พอช. ร่วมภาคี Kick Off ปล่อยคาราวานสำรวจข้อมูลคนไร้บ้านทั่วประเทศ เพื่อนำข้อมูลมาใช้เป็นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน


เพิ่มเพื่อน    

กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ / 9 หน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วม Kick Off “ปล่อยคาราวานทีมสำรวจข้อมูลประชากรคนไร้บ้านทั่วประเทศ”  ระยะที่ 2 รวม 16 จังหวัด เน้นพื้นที่ที่มีเส้นทางรถไฟวิ่งผ่าน  หลังจากที่ได้ลงพื้นที่สำรวจไปแล้วระยะแรก 60 จังหวัดตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา  พบคนไร้บ้าน 686 คน  เพื่อนำข้อมูลมาใช้เป็นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านอย่างยั่งยืน

 

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม  ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  กรุงเทพฯ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  ร่วมกับภาคีเครือข่าย  9 หน่วยงาน จัดกิจกรรม  Kick Off  ปล่อยคาราวานทีมสำรวจข้อมูลประชากรคนไร้บ้านทั่วประเทศ  เพื่อนำข้อมูลมาจัดทำระบบฐานข้อมูลการวิจัยและการจัดการความรู้  สำหรับใช้เป็นแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านอย่างยั่งยืน  โดยมีนายไมตรี  อินทุสุต ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ  นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. และนายสุชิน เอี่ยมอินทร์ นายกสมาคมคนไร้บ้านแห่งประเทศไทย  ร่วมเป็นประธาน   มีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ  เครือข่ายคนไร้บ้าน  และเครือข่ายภาคประชาชนเข้าร่วมงานประมาณ 150 คน

ทั้งนี้  9 หน่วยงานที่ร่วมเป็นภาคีความร่วมมือในการสำรวจข้อมูลกลุ่มคนไร้บ้าน  ประกอบด้วย 1. สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  2. กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ  3. กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น  4. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  5. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  6. สมาคมคนไร้บ้าน  7. มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  8. เครือข่ายสลัมสี่ภาค  และ 9. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  โดยได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือการสำรวจข้อมูลไปแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา  หลังจากนั้นจึงสำรวจข้อมูลร่วมกันในพื้นที่เขตเทศบาลทั่วประเทศ  รวม 60 จังหวัด  พบว่ามีคนไร้บ้าน  รวม  686 คน

 

ส่วนการปล่อยคาราวานในวันนี้จะสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมในพื้นที่ 16 จังหวัด  โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีเส้นทางการเดินรถไฟ  เนื่องจากกลุ่มคนไร้บ้านมักจะเคลื่อนย้ายไปยังจังหวัดที่มีเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อไปยังจังหวัดอื่นๆ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร  41 เส้นทาง   จังหวัดเชียงใหม่  ขอนแก่น  นครราชสีมา  อุดรธานี  นครสวรรค์ กาญจนบุรี  นครปฐม สมุทรสาคร  นนทบุรี  ปทุมธานี   สมุทรปราการ   ชลบุรี  สุราษฎร์ธานี  นครศรีธรรมราช  และสงขลา

นายไมตรี  อินทุสุต  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า  การแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้านนั้น  คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 มีนาคม  2559 ให้กระทรวง พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน  โดยให้สร้างศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านใน  3  เมืองใหญ่  คือ  กรุงเทพฯ  เชียงใหม่ และขอนแก่น  โดยมีเป้าหมายกลุ่มคนไร้บ้าน 698 ราย ใช้งบประมาณรวม 118  ล้านบาทเศษ  โดยกระทรวง พม.มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ดำเนินการ   ขณะนี้สร้างศูนย์ฟื้นฟูฯ เสร็จแล้ว 2 แห่ง  คือ  ที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่   ส่วนที่ขอนแก่นกำลังดำเนินการ  และเตรียมสร้างเพิ่มเติมที่ จ.ปทุมธานีอีก 1 แห่ง  เพื่อให้ศูนย์เหล่านี้เป็นที่พักพิงชั่วคราวของคนไร้บ้าน  โดยจะมีการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต  เพื่อให้คนไร้บ้านกลับคืนสู่สังคมได้

 

นางนภา   เศรษฐกร  อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ  กล่าวเพิ่มเติมว่า  กรมฯ ได้ทำงานร่วมกับ พอช. อย่างใกล้ชิด  และจากการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านที่ผ่านมา  พบว่า   ยังมีกลุ่มคนไร้บ้านอีกจำนวนมากที่ยังขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต  โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามสถานที่สาธารณะต่างๆ  กระจายอยู่ทั่วประเทศ   ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  9 หน่วยงานจึงได้ร่วมกันสำรวจข้อมูลประชากรคนไร้บ้านในเขตเทศบาลทั่วประเทศ  รวมทั้งหมด 77 จังหวัด  โดยมีการปล่อยคาราวานเพื่อสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมในวันนี้ (16 พ.ค.)  เพื่อนำข้อมูลจากการสำรวจมาใช้เป็นฐานในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านอย่างยั่งยืนต่อไป

นายสุชินทร์   เอี่ยมอินทร์  นายกสมาคมคนไร้บ้าน  กล่าวว่า  ที่มาของคนไร้บ้านมาจากหลายสาเหตุ  บางคนมีปัญหากับครอบครัว  มีโรคประจำตัว  พิการ  ครอบครัวรังเกียจ  เป็นผู้สูงอายุไม่มีคนดูแล  ตกงาน  ไม่มีรายได้  ไม่มีเงินค่าเช่าบ้าน   บางคนเพิ่งออกมาจากคุกไม่มีทางไป  บางคนชอบอิสระ   ไม่ชอบทำงาน  ฯลฯ  จึงต้องออกมาใช้ชีวิตเร่ร่อน  ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามที่สาธารณะ  เช่น  ริมถนน  สวนหย่อม  สถานีรถไฟ  ใต้สะพานลอย  สถานีขนส่ง  ฯลฯ ส่วนใหญ่มีรายได้จากการเก็บขยะรีไซเคิลต่างๆ  เช่น  ขวด กระป๋องเครื่องดื่ม  เศษกระดาษ  และมีปัญหาต่างๆ  เช่น  สุขภาพไม่ดี  ไม่มีบัตรประชาชนหรือบัตรหาย  เมื่อเจ็บป่วยไปหาหมอไม่ได้  ทำให้เข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ

 

“ถ้ามีการสำรวจข้อมูลคนไร้บ้านได้ทั่วประเทศก็จะดี  จะได้เอาข้อมูลมาใช้แก้ไขปัญหา  เพราะที่ผ่านมาเรามีแต่ข้อมูลเก่า  ตัวเลขเก่า  แต่ผมเชื่อว่าคนไร้บ้านทั่วประเทศคงจะมีเป็นหมื่นคน  โดยเฉพาะช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี  จะมีคนตกงานกลายมาเป็นคนไร้บ้านมากขึ้น  โดยเฉพาะเดี๋ยวนี้คนไร้บ้านไม่ใช่จะมีแต่คนแก่เท่านั้น  คนวัยทำงานก็ออกมาเป็นคนไร้บ้านมากขึ้น”  นายกสมาคมคนไร้บ้านกล่าว 

 

ปัจจุบันกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  โดย พอช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สนับสนุนการจัดสร้าง “ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน” ที่จังหวัดเชียงใหม่  ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อกลางปี 2561  สามารถรองรับคนไร้บ้านได้ประมาณ 50 คน  ทำให้คนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่มีที่พักพิง  มีทั้งห้องพักส่วนตัวและห้องพักรวม  มีการฝึกอาชีพต่างๆ   ทำการเกษตร  เลี้ยงไก่  ฯลฯ  ส่วนที่ขอนแก่น กำลังดำเนินการก่อสร้าง  นอกจากนี้ยังมีศูนย์พักคนไร้บ้าน  สุวิทย์  วัดหนู  เขตบางกอกน้อย, ศูนย์พักคนไร้บ้านตลิ่งชัน  และโครงการบ้านหลังแรกของคนไร้บ้านที่บริเวณริมทางรถไฟย่านถนนพุทธมณฑลสาย  2  ดำเนินงานโดยมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยและเครือข่ายสลัม 4 ภาค

 

ทั้งนี้แผนงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน  ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)  ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะยาว  และเสริมสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย  และครอบคลุมทุกมิติ  มีเป้าหมายทั้งหมดประมาณ 3 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ รับผิดชอบประมาณ  1.05 ล้านครัวเรือน  เช่น  โครงการบ้านมั่นคง บ้านพอเพียงชนบท  คนไร้บ้าน ฯลฯ   ส่วนการเคหะแห่งชาติรับผิดชอบ  2.27 ล้านครัวเรือน  เช่น  โครงการบ้านเอื้ออาทร  บ้านการเคหะฯ

ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน จ.เชียงใหม่

 

ทีมสำรวจข้อมูลคนไร้บ้านลงพื้นที่ในกรุงเทพฯ

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"