แม่น้ำสีเลือดในซาราเยโว


เพิ่มเพื่อน    


แม่น้ำมิลยัสคา, ศาลาว่าการกรุงซาราเยโว และบ้านเรือนที่ปลูกไต่ระดับขึ้นไปบนเนินเขา

เราเช็คเอาท์จากโรงแรมของเมืองหิน “อันดริชกราด” (Andricgrad) ในเวลาสายๆ หนุ่มพนักงานต้อนรับออกใบเสร็จให้พร้อมเอกสารแผ่นเล็กๆ ขนาดประมาณ A6 ระบุชื่อของเรา ชื่อโรงแรม และวันเวลาเข้าพัก เขาบอกว่าให้เก็บติดตัวไว้เผื่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเรียกตรวจ

หลังจากเอากระเป๋าเสื้อผ้าไปเก็บในรถของโกรันที่จอดอยู่ในลานจอดด้านหน้าของเมืองหินแล้วก็เดินกลับเข้าไปอีกครั้งเพื่อกินมื้อเช้าที่ร้านอาหารของอันดริชกราด ผมสั่งไข่เจียวแฮมและกาแฟ รอไม่นานพนักงานก็นำมาเสิร์ฟ แฮมแผ่นกลมใหญ่สอดไส้อยู่ในไข่เจียวเหมือนกับแฮมเบอร์เกอร์ชิ้นบางๆ บานๆ ทอดด้วยเนยและโรยด้วยเครื่องเทศสีเขียวๆ กรอบๆ แต่จนปัญญาที่จะรู้ได้ว่ามันคือใบอะไร ส่วนโกรันจริงจังกับการคุยเรื่องเส้นทางไปยังอนุสรณ์สถานไม้กางเขนที่ทหารรัสเซียมาช่วยกองกำลังเซิร์บรบกับฝ่ายบอสนีแอก (Bosniak) หรือมุสลิมในบอสเนีย จนเขาสั่งอะไรมากินเป็นมื้อเช้าผมก็จำไม่ได้ เมื่อกินมื้อเช้าเสร็จผมก็ใช้ Wi-fi ของร้านอาหารเข้าอินเตอร์เน็ตจองที่พักในกรุงซาราเยโว เมื่อพบที่พักทำเลดีโกรันก็บอกให้กดจอง

ตอนออกจากร้านอาหารผมนึกว่าจะออกเดินทางกันทันที แต่โกรันเดินไปเลือกซื้อของที่ระลึกบริเวณทางเข้าลานจอดรถที่มีร้ายขายอยู่สามสี่ร้าน ผมเดินไปเลือกได้แผ่นแม่เหล็กติดตู้เย็น 2 ชิ้นก็เรียบร้อย แต่โกรันพิถีพิถันในการเลือกและใช้เวลานานมากเพื่อซื้อฝากลูกๆ ทั้ง 3 คน จากนั้นก็ยังไม่เดินกลับไปขึ้นรถแต่เดินเข้าเมือง บอกว่าจะไปซื้อไวน์เพิ่มทั้งที่เมื่อวานก็ซื้อจากร้านในเมืองหินมาจำนวนหนึ่งแล้ว


ม้าตัวนี้เลือกวิวในการหากินได้อย่างมีรสนิยม

ผมเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตตามโกรันไปด้วย ซื้อขนมขบเคี้ยว เวเฟอร์ และน้ำเปล่า เผื่อว่าหิวระหว่างทาง หันไปเห็นเบียร์ในตู้แช่ ยี่ห้อ Pilsner Urquell จากประเทศเช็ก กระป๋องขนาด 500 มิลลิลิตร ราคา 1.65 BAM (คอนเวิร์ตติเบิลมาร์คหรือบอสเนียนมาร์ค) ซึ่งคิดเป็นเงินไทยไม่ถึง 30บาท ยี่ห้อ Niksicko จากมอนเตเนโกร ราคา 1.35 BAM เบียร์ Jelen จากเซอร์เบีย ราคา 1.25 BAM และอีกหลายยี่ห้อเบียร์นำเข้าซึ่งล้วนราคาถูก ไม่เหมือนบ้านเราที่แค่นำเข้าจากลาวก็แพงกว่าที่นี่อย่างน้อย 2 เท่า ทั้งที่ค่าครองชีพในด้านอื่นๆ รวมถึงค่าแรงขั้นต่ำก็พอๆ กัน ส่วนไวน์นั้นตกขวดละ10 – 20 BAM (200 – 400 บาท) ส่วนมากมาจากฝั่งเฮอร์เซโกวีนาที่มีภูมิประเทศและสภาพอากาศเหมาะสำหรับปลูกองุ่นเพื่อผลิตไวน์ โกรันเลือกใส่ตะกร้าหลายขวดเพื่อนำไปดื่มที่บ้านในสาธารณรัฐเช็ก      

เดินกลับจะไปขึ้นรถ ปรากฏว่าเขาแวะร้านขายของที่ระลึกอีกรอบเพราะยังไม่ได้ของฝากสำหรับ “สเตลลา” ลูกสาวตัวน้อยวัย 4 ขวบ เขาเองมีร้านขายของที่ระลึกอยู่ในกรุงปราก คงติดนิสัยพ่อค้าที่ต้องดูอย่างละเอียด รวมแล้วเขาใช้เวลาที่ร้านขายของที่ระลึกมากกว่าครึ่งชั่วโมง แล้วจึงได้เดินทางไปยังเนินเขาไม้กางเขนที่อยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองวิเชกราด (Visegrad)

โกรันจอด Skoda รุ่น Octavia ของเขาไว้ไม่ห่างจากรั้วบ้านหลังหนึ่งซึ่งปลูกขึ้นบริเวนทางขึ้นเขา แลเห็นแม่น้ำดรีนาอีกฝั่งก่อนที่จะไหลเลี้ยวไปยังบริเวณตัวเมืองวิเชกราด ระหว่างที่เดินขึ้นยอดเนินเจอม้าตัวผู้รูปร่างอ้วนพีตัวหนึ่งกินหญ้าอยู่อย่างเพลิดเพลิน ตัวมันสีน้ำตาล ส่วนแผงคอและหางสีดำ ไม่ไกลกันลูกหมาสีดำครอกหนึ่งเพิ่งคลอดออกจากท้องแม้ได้ไม่กี่สัปดาห์เดินไปมาอยู่ใต้ต้นไม้ โกรันเตือนผมว่าอย่าไปจับเพราะอาจมีเชื้อโรค ถึงเขาไม่บอกผมก็ไม่จับอยู่แล้ว เพราะกลัวแม่พวกมันจะกัดเอา


เมืองหินอันดริชกราด (Andricgrad) ตั้งอยู่ตรงปลายแหลมจุดที่แม่น้ำรซาฟ (Rzav) ด้านขวา ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำดรีนา (Drina)

 มีกลิ่นเหม็นโชยมาขณะเราเดินขึ้นเนินเขาในส่วนที่เป็นหินซึ่งชันมากๆ ก่อนถึงยอดเนิน ผมกำลังเหนื่อยหอบจากการไต่ระดับความสูงจึงสูดดมกลิ่นเข้าไปเต็มๆ น่าจะเป็นกลิ่นซากสัตว์ที่เพิ่งตายไม่นาน แต่ไม่เห็นว่าเป็นซากตัวอะไร และไม่อยากจะมองหา

บนเนินเขาซึ่งผมเสนอภาพไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คือวิวที่มองจากจุดนี้ลงไปยังแม่น้ำดรีนา, สะพาน “เมเหม็ด พาชา โซโคโลวิช”, เมืองวิเชกราดทั้งสองฝั่งแม่น้ำ และยอดเขาสลับซับซ้อนสุดลูกตาจนกลืนหายไปกับขอบฟ้า เป็นทัศนียภาพที่น่าประทับใจมาก และหากหันหลังมองไปยังอีกฝั่งซึ่งแม่น้ำดรีนาไหลมาจากทิศใต้ผ่านช่องเขาแคบๆ น้ำยังคงแลเห็นเป็นสีเขียวมรกตแม้อยู่สูงบนยอดเนิน

เมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวลาเพียงเดือนกว่าๆ ก่อนที่เราจะมาถึง รัฐบาลสาธารณรัฐเซิร์ปสกาได้ทำพิธีเปิดอนุสรณ์สถานไม้กางเขนแบบรัสเซียนออร์โธดอกซ์บนเนินเขาที่เรียกว่า Grad Hill แห่งนี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงทหารรัสเซียที่มาช่วยกองกำลังเชิร์บรบกับฝ่ายบอสนีแอก และเสียชีวิตลง 37 นายระหว่างสงคราม จากที่ถูกส่งมาประมาณ 500 – 600 นาย สร้างความโกรธเคืองให้กับชาวมุสลิมในบอสเนียฯ เป็นอย่างมาก เพราะพวกเขาคือฝ่ายที่ถูกกระทำอย่างเจ็บแสบและสูญเสียมากกว่า เฉพาะในเมืองวิเชกราดและพื้นที่ใกล้ๆ กันนี้มีชาวบอสนีแอกเสียชีวิตถึงประมาณ 3,000 คน โดยมีการสังหารบนสะพานที่เรามองอยู่เบื้องล่างแล้วโยนศพลงน้ำไปก็ไม่น้อย


ลักษณะภูมิประเทศช่วงเริ่มออกเดินทางจากเมืองวิเชกราดไปยังกรุงซาราเยโว

เราออกจากเมืองวิเชกราดในเวลาเกือบบ่ายโมง โดยใช้สะพานสำหรับรถข้ามทางด้านทิศเหนือของเมือง ข้ามไปยังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ แล้วขับไปบนถนนเลียบแม่น้ำไปทางทิศใต้ ทะลุอุโมงค์ภูเขาหลายอุโมงค์ ซึ่งก่อนจะเข้าอุโมงค์ก็จะมีป้ายบอกระยะทางว่าอุโมงค์นั้นยาวกี่เมตร ผ่านทางคดเคี้ยวอยู่นานถนนก็หนีออกจากแม่น้ำ ภูมิประเทศเปลี่ยนเป็นลักษณะเนินทุ่งสลับกับที่ราบ แลเห็นทิวเขาอยู่ไกลๆ

บางช่วงระหว่างเส้นทางฝนได้ตกลงมาแต่ไม่หนักมาก เราใช้เวลา 2 ชั่วโมงนิดๆ ก็เข้าสู่เขตกรุงซาราเยโว เมื่อสุดเขตของสาธารณรัฐเซิร์ปสกาก็มีป้ายระบุไว้ว่าเข้าสู่เขตสหพันธรัฐบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ผมหันหลังตามป้ายอันหนึ่งเพื่ออ่านข้อความซึ่งมีไว้สำหรับรถยนต์ฝั่งตรงข้าม ป้ายเขียนว่า “ขอต้อนรับสู่สาธารณรัฐเซิร์ปสกา” มีสีแดงสาดลงบนป้ายนั้น จึงให้เห็นและรู้สึกถึงความขัดแย้งที่ยังคงไม่หมดไป ลำพังผมคนเดียวคงไม่เท่าไหร่ แต่เพื่อนผู้นำมาคือชาวเซิร์บ แม้ว่าเขาจะเกลียดชังสงครามก็ตาม

โกรันเคยเดินทางมายังกรุงซาราเยโวครั้งเดียวเมื่อตอนที่เขายังเป็นเด็กนักเรียนมัธยม ตอนที่ดินแดนของชาวสลาฟตอนใต้หลายเผ่าพันธุ์ยังรวมกันเป็นสหพันธรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย ซึ่งนั่นก็เป็นเวลานับ 30 ปีแล้ว ก่อนที่สงครามแยกดินแดนที่กลายเป็นสงครามเชื้อชาติจะปะทุขึ้นในปี ค.ศ.1992 และกรุงซาราเยโวแห่งนี้ถูกกองกำลังของฝ่ายเซิร์บปิดล้อมโจมตีอยู่นานถึง 1,425 วัน หรือเกือบ 4 ปีเต็ม

แม้ว่ากำลังฝ่ายบอสนีแอกจะมีมากกว่าแต่อาวุธยุทโธปกรณ์นั้นเทียบกับกองกำลังเซิร์บไม่ได้เลย อีกทั้งกรุงซาราเยโวซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาถูกฝ่ายเซิร์บโจมตีอย่างง่ายดายเพราะอยู่ในชัยภูมิที่ดีกว่า จนภายหลังกองกำลังนาโตได้เข้ามาช่วยฝ่ายบอสนีแอกและสงครามก็ได้ยุติลงในต้นปี ค.ศ. 1996 มีคนล้มตายในสงครามทั่วทั้งบอสเนียฯ นับแสน พลัดถิ่นฐานกว่า 2 ล้าน ชาวมุสลิมต้องอพยพออกจากดินแดนที่พลเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวเซิร์บ เช่นเดียวกับที่ชาวเซิร์บต้องย้ายออกจากเมืองที่บอสนีแอกเป็นใหญ่ นอกจากนี้ยังมีชาวโครแอตที่เป็นคริสต์นิกายคอธอลิกซึ่งอยู่ข้างบอสนีแอกและมีส่วนร่วมในสงครามด้วยก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

จาก “ข้อตกลงเดย์ตัน” (Dayton Agreement) ทำให้ดินแดนของฝ่ายสาธารณรัฐเซิร์ปสกา (Republika Serpska) และสหพันธรัฐบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา (Federation of Bosnia and Herzegovina) ถูกขีดเส้นแบ่งอย่างชัดเจนภายในหนึ่งประเทศคือบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา แม้ว่าเมืองหลวงจะยังคงเป็นซาราเยโว แต่แทบจะแยกการบริหารการปกครองออกจากกัน โดย “บันยาลูกา” (Banja Luka) คือเมืองหลวงของสาธารณรัฐเซิร์ปสกา


ทุ่งหญ้าและปศุสัตว์ ช่วงกลางๆ ของการเดินทางไปยังกรุงซาราเยโว

แน่นอนว่าโกรันจำถนนหนทางอะไรไม่ได้ และยิ่งอาคารบ้านเรือนที่ถูกทำลายลงไปเป็นหมื่นๆ หลัง ก็ย่อมทำให้กรุงซาราเยโวไม่มีอะไรคุ้นเคย เพียงแต่เขาได้ศึกษาประวัติศาสตร์มาพอสมควรจนทราบว่าสถานที่สำคัญๆ มีอะไรบ้าง

ตอนที่มาถึงและจอดรถในที่จอดเสียเงินแห่งหนึ่งฝนยังตกลงมา ผมโชคดีที่มีเสื้อกันฝนขณะที่โกรันไม่ได้เตรียมมา โทรศัพท์ของเราทั้งคู่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ ของผมนั้นใช้ซิมของโรมาเนีย ส่วนโกรันใช้ซิมของเซอร์เบีย แต่ผมได้แคปหน้าจอแสดงที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ของที่พักไว้ โกรันถามทางกับคนเก็บเงินค่าที่จอดรถ แล้วก็เดินนำตรงไปยังแม่น้ำ “มิลยัสคา” (Miljacka) ที่น้ำมีสีออกแดงๆ จนผมเผลอพูดออกมาว่า“คล้ายเลือด” โกรันถึงกับส่ายหน้า

ศาลาว่าการกรุงซาราเยโวตั้งอยู่ด้านซ้ายมือก่อนที่จะข้ามสะพาน เมื่อข้ามไปแล้วเห็นสถานทูตคูเวตอยู่เยื้องๆ กัน เราเลี้ยวขวาไปบนถนน Obala Isa-bega Ishakovica แล้วก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนน Isevica Sokak  ไม่นานก็พบหมายเลขของที่พักที่จองไว้ ซึ่งผมทราบทีหลังว่าหมายเลข 4,7 นั้นหมายถึงบ้านเลขที่ 4 ตั้งอยู่บนชั้น 7     
 

“ให้ข้าดื่มกาแฟอย่างเพียงพอ จะครองโลกทั้งใบก็ยังได้” คำขวัญของร้าน GONDOLA ที่มาจากคำพูดของ “Terry Pratchett” นักเขียนชาวอังกฤษ

ชั้นล่างของอาคารหลังนี้มีคาเฟ่ ชื่อ GONDOLA โกรันเปิดประตูเข้าไปถามสตรีผู้ดูแลร้านก็ได้ความว่าห้องพักน่าจะอยู่ด้านบน เมื่อรู้ว่าโทรศัพท์ของเราใช้โทรไม่ได้เธอก็กรุณาใช้โทรศัพท์ของเธอโทรให้ แล้วอธิบายหลังวางสายว่า “เจ้าของที่พักไม่ทราบว่ามีคนจอง ตอนนี้กำลังติดธุระอยู่นอกเมือง จะมาหาตอน 5 โมงกว่าๆ” เราจึงสั่งกาแฟดื่มรอ

มีกลุ่มวัยรุ่นชายเข้ามาสูบบารากุและเปิดเพลงในเว็บไซต์ยูทูปจากคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของร้าน เป็นเพลงของวง Guns n’ Roses ติดต่อกันหลายเพลง สักพักมีกลุ่มวัยรุ่นสาว คาดว่าจะเรียนในระดับมัธยมปลาย เปิดประตูหลังของร้านเข้ามานั่งสูบบุหรี่ใกล้ๆ กับประตู วัยรุ่นหญิงชายคงมาผ่อนคลายกันหลังเลิกเรียน หากเป็นบ้านเราอาจเรียกว่าเป็นการมั่วสุมก็ได้  

ผมดื่มกาแฟหมดก็สั่งน้ำเปล่าจากสตรีผู้ดูแลร้าน รออยู่จนเกือบจะ 6 โมงเย็น Mr.Adi เจ้าของ Eni Apartment ก็ยังไม่โผล่มา ผมขอรบกวนให้เธอโทรศัพท์หา Mr.Adi อีกครั้ง แต่เธอว่า “เขามาแน่ อีกประเดี๋ยวเดียว ได้โปรดรอก่อน” พอผมจะสั่งเบียร์ Mr.Adi ก็โทรศัพท์เข้ามายังเครื่องของเธอ และบอกให้เราเดินตามออกไปหลังร้านแล้วก็ได้เจอกับ Mr.Adi ผมและโกรันขอบคุณในน้ำใจของเธอเป็นการใหญ่


วิวจากห้องพักของผู้เขียนในกรุงซาราเยโวหลังฝนตก

Mr.Adi จับมือทักทายกับเราแล้วเดินนำทางขึ้นลิฟต์ด้านหลังของอาคาร ลิฟต์มีถึงแค่ชั้น 6 เราจึงต้องเดินอีกหนึ่งชั้นเพื่อเข้าห้องพักชั้น 7 ซึ่งเป็นชั้นบนสุด

จากภาพในเว็บไซต์รับจองที่พัก ไม่ได้แสดงภาพของห้องน้ำ เมื่อเปิดประตูเข้าไปผมจึงเข้าใจสาเหตุ เพราะห้องน้ำมีเฉพาะอ่างอาบน้ำและโถสุขภัณฑ์ ไม่มีอ่างล้างหน้า แต่ส่วนอื่นของห้องพักถือว่าไม่เลวเลยทีเดียวสำหรับราคาคืนละประมาณ 1,200 บาท มีเตียง 2 เตียง ครัวขนาดกะทัดรัด และประตูด้านหนึ่งของห้องพักเมื่อเปิดออกไปแล้วพบว่าเป็นระเบียงขนาดใหญ่ ชมกรุงซาราเยโวได้ 180 องศา รวมถึงแม่น้ำมิลยัสคา, ศาลาว่าการเมือง และบ้านเรือนบนเนินเขาด้านขวามือ ส่วนหน้าต่างในห้องก็สามารถมองเห็นเมืองอีกฝั่งได้อีก 180 องศา

ผมรออยู่ในห้องพักขณะโกรันลงลิฟต์ไปพร้อมกับ Mr.Adi และเดินไปเอารถที่จอดอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำด้วยกัน Mr.Adi นั่งรถกลับมากับโกรัน เมื่อถึงที่จอดของอาคารที่พักแล้วเขาก็ถอยรถของตัวเองออกเพื่อให้โกรันเข้าจอดแทน แล้วก็ขับออกไป

โกรันแบกกระเป๋าเสื้อผ้าของผมขึ้นมาด้วย ผมรับมาแล้วฟังเขาเล่า 

“Mr.Adi เป็นมุสลิมอย่างไม่ต้องสงสัยอยู่แล้ว แต่เขาบอกว่าไม่ต้องการมองกลับไปยังความขัดแย้งนองเลือดในอดีต ทุกวันนี้มุ่งทำมาหากินและมองไปข้างหน้า แขกที่เคยมาพักในอพาร์ทเมนท์ของเขาที่เป็นชาวเซิร์บนับถือคริสต์เซอร์เบียนออร์โธดอกซ์ก็มีไม่น้อย ซึ่งเขาก็ยินดีต้อนรับ”


บ้านเรือนปลูกกันอย่างหนาแน่นบนเนินเขาในกรุงซาราเยโว

เราไม่อาบน้ำให้เสียเวลา เดินออกไปย่านใจกลางเมืองเพื่อกินเคบัป อาหารเติร์กขึ้นชื่อที่ยังทำให้รู้สึกเหมือนว่าอิทธิพลของจักรวรรดิออตโตมันยังไม่หายไปไหน ส่วนความรู้สึกอึมครึมปนตื่นๆ ของโกรันคงจะหายไปแล้วจากการที่เขาได้สนทนากับ Mr.Adi

กลายเป็นกำลังใจในการเผชิญกรุงซาราเยโว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"