ในอดีตภายหลังปิดหีบเลือกตั้งไม่ถึง 24 ชั่วโมง การจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว ชนิดว่าวันรุ่งขึ้นสามารถตั้งโต๊ะแถลงข่าวจับมือกันได้ทันที
ต่างจากครั้งนี้ที่ยืดเยื้อมาแล้วเกือบ 2 เดือน สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทุกอย่างช้า คือ การเจรจาต่อรองและจัดสรรตำแหน่งให้แก่บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลที่ยังไม่ลงตัว
ที่ผ่านมาพรรคอันดับ 1 มักไม่ประสบปัญหาในการเชื้อเชิญ เพราะมีปริมาณ ส.ส.ในมือจำนวนมาก หากแต่ครั้งนี้ พรรคแกนนำของทั้งสองขั้วต่างมีปริมาณที่ “ปริ่มน้ำ”
ส่งผลให้บรรดาพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่สามารถชี้ขาดได้ มันจึงทำให้อำนาจในการต่อรองมีสูงขึ้นตามไปด้วย
โดยเฉพาะพรรคขนาดกลาง อย่าง “ประชาธิปัตย์” และ “ภูมิใจไทย” ที่ราคาสูงมากในทางการเมืองตอนนี้ เพราะรวมกันแล้วมีเสียงถึง 103 เสียง
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า การจัดสรรโควตาคณะรัฐมนตรีให้กับพรรคร่วมรัฐบาลกำลังเผชิญปัญหา เมื่อพรรคพลังประชารัฐในฐานะแกนนำ ต้องการเก็บกระทรวงสำคัญเอาไว้ทั้งหมด ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม
สิ่งที่ตอกย้ำข่าวลือว่าเป็นจริง คือ คำพูดของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อคำถามนักข่าวในเรื่องการเก็บ 4 กระทรวงสำคัญ
ทว่า พรรคขนาดกลางเองเห็นว่าพรรคพลังประชารัฐในฐานะแกนนำควรจะยอมคายออกมาให้กับพรรคร่วมรัฐบาลบ้าง โดยเฉพาะกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ที่ควรให้นักการเมืองอาชีพได้มีส่วนในการบริหาร
ขณะที่ในอดีต 4 กระทรวงที่ “บิ๊กตู่” ยอมรับว่า อยากเก็บไว้ ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในมือของพรรคอันดับ 1 ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสมัยรัฐบาลไทยรักไทย 1 และไทยรักไทย 2 แต่ส่วนหนึ่งที่ทำได้แบบนั้น เพราะพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย ชนิดสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้
มาถึงยุครัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช พรรคพลังประชาชน ก็ชนะการเลือกตั้งในปี 2550 กวาด ส.ส.มาเป็นกอบเป็นกำ มีอำนาจต่อรองสูงกว่าพรรคร่วม โดยรัฐมนตรี 4 กระทรวงเกรดเอชุดแรกอยู่ในมือพรรคพลังประชาชนทั้งหมด ได้แก่ นายสมัคร ที่เป็นนายกฯ และควบ รมว.กลาโหมอีกตำแหน่ง, ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็น รมว.มหาดไทย, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นรองนายกฯ และควบ รมว.การคลัง และนายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็น รมว.คมนาคม
ในรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยังคงรูปแบบนั้นเช่นเดิม 4 กระทรวงดังกล่าวอยู่ในมือพรรคพลังประชาชนทั้งหมด โดยนายสมชายเป็นนายกฯ และควบ รมว.กลาโหม, พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ เป็น รมว.มหาดไทย, นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช เป็น รมว.การคลัง และนายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็น รมว.คมนาคม
กระทั่งมาในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ 4 กระทรวงไม่ได้อยู่ในมือพรรคแกนนำอย่างพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเสียงของพรรคร่วมมีความสำคัญ จนทำให้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ได้
โดยเฉพาะการพลิกขั้วของ “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ที่หันมาสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ หลังจากพรรคพลังประชาชนถูกยุบ จนสามารถเอาชนะคู่แข่งอย่าง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ที่พรรคเพื่อไทยสนับสนุนได้
“กลุ่มเพื่อนเนวิน” ที่ต่อมากลายมาเป็นพรรคภูมิใจไทย ถือเป็นตัวแปรอย่างแท้จริงในตอนนั้น ทำให้พรรคประชาธิปัตย์มีเสียงในสภามากกว่าพรรคเพื่อไทยได้ ทำให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการของพรรคสีฟ้าในตอนนั้นยอมคายกระทรวงเกรดเอให้เพื่อแลกกับการเป็นรัฐบาล
โดยรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นของพรรคภูมิใจไทย นอกจากนั้นยังมีตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการตามกระทรวงใหญ่ๆ ที่เหลือเกือบทั้งสิ้น โดยพรรคประชาธิปัตย์ เก็บไว้เพียงกระทรวงการคลัง ขณะที่กระทรวงกลาโหมยกให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
กระทั่งมาถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 4 กระทรวงข้างต้น กลับมาอยู่ในพรรคเพื่อไทยทั้งหมดอีกครั้ง เนื่องจากชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ไม่ค่อยมีอำนาจต่อรอง
โดยให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็น รมว.กลาโหม นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็น รมว.มหาดไทย นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เป็น รมว.การคลัง และ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เป็น รมว.คมนาคม
จะเห็นว่า จาก 4 รัฐบาล 4 กระทรวงที่ “บิ๊กตู่” ยอมรับว่าอยากเก็บไว้ มีเพียงหนเดียวเท่านั้นที่ปล่อยให้พรรคร่วมรัฐบาลแบ่งไปคือ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ที่จำเป็นต้องยกให้เพื่อแลกกับการได้เป็นนายกฯ และรัฐบาล นอกนั้นเป็นคนจากพรรคแกนนำทั้งหมด
ส่วนครั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐมีเพียง 115 เสียง ไม่ได้ชนะขาดลอย และจำเป็นต้องมีทั้ง “ประชาธิปัตย์” และ “ภูมิใจไทย” ต้องดูว่าจะสามารถเก็บกระทรวงยุทธศาสตร์สำคัญที่ “บิ๊กตู่” ระบุเอาไว้หรือไม่
หรือต้องยอมเฉือนเพื่อความพึงพอใจของพรรคร่วมรัฐบาล.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |