มนุษย์ลูก


เพิ่มเพื่อน    

    เราเคยล้อเลียน “มนุษย์ป้า” ที่ใช้ความอาวุโสและวัยวุฒิเป็นข้ออ้างในการแหกกฎระเบียบของสังคมเพื่อให้ ตัวเองได้ความสะดวกสบายสูงสุด ซึ่งหากใครไปมีเรื่องกับมนุษย์ป้าถึงขั้นเถียงยังไงก็ไม่ชนะ เพราะมนุษย์ป้าจะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นคือการทำผิดกฎของสังคม และการกล่าวถึงความยากลำบากของ “มนุษย์แม่” ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ อุ้มท้อง คลอดลูก อดตาหลับขับตานอนเลี้ยงดูอบรมลูก เหนื่อยแค่ไหนก็ต้องทน เป็นความรักที่ยิ่งใหญ่กว่ารักใดๆ ในโลกนี้ แต่ไม่เคยได้ยิน “มนุษย์ลูก” มารวมพลังหรือสะท้อนความเห็นให้พ่อแม่ได้รับฟังความจริงกันบ้างเลย เนื่องจากมนุษย์ลูกมักจะบ่นลับหลัง บ่นกันเองกับเพื่อน เพราะ “มนุษย์ลูก” ไม่ค่อยกล้าขัดใจพ่อแม่นั่นเอง
    คนเป็นพ่อเป็นแม่มักจะคิดว่า “ลูก” คือสมบัติของพ่อแม่ ในฐานะผู้ให้กำเนิด แต่ลืมคิดไปว่า “ลูก” ก็คือ “มนุษย์” คนหนึ่งที่มีความคิดเป็นของตัวเอง มีความต้องการของเขาเอง และมีความรู้สึกในแบบของเขาเอง ปัญหาคือเรามักคิดแทนลูกว่าลูกชอบ หรือไม่ชอบอะไร มักจะเอาเหตุผลของเราไปใส่ในความคิดของลูก โดยไม่เคยคำนึงว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้ตรงกับความต้องการของลูกหรือไม่ พ่อแม่ส่วนใหญ่คิดว่าเข้าใจความรู้สึกลูก แต่ไม่เคยถามว่าลูกรู้สึกอย่างไร เราทุกคนต่างไม่ใช่พ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ แต่กลับตั้งเป้าหมายที่จะปั้นลูกให้สมบูรณ์แบบ ทำอย่างไรที่จะให้พ่อ แม่ ลูก และคนในครอบครัวสามารถที่จะสื่อสารเพื่อหาแนวทางที่จะทำให้คนในครอบครัวอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน ที่สำคัญคือสมาชิกในครอบครัวทุกคนเข้าใจตัวเอง รู้สึกดีกับตัวเอง คนเป็นลูกก็มีอิสระในความคิด ความเห็น แสดงความรู้สึกในสิ่งที่อยากจะทำหรืออยากจะเป็น หน้าที่ของพ่อแม่คือการประคับประคองให้ลูกโตเป็นมนุษย์ที่สามารถดูแลตัวเองและช่วยเหลือผู้อื่นได้ ไม่ใช่การขีดเส้นให้เป็นไปตามที่เราคาดหวังแต่ลูกไม่มีสิทธิเลือก
    การเลี้ยงลูกแบบดั้งเดิมทีมักจะสั่งลูกให้ “ทำ” หรือ “อย่าทำ” เรารู้แล้วว่า วิธีต่างๆ เหล่านี้ไม่ค่อยได้ผล หรือถ้าได้ผลก็เป็นการทำตามคำบอกด้วยความรู้สึกไม่เต็มใจ ถูกบังคับ และที่สำคัญคือ เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีอื่นๆ หรือรู้สึกในทางลบต่อผู้บอกให้ทำ เราจะมีทางเลือกอื่นไหมในการที่จะทำให้ลูก หลานให้ความร่วมมือกับเรามากขึ้น หรืออย่างน้อยก็ไม่รู้สึกแย่ทุกครั้งเมื่อพ่อแม่บอกให้ทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เคยไหมที่พ่อแม่อย่างเราๆ พยายามจะสั่งสอน โน้มน้าวต่างๆ นานา แต่บางครั้งลูกก็ยังดื้อ ไม่ยอมฟัง จนในที่สุดอารมณ์โกรธก็บังเกิด และในบางกรณีก็จบลงด้วยการทำโทษลูก จะด้วยการตี ตะคอก ด่าว่า งดขนม ของเล่น อื่นๆ ทุกการกระทำของเรามีที่มาที่ไป แต่จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะใช้วิธีอบรมสั่งสอนลูกโดยไม่ต้องตีหรือดุด่า ทำไมการดุด่า การทำโทษกลายเป็นส่วนหนึ่งในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนลูก การลงโทษหรือตีลูกมีผลต่อความเชื่อมั่นในตัวของลูกอย่างไร การตีเป็นการสื่อว่า ถ้าคิดอะไรไม่ออก การตีเป็นการแก้ปัญหาที่เหมาะสม และเด็กก็จะเรียนรู้ว่าการตีเพื่อแก้ปัญหาเป็นเรื่องปกติ หรือในบ้างกรณี เป็นเรื่องที่สมควรทำ นอกจากนั้นการตียังสื่อด้วยว่าเด็กไม่มีสิทธิใดๆ เลย พ่อแม่เท่านั้นที่จะมีสิทธิที่จะทำอะไรกับเด็กก็ได้ เพราะขนาดร่างกายของเขา พ่อแม่ยังสามารถที่จะตีเมื่อไหร่ก็ได้ที่พ่อแม่เห็นสมควร ยุคสมัยเปลี่ยนไป การเลี้ยงดู “มนุษย์ลูก” สมัยนี้ก็ต้องปรับเปลี่ยนและเปิดใจรับฟังให้มากขึ้น สุภาษิต “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” อาจจะใช้ไม่ได้กับ “มนุษย์ลูก” ในโลกไร้พรมแดนใบนี้.

        จิตติมา กุลประเสริฐรัตน์
     ([email protected])

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"