ปิดดีลตั้งรัฐบาล "มิ่งขวัญ" ทิ้งเก้าอี้หัวหน้าพรรค "พท." ป่วน! เลิกนัดถกพรรคร่วมฝ่าย ปชต. "ภูมิธรรม" เสียงแข็งมั่นใจในสัตยาบัน 7 พรรค "หญิงหน่อย" ยังหวัง "ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์" จะมาจับมือ "ปชป." ยื้ออีก บอก 24 พ.ค.เคาะ "ร่วม-ไม่ร่วม" รัฐบาลฝั่งไหน "พปชร." เปิดโควตาประธานสภาฯ ให้ค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม "งูเห่าเศรษฐกิจใหม่-เพื่อชาติ" เลื้อยหนุนลุงตู่นั่งนายกฯ เพิ่มอีก 8 เสียง "รบ.พลังประชารัฐ" ทะลุ 260 เสียง
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางเข้ามาปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาลสายกว่าปกติ โดยมาถึงทำเนียบรัฐบาล เวลา 10.25 น. พร้อมๆ กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าก่อนหน้านี้ได้มีการหารือกันเกี่ยวกับความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาล โดยเมื่อมาถึง พล.อ.ประยุทธ์ได้ขึ้นไปยังห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้าทันที ส่วนนายวิษณุได้ขึ้นห้องทำงานตึกบัญชาการ 1 และหลบไปขึ้นทางประตูด้านหลังของตึก ขณะที่ พล.อ.ประวิตรต้องเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5/2562 ที่ตึกบัญชาการ 1
พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงกรณีนายชัย ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ประกาศสนับสนุนให้กลับมาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และดูแลกระทรวงกลาโหม ว่าเรื่องนี้ตนยังไม่รู้ว่าเป็นการส่งสัญญาณว่าพรรคภูมิใจไทยจะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ ที่บอกว่าไม่รู้ เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเข้าไปจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้
ถามว่ามีหลักตัดสินใจอย่างไรหากมีการสนับสนุนให้กลับเข้ามารับหน้าที่ในทางการเมืองของรัฐบาลชุดใหม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ยึดหลักอะไร ก็แล้วแต่ พล.อ.ประยุทธ์
ซักว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ขอให้กลับมาช่วยงานพร้อมกลับมาทำงานใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบว่า “เดี๋ยวก่อน ขอดูก่อน”
พอถามว่า ความเห็นต่างของพรรคประชาธิปัตย์ที่แบ่งออกเป็นสองขั้ว จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐยากขึ้นหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่รู้ ก็บอกว่าไม่รู้แล้วยังจะมาถามอยู่นั่นแหละ ก็เราไม่ใช่เป็นคนไปจัดตั้งรัฐบาล จะรู้ได้อย่างไร
ถามย้ำว่า ไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลจริงหรือ พล.อ.ประวิตรตอบว่า “ก็จริงอะดิ”
เมื่อถามว่า เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ ทำไมจึงเข้ามาทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลพร้อมกับ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตรย้อนถามว่า “แล้วทำไม ก็บ้านมันอยู่ใกล้กัน" เมื่อถามว่าได้ทานข้าวเช้าด้วยกันหรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า ไม่ได้คุย ไม่ได้กินข้าวเช้าด้วยกัน ก็ออกมาจากบ้านแล้วเจอกันพอดี ไม่ได้คุยกัน
จากนั้นนายวิษณุกล่าวถึงไทม์ไลน์การจัดตั้งรัฐบาลหลังมีพิธีเปิดสภาอย่างเป็นทางการว่า เมื่อได้ตัวประธานวุฒิสภา ประธานสภาฯ และมีการโปรดเกล้าฯ ลงมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นายกรัฐมนตรีคนใหม่น่าจะได้ในเดือน พ.ค.นี้ แต่กว่าจะตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ จะต้องมีการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อน และต้องมีการแถลงนโยบายการดำเนินงานต่อรัฐสภาด้วย ก็จะประมาณเดือน มิ.ย.
"เมื่อมีการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตน ก็ทำให้รัฐบาลเก่าพ้นจากตำแหน่ง แต่รัฐบาลใหม่อาจจะยังทำงานยาก เพราะยังไม่ได้มีการแถลงนโยบาย ซึ่งจะต้องมีการแถลงภายใน 15 วันหลังการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตน ส่วนการจัดทำนโยบายเพื่อแถลงต่อรัฐสภา ขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่จะใช้เวลาแค่ไหน ยิ่งเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ก็ต้องพยายามนำเอานโยบายของพรรคอื่นๆ เข้ามาด้วย จะเอาแต่นโยบายของพรรคแกนนำอย่างเดียวคงไม่มีใครยอม ซึ่งพรรคที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลจะต้องไปว่ากันเอง" นายวิษณุกล่าว
ถามว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ได้กลับมาเป็นนายกฯ จะเรียกว่าเป็นนายกฯ คนที่ 30 หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อพูดถึงคน วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ถ้าได้กลับมาอีกก็ถือว่าเป็นนายกฯ คนที่ 29 อย่างกรณีของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกฯ หลายครั้ง ก็ยังนับ 1 คน เช่นเดียวกับนายกฯ ในอดีตคนอื่นๆ ก็ไม่ได้เป็นนายกฯครั้งเดียวด้วยเช่นกัน ส่วน พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นอีกรอบหรือไม่ ตนไม่รู้
นายวิษณุยืนยันยังไม่ได้รับการทาบทามกลับมาเป็นรองนายกฯ ในรัฐบาลใหม่ โดยระบุว่า ข่าวทาบทามมาจากไหน ยังไม่มี ถามทุกวันก็จะตอบทุกวันว่าไม่มี แต่ถ้าวันไหนมีก็จะตอบว่ามี ส่วนเส้นทางอนาคตของตนเองยังไม่ขอบอก และเชื่อว่ายังไม่มีคนไหนถูกทาบทามให้เป็นรัฐมนตรีในตอนนี้ หรือจะมีใครเป็นผู้ไปทาบทาม เพราะใครจะเป็นรัฐบาลอย่างไรก็ยังไม่ทราบ ไม่มีใครที่จะไปตั้งเงื่อนไขหรือเตรียมการอย่างนั้น แต่สำหรับพรรคที่เขาจะคิดร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล แค่เวลานี้เขาก็ยังไม่พูดถึงตัวบุคคลว่าใครจะเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงไหน แต่อาจจะพูดเพียงแค่ตำแหน่งของแต่ละพรรคที่จะได้ เมื่อได้ตำแหน่งถึงจะมีการเสนอตัวบุคคล
'มิ่งขวัญ'ทิ้งหน.พรรค
ตลอดทั้งวันที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวจากพรรคการเมืองต่างๆ ที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลอย่างน่าสนใจ โดยเมื่อเวลา 08.40 น. นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก บอกถึงการส่งหนังสือถึงนายทะเบียนพรรคการเมือง แจ้งความประสงค์ขอลาออกจากหัวหน้าพรรค
เนื้อหาระบุว่า "เนื่องจากการบริหารจัดการในพรรคเศรษฐกิจใหม่ ตามที่ข้าพเจ้าได้เคยแถลงข่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า การบริหารจัดการในพรรคได้แบ่งแยกภารกิจการทำงานออกเป็น 2 ส่วนอย่างชัดเจน กล่าวคือข้าพเจ้ามีหน้าที่รับผิดชอบในการร่างนโยบายระบบเศรษฐกิจใหม่ การออกไปพูดกับสาธารณชนและสื่อต่างๆ ส่วนการบริหารกิจการภายในพรรค การรับสมัครสมาชิกพรรค คัดเลือกผู้สมัคร การระดมทุน และการบริหารจัดการทางการเงินทั้งหมด เป็นหน้าที่รับผิดชอบของนายสุภดิช อากาศฤกษ์ และทีมบริหารอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ดูแล
บัดนี้ได้ผ่านพ้นการเลือกตั้งมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าเป็นช่วงเวลาอันเหมาะสม จึงขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ การลาออกนี้เป็นการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังคงสถานะสมาชิกภาพของพรรรคเศรษฐกิจใหม่ และดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อ ทั้งนี้นายสุภดิช อากาศฤกษ์ รองหัวหน้าพรรคคนที่ 1 จะทำหน้าที่รักษาการแทนหัวหน้าพรรคตามข้อบังคับพรรคข้อที่ 14 ไปก่อน จนกว่าจะมีการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่
อนึ่ง การที่พรรคเศรษฐกิจใหม่ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อมาทั้งหมด 6 คนนั้น ข้าพเจ้าและผู้แทนราษฎรรวมทั้งหมด 6 คน จะรักษาคำมั่นสัญญาที่ได้เคยให้ไว้กับประชาชน ตามที่เคยได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนในทุกๆ โอกาสว่า จะปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ อย่างเต็มความสามารถต่อชาติ ศาสนา และเทิดทูนในสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ หนังสือลาออกฉบับนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2562 เป็นต้นไป"
ด้านนายอังกฤษฎา ราวินิช ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จังหวัดอุดรธานี พรรคเศรษฐกิจใหม่ เดินทางมาขอคำปรึกษาทางกฎหมาย และขอความเป็นธรรมจาก กกต. กรณีถูกกรรมการบริหารพรรคหลอกลวงโดยสัญญาว่าจะให้เงินสนับสนุนในการหาเสียงเลือกตั้ง แต่เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นพรรคได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 6 คน จาก 480,000 คะแนน พรรคกลับบ่ายเบี่ยงไม่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
ขณะที่พรรคเพื่อไทยได้แจ้งสื่อมวลชนขอยกเลิกการนัดหมายการพูดคุยกับพรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย ถึงเรื่องสถานการณ์การเมืองที่กำหนดไว้เวลา 10.00 น. วันที่ 23 พ.ค. ที่โรงแรมแลงคาสเตอร์ โดยอ้างว่าแกนนำหลายพรรคการเมืองติดภารกิจ
เจ้าหน้าที่โรงแรมรายหนึ่งระบุว่า พรรคเพื่อไทยได้โทรศัพท์มาขอยกเลิกการจองห้องแลงคาสเตอร์ 4-5 ที่จองไว้ในวันที่ 23 พ.ค.นี้
นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายมิ่งขวัญลาออกจากหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ว่า เพิ่งทราบอย่างไม่เป็นทางการจากสื่อมวลชน เคารพในการตัดสินใจของนายมิ่งขวัญ เพราะเป็นสิทธิส่วนตัว ยังเชื่อว่านายมิ่งขวัญจะรักษาคำพูดและคำมั่นสัญญาที่เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ ที่ผ่านมาการพูดคุยกับนายมิ่งขวัญ ไม่ได้พูดคุยในนามส่วนตัว แต่เป็นการพูดส่วนรวม กำหนดแนวทางอนาคตวันข้างหน้าที่จะร่วมกันทำงานของ 7 พรรคการเมือง แม้นายมิ่งขวัญจะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่ในฐานะ ส.ส. ก็ยังจะต้องรักษาจุดยืนของตนเองและรักษาประโยชน์ของประเทศชาติ
'พท.'ยังเชื่อสัตยาบัน
"ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ก็จะมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด และต่อจากนี้จะมีจัดกระบวนการที่แปลกๆ แบบนี้เกิดขึ้นจนกว่าจะมีระบอบประชาธิปไตยที่ปกติ ซึ่งเชื่อว่านายมิ่งขวัญไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆ เพราะล่าสุดยังคุยกันเมื่อคืนนี้ หลังจากนี้จะได้ประสานพูดคุยกับนายมิ่งขวัญเป็นการส่วนตัว เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงถึงการลาออกครั้งนี้ว่ามีกระบวนการอยู่เบื้องหลัง หรือมีแรงกดดันหรือไม่" นายภูมิธรรมกล่าว
ถามว่า การร่วมลงนามสัตยาบันของ 7 พรรคการเมืองมีเพียงพรรคเศรษฐกิจใหม่ที่ไม่ได้ลงนามในหนังสือสัตยาบันจะมีผลอะไรหรือไม่ เลขาฯ พรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ที่ผ่านมาระหว่างพรรคเพื่อไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ ไม่เคยลงนามหรือทำเป็นหนังสือสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรร่วมกัน เพียงแต่ที่ผ่านมาเป็นการพูดคุยกันทางวาจาปากเปล่าเท่านั้น
ต่อมานายภูมิธรรมให้สัมภาษณ์อีกครั้งระบุว่า ได้โทรศัพท์พูดคุยกับนายมิ่งขวัญแล้ว ทราบว่าการลาออกเกิดจากปัญหาภายในของพรรคเศรษฐกิจใหม่
"ยืนยันว่าไม่ส่งผลกับ 6 เสียงของพรรคที่จะสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ส่วนบุคคลที่จะเสนอชื่อเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น จะมีความชัดเจนภายหลังการประชุม ส.ส.พรรค วันที่ 24 พ.ค. ในเวลา 18.00 น." เลขาฯ พรรค พท.ระบุ
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรค พท. กล่าวถึงการลาออกของนายมิ่งขวัญว่า ทราบจากเลขาฯ พรรคได้พูดคุยกับพรรคเศรษฐกิจใหม่แล้ว โดยยืนยันยังมีเจตนารมณ์ที่จะรักษาคำมั่นเช่นเดิม
"วันนี้พรรคเพื่อไทยได้ทำทุกวิถีทางอย่างเต็มที่แล้ว โดยไม่ยึดติดกับตำแหน่งใดๆ ในการจัดตั้งรัฐบาล จึงต้องรอวัดใจกับพรรคตัวแปรคือ พรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ว่าจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนหรือไม่ จะเลือกเสียงของประชาชน หรือว่าจะเป็นเพียงแค่ลีลาเพื่อที่จะต่อรองตำแหน่ง ซึ่งหากคิดเพียงแค่ใช้ประชาชนเป็นตัวประกันนั้น เชื่อว่าประชาชนจำแม่น" คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีการประชุม ส.ส. 45 คน ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน พร้อมด้วยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค โดยนายเฉลิมชัยรายงานผลการเจรจาประสานงานกับพรรคการมืองต่างๆ ตามที่ที่ประชุม กก.บห.และ ส.ส.พรรคได้มอบหมายให้ที่ประชุมทราบความคืบหน้าว่าผลการเจรจามีความคืบหน้าอย่างไร แต่ภารกิจนี้ยังไม่ถือว่าเป็นข้อยุติ ยังต้องเจรจาประสานงานต่อเพิ่ม อย่างน้อยต้องใช้เวลาอีก 1 วัน จากนั้นแล้วถึงจะมารายงานความคืบหน้า เพื่อที่ให้มีการประชุมร่วมระหว่าง กก.บห.และ ส.ส.พรรค
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ปชป. แถลงหลังประชุมว่า ช่วงเย็นวันพรุ่งนี้ (24 พ.ค.) จะมีการประชุมร่วมระหว่าง กก.บห.และ ส.ส.ของพรรค เพื่อกำหนดทิศทางว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลกับฝ่ายใด แต่ยังไม่ยืนยันว่าจะได้ข้อสรุปภายในการประชุมหรือไม่
"เบื้องต้นที่ประชุม ส.ส. มีมติว่าเป็นผู้นำทางฝ่ายนิติบัญญัติคือ การส่งบุคคลที่เหมาะสมลงชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังไม่ได้กำหนดตัวบุคคลที่เหมาะสม เพราะในพรรคมีหลายคนที่เหมาะสม โดยจะมีการหารือกันในการประชุมช่วงเย็นวันที่ 24 พ.ค. เวลา 16.00 น. ยืนยันว่าการเสนอชื่อบุคคลเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่มีนัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาล เพราะการเข้าร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลเป็นคนละประเด็นกัน ซึ่งเรื่องนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้นายเฉลิมชัยไปเป็นผู้ดำเนินการ" โฆษกพรรค ปชป.กล่าว
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคปชป. ปฏิเสธข่าวจะรับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรแลกกับการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ว่าเราเคยพูดกันภายในพรรคเมื่อนานมาแล้ว ว่าถ้าบังเอิญพรรคประชาธิปัตย์ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในการเลือกประธานสภาฯ บุคคลที่เหมาะสมที่สุดคือนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่เคยมีการพูดถึงตน เพราะเคยเป็นประธานสภาฯ มาแล้ว ซึ่งนายบัญญัติมีสิทธิ์ตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับตำแหน่งดังกล่าว แต่ในเมื่อนายบัญญัติปฏิเสธแล้ว ก็แสดงว่าเขาอาจไม่สนใจ และเราไม่ต้องพูดถึงกันอีกแล้ว
งูเห่า'ศม.-พช.'ซบพปชร.
ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีการจัดปฐมนิเทศ ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อรวม 115 คน เพื่อเตรียมตัวก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก โดยมีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนิติกรจากรัฐสภา รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหน้าที่ชี้แจง โดย ส.ส.ทุกคนจะได้รับเอกสารชี้แจงข้อปฏิบัติ ข้อห้ามในการทำหน้าที่ ส.ส. และวิธีการกรอกข้อมูลบัญชีทรัพย์สินเพื่อจดแจ้งต่อ ป.ป.ช.
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรค ได้ชี้แจงต่อที่ประชุม ส.ส.ตอนหนึ่งว่า การทำงานในสภาสมัยนี้จะมีความเข้มข้น แต่มั่นใจว่าเราจะฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ในที่สุด เพราะจากการพูดคุยกับกลุ่มย่อยๆ พบว่าทุกคนมีความสามัคคีกันดี จึงต้องดูว่าอีก 2-3 เดือนที่จะถึงนี้ เราจะรักษาความมีระเบียบวินัยของตัวเองได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการตรงต่อเวลา เข้าใจว่าทุกคนมีภารกิจ แต่ทุกคนต้องไม่รับภารกิจในวันที่มีการประชุมสภา เราต้องไม่ปล่อยให้เกิดสภาล่มโดยคนของพรรค พปชร. เราจะมีคณะทำงานมาดูแลในส่วนนี้ตลอดเวลา
“วันเสาร์นี้ (25 พ.ค.) จะมีการเสนอชื่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องดูว่าจะมีการเสนอใคร และใครจะเป็นผู้เสนอ ซึ่งถ้าไม่ใช่ผมเป็นผู้เสนอ อาจจะเป็นคนอื่น แต่ขณะนี้หัวหน้าและเลขาธิการพรรคบอกมาแล้วว่าให้ผมเป็นคนเสนอชื่อประธานสภาฯ จึงขอให้ทุกคนดูตามแนวทางของเราด้วย โดยวิปฯ จะอธิบายว่าขั้นตอนเป็นอย่างไร” นายณัฏฐพลกล่าว
รองหัวหน้าพรรค พปชร.กล่าวว่า การแสดงวิสัยทัศน์ในสภา ขอให้ทุกคนได้พิจารณาถึงการตอบโต้ประเด็นต่างๆ ด้วย เพราะทุกคนเป็น ส.ส.ในนามพรรค พปชร. ไม่ได้เป็น ส.ส.เองแต่เพียงคนเดียว เพราะทุกอย่างที่เราตอบโต้ออกไปล้วนแต่มีเสียงสะท้อนออกมาที่พรรค อย่าคิดว่าการได้ออกทีวีหรือการแสดงวิสัยทัศน์จะเป็นประโยชน์ต่อการทำพื้นที่ เพราะถ้าภาพออกมาด้านลบ จะเป็นผลไม่ดีต่อพรรค พปชร.
“ช่วงกลางสมัยเราจะค้นพบว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ ฝากหลายคนที่มีประสบการณ์ ฝากท่านวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้ช่วยดูแล ส.ส.ใหม่ ถ้าไม่ชัวร์ขอให้ประกบเลย ส.ส.ใหม่สามารถถามได้เลยว่าแบบนี้ถามได้มั้ย คัดค้านได้มั้ย อย่าเป็นสิงห์เดี่ยว เราไม่ต้องการภาพนั้น เราเป็น ส.ส.ในนาม พปชร.”รองหัวหน้าพรรค พปชร.กล่าว
มีรายงานความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรค พปชร.ว่า แกนนำพรรค พปชร.ได้นัดหารือกันกับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเจรจาจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อคืนวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้พูดคุยถึงเวลา 23.00 น. แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติในบางกระทรวง ทำให้แกนนำ พปชร.ต้องไปประชุมต่อในช่วงเช้าวันนี้ (23 พ.ค.)
"ตัวเลขของการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรค พปชร. เป็นแกนนำ จากเดิมที่สามารถรวมเสียงได้ 252 เสียง ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 115 คน, ประชาธิปัตย์ 52 คน, ภูมิใจไทย 51 คน, ชาติไทยพัฒนา 10 คน, รวมพลังประชาชาติไทย 5 คน, ชาติพัฒนา 3 คน, พลังท้องถิ่นไทย 3 คน, รักษ์ฝืนป่าประเทศไทย 2 คน, พรรคเล็ก 11 พรรคที่ได้ ส.ส.พรรคละ 1 คน ล่าสุดถ้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ จำนวน 5 คน ไม่รวมนายมิ่งขวัญแล้วได้ 257 เสียง และมีแนวโน้มอาจมีเสียง ส.ส.จากพรรคเพื่อชาติบางส่วนมาร่วมด้วย เบื้องต้น 2-3 เสียง ทำให้ตัวเลขในขณะนี้อยู่ที่ 259-260 เสียง" แหล่งข่าวจากพรรค พปชร.ระบุ
นอกจากนี้ ในส่วนของตำแหน่งประธานสภาฯ พรรค พปชร.จะให้ตำแหน่งนี้กับพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนเก้าอี้รัฐมนตรีในโควตาของพรรคต่างๆ ยังไม่ได้มีการพูดคุยลงไปในรายละเอียด
มีรายงานว่า บุคคลที่ กก.บห.พรรคประชาธิปัตย์จะพิจารณาเป็นประธานสภาฯ มี 4 ราย คือ นายชวน, นายบัญญัติ, นายอภิสิทธิ์ และนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะต้องการให้เข้าไปแก้เดดล็อกทางการเมืองในเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งการเสนอชื่อชิงตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าพรรคจะไปร่วมรัฐบาล แต่ต้องการทำงานฝ่ายนิติบัญญัติ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |