วันก่อนขณะที่สงครามการค้าระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตันกำลังเดินหน้าอย่างร้อนแรง นักการทูตจีนคนหนึ่งเอารูปนี้ขึ้นทวิตเตอร์พร้อมกับแซวแรงๆ ว่า
"สังเกตไหมครับว่า โลโก้ของหัวเว่ยนั้นก็คือการเอาลูกแอปเปิลมาสับเป็นชิ้นๆ นั่นแหละ"
ความหมายก็คือว่า หัวเว่ยของจีนนั้นกำลังแซงหน้าแอปเปิลของอเมริกาอย่างชัดเจน ชิงส่วนแบ่งการตลาดและโดดเด่นกว่าคู่แข่งที่มีสัญชาติอเมริกันหลายขุมแล้ว!
สหรัฐฯ เล่นเกมแรงแล้วถอย สะท้อนชัดเจนว่าการที่ Google ประกาศ "ตัดสัมพันธ์" กับ Huawei จนเป็นข่าวเกรียวกราวไปทั่วโลกนั้นเป็นเพียงกลเม็ดและลูกเล่นของการเจรจาเท่านั้น
เพราะยังไม่ทันจะถึง 24 ชั่วโมงหลัง Google หย่าร้างกับ Huawei อันเนื่องมาจากคำสั่งใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การใช้วิธีการกดดันแบบโดนัลด์ ทรัมป์ กระทรวงพาณิชย์มะกันก็ถอยกรูด...ออกข่าวว่าได้อนุญาตให้ Huawei มีใบอนุญาตชั่วคราวในการพัฒนาสินค้าที่มีอยู่ในตลาดตอนนี้ไป 90 วัน
ใบอนุญาต "ชั่วคราว" นี้จะมีผลถึงแค่วันที่ 19 สิงหาคมนี้เท่านั้น
แต่ในความเห็นของผม นี่เป็นแค่การถอยเอาเชิงของทรัมป์ เพื่อให้การเจรจาระหว่างรัฐบาลจีนและสหรัฐฯ ที่ลากยาวมากว่า 6 เดือนกลับมาหาทางออกร่วมกันอีกครั้ง
ทรัมป์รู้ดีว่าการเล่นงาน Huawei ครั้งนี้จะมีผลกระทบไม่เพียงต่อจีนเท่านั้น แต่สำหรับอเมริกาเองก็โดนแรงสั่นสะเทือนไม่น้อย
ถึงวันนี้ก็ยังประเมินไม่ถูกว่าการเหวี่ยงแหซัดจีนอย่างดุดันนั้น เอาเข้าจริงใครจะเสียหายมากกว่ากัน
เมื่อมีการต่อลมหายใจไป 90 วัน ย่อมแปลว่า Google, Intel, Qualcomm และเจ้าอื่นๆ ที่มีข่าวตัดสัมพันธ์ไปก่อนหน้านี้ก็จะยังคงร่วมงานกับ Huawei ได้จนกว่าจะหมดสัญญานี้
อย่าได้แปลกใจหาก Huawei ก็ประกาศว่าได้พัฒนาระบบ Operating System ของตัวเองขึ้นมาเองได้ เพราะก่อนหน้านี้มีการยืนยันว่าเขาได้ทดสอบระบบที่ชื่อ Hong Meng ขึ้นมาแล้ว
มาถึงจุดนี้ยักษ์ใหญ่อย่างจีนย่อมถอยไม่ได้ ต้องมีแผนหนึ่งแผนสองและแผนสามที่เรียกว่า Plan A, Plan B และ Plan C เตรียมตั้งรับเอาไว้แน่นอน
การเล่นเกมกดดันของทรัมป์อย่างนี้ อย่าได้นึกว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจะเป็นเพียงจีน เพราะธุรกิจของสหรัฐฯ ไม่น้อยรวมถึงชาวไร่ชาวนาที่ต้องพึ่งพาตลาดของจีนก็กำลังเดือดร้อน
ข่าวล่าสุดบอกว่าบริษัทที่เกี่ยวกับแฟชั่นกีฬายี่ห้อดังๆ ของอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น Nike, Under Armour, Adidas, Foot Locker, Ugg และ Off Broadway Shoe Warehouse รวมแล้วกว่า 170 ราย พร้อมใจกันเขียนจดหมายเรียกร้องถึงทรัมป์บอกให้ยกเลิกมาตรการภาษีเสียก่อนที่พวกเขาจะต้องเสียหายไปมากกว่านี้
จดหมายเปิดผนึกบอกว่า
"นี่คือภัยพิบัติของผู้บริโภค, ธุรกิจและเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาทั้งระบบ" ("catastrophic for our consumers, our companies and the American economy as a whole.")
จดหมายร้องเรียนอย่างนี้ไม่ค่อยจะได้เห็นกันในเศรษฐกิจเปิดอย่างสหรัฐฯ และต้องส่งผ่านรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ได้รับรู้ไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะกลัวว่าทรัมป์จะไม่ได้รับ หรือไม่ได้อ่านหรือไม่สนใจเพียงพอที่จะใส่ใจกับความเดือดร้อนของธุรกิจแบรนด์ดังๆ ของสหรัฐฯ เอง
สำเนาจดหมายนี้จึงส่งไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง Steve Mnuchin, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ Wilbur Ross และผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ Larry Kudlow
“ในนามของลูกค้านับล้าน และพนักงานนับแสนคน เราขอเรียกร้องให้ยุติการขึ้นภาษีทันที การเพิ่มภาษีทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันต้องจ่ายค่าสินค้าแพงขึ้น นั่นคือเหตุผที่ทำให้เราต้องเลิกสงครามการค้าให้เร็วที่สุด”
ผู้เชี่ยวชาญบางสำนักประเมินว่า การขึ้นภาษีนี้อาจจะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นจนมีผลให้ผู้บริโภคอเมริกันชนต้องซื้อของแพงขึ้นกว่า 300,000 ล้านเหรียญทีเดียว
ไม่เว้นแม้คนมะกันที่ต้องซื้อรองเท้าทุกประเภท เช่น รองเท้าทำงาน, รองเท้ากีฬา และเดือดร้อนไปถึงรองเท้าแตะกันทีเดียว
สมาคมอุตสาหกรรมรองเท้าในสหรัฐอเมริกา (The Shoe Industry’s Trade Association) และกลุ่มผู้จัดจำหน่ายรองเท้าและผู้ค้าปลีกแห่งอเมริกา (The Footwear Distributors and Retailers of America) ออกข่าวแล้วว่าถ้าอัตราภาษีขึ้นไปที่ 25% จริง ลูกค้าชาวอเมริกันจะต้องจ่ายค่ารองเท้าเพิ่มคิดเป็นเงินปีละกว่า 7,000 ล้านเหรียญ
นั่นแปลว่าจะต้องมีผลกระทบกับยอดขายของแบรนด์รองเท้าชื่อดังอย่างไม่ต้องสงสัย และนั่นแปลว่าอาจต้องมีพนักงานในวงการนี้ตกงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เกมนี้ไม่ใช่ Zero Sum Game หรือการที่ผู้ชนะจะกวาดรางวัลไปทั้งหมดแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะการสาดกระสุนใส่กันอย่างบ้าเลือดนั้นแปลว่าจะต้องบาดเจ็บกันทั้งคู่
อยู่ที่ใครมีสายป่านและอำนาจต่อรองมากกว่ากันเท่านั้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |