“ภูมิใจหนู-อเวนเจอร์ ปชป.” พร้อมใจกั๊กท่าทีเลือกข้าง ภท.เคาะให้อำนาจ “อนุทิน” ไปเจรจากับพรรคที่ยังไม่เลือกข้างก่อนสรุปผล คาด 2-3 วันรู้ชัด “จุรินทร์” อ้างต้องรอประชุม กก.บห.-ส.ส.ก่อน แต่ออกโรงเชียร์ “บัญญัติ” คุณสมบัติเกินนั่งประธานสภา “อรรถวิชช์” ชี้พรรคอยู่บนทางสองแพร่งต้องตัดสินใจให้ดี หึ่ง! โผรัฐมนตรีเริ่มชัด โควตา “บิ๊กตู่” ยังมีพี่ป้อม-พี่ป๊อก สะพัด! 2 พรรคสงวนท่าทีหวังใช้ต่อรองเก้าอี้ หลังไม่พอใจประยุทธ์ทุบโต๊ะจอง 4 กระทรวงหลัก
เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่โรงแรมโมเดน่า บาย เฟร์เซอร์ จังหวัดบุรีรัมย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นประธานเปิดการปฐมนิเทศ ส.ส.ของพรรค โดยให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมว่า การประชุมจะเน้นเรื่องวิชาการเพราะ ส.ส.ทั้ง 51 คนมีหลายคนที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นครั้งแรก ส่วนท่าทีของพรรคในการเข้าร่วมรัฐบาลหลังจากให้ ส.ส.ไปฟังเสียงชาวบ้านนั้น ต้องรับฟังก่อน คนอื่นเขารอถึงวันที่ 23-24 พ.ค. ทำไมต้องมาเร่งด้วย
“สมมุติผมจะตัดสินใจหรือจะทำอะไรก็เหมือนกับพรรคอื่นที่ต้องขอฉันทานุมัติจาก ส.ส.และกรรมการบริหารพรรค ว่าจะให้ใครเป็นตัวแทนพรรคในการตัดสินใจเรื่องทิศทางการเมือง ตอนนี้ต้องนิ่ง เพราะการนิ่งคือสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งต้องดูว่าความคิดเห็นของชาวบ้านเป็นอย่างไร เพราะผมต้องรับฟังจากส.ส.ทุกคน หรือผมอาจให้ ส.ส.ทุกคนโหวตลับก็ได้ว่าอยากไปในทิศทางไหน เพราะนี่เป็นประชาธิปไตย เราต้องรับฟังทุกมิติ ไม่ต้องสนใจแรงกดดันใดๆ เพราะพรรคจะไม่มีการชี้นำและโน้มน้าว วันนี้ขอให้ทุกคนปล่อยอารมณ์มาเต็มที่ว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งผลการโหวตผมจะอ่านคนเดียว แล้วก็ไปนั่งบริกรรมของผม" นายอนุทินกล่าว
ภายหลังการประชุมนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย แถลงว่าที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ ส.ส.พรรคแสดงความเห็นเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมีความเห็นที่หลากหลาย โดยที่ประชุมมีมติมอบหมายให้นายอนุทินไปดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลเพียงคนเดียว เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการทางการเมือง เพราะขณะนี้มีความสับสนและคลุมเครือ และได้ย้ำถึงจุดยืนพรรค 4 ข้อ คือ 1.การเทิดทูนสถาบัน 2.การจัดตั้งรัฐบาลที่เกิดขึ้นต้องไม่สร้างความขัดแย้งให้คนในชาติ 3.ต้องรับนโยบายของพรรคไปเป็นนโยบายของรัฐบาล และ 4.รัฐบาลที่จะจัดตั้งต้องมีเสถียรภาพในการบริหารประเทศได้ คือต้องมีเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง
“วันนี้สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล คือพรรคยังไม่ได้รับการประสานงานอย่างเป็นทางการจากพรรคการเมืองใดๆ สมาชิกพรรคจึงมีมติมอบอำนาจให้หัวหน้าพรรคเป็นผู้ดำเนินการประสานงานกับพรรคการเมือง ที่ยังไม่มีมติชัดเจนว่าจะเลือกไปร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองข้างใด โดยนายอนุทินจะเชิญพรรคเหล่านั้นมาหารือภายใน 2-3 วันนี้ เพื่อให้เกิดมติที่ชัดเจนทางการเมืองและความชัดเจนต่อประชาชน” นายศักดิ์สยามกล่าว
เมื่อถามว่าจะพุดคุยกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ด้วยหรือไม่ นายศักดิ์สยามตอบว่า ทุกพรรคที่ยังไม่มีมตินายอนุทินจะรับอาสาประสานงาน เพื่อให้เกิดความชัดเจน ว่าแต่ละพรรคมีแนวทางอย่างไร ซึ่งหากหลังพูดคุยชัดเจนก็จะแถลงต่อไป
คาด 2-3 วันชัดเจน
ถามถึงเสียงวิจารณ์ที่ว่าพรรค ภท.ยังกั๊กท่าทีในการร่วมรัฐบาล นายศักดิ์สยามกล่าวว่า เราจะทำให้เกิดความชัดเจนใน 2-3 วันนี้ โดยหัวหน้าพรรคจะเป็นผู้ดำเนินการพูดคุยกับพรรคที่ยังไม่มีมติ ซึ่งหากได้แนวทางที่ตรงกันเราจะดำเนินการทางการเมืองต่อไป ซึ่งการตัดสินใจของพรรคไม่ได้ผูกมัดกับมติของพรรคที่ยังไม่มีมติ เพียงแค่ต้องการให้เกิดความชัดเจนว่าจะทำอย่างไร เพราะวันนี้แต่ละพรรคยังไม่ชัดเจนว่าจะไปร่วมกับใคร เราจึงถือโอกาสนี้มอบหมายให้หัวหน้าเป็นผู้ประสานงาน เพราะการจะจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ได้ขึ้นอยู่กับพรรคที่ยังไม่มีมติเหล่านี้
เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่จะถูกมองเป็นการต่อรองเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า คงไม่มีเรื่องนี้เพราะเราทำอย่างเป็นทางการโปร่งใส ถ้าเราจะเจรจาต่อรองคงไม่ต้องทำแบบนี้ และการมอบหมายให้นายอนุทินประสานงานกับพรรคที่ยังไม่มีมติ ไม่ได้เป็นความพยายามเป็นขั้วที่ 3 ในการจัดตั้งรัฐบาล เราแค่ต้องการทราบแนวทางที่ชัดเจนเท่านั้น
มีรายงานว่าในการประชุมพรรคได้ให้ ส.ส.แสดงความเห็น ด้วยการเขียนจดหมายแสดงความเห็น ว่าอยากให้พรรคมีแนวทางอย่างไรในการร่วมรัฐบาล โดยเขียนจดหมายใส่ซองไม่ต้องเปิดเผยชื่อ และหย่อนใส่กล่องเพื่อรวบรวมให้หัวหน้าพรรค ซึ่งพบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ของพรรคได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับที่มาของ ส.ว. รวมถึงบางส่วนยืนยันว่าหากพรรคยกมือสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีก็จะไม่ยกมือให้ พร้อมกังวลว่าหากไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เกรงว่ารัฐบาลจะไม่มีเสถียรภาพเพราะมีเสียงปริ่มน้ำ
ด้านความเคลื่อนไหวของพรรค ปชป.ที่ได้จัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ครั้งแรกนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวก่อนการประชุมว่า จะยังไม่มีการพูดคุยกันถึงการตัดสินใจว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลกับฝ่ายใด แต่พรรคมีหลักอยู่แล้ว เช่น อุดมการณ์พรรค การทำเพื่อประชาชน สิ่งใดที่พูดกับประชาชนก็ต้องนำมาพิจารณา แล้วเมื่อถึงเวลาจะแจ้งให้ทราบว่าจะร่วมรัฐบาลกับฝ่ายใด ยืนยันว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามมติพรรค
“ส่วนรายชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้นยังไม่มีการพิจารณา ซึ่งพรรคเองมีบุคลากรที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะนายบัญญัติ บรรทัดฐาน แต่ยังไม่มีการหารือใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีเพียงกระแสข่าวออกมาเท่านั้น เช่นเดียวกับกระแสข่าวว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคจะลาออกหากพรรคไปร่วมรัฐบาลกับ พปชร. ก็ยังไม่มีความชัดเจน” นายจุรินทร์กล่าว
หลังการประชุมนายจุรินทร์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ในวันที่ 21 พ.ค. เวลา 13.00 น.จะมีการประชุม ส.ส.ของพรรคทั้ง 52 คนครั้งแรก ส่วนที่พรรคจะเป็นรัฐบาลหรือไม่อยู่ที่ประชุมร่วม กก.บห.พรรคและ ส.ส.ซึ่งยังไม่มีการนัดประชุม เพราะต้องพิจารณาตามความเหมาะสม ส่วนเรื่องประธานสภาก็ยังไม่ทราบ แต่การมีชื่อนายบัญญัติออกมาก็มองว่ามีศักยภาพเป็นได้อยู่แล้ว และมีศักยภาพเกินด้วย ส่วนเรื่องการเสนอผู้ที่จะเป็นประธานสภาแข่งขันในการเลือกประธานสภานั้น ก็ต้องมาคุยกันก่อนในที่ประชุม
“ทุกอย่างต้องเป็นมติพรรค ซึ่งพรรคมีกฎเกณฑ์อยู่แล้วก็เป็นไปตามนั้น ไม่ต้องห่วงไม่ต้องกังวล เพราะเราคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของบ้านเมืองอยู่แล้ว ซึ่งผมไม่คิดว่าใครจะกล้าแหกมติพรรค” นายจุรินทร์กล่าว
ปชป.ยืนบนทางสองแพร่ง
ส่วนนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. พรรค ปชป.โพสต์เฟซบุ๊กว่า ขอฝาก 5 ข้อประกอบการตัดสินใจว่าพรรคควรร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล คือ 1.หลังเลือกตั้งการที่ ปชป.จะร่วมรัฐบาลกับ พปชร.แล้วมี ส.ส.เกิน 250 เสียงเป็นประชาธิปไตยสากล แม้ไม่มีกติกาให้ ส.ว.แต่งตั้งมาเลือกนายกฯ ด้วยก็ตาม 2.ถ้าตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยไม่ได้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐบาลเผด็จการ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ต่อพร้อมอำนาจมาตรา 44 ไม่จำกัดเวลา ซึ่งไม่ควรให้เกิดขึ้น 3.พรรคยืนหยัดต่อสู้กับระบอบทักษิณมาตลอด ก็ต้องมั่นคงต่อไป 4.ถ้าจะร่วมรัฐบาลจริง ก็ขอให้ประกาศเลยว่าพรรคจะขับเคลื่อนนโยบายไหน และประเทศได้อะไร 5.ถ้าไม่ร่วมรัฐบาลประกาศเป็นฝ่ายค้านอิสระ คสช.ใช้สิทธิ์เป็นรัฐบาลเผด็จการต่อ ประเทศจะเดินแบบไหน มีวิธีแก้ไขอย่างไร
“ขณะนี้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์มี 2 ขั้วความคิด เสียงก็พอๆ กัน คงต้องคิดกันให้ดี เดินให้มั่นคง เพราะการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ส่งผลต่อประเทศชาติส่วนรวม” นายอรรถวิชช์กล่าว
นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส.กระบี่ พรรค ปชป.โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีกระแสข่าวว่านายอภิสิทธิ์จะลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ หากพรรคเข้าร่วมรัฐบาลกับ พปชร.ว่า นายอภิสิทธิ์เกิดมาเพื่อเป็น ส.ส.และเพื่อประชาชน โปรดอย่าลาออก
นายพิเชษฐให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การตัดสินใจของนายอภิสิทธิ์นั้นไม่ทราบข้อเท็จจริง แต่ทราบจากข่าว ซึ่งรู้สึกเสียดายในความรู้และความสามารถของนายอภิสิทธิ์ที่เคยร่วมทำงานและบริหารพรรค โดยหากเป็นจริงอยากให้นายอภิสิทธิ์พิจารณาและทบทวนให้ดี เพราะยังสนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์อยู่กับพรรคต่อไป
นายพิเชษฐยังกล่าวถึงพรรคจะตัดสินใจร่วมเป็นรัฐบาลกับ พปชร.หรือไม่ว่า ไม่ทราบรายละเอียด เพราะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กก.บห. แต่ไม่ว่าพรรคตัดสินใจอย่างไรการเมืองไทยยังคงไปไม่พ้นทางตัน เพราะเสียงของแต่ละพรรคการเมืองที่ชิงจัดตั้งรัฐบาลไม่ทิ้งห่างกัน โดยขณะนี้เสียงของทั้ง 2 ฝั่ง ทิ้งห่างกันไม่เกิน 10 เสียง เชื่อว่าทางของการทำงานยังอยู่ในภาวะลำบาก
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรค ปชป.ให้สัมภาษณ์ใน Suthichai Live ในเรื่องท่าทีของพรรคว่า พรรคจะตัดสินอย่างไรก็เป็นเรื่องของพรรคที่ต้องเคารพ แต่ถ้าทิศทางที่พรรคเดินไปเป็นทิศทางที่ไม่เห็นด้วย และมีความรู้สึกเป็นความแตกต่างในความคิดที่ลึกซึ้งถึงขั้นอุดมการณ์ ก็ต้องพิจารณาตัวเองและทบทวนตัวเองว่าจะยังอยู่ในสถานะไหนของประชาธิปัตย์หรือไม่
“พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคอะไรควรจะเป็นศูนย์ที่รวบรวมคนที่มีอุดมการณ์ตรงกัน ถ้าวันหนึ่งอุดมการณ์ผมไม่ตรงกับอุดมการณ์ของพรรคก็ลำบากใจทั้งสองฝ่าย ถ้าผมอยู่แล้วอุดมการณ์แตกต่างไปจากพรรค แล้วพูดไปอีกทิศทางหนึ่ง ก็คงไม่แฟร์กับพรรคเหมือนกัน" นายพริษฐ์กล่าว
นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษก พปชร.กล่าวถึงท่าทีของพรรค ปชป.และ ภท.ที่ยังไม่ให้คำตอบถึงการตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับ พปชร.ว่า พรรคต้องให้เกียรติกับพรรคที่จะมาร่วมรัฐบาล โดยทั้ง 2 พรรคยังต้องรอความชัดเจนในการตัดสินใจ เชื่อว่าคงไม่นาน เมื่อผู้หลักผู้ใหญ่ของทั้ง 2 พรรคหารือภายในพรรคเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หัวหน้าและเลขาธิการ พปชร.จะได้ไปหารืออย่างเป็นทางการ เชื่อว่าอีกไม่นานทุกอย่างจะเรียบร้อยก่อนโหวตเลือกประธานสภา ขอให้ใจเย็นๆ
เมื่อถามว่าการที่ทั้ง 2 พรรคยังไม่ให้คำตอบเกี่ยวกับกระแสข่าวความไม่พอใจโควตารัฐมนตรีหรือไม่ นายธนกรกล่าวว่าเชื่อว่าไม่เกี่ยว
ขณะที่นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ได้ลงนามในหนังสือนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกประธานสภาและรองประธานสภา 2 คนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 25 พ.ค. เวลา 09.30 น. ที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ
เปิดโผประธานสภา-ครม.
ด้านความเคลื่อนไหวในโควตารัฐบาลนั้น มีรายงานข่าวจาก พปชร.แจ้งถึงโผต่างๆ ว่า เดิมตำแหน่งประธานสภาที่เป็นโควตาพรรค พปชร.นั้น ขณะนี้มีแนวโน้มสูงที่จะยกให้พรรค ปชป. แต่ยังมีเงื่อนไขในเรื่องตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งที่ต้องเหมาะสมด้วย โดยมีชื่อนายบัญญัติเป็นแคนดิเดต ส่วนประธานสภาคนที่ 1 อาจเป็นนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรค พปชร. ขณะที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร.จะเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แทน ส่วนรองประธานสภาคนที่ 2 เป็นโควตาของ ภท. รายงานระบุว่าในส่วนของหน้าตาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในโควตาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรค พปชร. ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ควบ รมว.กลาโหมตามเดิม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ, นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พปชร. เป็น รมว.การคลัง, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค เป็น รมว.พาณิชย์, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็น รมว.คมนาคม โดยมีนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา เป็น รมช.คมนาคม, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็น รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี ที่เพิ่งมีชื่อติดโผครั้งแรกในตำแหน่ง รมช.อุตสาหกรรม เพื่อดูแลพื้นที่อีอีซี ขณะที่นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคมีชื่อเป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ
รายงานระบุอีกว่า บุคคลในพรรค พปชร.ที่อยู่ในข่ายได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี มีอาทิ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายสันติ พร้อมพัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา, นายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท, นายอิทธิพล คุณปลื้ม รองหัวหน้าพรรค, นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, ส่วนนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค ที่ก่อนหน้านี้มีชื่อในโผ ครม. เป็น รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อาจต้องขยับไปเป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ หรือกระทรวงอื่นแทน เพราะมีบางกระแสระบุว่าพรรค ปชป.ต้องการดูแลกระทรวงดังกล่าว เช่นเดียวกับกระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, รมช.มหาดไทย หรือ รมช.การคลัง หรือ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในส่วนของกระทรวงพลังงานยังอยู่ในโควตาของพรรค พปชร. แต่กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีโอกาสครึ่งต่อครึ่งที่จะดูแลเอง หรือให้พรรคร่วมดูแล รวมถึงกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม ที่ยังรอความชัดเจนว่าพรรคใดจะได้ไปดูแล
ขณะที่โควตาในส่วนของพรรค ภท.จะได้ รมว.สาธารณสุข, รมช.สาธารณสุข, รมช.คมนาคม, รมช.มหาดไทย, รมช.เกษตรและสหกรณ์, รมช.การคลัง, รมช.พาณิชย์ ส่วนพรรค ชทพ.จะได้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอีก 1 เก้าอี้ รมช.กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ซึ่งการจัดสรรเก้าอี้บางกระทรวงอาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง และมีความเป็นไปได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจมีส่วนร่วมตัดสินใจ ทั้งนี้มีรายงานระบุว่า ในวันที่ 23 พ.ค.นี้จะมีการนัดประชุมระหว่าง พปชร.กับพรรคร่วมเพื่อทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมการทำงานในสภา
กั๊กท่าทีหวังต่อรอง
มีรายงานอีกว่า ผู้ใหญ่ในพรรค ปชป.ได้วิพากษ์วิจารณ์กรณี พล.อ.ประยุทธ์ขอจอง 4 กระทรวงหลักให้พรรค พปชร.สะท้อนว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังหลงอำนาจและติดยึดนิสัยทหารที่ออกมาพูดในลักษณะทุบโต๊ะ เป็นการผิดมารยาททางการเมือง เพราะ ส.ส.ผ่านการเลือกตั้งเป็นฉันทามติของประชาชน ควรให้ฝ่ายการเมืองเป็นฝ่ายเจรจากันเอง เพราะ คสช.ถือว่าหมดอำนาจตามกฎหมายไปแล้ว ทั้งนี้แกนนำพรรค ปชป.และพรรค ภท.ได้หารือนอกรอบแล้วว่าทั้งสองพรรคจะจับมือไปด้วยกันไปในทิศทางเดียวกัน เพราะรวมแล้ว 103 เสียงสามารถสร้างเสถียรภาพให้รัฐบาลได้ จึงเป็นที่มาของการยื้อผลประชุมเพื่อรอดูว่า พปชร.จะทบทวนกระทรวงเกรดเอที่ 2 พรรคต้องการหรือไม่
ส่วนนายพิเชษฐ สถิรชวาล หัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย เปิดบ้านแถลงถึงท่าทีและสถานการณ์ทางการเมืองหลังประกาศจุดยืนว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ว่าเหตุผลที่ตัดสินใจเช่นนั้น เพราะมองว่าสำคัญที่สุดคือจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และเป็นการส่งสัญญาณให้ชัดเจนว่าโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ นั้นค่อนข้างชัดเจน แม้เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ต้องเป็น
สำหรับความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย (พท.) นั้น นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค พท.กล่าวถึงกรณีที่พรรค ภท.และพรรค ปชป.ยังสงวนท่าทีจะเข้าร่วมตั้งรัฐบาลกับฝ่ายใดว่า ยังรอฟังท่าที ตอนนี้ถือว่ายังมีเวลา ยังไม่ต้องรีบร้อนอะไร ส่วนพรรคการเมืองที่ร่วมลงสัตยาบันต่อต้านการสืบทอดอำนาจนั้นเรามีการพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด จุดยืนของเราเหมือนเดิมคือ ต้อนรับและพร้อมคุยกับทุกพรรคการเมือง เพราะสภาพที่เป็นอยู่ประเทศเดินไปไม่ได้ การให้พรรคการเมืองเกือบ 20 พรรคและใช้ ส.ว.เพื่อตั้งรัฐบาลนั้นจะบริหารไม่ได้ รัฐบาลจะไม่มีความเชื่อมั่น วันนี้เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วก็ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนที่ประชาชนเลือกมา
“หาก ส.ว.ประกาศชัดเจนว่าจะเดินตามเจตนารมณ์ที่ประชาชนตัดสินใจในการเลือกตั้งทุกอย่างจะง่ายขึ้น เพราะผลการเลือกตั้งชัดเจนว่าประชาชนเลือกฝ่ายประชาธิปไตย ดังนั้นก็ควรให้กลไกเดินหน้า หาก ส.ว.ประกาศชัดเจนว่ายึดเอาความต้องการของประชาชนเป็นที่ตั้ง เชื่อว่าปัญหาที่ค้างอยู่จะได้รับการคลี่คลาย” นายภูมิธรรมระบุ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด คณะทำงานสื่อสารการเมืองพรรค พท.กล่าวถึงกรณีพรรคขนาดกลางอยู่ระหว่างการตัดสินใจทางการเมืองเกี่ยวกับการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลว่า ประเทศออสเตรเลียผ่านการเลือกตั้งวันเดียวมีความชัดเจนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล แต่ไทยผ่านการเลือกตั้งมาจะครบ 2 เดือนแล้วยังไม่มีความชัดเจนว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล ทำให้ประชาชนเสียโอกาส ซึ่งภารกิจสำคัญของรัฐบาลใหม่ไม่ใช่เพียงแค่การแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองเท่านั้น แต่ภารกิจนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักการสืบทอดอำนาจนั้นสำคัญกว่า ใครจะเป็นรัฐบาลก็ตามขอบันทึกข้อเท็จจริงการเมืองไทยว่า 1.พรรคที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจมีคะแนนเสียงที่ประชาชนสนับสนุนถึง 16 ล้านเสียง ในขณะที่พรรคสนับสนุนการสืบทอดอำนาจได้รับคะแนนเสียงเพียง 8 ล้านเสียง
“เป็นสิ่งบ่งชี้ที่ยืนยันชัดเจนว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศสนับสนุนแนวทางต่อต้านการสืบทอดอำนาจ และปฏิเสธการเข้ามาเป็นนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังการเลือกตั้งพรรคการเมืองต้องเคารพเสียงประชาชน ไม่มีประโยชน์ที่จะดันทุรัง ซึ่งการฝืนเจตนารมณ์ของประชาชนมีแต่จะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่”
2.ต้องยอมรับว่า 5 ปีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ การส่งออกตกต่ำ ประชาชนชักหน้าไม่ถึงหลัง ไทยเติบโตเกือบต่ำสุดของอาเซียน ทั้งที่รัฐบาลมีมาตรา 44 และไม่มีฝ่ายค้าน ถ้าจะเอาทีมเดิมโดยที่ไม่มีมาตรา 44 ไม่มีความมั่นคงทางการเมือง เพราะเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ในขณะที่สงครามการค้าโลกรุนแรง สภาพรัฐบาลจะเป็นอย่างไรและจะไม่สามารถแก้ปัญหาหรือทำงานได้ และ 3.พรรคใดจะตัดสินใจทางการเมืองอย่างไรคงไม่ก้าวล่วง แต่จะปฏิรูปการเมืองได้อย่างไรถ้าไม่เคารพและฟังเสียงประชาชน นักการเมืองคุณภาพพูดอย่างไรก็ต้องทำเช่นนั้น เช่นถ้าบางพรรคประกาศจุดยืนประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต ไม่เอาการสืบทอดอำนาจ ประชาชนก็คาดหวังว่าต้องทำตามที่ประกาศจุดยืน ถ้าไม่ทำตามต้องไปตอบคำถามประชาชนเอง
“พรรคเพื่อไทยเห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนมากกว่าประโยชน์ส่วนตน จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนมากกว่าโควตารัฐมนตรีที่แต่ละพรรคจะได้รับ” นายอนุสรณ์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |