ร้อยล้านขยี้‘ส้มหวาน’เละ ย้อนวาทะ‘ปิยบุตร’หลักเก๊


เพิ่มเพื่อน    

 “พี่ศรี” เดินหน้าร้อง กกต.ตรวจสอบ“ธนาธร” ให้พรรค อนค.ยืมเงิน 110 ล้าน ส่อขัด พ.ร.ป.พรรคการเมือง มีโทษถึงขั้นจำคุก ตัดสิทธิ์เลือกตั้ง ฝ่าย กม.ส้มหวานโวยตามสูตรถูกใส่ร้ายป้ายสี เลือกปฏิบัติ ย้อนวาทะ "ปิยบุตร" ฉะการเมืองแบบเก่านายทุนใหญ่ทุ่มเงินมหาศาลเป็นเจ้าของพรรค " 3 ส.ว." มีหนาว! นักร้องจี้ กกต.สอบ "ระวี-สมเดช-ชยุต" ขาดคุณสมบัติ จ่อร้องผู้ตรวจฯ ฟัน "ประยุทธ์-กก.สรรหาฯ" ตั้งคนไม่มีคุณสมบัติ 

    ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันที่ 21 พฤษภาคม นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นเรื่องขอให้ กกต. ดำเนินการตรวจสอบนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กรณีที่นายธนาธรกล่าวบรรยายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) โดยยอมรับว่าได้ให้พรรคอนาคตใหม่ยืมเงินจำนวน 110 ล้านบาท ในการดำเนินกิจกรรมของพรรค อีกทั้งก่อนหน้านี้ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ เคยให้สัมภาษณ์ถึงการกู้ยืมเงิน จำนวน 250 ล้านบาทของพรรคจากนายธนาธร ซึ่งการกู้ยืมดังกล่าวเป็นการสัญญาและคิดดอกเบี้ยชัดเจน  
    โดยนายศรีสุวรรณกล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ตามมาตรา 66  วรรคหนึ่งและวรรคสอง ระบุว่า บุคคลหรือนิติบุคคลใดจะบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้พรรคการโดยมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปีมิได้ กรณีดังกล่าวจึงเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 124 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี
    นอกจากนี้ มาตรา 125 พรรคการเมืองใดที่รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด มีมูลค่าเกินที่กำหนดไว้ มาตรา 66 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค มีกำหนด 5 ปี และให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ส่วนที่เกินมูลค่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา 66 ตกเป็นของกองทุนพัฒนาการเมือง
    นายศรีสุวรรณกล่าวอีกว่า ยังมีข้อสงสัยอีกว่าการใช้จ่ายเงินของพรรคอนาคตใหม่ ได้ดำเนินการเป็นไปตามมาตรา 87, 88, 89 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองระบุ คือนำไปใช้จ่ายเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรค โดยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและสมาชิก และค่าใช้จ่ายในการบริหารพรรคถูกต้องตามกฎหมายแล้วหรือไม่ โดยเฉพาะประกาศ กกต.เรื่องกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2561 ที่กำหนดไว้ในข้อ 5 ว่า พรรคการเมืองต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่เกิน 35 ล้านบาท ห้ามผู้สมัคร ส.ส.ใช้เงินหาเสียงเกิน 1.5 ล้านบาท จึงสงสัยว่าการใช้จ่ายเงินของพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่  และเหตุใดจึงยืมเงินจากหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่กว่า 100 ล้านบาท
    หลัง น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค อนค.ชี้แจงกรณีนายธนาธรให้พรรคกู้ยืม 250 ล้านบาท ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องนี้ขัดกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่ว่า พ.ร.ป.ดังกล่าวระบุเฉพาะที่มารายได้ของพรรคการเมือง ไม่ได้ระบุรายจ่าย และนี่คือการกู้เงิน ซึ่งในการเป็นหนี้ของพรรค เป็นรายจ่าย ไม่ใช่รายได้นั้น
    จากการตรวจสอบ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 62 กำหนดไว้ว่า พรรคการเมืองอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้ (1) เงินทุนประเดิมตามมาตรา 9 วรรคสอง (2) เงินค่าธรรมเนียมและค่าบํารุงพรรคการเมืองตามที่กําหนดในข้อบังคับ (3) เงินที่ได้จากการจําหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรคการเมือง (4) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง (5) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการรับบริจาค (6) เงินอุดหนุนจากกองทุน (7) ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง
    ทั้งนี้ พบว่าทั้ง 7 วงเล็บของมาตรา 62 ไม่ได้กำหนดให้เงินกู้คือรายได้ของพรรคการเมืองแต่อย่างใด การเงินกู้มิได้เป็นรายได้ที่กฎหมายอนุญาตให้ทำ และจากการให้สัมภาษณ์ของ น.ส.พรรณิการ์ ยังขัดกับข้อเท็จจริงที่ว่าพรรคไม่มีรายได้ แต่กลับมีเงินจ่ายหนี้
    นอกจากนี้ วรรคแรกของมาตรา 87 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง บัญญัติไว้ว่า เงินและทรัพย์สินของพรรคการเมืองต้องนําไปใช้จ่ายเพื่อดําเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและสมาชิก และค่าใช้จ่ายในการบริหารพรรคการเมือง นั่นเท่ากับว่าทรัพย์สินของพรรคการเมืองต้องนำไปใช้จ่ายเพื่อกิจกรรมของพรรคการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ใช่การนำไปใช้หนี้เงินกู้
    สำหรับบทลงโทษ บัญญัติเอาไว้ในมาตรา 132 ว่า "หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง และเหรัญญิกพรรคการเมืองผู้ใดนําหรือยินยอมให้บุคคลอื่นนําเงินหรือทรัพย์สินของพรรคการเมืองไปใช้จ่าย เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือบุคคลอื่น หรือนําไปใช้เพื่อการอื่นใด อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 87 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1-2 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ"
      ด้านนายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค อนค.และฝ่ายกฎหมายของพรรค กล่าวถึงกรณีที่นายศรีสุวรรณยื่นร้องเรียนให้ กกต.ตรวจสอบนายธนาธร ถึงการให้พรรคยืมเงินจำนวน 110 ล้านบาทขัด ม. 66 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า ประเด็นดังกล่าวฝ่ายกฎหมายของพรรคการเมืองจะดำเนินการชี้แจงต่อไป ซึ่งตน, ส.ส. และสมาชิกพรรคทุกคนต่างมั่นใจในการดำเนินการของกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ที่นำโดยนายธนาธรนั้นเป็นไปอย่างรอบคอบ สามารถชี้แจงข้อกล่าวหาต่างๆ ได้ทั้งหมด เชื่อว่าสังคมต่างก็รับรู้ได้ว่าประเด็นที่พรรคอนาคตใหม่ถูกใส่ร้ายป้ายสี ถูกเลือกปฏิบัตินั้นเป็นอย่างไร
    “ซึ่งตรงกันข้ามกับพรรคการเมืองพรรคที่เรื่องร้องเรียนต่างๆ ยังไม่เคยคืบหน้า เช่น โต๊ะจีนระดมทุน หรือคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามการถือหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส. ที่มีหลักฐานชัดเจนยิ่งกว่ากรณีของนายธนาธร แต่ตอนนี้มีเพียงนายธนาธรคนเดียวที่ถูกส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย” นายคารมกล่าว
    ส่วนความคืบหน้ากรณีที่ 11 ส.ส.อนาคตใหม่ฟ้องนายศรีสุวรรณกระทำการอันเป็นเท็จ กลั่นแกล้ง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 143 นั้น นายคารมกล่าวว่า ตอนนี้พรรค อนค.กำลังช่วยลงพื้นที่หาเสียง เขต 8 จ.เชียงใหม่ ซึ่งจะเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 26 พ.ค.นี้อยู่ คาดว่าจะเข้าให้การและยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมต่อเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้องได้หลังจากการประชุม ส.ส.นัดแรก วันที่ 25 พ.ค.นี้ 
    ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนค. เคยทวีตข้อความ @Piyabutr_FWP เมื่อ 10 Oct 2018 ระบุว่า ถ้าไม่ให้รับบริจาค ถ้าไม่ให้ขายของที่ระลึกระดมทุม แล้วอย่างนี้พรรคการเมืองเกิดใหม่จะมีรายได้จากไหนจัดกิจกรรม หรือแม้แต่ใช้หาเสียงในการเลือกตั้งที่จะมาถึง จะให้กลับไปสู่ “การเมืองแบบเก่า” ที่นายทุนใหญ่ทุ่มเงินมหาศาล เป็นเจ้าของพรรค มีอำนาจสิทธิขาดเหนือสมาชิกคนอื่นๆ อย่างนั้นหรือ
    วันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา  เปิดเผยว่า ได้มายื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติของนายระวี รุ่งเรือง ส.ว. ลำดับที่ 146 อดีตเจ้าหน้าที่ปกครอง 3 อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี และนายสมเดช นิลพันธ์ ส.ว. ลำดับที่ 197 เนื่องจากพบว่ามีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 111 (4) ประกอบมาตรา 108 ข. ลักษณะต้องห้าม (1) มาตรา 98 (8) (10) ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 14 (10) (12) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และข้อ 3 ข้อ 52 (10) (12) ของ ระเบียบ กกต. ที่พบว่านายระวีขาดคุณสมบัติ เพราะเคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือประพฤติมิชอบในวงราชการ กรณีเรียกรับเงินจากสมัครเป็นสมาชิกอาสารักษาดินแดน (อส.) จำนวน 6-8 ราย เพื่อพยายามจะช่วยให้ได้รับการคัดเลือกเป็นอส. แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ และถูกผู้ปกครองร้องเรียนจนมีเรื่องฟ้องร้อง และได้ยอมรับสารภาพในชั้นศาลว่ากระทำผิดจริง และนายสมเดชเคยต้องคำพิพากษาคดีกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างที่ดินเทศบาลตำบลธรรมศาลา จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นความผิดทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ   
    นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ทั้งสองคนถูกไล่ออกจากราชการ และถูกดำเนินคดี โดยมีคำพิพากษาเป็นหลักฐานยืนยันชัดเจน และการที่นายระวีอ้างว่ามี พ.ร.บ.ล้างมลทินปี 2550 นั้น ตนเข้าใจว่าทาง กกต.ได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ซึ่งล่าสุดกฤษฎีกามีคำวินิจฉัยแล้วว่าไม่เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ว. ดังนั้น ส.ว.ทั้งสองคนจึงเข้าข่ายขาดคุณสมบัติชัดเจน หาก กกต.วินิจฉัยแล้วพบว่ามีความผิด ก็ขอให้ กกต.ดำเนินการลงโทษเอาผิดตามมาตรา  74 ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือก ไม่ว่าเพราะเหตุใด ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี และมาตรา 75 ผู้รับรอง หรือพยานที่ลงลายมือชื่อรับรองเอกสารที่ใช้ประกอบการสมัครเป็นเท็จต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง  5 ปี  
    "พร้อมกันนี้จะยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลปกครอง พร้อมทั้งจะไปยื่นเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะกรรมการสรรหา ส.ว. เนื่องจากต้องรับผิดชอบในการแต่งตั้งผู้ที่ไม่คุณสมบัติ พล.อ.ประยุทธ์และคณะกรรมการสรรหาที่ คสช.ตั้งขึ้นจะต้องแสดงความรับผิดชอบ จะทำเป็นไม่รู้เรื่องและโบ้ยเรื่องไปให้คนอื่นไม่ได้ รวมทั้งจะตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ว.คนอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย" นายศรีสุวรรณ กล่าว  
    เมื่อถามว่าจะตรวจสอบเรื่องกรรมการสรรหา เสนอชื่อตัวเองเป็น ส.ว.ด้วยหรือไม่ นายศรีสุวรรณ  กล่าวว่า พร้อมที่จะยื่นเอกสารให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบเช่นกัน โดยจะยื่นให้ตรวจสอบพร้อมกับกรณีคุณสมบัติของนายระวีและนายสมเดช นอกจากนี้ยังขอให้ กกต.ตรวจสอบนายชยุต สืบสกุล ส.ว.ลำดับที่ 36 อดีตเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. ที่ถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ที่ถือว่าคดียังไม่สิ้นสุด อาจเข้าข่ายขาดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม จึงขอให้ กกต.ติดตามเรื่องดังกล่าวด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"