ดุสิตโพลชี้ ปชช.เชื่อ พปชร.จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ แต่เกิดความขัดแย้งจากฝ่ายตรงข้าม เอือมการเมืองวุ่นวายมีแต่ผลประโยชน์ นักวิชาการแนะ ส.ส.-ส.ว.ยึด 8 แนวทางเลือกนายกฯ เลี่ยงวิกฤติรุนแรงนองเลือดซ้ำอดีต
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ กรณี "รัฐบาลใหม่ในสายตาประชาชน" จำนวนทั้งสิ้น 1,132 คน ระหว่างวันที่ 14-18 พฤษภาคม 2562 ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรอง ส.ส.อย่างเป็นทางการ ทำให้การรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งรัฐบาลของพรรคต่าง ๆ เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายจับตามอง จึงต้องการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่สนใจติดตามข่าวการเมือง โดยสรุปผลได้ ดังนี้
1.ประชาชนคิดอย่างไร? กับกระแสข่าวการรวมกลุ่มของพรรคการเมืองต่างๆ ในการจัดตั้งรัฐบาล ณ วันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 59.52 ระบุการเมืองวุ่นวาย มีแต่เรื่องผลประโยชน์, อันดับ 2 ร้อยละ 24.48 การจับขั้วทางการเมืองยังไม่ชัดเจน ยังไม่เห็นข้อสรุปที่แน่นอน, อันดับ 3 ร้อยละ 19.56 ขอให้คำนึงถึงประโยชน์ของบ้านเมืองและประชาชนเป็นสำคัญ, อันดับ 4 ร้อยละ 18.10 รักษาคำพูด ทำตามสัญญาที่ให้ไว้เมื่อตอนหาเสียง, อันดับ 5 ร้อยละ 13.81 มีการปล่อยข่าวลือ สร้างกระแส ควรติดตามอย่างมีสติ
2.ประชาชนคิดอย่างไร? กรณี “พรรคเพื่อไทย” จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 43.76 ระบุเป็นพรรคที่ได้เก้าอี้ ส.ส.มากที่สุด ก็ควรได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล, อันดับ 2 ร้อยละ 39.59 ขึ้นอยู่กับการจับขั้วทางการเมือง ต้องดูจากคะแนนเสียงที่ได้, อันดับ 3 ร้อยละ 20.92 ไม่น่าจะรวบรวมเสียงข้างมากได้ ไม่น่าจะได้เป็นรัฐบาล
3.ประชาชนคิดอย่างไร? กรณี “พรรคพลังประชารัฐ” จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 46.03 มีโอกาสที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ มีพรรคเล็กเป็นแนวร่วม, อันดับ 2 ร้อยละ 35.44 มีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูง เป็นรัฐบาลชุดปัจจุบัน, อันดับ 3 ร้อยละ 31.26 ขอให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม
4.ประชาชนคิดอย่างไร? กรณี “พรรคขนาดกลาง” (ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย อนาคตใหม่) จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 50.47 ระบุน่าสนใจ น่าจะบริหารบ้านเมืองได้ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง, อันดับ 2 ร้อยละ 36.84 เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ ขอให้เป็นไปตามข้อกฎหมายที่กำหนด, อันดับ 3 ร้อยละ 16.02 คงเป็นไปได้ยาก คะแนนเสียงที่มีอาจไม่พอ
5.ประชาชนคิดว่าพรรคใด? น่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 51.54 ระบุพรรคพลังประชารัฐ เพราะเป็นพรรคใหญ่ มีอำนาจต่อรอง มีจำนวน ส.ส.มาก ได้รับเสียงสนับสนุนจาก 11 พรรคการเมือง มีแนวโน้มว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ ฯลฯ, อันดับ 2 ร้อยละ 35.93 พรรคเพื่อไทย เพราะเป็นพรรคที่มีประสบการณ์ ชนะการเลือกตั้ง มี ส.ส.มากที่สุด มีหลายพรรคให้การสนับสนุน ขึ้นอยู่กับการเจรจา ฯลฯ, อันดับ 3 ร้อยละ 12.53 พรรคขนาดกลาง เพราะสถานการณ์ทางการเมืองไม่แน่นอน อาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละพรรค ฯลฯ
6.ประชาชนคิดว่าการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ จะประสบปัญหาอะไรบ้าง พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 40.82 ระบุความขัดแย้ง คัดค้าน ต่อต้านจากฝ่ายตรงข้าม, อันดับ 2 ร้อยละ 35.42 ความไม่ชอบมาพากล ไม่เป็นธรรม, อันดับ 3 ร้อยละ 26.67 การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี โควตาไม่ลงตัว
7.ประชาชนคิดว่าทางออกในการจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จควรเป็นอย่างไร? พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 52.53 ระบุยึดหลักการ เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ปฏิบัติตามกฎหมาย, อันดับ 2 ร้อยละ 38.55 ควรเคารพการตัดสินใจของประชาชน รับฟังเสียงส่วนใหญ่, อันดับ 3 ร้อยละ 21.48 เป็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ถูกต้อง ทุกฝ่ายให้การยอมรับ
ทางด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์พัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สังคมไทยได้ผ่านการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในหลายช่วงเวลาของประเทศ การต่อสู้หลายครั้งต้องอาศัยความเสียสละของผู้รักชาติรักประชาธิปไตย มีวีรชนต้องสละชีวิตและเลือดเนื้อไปจำนวนไม่น้อย ทุกภาคส่วนจึงต้องช่วยกันประคับประคองสถานการณ์เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสีย ความรุนแรงนองเลือดซ้ำรอยอดีตอีก ในโอกาสครบรอบ 27 ปีเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม อันเป็นเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร รสช. จนกระทั่งนำมาสู่การความรุนแรงและการสูญเสีย เป็นบทเรียนสำคัญให้กับการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยรัฐสภาและการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งนี้
นายอนุสรณ์กล่าวว่า ส.ส.และ ส.ว.สามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์ทางการเมืองอันอาจจะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต โดยต้องยึดหลักการและหลักเกณฑ์ 8 ประการในการเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาล ดังนี้ ประการแรก การเลือกนายกฯ ต้องยึดหลักการประชาธิปไตย ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนเสียงข้างมาก ไม่มีการบิดเบือนผลการเลือกตั้ง วุฒิสมาชิกซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องไม่ลงคะแนนเลือกนายกฯ ที่สวนทางกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ หรือควรงดออกเสียง เนื่องจากไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ประการที่สอง ต้องเลือกผู้นำประเทศหรือนายกฯที่มีศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย ไม่ควรเลือกนายกฯ ที่เคยมีบทบาทสำคัญในการรัฐประหารทำลายระบอบประชาธิปไตยหรือฉีกรัฐธรรมนูญ, ประการที่สาม ต้องเลือกผู้นำประเทศที่มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ความสามารถในการรับมือกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคต, ประการที่สี่ ต้องเลือกผู้นำประเทศหรือนายกฯ ที่มีความมุ่งมั่นในการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง และมีแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและระบบการเลือกตั้งที่มีปัญหาและไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย, ประการที่ห้า การเลือกนายกฯ มิใช่การตอบแทนผลประโยชน์หรือบุญคุณในทางส่วนตัว เป็นเรื่องของส่วนรวมและประเทศชาติ ฉะนั้นต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกอย่างเป็นอิสระ โดยยึดถือผลประโยชน์สาธารณะ, ประการที่หก ต้องเลือกนายกฯ หรือผู้นำที่ต้องยึดหลักนิติรัฐนิติธรรม และหลักธรรมาภิบาล, ประการที่เจ็ด ต้องเลือกนายกฯ หรือผู้นำที่ยึดหลักภราดรภาพนิยมและสามารถสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้กับสังคมไทยได้, ประการที่แปด ต้องเลือกนายกฯ ที่ไม่ทำให้การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นเพียงพิธีกรรม และทำให้เกิดความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศได้อย่างมั่นคง
"การเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ จะเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าวุฒิสภาสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมหรือไม่ สะท้อนว่า ส.ส.ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนหรือมีอุดมการณ์ มีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร และสะท้อนด้วยว่าอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งกับอำนาจของประชาชน อำนาจไหนกำหนดทิศทางของประเทศในอนาคต การตัดสินใจเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลจึงไม่ใช่เรื่องของตำแหน่งหน้าที่ อำนาจและผลประโยชน์ แต่เป็นเรื่องของประเทศชาติจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร จึงขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองขั้วที่ 3 (พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคอื่นๆ) ตัดสินใจเลือกข้างฝ่ายประชาธิปไตย ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ เพื่อการบริหารประเทศอย่างมีเสถียรภาพ และนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" นายอนุสรณ์ระบุ
ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมามีข้อสงสัยเรื่องการจัดการเลือกตั้งว่ามีการจัดการอย่างเสรีหรือเป็นธรรมหรือไม่ มีสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พิสดารเพื่อสนับสนุนนายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจ คสช. นอกจากนี้ การแต่งตั้ง ส.ว. 250 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากวงศาคณาญาติและเครือข่ายพรรคพวกเพื่อสืบทอดอำนาจ ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณในการสรรหา ส.ว. และ ส.ว. ยังไม่ได้เป็นตัวแทนของความหลากหลายทางวิชาชีพ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางและเป็นธรรมหรือไม่ การดำเนินการหลายๆอย่างที่ไม่ถูกต้องตามหลักการ จะทำให้รัฐบาลใหม่ขาดความชอบธรรมและมีข้อจำกัดในการบริหารประเทศ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |