ดาบสองคม..สังคมโซเชียล เล่นถูกวิธีห่างไกลหายนะ


เพิ่มเพื่อน    

          เพราะเด็กไทยในปัจจุบันติดโซเชียลมากเกินไป ล่าสุดมีข้อมูลด้านงานวิจัยที่ออกมาระบุว่า การที่เด็กพึ่งพาความอัจฉริยะของโซเชียลจนเกินเหตุ ทำให้ไม่ได้ใช้สมองในการคิดวิเคราะห์สิ่งต่างๆ นั่นจึงทำให้เกิดภาวะสมองสนิม และในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะทำให้เด็กเป็นโรคสมองเสื่อมก่อนวัยอันควร จริงเท็จแค่ไหนมีข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญที่คลุกคลีกับเด็กมาให้ข้อมูลสะท้อนมุมเด็กติดโซเชียลไว้น่าสนใจ เพราะสื่อออนไลน์ก็มีทั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการค้นหาข้อมูลทำการบ้าน หรือผ่อนคลายเวลาหลักเลิกเรียนและทำการบ้านเสร็จ แต่ถ้าหากเด็กใช้สื่อออนไลน์ในเชิงของการหมกมุ่น หรืออยู่กับโทรศัพท์มือถือ โดยไม่หยิบจับหรือเคลื่อนไหวร่างกาย แน่นอนว่าผลเสียก็ยิ่งเพิ่มทบเท่าทวีคูณ

(วัลลภ ตังคณานุรักษ์)

          ครูหยุย-วัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก บอกว่า “เด็กยุคใหม่ใช้โซเชียลเยอะจริง ดังนั้นจึงทำให้เกิดเป็นปัญหาอยู่ 2-3 เรื่อง ประการแรกนั้น เด็กอยู่ในโลกของตัวเองค่อนข้างสูง ส่วนประการที่สองนั้น การที่เด็กเสพข้อมูลในโซเชียลซ้ำๆ นั่นจะทำให้เกิดความครอบงำทางความคิดได้ง่าย หรือเชื่ออะไรได้ง่าย ส่วนประการสุดท้ายนั้น ถ้าเราสังเกตให้ดีในต่างประเทศนั้นไม่ได้มีการให้เครื่องมือหรืออุปกรณ์สมาร์ทโฟนกับเด็กเล็กโดยทันทีทันใด แต่เขาจะมีการแบ่งเวลาในการเล่น โดยเฉพาะเวลาที่เด็กไปโรงเรียน ซึ่งทางสถานศึกษาจะมีการเก็บมือถือไว้ไม่ให้เด็กใช้

          “ในต่างประเทศขณะที่เด็กกำลังเรียนหนังสือ คุณครูจะไม่ให้เด็กใช้มือถือโดยเด็ดขาด เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าอันตรายของการติดโซเชียลที่สำคัญมากและร้ายแรงมากที่สุด คือการที่เด็กติดอยู่ในโลกของตัวเองมากเกินไป ดังนั้นถ้าหากว่าเด็กมีภาวะอาการป่วยร่วมด้วย อาจทำให้เด็กเกิดภาวะคลั่งและฆ่าตัวตายได้ในที่สุด ซึ่งเกิดมาจากการตัดสินใจแบบฉับพลันนั่นเอง

          ขอยกตัวอย่างการที่บางประเทศได้จ้างทีมคนที่มีความรู้ ใส่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ลงโซเชียล หรือเว็บไซต์สำหรับเด็ก เพื่อให้เด็กเสพแล้วเกิดการพัฒนาทางด้านสมอง ที่สำคัญในหลายประเทศซีกโลกตะวันตกก็ได้มีการส่งเสริมให้เด็กใช้โซเชียล ที่ควบคู่กับการมีกิจกรรมระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ เช่น การส่งเสริมให้เด็กไปเล่นกีฬา หรือออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานหรือการวิ่ง ซึ่งแม้ว่าจะฟังเพลงไปขณะที่วิ่ง แต่สุดท้ายแล้วเด็กก็ได้ออกกำลังกาย ตรงนี้จะทำให้เด็กออกจากวงจรของการหมกมุ่นอยู่กับโซเชียล และการเล่นเกม ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเด็กก็จะหันไปติดกีฬาแทนครับ”

(กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์)

          ด้าน ครูลิลลี่-อ.กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ ครูสอนภาษาไทยชื่อดัง บอกว่า “การที่บอกว่าเด็กใช้โซเชียลเป็นดาบ 2 คมหรือไม่นั้น มันขึ้นอยู่กับเด็ก เพราะแต่ละคนนั้นใช้งานไม่เหมือนกัน ดังนั้นการใช้โชเชียลของเด็กยุคใหม่คงต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่า สิ่งที่เด็กใช้นั้นเป็น “หายนะ” หรือ “วัฒนะ” แต่ในมุมของคนที่เป็นครู มองว่าการใช้เล่นเกม, ดูหนัง หรือบางคนที่เสิร์ชหาข้อมูลเพื่อทำการบ้าน ครูมองว่าล้วนแล้วแต่เป็นการใช้สมองค่ะ ยกตัวอย่างการที่เด็กเล่นโซเชียลและไปคอมเมนต์ เพื่อแสดงความคิดเห็นต่างๆ หรือแม้แต่การเล่นเกม เด็กก็จะต้องใช้ทักษะการคิด ฟัง พูด อ่าน และเขียน ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็น “วัฒนะ”

          “ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า การที่เด็กเสพข่าวบันเทิงในโลกโซเชียล หรือเด็กฟังเพลงในโลกออนไลน์ เด็กจะรู้เรื่องได้อย่างไร หากว่าเขาไม่ได้ใช้สมองในการคิดวิเคราะห์ ส่วนตัวครูลิลลี่มองว่า ตรงนี้ไม่น่าจะทำให้เด็กเป็นอัลไซเมอร์ และยืนยันว่าไม่ทำให้สมองไม่ได้ใช้งานแต่อย่างใด แต่การที่เด็กไม่คิด ไม่อ่าน ไม่เขียน ตรงนั้นจะทำให้เด็กสมองฝ่อมากกว่า ที่สำคัญไม่ควรห้ามเรื่องการใช้โซเชียล เพียงแต่ว่าต้องรู้จักการใช้อย่างพอดี และสิ่งที่ครูอยากแนะนำและอยากไปถึงเด็กๆ คือการที่เราต้องมีสติ และต้องใช้โซเชียลอย่างพอประมาณ อย่าให้มากจนเกินไป และต้องรู้จักแบ่งเวลา ไม่ใช่ว่าจะอยู่กับมือถือตลอด 24 ชั่วโมง ต้องรู้จักปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง คุยกับพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือแบ่งเวลามารับประทานอาหาร และหันไปออกกำลังกายด้วย พูดง่ายๆ ว่าเล่นได้ ใช้ได้ แต่ต้องรู้จักความพอดีค่ะ”

(วราภรณ์ เนตรใหญ่)

          ปิดท้ายกันที่ ผอ.วราภรณ์ เนตรใหญ่ ผู้อำนวยการโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ 48 พรรษา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บอกว่า “การใช้โซเชียลของเด็กยุคใหม่ เปรียบเสมือนดาบ 2 คมค่ะ เพราะมองด้านบวกนั้น เด็กจะได้รับความรู้นอกห้องเรียนจากเรื่องที่เด็กสนใจในบางเรื่อง โดยที่ครูมีบทบาทน้อยลง หรือที่เรียกกันว่าระบบ “ชายด์เซ็นเตอร์” (Child Center) แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งการที่ผู้ปกครองต้องการให้เด็กอยู่นิ่งๆ โดยการให้เล่นมือถือ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องดูแลเด็กเป็นพิเศษ ซึ่งทางโรงเรียนของเราจะไม่อนุญาตให้เด็กนักเรียนใช้โทรศัพท์มือถือ เนื่องจากเป็นโรงเรียนประจำกินนอน และเป็นผู้หญิงล้วน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6

          แต่เราจะมีชั่วโมงคอมพิวเตอร์สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง นอกจากนี้ก็จะมีกิจกรรมนอกห้องเรียนที่เป็นลักษณะของการเข้าชมรม โดยเด็กๆ จะได้ใช้คอมพิวเตอร์อีกประมาณ 2 ชั่วโมง แต่ถ้าหากเด็กๆ ทำกิจกรรมที่งานกลุ่มหรือชมรมเสร็จแล้ว เขาก็จะได้พักผ่อนโดยการเล่นเกมอีกประมาณ 10 นาที ซึ่งตรงนี้ก็คิดว่าค่อนข้างเพียงพอในการหาความรู้ให้กับเด็กๆ ค่ะ ส่วนการที่เด็กจะใช้เวลาในการแช้ตเฟซบุ๊ก ตรงนี้คิดว่าไม่จำเป็นค่ะ”

          ผอ.วราภรณ์ บอกอีกว่า ที่ผ่านมาเคยมีผู้ปกครองของเด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน มาปรึกษาและเล่าให้ฟังว่า ได้แอบดูโทรศัพท์มือถือของลูกสาวขณะพูดคุยแช้ตไลน์กับเพื่อนโดยใช้คำพูดที่หยาบคาย และชักชวนกันออกไปเที่ยวนอกบ้าน จากนั้นผู้ปกครองจึงได้ยึดโทรศัพท์มือถือ และคืนให้ลูกเมื่อผลการเรียนออกมาดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองสามารถนำไปใช้ได้

          “สิ่งที่อยากฝากไปยังเด็กๆ ยุคใหม่ที่มักติดอยู่กับโซเชียล หรือมัก จะหาข้อมูลจากโลกออนไลน์เป็นสำคัญ อยากให้หาความรู้จากในห้องสมุดมากกว่า เนื่องจากข้อมูลในโลกออนไลน์มักจะเชื่อถือได้ไม่ 100% ส่วนหนึ่งการอ่านหนังสือเป็นทั้งการใช้ทักษะทางสายตา ใช้สมองในการคิดวิเคราะห์ตาม กระทั่งการเขียนที่ช่วยฝึกกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ให้กับเด็กค่ะ”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"