วิบากกรรม "ธนาธร-อนค." รอศาล รธน.-กกต.ชี้ชะตา


เพิ่มเพื่อน    

 หลังมีรายงานว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ค.นี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคำร้องของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 82 วรรคสี่ กรณีความปรากฏหรือมีเหตุอันควรสงสัยต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่-ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ซึ่งเป็นเหตุให้ความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2560 มาตรา 101 (6) ประกอบรัฐธรรมนูญ 98 (3)

จนมีการกางข้อกฎหมายและวิเคราะห์กันไปว่า สุดท้ายหากศาล รธน.รับคำร้อง จะทำให้ธนาธรอดใส่ชุดขาวเข้าร่วมรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาในวันรุ่งขึ้น ศุกร์ที่ 24 พ.ค. ที่กระทรวงการต่างประเทศ และอดเข้าร่วมโหวตเลือกประธานสภาฯ ในวันเสาร์ที่ 25 พ.ค. ที่ห้องประชุมใหญ่สำนักงานทีโอที ถนนแจ้งวัฒนะ หรือไม่?

ฝ่ายอนาคตใหม่ แกนนำพรรค ปิยะบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค เลยเปิดแถลงข่าว ตีกัน-ดักคอ การวินิจฉัยคำร้องของศาล รธน.ไว้ก่อน 1 วัน ด้วยการยกเคสคำร้องกรณีของ ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ ซึ่งหลังศาล รธน.รับคำร้อง ก็ไม่ได้สั่งให้นายดอนยุติการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด

“กฎหมายวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจะมีวิธีและกระบวนการพิจารณาของศาล ที่มีข้อกังวลกันว่าหากศาลรับคำร้องแล้ว จะสั่งให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราวหรือไม่ หากเทียบกับคดีนายดอน ถ้าใช้มาตรฐานเดียวกัน ไม่มีทางที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างแน่นอน เพราะต้องเปิดโอกาสให้คู่กรณีชี้แจงใน 15 วัน และหากจะให้หยุดทำหน้าที่ ต้องมีมูลเหตุทำให้เกิดความเสียหายในการปฏิบัติหน้าที่” เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่แถลงไว้ 22 พ.ค. ที่สรุปความได้ว่า ปิยบุตรเชื่อว่าธนาธรได้เข้าร่วมโหวตเลือกประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า เคสคำร้องของ ดอน-รมว.การต่างประเทศ พบว่า คำร้องดังกล่าวที่ กกต.ส่งให้ศาล รธน.วินิจฉัยกรณีของดอน ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับภรรยานายดอนถือหุ้นในบริษัทเอกชน โดยไม่ได้แจ้งต่อ ป.ป.ช. แต่สุดท้ายศาล รธน.ยกคำร้อง

คำร้องดังกล่าว ศาล รธน.รับคำร้องเมื่อ 25 ก.ค.2561 โดยไม่ได้มีคำสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ และต่อมาผ่านไปอีก 1 เดือน คือ วันที่ 29 ส.ค.2561 ทางศาล รธน.มีการออกเอกสารข่าวแจ้งว่าศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ยังไม่ปรากฏมูลเหตุที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวมหรือการบริหารราชการแผ่นดิน จึงไม่มีเหตุอันควรสงสัยที่ศาลจะสั่งให้ผู้ถูกร้องคือนายดอน หยุดการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน

ธนาธร จะได้เข้าไปทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกรัฐสภา-ส.ส.หรือไม่ ในช่วงศุกร์-เสาร์นี้ ดูแล้วคงต้องลุ้นกันต่อไปว่าศาล รธน.จะมีการชี้ประเด็นดังกล่าวไว้ด้วยหรือไม่ หากสุดท้าย มีมติรับคำร้องในวันที่ 23 พ.ค.นี้

แต่สิ่งที่ต้องโฟกัสมากกว่านั้นก็คือ การสู้คดี ของธนาธร-ทีมกฎหมาย หากศาล รธน.รับคำร้อง หลัง กกต.มีมติเอกฉันท์ส่งคำร้องดังกล่าวมาให้ศาล รธน. ด้วยเหตุว่า กกต.มองว่าจากพยานหลักฐาน บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ที่มีชื่อธนาธรถือหุ้น เป็นบริษัทที่ระบุวัตถุประสงค์ในการยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ว่า ประกอบกิจการสื่อมวลชน โดยบริษัทยังไม่มีการยกเลิกบริษัทหรือเสร็จการชำระบัญชีแต่อย่างใด นอกจากนี้ สำเนาบัญชีผู้ถือหุ้น หรือ บอจ.5 ที่ยังปรากฏชื่อนายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นตั้งแต่ปี 2558 จนถึงวันที่ 21 มี.ค.62 จึงเท่ากับว่าธนาธรยังถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด อยู่ จึงเข้าข่ายขาดคุณสมบัติ

         ธนาธร-ทีมกฎหมาย คงต้องทำงานหนักขึ้น ละเอียดมากขึ้นกว่าการแถลงข่าวชี้แจงเรื่องนี้ต่อสื่อมวลชน เพราะในการสู้คดีที่ศาล รธน.หากพลาด แจงไม่ขึ้น ธนาธรอาจต้องเดินออกจากถนนการเมืองไปชั่วคราว ถ้าศาล รธน.วินิจฉัยว่าธนาธรขาดคุณสมบัติการสมัคร ส.ส.

และอีกเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นก็คือ เงินกู้ของพรรคอนาคตใหม่จากนายธนาธร ซึ่งแกนนำพรรคอนาคตใหม่แจงว่า ได้กู้มา 110 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระคืนที่ 3 ปี ดอกเบี้ย 3.75 หลัง ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้รุกฆาตยื่นเรื่องให้ กกต.ดำเนินการตรวจสอบแล้ว

ศรีสุวรรณ ชี้ประเด็นไว้ว่า ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ตามมาตรา 66 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ระบุว่า บุคคลหรือนิติบุคคลใดจะบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้พรรคการเมือง โดยมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปีมิได้ กรณีดังกล่าวจึงเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 124 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี และตั้งข้อสงสัยว่า การใช้จ่ายเงินของพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และเหตุใดจึงยืมเงินจากหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่กว่า 100 ล้านบาท เป็นต้น

ทว่าฝ่าย พรรคอนาคตใหม่ แจงว่า การกู้เงินดังกล่าวทำอย่างถูกต้อง มีพยานหลักฐานชัดเจน อีกทั้งตามกฎหมายแล้ว เงินกู้ไม่ใช่รายได้ ดังนั้นจึงไม่ถือว่าเงินกู้ดังกล่าว เป็นรายได้ของพรรคการเมือง เพราะพรรคต้องชำระดอกเบี้ย-คืนเงินกู้ให้กับธนาธร สรุปสุดท้าย ต้องดูว่า กกต.จะมองประเด็นนี้อย่างไร

เส้นทางการเมืองของ "ธนาธร-พรรคอนาคตใหม่" หลังจากนี้ จึงต้องสู้กันอีกหลายเรื่อง หลากคำร้องที่ส่งไปถึง กกต.-ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้ขบวนรถพรรคสีส้มไถลออกจากรันเวย์การเมืองก่อนเวลาอันสมควร.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"