การเมืองยังวุ่น เศรษฐกิจหดตัว ปรับลดจีดีพีปนี


เพิ่มเพื่อน    

  สศช.เผยเศรษฐกิจไตรมาสแรกขยายตัว 2.8% ต่ำสุดในรอบ 17 ไตรมาส ขยับลดจีดีพีปี 62 เหลือ 3.6% จากเดิมคาดไว้ที่ 4% ชี้ผลพวงจากภาวะศก.โลกและการเมืองไม่นิ่ง วอนเร่งตั้งรัฐบาลใหม่ช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่น-การลงทุน "แบงก์ชาติ" เตรียมประเมินการ ศก.อีกครั้ง 26 มิ.ย.นี้

    เมื่อวันที่ 21 พ.ค. นายทศพร ศิริสัมพันธ์  เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยว่า เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/62 ขยายตัว 2.8% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ชะลอลงจากไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนที่ขยายตัว 3.6% และถือว่าขยายตัวได้ต่ำที่สุดในรอบ 17 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/57 โดยเป็นผลมาจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนรุนแรงกว่าที่คาด ทำให้การส่งออกในไตรมาส 1/62 ขยายตัว -3.6% ประกอบกับสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่ชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล
    นายทศพรกล่าวว่า สศช.ได้ทบทวนประมาณการเศรษฐกิจใหม่ โดยเศรษฐกิจไทยในปี 62 จะขยายตัวได้ 3.6% หรือ 3.3-3.8% ลดลงกว่าประมาณการเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 4% ในช่วงคาดการณ์ 3.5-4.5% เนื่องจากปัญหาสงครามการค้าทวีความรุนแรงขึ้น จะทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวเพียง 2.2% ซึ่งต้องการรัฐบาลใหม่ผลักดันให้ส่งออกขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3%
    "สิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ไม่มากเท่าที่ควร เป็นผลจากการลงทุนของภาครัฐ และการใช้จ่ายของรัฐวิสาหกิจที่ยังทรงตัวเท่าเดิม ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง โดยอาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ไม่มากเท่าที่ควร คือในช่วงเลือกตั้งที่ทำให้การตัดสินใจในเชิงธุรกิจต้องรอความนิ่งจากการเมืองก่อน ดังนั้นหากการเมืองนิ่ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ คิดว่าบรรยากาศต่างๆ จะกลับมาดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณของปี 63 ที่จะเข้าสู่กระบวนการด้านรัฐสภา และประกาศใช้ได้ทันในเดือน ต.ค.62" นายทศพรกล่าว
    เลขาฯ สศช.กล่าวว่า เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะมีสัญญาณดีขึ้น เนื่องจากไทยจะมีการจัดตั้งรัฐบาลมาขับเคลื่อนนโยบายและรักษาแรงขับเคลื่อนขยายตัวเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะที่การส่งออกนั้น หากมีรัฐบาลอย่างเป็นทางการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะพยายามผลักดันให้การส่งออกขยายตัวให้ได้ 3% ส่วนการท่องเที่ยวรัฐบาลจะต้องดูแลให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ที่ 2.12 ล้านล้านบาท หรือมีจำนวนนักท่องเที่ยว 40.5 ล้านคน
    "หากปัจจัยบวกต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวต่ำสุดของตัวเลขประมาณการที่ 3.3% ได้ โดยเชื่อว่ารัฐบาลอาจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เพื่อประคองเศรษฐกิจไม่ให้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเกินไป และการกระตุ้นคงจะเน้นการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ที่ไม่ได้เน้นให้เศรษฐกิจขยายตัวได้โดดเด่น หรือทำให้ตัวเลขจีดีพีเติบโตชดเชยการส่งออก ซึ่งเป็นการใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก" เลขาฯ สศช.กล่าว
    นายทศพรกล่าวว่า สศช.อยากให้มีการตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว เชื่อว่าเมื่อตั้งรัฐบาลได้เร็ว ความนิ่งทางการเมืองจะเกิดขึ้น เมื่อมีรัฐบาลใหม่เร็ว จะนำไปสู่ความชัดเจนในการขับเคลื่อนนโยบาย ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือการส่งออก การท่องเที่ยว และความนิ่งทางการเมือง เพราะตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ของไทยยังดีอยู่ ทั้งเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน การบริโภค การลงทุนภาคเอกชนที่ยังแข็งแกร่ง และตัดสินใจต่อเนื่องในการลงทุน ส่วนจะเป็นรัฐบาลเสี่ยงปริ่มน้ำ ก็จะไม่มีปัญหากับการทำนโยบาย เพราะเราเคยผ่านการจัดตั้งรัฐบาลลักษณะนี้มาแล้ว
    ส่วนนายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตัวเลขการขยายตัวประมาณการเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ดังกล่าวต่ำกว่าที่ ธปท.ประเมินไว้ในรายงานนโยบายการเงิน รอบเดือน มี.ค.2562 แต่ถือว่าใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2562 โดยปัจจัยหลักมาจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้จ่ายภาคเอกชน ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 และร้อยละ 4.4 จากระยะเดียวกันปีก่อนตามลำดับ
    "ระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากภาคต่างประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าของสหรัฐและจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและการใช้จ่ายภาคเอกชน ซึ่ง ธปท.จะประเมินและเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน วันที่ 26 มิ.ย.นี้" ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
    ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2562 ชะลอตัวลงต่ำสุดในรอบ 17 ไตรมาส อยู่ที่ 2.8% ต่อปี ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 3.2% ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจดังกล่าวคาดว่าจะยังต่อเนื่องไปยังไตรมาสที่ 2 ของปี โดยการใช้จ่ายครัวเรือนจะยังเป็นตัวหนุนเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกลางปี แต่ยังต้องติดตามภาวะภัยแล้งที่มีความเสี่ยงจะลากยาวออกไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกรในไตรมาสที่ 2
    ขณะที่เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังของปี 2562 ยังมีความไม่แน่นอนอยู่หลายประการ จากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังมีความเสี่ยงว่าจะมีมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมจากปัจจุบัน ซึ่งจะมีผลต่อภาพรวมการส่งออกทั้งปีของไทยให้ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ระดับปัจจุบันที่ 3.2% ในขณะที่ปัจจัยในประเทศคงรอติดตามการจัดตั้งรัฐบาล คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนการผลักดันงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ดังนั้น ในเบื้องต้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ไว้ที่ 3.7% เพื่อรอประเมินปัจจัยความไม่แน่นอนทั้งจากภายนอกและภายในประเทศดังกล่าว ซึ่งหากสถานการณ์ลากยาวออกไป จะส่งผลให้ GDP ทั้งปี 2562 ขยายตัวโน้มเข้าสู่กรอบล่างของประมาณการที่ 3.2-3.9%.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"