู้อายุ 85 ปี ธนาคารจะจ่ายเงินให้ผู้กู้เป็นรายเดือน อาทิ วงเงินกู้ 2 ล้านบาท หากผู้กู้อายุ 65 ปี ระยะเวลาการกู้ 20 ปี จะได้รับเงินจากธนาคารเดือนละ 8.3 พันบาท ขณะนี้มีผู้สนใจมาสอบถามกับธนาคาร 4-5 ราย

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สศค. เปิดเผยว่า ตอนนี้ สศค. ติดตามผลกระทบมาตรการ LTV ที่เกิดขึ้นกับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ว่าจะทำให้ยอดปล่อยสินเชื่อบ้านลดลงต่อเนื่องหรือไม่ เนื่องจากก่อนมาตรการมีผลได้มีการเร่งโอน ทำให้ยอดการโอนในเดือน เม.ย. ลดลง ซึ่งต้องดูต่อไปอีกระยะหนึ่งว่าเป็นการลดลงชั่วคราวหรือเป็นการลดลงถาวรทุกเดือน เพื่อจะได้หารือกับ ธปท. ได้อย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ธปท. ให้เหตุผลว่า มาตรการ LTV ไม่กระทบกับการปล่อยกู้บ้านหลังแรก เพราะเป็นมาตรการคุมการปล่อยกู้บ้านหลังที่ 2 และ 3 เพื่อไม่ให้เกิดการซื้อบ้านเพื่อเก็งกำไร และการปล่อยกู้บ้านแบบมีเงินถอน เพราะ ธปท. พบว่า ธนาคารพาณิชย์บางแห่งปล่อยกู้ซื้อบ้านให้กับผู้กู้ถึง 110-115% ของราคาประเมิน จึงต้องออกมาตรการนี้มาเพื่อดูแลเรื่องเสถียรภาพ จึงต้องรอดูผลของมาตรการนี้อย่างแท้จริงอีกระยะหนึ่ง
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"