ภาพตัวอย่างหนังสั้นดอยตุง EP. 2 เรื่อง”ดีต่อใจ” ใช้กาแฟดอยตุงเดินเรื่อง สอนความสุขเรียบง่ายผ่านการดูแลต้นกาแฟ
แบรนด์”ดอยตุง” (DoiTung) ทำธุรกิจโดยตระหนักถึงสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดให้มีคุณภาพที่ผู้บริโภครู้สึกชื่นชอบ ทั้งกาแฟ แมคคาเดเมีย เครื่องเคลือบดินเผา ผ้าทอมือ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสวยเก๋เข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น และสินค้าเกษตรที่ไม่ทำลายดิน น้ำ ป่า
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ดอยตุง สร้างแบรนด์ให้เข็มแข็งผ่านการสร้างคนและส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชนชาวไทยภูเขา 6 เผ่าบนดอยตุง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสร้างความสุขให้กับชุมชนที่ถูกขับเคลื่อนในโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อสนองพระราชปณิธานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จย่าของพสกนิกรไทย
ซึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถ่ายทอดเรื่องราวความสุขของดอยตุงผ่านหนังสั้นเรื่องแรกจากแบรนด์ “ดอยตุง” จำนวน 5 ตอน ที่มีความทันสมัย สนุกสนาน และซ่อนแง่คิดที่ลึกซึ้ง เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนไทยหันมาใช้ชีวิตโดยตระหนักถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในหนังสั้นเรื่องนี้ยังสะท้อนการทำธุรกิจเพื่อสังคมอย่างแท้จริง โดยจัดงานเปิดตัวหนังสั้น“ดอยตุง” รอบเอ็กซ์คลูซีฟ พรีวิว ณ โรงภาพยนตร์ “ควอเทียร์ ซีนีอาร์ต” ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ เมื่อวันก่อน
หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ชูหนังสั้นดอยตุงปลุกแรงบันดาลใจคนรุ่นใหม่
หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้บริหารโครงการพัฒนาดอยตุงฯ มากว่า 30 ปีแล้ว ผู้บริโภคสนับสนุนและชื่นชอบในผลิตภัณฑ์ ดอยตุง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจกว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ โดยปัจจุบันลูกค้าดอยตุง เริ่มขยายไปยังเจเนอเรชั่นใหม่มากขึ้น โครงการหนังสั้นดอยตุงสร้างสรรค์ขึ้นมาเพราะตอบโจทย์ เป็นช่องทางใหม่ๆ สื่อสารถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เข้าใจเรื่องราวความเป็นมาของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ และมุมมองการทำธุรกิจของดอยตุงมากขึ้น คนรุ่นใหม่มีทัศนคติอนุรักษ์มากขึ้น และกล้าแสดงจุดยืนตัวเอง เป็นโอกาสสื่อสาร ดอยตุงเป็นผลิตภัณฑ์ทันสมัย ดีไซน์เก๋ ขณะเดียวกันมีมิติรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งดอยตุงต้องไม่หยุดเรียนรู้และจะพัฒนาต่อไป โดยไม่ละเลยฐานชุมชนและจิตวิญญาณ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้นำเสนอผ่านหนังสั้นด้วย
หม่อมหลวงดิศปนัดดา กล่าวต่อว่า หนังสั้นดอยตุงจะไม่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีคนดอยตุงอยู่เบื้องหลัง โดยเล่าเรื่องราวตั้งแต่ความสุขของคนที่อยู่ในองค์กร ความทุ่มเทตั้งใจในการทำงาน ความรักในการทำงาน การคว้าโอกาสและสร้างโอกาสที่ได้รับสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะลงทุนในคนและเวลาเพื่อสร้างชิ้นงานที่มีคุณภาพ และสุดท้ายกำไรที่ได้มาคือ ความสุขที่ได้แบ่งปันออกไปให้กับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน หนังสั้นทั้ง 5 ตอน มีธีมแตกต่างกัน ทั้งสนุก เศร้า ซึ้ง รัก เรื่องนี้มีดาราที่คัดเลือกมา 5 คน นักแสดงที่เหลือ คือ เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ การถ่ายทำเกิดขึ้นบนสถานที่จริง บนการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและดูแลสิ่งแวดล้อม นำเสนอเรื่องราวโดยพนักงานที่มีประสบการณ์และความทุ่มเท สอดคล้องกับจุดยืนคนรุ่นใหม่เมื่อได้ดูหนังสั้นดอยตุงจบแล้วจะเข้าไปอยู่ในใจ เกิดแรงบันดาลใจลุกขึ้นมาทำอะไรดีๆ ให้กับชีวิตและสังคม
“ อย่างหนังสั้น EP. 4 เรื่อง “ต้นความรัก” สื่อถึงพัฒนาคน ใช้เรื่องราวของปลูกป่าเป็นตัวแทน ผ่านวิถีชีวิตของเด็กชายชนเผ่าบนดอยตุงจริงๆ ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคนของดอยตุง ชื่อน้องไดม่อน ทำให้เค้าได้เรียนรู้ความหมายของชีวิต เช่นเดียวกับการปลูกป่าที่ต้องอดทนรอ เอาใจใส่ ทำให้เด็กเข้าใจความหมายของการลงทุนกับคนและเวลาเป็นพื้นฐานของความยั่งยืน สมเด็จย่าทรงรับสั่ง “การปลูกคนเหมือนกับปลูกต้นไม้” พ่อแม่ต้องฟูมฟักสั่งสอน เติมความดี ความงาม แชร์ประสบการณ์ และตัดแต่งนิสัยที่ไม่ดีออกไปให้เป็นต้นไม้ที่สมบูรณ์ เมื่อกลับมาอยู่ในชุมชนก็จะเป็นคนที่ดีของสังคม เป็นสิ่งที่ประเทศเราขาด “ หม่อมหลวงดิศปนัดดา กล่าว
ภาพตัวอย่างหนังสั้นดอยตุง EP.1 เรื่อง "Made of Happiness" ชวนค้นหาความสุขที่แท้จริง
พรพิพัฒน์ ลักษณะสุต ผู้กำกับหนังสั้น ดอยตุง บอกว่า ได้รู้จักโครงการพัฒนาดอยตุงฯ มีข้อมูลมากมายที่ตนนำมาต่อยอดเพื่อทำหนังสั้นดอยตุงเผยแพร่ให้คนรุ่นใหม่รู้จักดอยตุงลึกซึ้งยิ่งขึ้น เมื่อได้รับโจทย์ก็ลงพื้นที่อีกครั้งเพื่อรวบรวมข้อมูล จัดทีมทำบทหนัง จะเล่าผ่านใคร นักแสดงใช้คนดอยตุงจริง สวมบทบาทจริงในหนัง แต่ละ EP มีข้อความที่อยากสื่อสารแตกต่างกัน แต่เมื่อดูครบหมดแล้ว จะพบว่า ทุกอย่างทำด้วยใจ ทั้งกระบวนการผลิตสินค้า เกษตรกร หรือแม้แต่นักแสดง ซึ่งเป็นพนักงานดอยตุงก็เล่นด้วยใจ หนังสั้นเรื่องนี้พูดถึงการให้และแบ่งปัน
เปิดตัวหนังสั้นครั้งแรกจากแบรนด์ดอยตุง ทำด้วยใจคนบนดอยตุง
บ่อกี้ ลุงแก้ว หนึ่งในทีมนักแสดงดอยตุง เผยความประทับใจว่า ตนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน แต่ได้รับโอกาสเป็นพนักงานดอยตุง กว่าจะเป็นผู้จัดการเขตค้าปลีกหัตถกรรมเชียงรายในปัจจุบัน ตนทำงานมาทุกรูปแบบ ตั้งแต่พนักงานทำความสะอาดเล็กๆ จากนั้นก็ทดลองทำงานอื่นๆ ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงมอบโอกาสให้สุดความสามารถ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้พนักงานตัวเองอยู่เสมอ ยังมีคนชนเผ่าบนดอยตุงอีกมากที่ทำงานบนดอยตุง อยากชวนให้ดูหนังสั้นดอยตุง พวกเราส่งต่อแรงบันดาลใจในการทำงานให้ทุกคน
ส่วน กษิรา พรนภดล นักแสดงนำหญิงสุดน่ารัก บอกว่า มีโอกาสไปดอยตุง เที่ยวชมสวนแม่ฟ้าหลวงที่สวยงามเมื่อ 10 ปีก่อน เมื่อได้รับโอกาสแสดงหนังสั้นดอยตุงจึงได้กลับไปอีกครั้ง ได้เรียนรู้การทำสวนกาแฟ รู้สึกประทับใจชาวบ้านได้ทำอาชีพที่รัก รวมถึงได้เข้าใจการทำธุรกิจแบรนด์ดอยตุง เป็นธุรกิจเพื่อสังคม คนในพื้นที่ได้ประโยชน์จริงและสร้างโอกาสในการพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น แก่นของหนังสั้น มองว่า สื่อความสุขจากความความเรียบง่าย เป็นสิ่งที่คนเมืองนำมาปรับใช้ในชีวิต การได้ร่วมแสดงหนังสั้นคือประสบการณ์ที่ดีในชีวิต
ภคพงศ์ เทียนทอง และ กษิรา พรนภดล นักแสดงรุ่นใหม่ ร่วมงานหนังสั้นดอยตุง
สำหรับหนังสั้น ดอยตุง แบ่งการเผยแพร่ออกเป็น 5 ช่วง โดย EP.1 เรื่อง “Made of Happiness” ทำด้วยใจ เล่าผ่านชีวิตของเด็ก GEN Z ที่ขาดแรงบันดาลใจในการทำงาน ต้องการที่จะออกค้นหาความสุขที่แท้จริงในชีวิต จนได้ไปพบกับวิถีชีวิตของคนบนดอยตุงผ่านการทำงานที่สร้างปรัชญาและมุมมองในการทำงานใหม่ๆ ที่เขาไม่เคยเจอ EP.2 เรื่อง “ดีต่อใจ” ใช้กาแฟดอยตุงเป็นตัวเดินเรื่องไปพร้อมกับเรื่องราวสาวที่ผิดหวังในความรัก จนได้พบกับกูรูความรักที่สอนให้มองถึงความสุขอันเรียบง่ายในชีวิตผ่านการดูแลต้นกาแฟบนดอยตุง การเก็บผลกาแฟทีละเมล็ด และมิตรภาพจากคนแปลกหน้าที่ชวนติดตาม
EP.3 เรื่อง “โอกาส” จะเผยแพร่เดือน กรกฎาคมนี้ เล่าผ่านงานหัตถกรรมของดอยตุง และโอกาสที่ทุกคนสามารถสร้างได้เอง นักศึกษาที่กำลังขาดไฟในการทำงาน แต่กลับได้รับแรงบันดาลใจจากฟันเฟืองเล็กๆ ที่เรียกตัวเองว่าพนักงานดอยตุง ผลักดันในการค้นหาตัวตน จากโอกาสที่เธอได้รับและเลือกใช้โอกาสนั้นให้เต็มที่และดีที่สุด EP. 4 เรื่อง “ต้นความรัก” จะเผยแพร่เดือนสิงหาคม
ถ่ายทำสถานที่จริง บนการผลิตสินค้าจริง มีพนักงานดอยตุงร่วมแสดงด้วยจิตวิญญาณ
ส่งท้ายความสุขด้วย EP. 5 เรื่อง “กำไรไปไหน” เผยแพร่เดือนตุลาคม ชูงานใหญ่แห่งปี “งานสีสันดอยตุง” ที่รวมเอาวิถีชีวิตวัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นอยู่ตลอดจนอาหารการกิน มาเล่าผ่านนักแสดงที่เป็นมัคคุเทศก์น้อยดอยตุงนำเที่ยวไปยังจุดท่องเที่ยวต่างๆ สุดท้ายพบคำตอบว่า บนดอยตุงมีผลิตภัณฑ์คุณภาพที่ก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชน แล้วกำไรเหล่านี้ไปไหน ชมหนังสั้นทั้ง 5 Episode ได้ที่ ช่องทาง Youtube DoiTung Channel และ Facebook Fanpage : DoiTung Club