การเมืองเรื่องตั้งรัฐบาล : อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้


เพิ่มเพื่อน    

    วันก่อนผมกับคุณวราวิทย์ ฉิมมณีตั้งวงวิเคราะห์การเมืองเรื่องตั้งรัฐบาล ในรายการ "ตอบโจทย์"  ทาง ThaiPBS ร่วมกับนักวิชาการสามท่าน คือ
    ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านสาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กับ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
    สรุปตรงกันประเด็นหลักว่า "อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น"
    เพราะยังมีประเด็นค้างคาอยู่หลายเรื่องที่อาจจะพลิกสูตรการตั้งรัฐบาลผสมได้ เช่น
    การร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าที่ กกต.ตัดสินใช้วิธีคำนวณที่ทำให้มีพรรคการเมืองเข้าสภาฯ ถึง 27 พรรค และมีพรรคที่ได้ 1 ที่นั่งมากถึง 13 พรรคนั้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
    หากศาลมีมติที่แตกต่างไปจากสูตรที่ กกต.กำหนด จะทำให้ตัวเลขการตั้งรัฐบาลผสมเปลี่ยนไปทันที
    แต่เมื่อตารางเวลาการเลือกประธานสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาเป็นสัปดาห์นี้ คำวินิจฉัยของศาลคงจะมาหลังจากการลงมติไปแล้ว
    หากศาลตัดสินออกมายืนยันแนวปฏิบัติที่ กกต.กำหนดไปแล้ว การเมืองก็คงเดินหน้าในครรลอง  "ปริ่มน้ำ" ต่อไป
    คำถามก็คือ หากศาลตัดสินหลังจากการเลือกประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรีแล้วที่ผิดไปจากสูตรที่ใช้ในวันที่เลือกตั้งประธานสภาฯ และเลือกนายกฯ จะมีผลย้อนหลังหรือไม่
    วงสนทนาเห็นว่าไม่น่าจะมีผลย้อนหลัง แต่ก็จะทำให้เกิดเรื่องคาใจประชาชนจนทำให้เกิดประเด็นความชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมไปอีกยาวนาน
    และหากเกิดกรณีนี้จริงก็จะเป็นปรากฏการณ์แห่งเดียวของโลกทีเดียว
    ผมให้ทั้งสามท่านคาดเดาว่าหากเป็นไปตามแนวโน้มที่เห็นอยู่ ใครจะได้เป็นนายกฯ
    ทั้งอาจารย์สิริพรรณและอาจารย์วิโรจน์บอกว่าหากทางเลือกมีเพียงแค่นายกฯ ก็คงชื่อลุงตู่ค่อนข้างแน่นอน
    แต่อาจารย์ปริญญาตอบว่า
    "ถามอย่างนี้ถามผิดคนแล้ว ต้องไปถามพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยมากกว่า"
    ความหมายก็คือทั้งสองพรรคจะตัดสินใจไปอยู่ขั้วไหน ขั้วนั้นก็จะเป็นผู้กำหนดตัวนายกรัฐมนตรี
    ท่านก็ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าอย่าเพิ่งเชื่อว่า ส.ว.ทั้ง 250 คนจะยกมือให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาทั้งหมด เพราะอย่างน้อย 50 คนก็มาจากการการกลั่นกรองจากอาชีพต่างๆ ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะมีมติเหมือนกับอีก 200 คนที่เป็นการเลือกโดย คสช.โดยตรง
    อาจารย์สิริพรรณตั้งประเด็นใหญ่ว่า
    "อาจมีคนร้องศาลรัฐธรรมนูญถึงความถูกต้องชอบธรรมของกระบวนการของการได้มาซึ่ง ส.ว. เพราะถ้าไปดูมาตรา 114 ของรัฐธรรมนูญมีประโยคที่ว่า ส.ว.ต้องเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยและต้องไม่มีการกระทำที่มีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน รวมถึงขณะนี้เรามีมาตรฐานจริยธรรมที่ประกาศใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 และข้อ 11 ใช้คำเดียวกันเลยคือ ประเด็นเรื่องการต้องไม่มีการกระทำที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน"
    ผมขอยกมาตรา 114 ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาให้ได้อ่านอย่างนี้
    "มาตรา 114 สมาชิกผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์"
    คำว่า "โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์" หรือที่ภาษาฝรั่งเรียก conflict of interest นี่แหละที่อาจจะกลายเป็นประเด็นที่อาจมีคนร้องศาลรัฐธรรมนูญว่ากระบวนการเลือกสรร ส.ว.รอบนี้บางขั้นตอนอาจเข้าข่าย "การทับซ้อนแห่งผลประโยชน์" หรือไม่
    เช่นไม่มีการเปิดเผยรายชื่อของคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ตั้งแต่ต้น
    และที่สำคัญคือ มีข่าวว่ากรรมการบางท่านได้เลือกตัวเองให้เป็น ส.ว.
    หากคณะกรรมการเลือกกรรมการบางท่านเป็น ส.ว.จริง จะเข้าข่าย "การขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่"
    มีข่าวว่า คสช.ได้ส่งรายชื่อของคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว
    หากเป็นเช่นนั้นก็ควรจะเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกัน
    นั่นแหละจะทำให้เกิดความชัดเจนโปร่งใส ให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศได้พิจารณาเองว่า
    ผู้มีอำนาจเคารพในความรู้สึกของคนไทยทั่วไปหรือไม่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"