'ปชป'เสียงแตก หนุนบิ๊กตู่-ฝ่ายค้านอิสระ-ขั้วที่สาม?


เพิ่มเพื่อน    

ทิศทาง-ก้าวย่างของ”พรรคสีฟ้า-ประชาธิปัตย์”ในฐานะพรรคตัวแปรต่อการจัดตั้งรัฐบาล ของขั้ว”พรรคพลังประชารัฐ-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา”ซึ่งหากประชาธิปัตย์ไม่มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย แม้ต่อให้ พลเอกประยุทธ์ได้เสียงหนุนจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แท็กทีมโหวตให้เป็นนายกฯ 250 เสียง แต่ก็ยากจะเดินหน้าตั้งรัฐบาลได้ อย่าว่าแต่จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากหรือเสียงปริ่มน้ำเลย แต่พลังประชารัฐจะแพ้ตั้งแต่ยกแรกในการเลือก”ประธานสภาผู้แทนราษฏร”ในปลายสัปดาห์หน้าเสียด้วยซ้ำ หากประชาธิปัตย์เล่นบท ฝ่ายค้านอิสระหรือแม้แต่ไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับขั้วอื่นเช่น อนาคตใหม่-ภูมิใจไทย

ด้วยเหตุนี้การขยับของประชาธิปัตย์ในยุค”จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์”เป็น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงสำคัญมากต่อการกลับสู่เก้าอี้นายกฯรอบสองของ”บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์” รวมถึงการเมืองไทยต่อจากนี้ว่าสุดท้าย การจัดตั้งรัฐบาล จะเดินหน้าฉลุยหรือติดหล่ม-ต่อรองไปเรื่อยๆ ไม่มีคณะรัฐมนตรีเข้าไปบริหารประเทศเสียที หลังได้ทั้งประธานสภาฯ –นายกฯ 

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้ ผู้คนสนใจการขยับของประชาธิปัตย์อย่างมากว่าจะเดินหมากแต่ละก้าวอย่างไร ต่อจากนี้ ซึ่งแน่นอนว่า คีย์แมนพรรคสีฟ้า ก็ต้องพยายามทุกอย่าง เพื่อให้พรรคตัวเอง มีแต้มต่อ กุมความได้เปรียบมากที่สุด ในสภาวะที่ประชาธิปัตย์มีอำนาจการต่อรองสูงทางการเมืองสูงเช่นนี้  

เบื้องต้น ประชาธิปัตย์ มีการนัดประชุม”คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่” ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่  15 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะประชุมกันวันที่  20พ.ค.นี้ เวลา 13.00 น.

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นแค่การประชุมกรรมการบริหารพรรคเท่านั้น ยังไม่มีการประชุมร่วมกันระหว่างส.ส.กับกรรมการบริหารพรรค เพื่อลงมติว่าจะร่วมรัฐบาล

กับพลังประชารัฐหรือไม่ แต่อย่างใด เป็นแค่การประชุมเพื่อมอบหมายงานให้รองหัวหน้าพรรคและรองเลขาธิการพรรคปชป. รวมถึง แบ่งงานด้านอื่นๆให้กับกรรมการบริหารพรรค

“เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เราจึงจะนัดประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาการตัดสินใจทางการเมือง การพิจารณาในการลงมติใดๆนั้น ต้องนับหนึ่งจากการเลือกประธานสภาฯ ก่อน แล้วจะไปสู่การเลือกนายกรัฐมนตรี จึงไปถึงการจัดตั้งรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี โดยสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่นักการเมืองต้องทราบอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ต้องกังวล เมื่อถึงเวลาที่ต้องพิจารณา ก็ต้องพิจารณา เรามีคำตอบแน่นอน” เป็นท่าที คำตอบจากจุรินทร์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังถูกถามเรื่องท่าทีของปชป.ว่าสุดท้ายจะร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐหรือไม่

เมื่อจับปฏิกริยาการเมืองโดยรวม โดยเฉพาะคนที่จะต้องร่วมประชุมกำหนดมติพรรคปชป. ดังกล่าว พบว่า คนในพรรคปชป.ดูจะพยายามสงวนท่าทีเรื่องนี้เอาไว้ เสมือนหนึ่งไว้เชิงการเมือง ให้คนอื่น พรรคอื่น จับทางยาก อ่านไม่ขาด หลงทิศหลงทาง สร้างความอึมครึมไปเรื่อย ๆตามสไตล์พรรคการเมืองชั่วโมงบินสูง

อย่างเช่น ท่วงท่าลีลาการเมืองของ  

“เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ “ที่จะต้องร่วมโหวตมติพรรคปชป.ดังกล่าว ด้วย แสดงท่าทีการเมืองไว้ว่า

 " ส่วนตัวเห็นว่า ถ้าพรรคจะเข้าร่วมรัฐบาลกับขั้ว พปชร. ผมไม่ขัดข้องที่จะไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน แต่มีเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลกับ พปชร. 5 ข้อ ดังนี้ 1.รัฐบาลที่ พปชร.เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จะต้องไม่มีชื่อ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ เพราะในระหว่างการรณรงค์หาเสียง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคได้ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ 2.พรรคประชาธิปัตย์ ต้องเคารพคะแนนเสียง3.9ล้านคะแนนที่มอบให้พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแสดงออกร่วมกับพรรคในการไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ตามที่ได้ประกาศไว้ในการเลือกตั้ง พรรคจะไม่หักหลังผู้ร่วมอุดมการณ์ของเรา

 3.พรรคประชาธิปัตย์ได้ประกาศอุดมการณ์อย่างชัดเจนตั้งแต่วันก่อตั้งพรรคจนถึงบัดนี้ เป็นเวลาร่วม 73 ปี ในการต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทหารหรือเผด็จการรัฐสภาก็ตาม เพราะเราเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 4.พล.อ.ประยุทธ์ ได้เปลี่ยนสถานะของตัวเอง จากผู้วางตัวเป็นกลางทางการเมือง มาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองเสียเอง เพราะพล.อ.ประยุทธ์ได้เลือกข้างทางการเมือง ยอมรับการถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ในนาม พปชร.ไปแล้ว

 5.ตลอดระยะเวลา5ปีในการบริหารประเทศของพล.อ.ประยุทธ์สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ ล้มเหลวในการแก้ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน จึงไม่ควรที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อบริหารประเทศอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าขณะนี้ทั้งสองขั้วแกนนำตั้งรัฐบาลมีคะแนนก่ำกึ่ง ดังนั้น ทางออกของประเทศ คือการจัดตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ มีคนกลางเป็นนายกรัฐมนตรี บริหารประเทศ2ปี ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อเลือกตั้งใหม่ต่อไป"เทพไท ส.ส.นครศรีธรรมราชฯ เผยท่าทีการเมืองไว้เมื่อ17 พ.ค.  

จับท่าที-ความเห็นคนการเมืองในพรรคปชป.หลายส่วน จับทางได้ว่า ถึงตอนปิดห้องประชุม-ออกเสียง ลงมติ งานนี้  “เสียงแตกเป็นสองฝั่ง”

เพราะเวลานี้ กรรมการบริหารพรรคที่ไม่ได้เป็นส.ส. กับส.ส.ที่เป็นทั้งกรรมการบริหารพรรคและเป็นส.ส. ที่จะต้องไปโหวตเลือกประธานสภาฯ -โหวตเลือกนายกฯ ในที่ประชุมรัฐสภา  มีความเห็นแตกออกเป็นสองปีกในพรรคสีฟ้า  

ปีกแรก คือเห็นด้วยที่พรรคประชาธิปัตย์ควรไปจับมือกับพลังประชารัฐเพื่อร่วมตั้งรัฐบาลร่วมกันดีกว่าที่จะเป็นฝ่ายค้านอิสระหรือไปร่วมจับมือตั้งรัฐบาลเป็น”ขั้วที่สาม”ร่วมกับภูมิใจไทย หรือแม้แต่กับ อนาคตใหม่ และพรรคอื่นๆ โดยเฉพาะ เพื่อไทย ด้วยเหตุ”ดีเอ็นเอการเมือง”แตกต่างกัน  ยิ่งการที่จะบอกว่านายอภิสิทธิ์ เคยประกาศไม่หนุน บิ๊กตู่ พรรคจึงไม่ควรร่วมตั้งรัฐบาลกับพปชร.  ก็เป็นการประกาศในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตอนหาเสียง ที่ไม่ใช่มติพรรค และเวลานี้ อภิสิทธิ์ ก็ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคปชป.แล้ว หากปชป.ไม่ไปร่วมตั้งรัฐบาล แล้วรัฐบาลตั้งไม่ได้ หรือตั้งได้แต่ประสบปัญหาเสียงในสภาฯ คนจะกล่าวโทษทางการเมืองพรรคปชป.ได้ว่าทำให้บ้านเมืองติดหล่ม จะยิ่งทำให้ กระแสความนิยมของปชป.ทรุดลงไปอีก

ขณะที่อีกปีกหนึ่งในพรรคปชป.ที่เห็นตรงข้ามกัน มองว่าประชาธิปัตย์  ไม่ควรไปร่วมจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะจะทำให้ปชป.กลายเป็นสะพานการเมืองสืบทอดอำนาจการเมืองให้กับพลเอกประยุทธ์ อันขัดกับแนวทางที่พรรคเคยประกาศไว้ตอนหาเสียง แต่ให้เล่นบทบาท ในลักษณะ ก็ปล่อยให้ สว.โหวตเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯไป แล้วก็ปล่อยให้พลังประชารัฐ เดินหน้ารวมเสียงตั้งรัฐบาล ซึ่งหากเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เวลามีเรื่องสำคัญๆ ที่จำเป็นต้องใช้เสียงโหวตจากส.ส.ในสภาฯเช่นกฎหมายสำคัญๆ ของประเทศ ประชาธิปัตย์ ก็ไปร่วมโหวตให้ เช่น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ฯ แต่ไม่ต้องไปจับมือตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทย หรือไม่หากเป็นไปได้ ถ้าจับมือกับภูมิใจไทย –อนาคตใหม่ จัดตั้งรัฐบาลขั้วที่สามได้ ก็ให้ทำไป แต่หลักสำคัญคือต้องไม่ให้ ฝ่ายทักษิณ ชินวัตร เข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย

แม้ท่าทีประชาธิปัตย์ ยังคงมีความอึมครึมทางการเมือง  แต่สำหรับ”บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์”ดูจะมั่นใจ ว่าพลังประชารัฐจะได้ตั้งรัฐบาลและตัวเขาจะได้คัมแบ็คนายกฯรอบสอง เห็นได้จากการที่ พลเอกประยุทธ์ กล่าวระหว่าง รับประทานอาหารร่วมกันกับสื่อมวลชนเมื่อวันศุกร์ที่ 17  พ.ค.ที่ผ่านมา

โดยช่วงหนึ่งสื่อยิงคำถามว่า 4 กระทรวงคือ กระทรวงกลาโหม มหาดไทย คลัง คมนาคม ไม่สามารถให้พรรคร่วมได้ใช่หรือไม่ ?

คำตอบจากปาก พล.อ.ประยุทธ์ก็คือ “ก็ควรจะอยู่กับฝ่ายความมั่นคงและพรรคหลักหรือไม่ เพื่อดูแลให้เดินหน้าไปได้ ขอย้ำว่าผมไม่หวงผลประโยชน์ ไม่เคยมีผลประโยชน์ ส่วนกระทรวงการคลังและคมนาคม เขาคุยกันอยู่ ให้เขาคุยกันก่อน ถ้าผมเป็นนายกฯก็ค่อยมาดูกันอีกที ซึ่งไม่น่าเปลี่ยนแปลง  แต่ละพรรคขออย่ากังวล เพราะผมให้เกียรติทุกพรรค ขอให้บ้านเมืองไปได้ก่อนจะได้ไหม

เป็นความมั่นใจของ”บิ๊กตู่”เสมือนหนึ่งจะรู้คำตอบ ทิศทาง อะไรต่างๆ ก่อนการโหวตเลือกนายกฯ ว่ายังไง เกมการเมือง ศึกชิงเสียงตั้งรัฐบาล ต่อจากนี้ น่าจะพลิกยาก โอกาสคัมแบ็ค ตึกไทยคู่ฟ้า รอบสอง น่าจะแบเบอร์กันเห็นๆ 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"